สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชำแหละ ถุงยังชีพ ศปภ. นักการเมืองขี้ฉ้อ สวาปาม ส้วม ประชาชน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ขณะที่ "น้องน้ำ" กำลังคืบคลานกลืนกินกรุงเทพฯ ไปครึ่งค่อนเมือง...
       
       ขณะที่ประเทศชาติและประชาชนกำลังเผชิญกับ “วิกฤต” อย่างแสนสาหัส
       
       “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ก็ยังใช้วิธี “บีบน้ำตา” แทนการใช้ “สติปัญญา” แก้ปัญหา นอกจากนี้ยังปล่อยให้พวก “เหลือบการเมือง” ฉกฉวยผลประโยชน์และหากินบนความทุกข์ยากของประชาชน โดยหลายคนหลายกลุ่มได้แสดง “สันดานดิบ” ออกมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ
       
       โดยเฉพาะพวก “เหลือบ” ที่อยู่ในศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ “ศปภ.” ที่ยังไม่ยอมหยุดเขมือบกินของบริจาคผู้ประสบภัย โดยล่าสุด ได้มีการร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีการเผยแพร่ภาพและวิพากษ์วิจารณ์ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นวงกว้าง ถึงกรณี “ถุงยังชีพ” เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ “ศปภ.” จัดซื้อในราคา 800 บาท ว่ามีราคาแพงเกินจริง เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งของที่บรรจุในถุง พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีการฉกฉวยหาประโยชน์โดยการหักค่าหัวคิวของบรรดาพวก “นักการเมือง” ในการจัดซื้อหรือไม่
       
       ทั้งนี้ ในเว็บไซต์เฟซบุ๊กได้มีการแชร์ภาพถุงยังชีพที่ติดตราสัญลักษณ์ “ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย” (ศปภ.) สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเจ้าของภาพที่ใช้นามแฝงว่า “Tukta Perace” ได้ระบุข้อความในภาพว่า ถุงยังชีพแบบ 800 บาท ศปภ.ซื้อไปหนึ่งแสนชุด เป็นเงิน 80 ล้านบาท เปิดดูข้างในถุงมีแค่นี้ ช่วยประเมินให้ทีว่าราคามัน 800 บาทจริงหรือ โดยในภาพดังกล่าวมีสิ่งของ ประกอบด้วย ข้าวสารขนาด 5 กิโลกรัม 1 ถุง, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 6 ซอง, ขนมปัง 6 ชิ้น, อาหารกระป๋อง 2 กระป๋อง, ยาพาราเซตามอล ชนิดแผง 10 เม็ด 2 แผง, โลชั่นทากันยุง 2 ซอง, ยาสระผม 1 ขวด, กระดาษชำระ 1 ม้วน, ผ้าอนามัย 1 ห่อ, เทียนไข 6 เล่ม และไฟแช็ก 1 อัน
       
       ภาพดังกล่าวถูกส่งต่อในเครือข่ายเฟซบุ๊กจำนวนกว่า 1,700 คน โดยไม่นับเฟซบุ๊กอื่นๆ ที่นำภาพไปโพสต์ต่อ รวมทั้งมีการตั้งข้อสังเกตถึงราคาสินค้าที่นำมาบรรจุในถุงยังชีพของ ศปภ.
       
       โดยผู้ใช้นามแฝง “OOm Owlet” ได้ลองเปรียบเทียบราคาสินค้า ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปห่อละ 5 บาท 10 ห่อ เป็น 50 บาท, เทียน 10 บาท, แชมพู 12 บาท, ปลากระป๋อง 16 บาท 2 กระป๋อง เป็น 32 บาท, ข้าวสารแบบถูก ถุงขนาด 5 กิโลกรัม ถุงละไม่เกิน 70 บาท, ผ้าอนามัย ซานิต้า 23 บาท, ทิชชู 12 บาท, ไฟแช็ก 8 บาท, ยาแก้ปวดหัว แผงละ 8 บาท 2 แผงเป็น 16 บาท, ขนมปังห่อละ 4 บาท ถ้าซื้อเป็นโหลในแม็คโคร ตกอันละ 3.25 บาท 10 ซองเป็น 40 บาท, ถุงใส่ของสกรีนโลโก้ กิโลกรัมละ 48 บาท ประมาณ 150 ใบ หากคิดแบบแพงตกใบละ 32 สตางค์ต่อถุง และมีโลชั่นกันยุง 2 ซอง 16 บาท
       
