สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดใจอดีตปลัด ปีติพงศ์ แก้3ปมกู้วิกฤติน้ำ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

กรุงเทพธุรกิจสัมภาษณ์ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯ หนึ่งในกรรมการกยน.ถึงแนวคิดการบริหารจัดการน้ำหลังเข้าเป็นกรรมการ

"ผมไม่เคยรู้ตัวมาก่อน มารู้อีกทีตอนที่รัฐบาลประกาศรายชื่อ  เข้าใจว่าคงมีคนที่รู้จักเสนอชื่อไป เพราะเคยทำงานที่กระทรวงเกษตรฯมานาน" นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หนึ่งในกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำหรือกยน.อธิบายถึงการเข้ามาเป็นกรรมการ

นายปีติพงศ์ กล่าวว่าการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมระยะสั้นในปี 2555  ต้องเริ่มตั้งแต่ 1.การสร้างเขื่อน ต้องตั้งสมมุติฐานการเก็บน้ำใหม่ โดยเฉพาะระดับการเก็บน้ำ เพราะปัจจุบันฤดูกาลเปลี่ยนไป ความสำคัญก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่เราใช้นำเพื่อการเกษตรประมาณ 70% อีก18%ใช้เพื่อสิ่งแวดล้อม คือไปดันน้ำเค็มออกทะเล ส