       ส่วนเจ้าของนามแฝง “SaNdzz Sureeporn รักในหลวง” ระบุว่า ราคาสินค้าในถุงยังชีพของ ศปภ. ชุดนี้โดยประมาณ เพราะซื้อจำนวนมาก คาดว่า ได้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปห่อละ 3.5 บาท 6 ห่อ เป็น 21 บาท, ขนมเค้ก 3 บาท 6 ห่อ เป็น 18 บาท, ยาพาราเซตามอล แผงละ 5 บาท 2 แผง 10 บาท, เทียน 7 บาท, ครีมกันยุง 7 บาท, ปลากระป๋อง 10 บาท 2 กระป๋อง 20 บาท, ข้าวสารเดาว่าเป็น 50 บาท, ทิชชู 6 บาท, ผ้าอนามัย 10 บาท และค่าถุงพิมพ์ชื่อ ศปภ.5 บาท
       
       ทั้งนี้ ผู้เข้าชมภาพในเฟซบุ๊กดังกล่าวส่วนใหญ่ต่างแสดงความคิดเห็นว่า ราคาสินค้าของถุงยังชีพของ ศปภ. ชุดนี้น่าจะอยู่ในระหว่าง 200-350 บาทเท่านั้น และตั้งข้อสังเกตว่า ศปภ. อาจมีการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่นำไปบรรจุลงในถุงยังชีพเพื่อแจก จ่ายแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมหรือไม่
       
       พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.กระทรวงยุติธรรม ในฐานะ ผอ.ศปภ. ได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ คาดว่าจะทราบผลภายใน 3 วัน หากมีอะไรไม่ถูกต้อง จะใช้อำนาจในตำแหน่งของตน ดำเนินการกับผู้ที่กระทำสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลทันที
       
       แต่เมื่อผลสอบถุงยังชีพฉาวออกมา หลายฝ่ายถึงกับรู้สึก “อ่อนอกอ่อนใจ” เพราะผลสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการจัดซื้อถุงยังชีพเพื่อ ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย กลายเป็น “มวยล้ม” โดยผลสอบไม่ฟันธงว่าใครผิด อ้างข้อมูลไม่พอ โยนฝ่ายค้านไม่มาให้ข้อมูล และเฟซบุ๊กก็ยืนยันข้อเท็จจริงไม่ได้ แต่กลับอุ้มเจ้าหน้าที่สุดตัว โดยบอกว่าวิธีการจัดซื้อและราคาสินค้าในถุงไม่พบผิดปกติ
       
       แต่หลายคนก็รู้ทั้งรู้และทำใจไว้แล้วล่ะว่า ผลสอบมันจะออกมาในทำนองนั้น
       **สวาปาม 'ส้วม-เต็นท์' งบซื้อแพงเท่าตัว!
       
       อย่างไรก็ตาม “เหลือบ” ที่หากินบนความทุกข์ยากของผู้ประสบภัยยังไม่หมดเพียงเท่านั้น โดยล่าสุด แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ได้เปิดเผยว่า สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปรายละเอียดการใช้เงินรับบริจาคผ่านบัญชีเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี 2554 ณ วันที่ 3 พ.ย.2554 มียอดรับบริจาคตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ถึง 2 พ.ย.2554 รวมทั้งสิ้น 816,323,457.57 ล้านบาท เมื่อรวมกับยอดเงินบริจาคและดอกเบี้ยที่เหลืออยู่ก่อนหน้านี้อีก 60 กว่าล้านบาทแล้ว กองทุนฯ มีเงินรวม 878,487,897.44 ล้านบาท
       
       ขณะที่รายจ่ายของกองทุนตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.-3 พ.ย.2554 มีจำนวน 507,114,560 ล้านบาท จึงมียอดคงเหลือ 371,373,337.44 ล้านบาท โดยรายจ่ายสำคัญของกองทุนฯ คือการจัดหาถุงยังชีพ 3 รายการ วงเงินรวมกว่า 294.634 ล้านบาท ประกอบด้วยการจัดหาเครื่องอุปโภค และเครื่องใช้อื่นๆ ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จำนวน 173,124,560 ล้านบาท การจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคในการบรรจุร่วมกับสิ่งของบริจาคสำหรับสนับสนุน ภารกิจของ ศปภ.จำนวน 71,510,354.79 ล้านบาท และค่าจัดหาถุงยังชีพของคณะอนุกรรมการบริหารจัดการถุงยังชีพ จำนวน 1 แสนถุง ถุงละ 500 บาท อีก 50 ล้านบาท
       
       ทั้งนี้ สำหรับรายละเอียดการใช้เงินสำหรับจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคและเครื่องใช้ อื่นๆ ของ ปภ.จำนวน 173,124,560 บาท ประกอบด้วย 14 รายการ คือ 1.เรือท้องแบนไฟเบอร์กลาส 30 ลำ ลำละ 250,000 บาท รวมเป็นเงิน 7.5 ล้านบาท 2.เรือพาย 209 ลำ ลำละ 5,500 บาท รวมเป็นเงิน 1,149,500 บาท 3.ห้องสุขาเคลื่อนที่ ทำด้วยไฟเบอร์ 18 ห้อง ห้องละ 32,000 บาท รวมเป็นเงิน 576,000 บาท
       
       4.ถุงยังชีพ 10,000 ถุง ถุงละ 500 บาท รวมเป็นเงิน 5 ล้านบาท 5.สุขากระดาษ 30,088 ชุด ชุดละ 245 บาท รวมเป็นเงิน 7,371,560 บาท 6.ถุงยังชีพถุงละ 800 บาท 100,000 ถุง รวมเป็นเงิน 80 ล้านบาท 7.เต็นท์นอน 2 คนแบบไม่มีชั้นความร้อน 2,700 หลัง หลังละ 925 บาท รวมเป็นเงิน 2,497,500 บาท 8.เต็นท์นอน 2 คน แบบไม่มีชั้นความร้อน 1,200 หลัง หลังละ 1,750 บาท รวมเป็นเงิน 2,100,000 บาท
       
       9.เต็นท์นอน 2 คนแบบมีชั้นความร้อน 3,100 หลัง หลังละ 1,950 บาท รวมเป็นเงิน 6,045,000 บาท 10.เต็นท์นอน 3 คน ทรงสูงแบบมีชั้นความร้อน 3,100 หลัง หลังละ 3,450 บาท รวมเป็นเงิน 4,485,000 บาท 11.เต็นท์นอน 4 คน ทรงสูงแบบมีชั้นความร้อน 1,950 หลัง หลังละ 4,000 บาท รวมเป็นเงิน 7,800,000 บาท 12.เต็นท์ยกพื้นขนาดนอน 5-6 คน 200 หลัง หลังละ 55,000 บาท รวมเป็นเงิน 11 ล้านบาท 13.สุขาเคลื่อนที่ 800 หลัง หลังละ 32,000 บาท รวมเป็นเงิน 25,600,000 บาท 14.สุขามือถือพลาสติก 30,000 ชุด ชุดละ 400 บาท รวมเป็นเงิน 12 ล้านบาท
       
       ทั้งนี้ มีข้อน่าสังเกตว่า การใช้เงินบริจาคในการจัดซื้อเต็นท์นอน 2 คน แบบไม่มีชั้นความร้อนในรายการที่ 7 และ 8 ซึ่งเป็นรายการเดียวกัน กลับมีราคาแตกต่างกันถึง 825 บาทต่อหลัง
       
       ขณะที่การจัดซื้อสุขากระดาษ ที่ระบุว่ามีราคาชุดละ 245 บาท จากการตรวจสอบพบว่า เป็นการจัดซื้อที่แพงกว่าสุขากระดาษที่มูลนิธิซิเมนต์ไทย จัดทำสำหรับบริจาคให้แก่ประชาชนผู้ประสบภัย มีราคาอยู่ที่ 111 บาทเท่านั้น ดังนั้นการจัดซื้อสุขากระดาษของ ปภ. ครั้งนี้ จึงมีราคาแพงกว่าของมูลนิธิซิเมนต์ไทยถึง 134 บาทต่อ 1 ชุด เมื่อคำนวณจากจำนวนที่ ปภ. จัดซื้อทั้งหมด 30,088 ชุด จะมีราคาแพงกว่า 4,031,792 บาท
       
       นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่น่าจับตามองต่อไปก็คือกรณีที่ ศปภ. อนุมัติซื้อหัวเชื้ออีเอ็ม โดยแหล่งข่าวจาก ศปภ. เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับกระทรวงกลาโหม แก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียภายใน 15 วัน โดยกระทรวงกลาโหมได้มอบหมายให้ พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ร่วมเป็นประธานในการดำเนินการในชั้นของการหารือผู้แทนกระทรวงทรัพยากรฯ จะขอใช้อีเอ็มที่ได้รับบริจาคมา แต่ทางกระทรวงกลาโหมไม่แน่ใจที่มาของเชื้อจุลินทรีย์ ว่าจะสามารถบำบัดน้ำเสียได้จริงหรือไม่ เนื่องจากจุลินทรีย์มีหลายประเภท และมีวิธีการทำแตกต่างกัน จึงเสนอให้แยกพื้นที่ในการบำบัด เพื่อวัดผลว่าการบำบัดได้ผลในพื้นที่ใดและไม่ได้ผลในพื้นที่ใดบ้าง แต่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะ ผอ.ศปภ. และกระทรวงทรัพยากรฯ ไม่เห็นด้วยกับการแยกดำเนินการ
       
       ทั้งนี้ จุลินทรีย์ที่กระทรวงทรัพยากรฯ อ้างว่าได้มาจากการบริจาคนั้น หากต้องการปริมาณมากต้องสั่งซื้อเพื่อนำมาทำหัวเชื้อในราคาลิตรละ 3 บาท แต่หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่กระทรวงกลาโหมนำมาใช้นั้นมีราคาเพียงลิตรละ 80 สตางค์ และประชาชนสามารถนำเชื้อจุลินทรีย์ไปขยายหัวเชื้อต่อได้ โดยไม่ต้องเสียสตางค์ เนื่องจากหัวเชื้อ 1 ลิตร นำไปขยายหัวเชื้อได้จำนวนมาก
       
       แค่นี้ก็เดาทางกันไม่ยากว่าใครต้องการอะไร...
       
       อย่างไรก็ตาม ได้ยินคำพูดของ “นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่กล่าวถึงกรณีการทุจริตการจัดซื้อสุขากระดาษ ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ว่า “เป็นเรื่องที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการหากินบนความทุกข์ของประชาชนที่ประสบอุทกภัย นอกจากเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องแล้วยังถือว่าเป็นบาปอีกด้วย” ได้แต่ปลงอนิจจัง
       
       นี่ท่านรัฐมนตรีผมขาวหลับหูหลับตาพูดจนไม่รู้เชียวหรือว่า ไอ้คนที่ถูกกล่าวหาก็อยู่ในกระทรวงท่านนั่นแหละ ที่สำคัญ การเอาของบริจาคของคนอื่นแล้วติดป้ายหรือสกรีนชื่อว่าเป็นรัฐมนตรี ทำเสมือนว่าเป็นผู้บริจาคเสียเองอย่างนี้ จะเข้าข่ายการทุจริตหรือไม่ “ท่านยงยุทธ” ช่วยตอบที


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ชำแหละ ถุงยังชีพ ศปภ. นักการเมืองขี้ฉ้อ สวาปาม ส้วมประชาชน

view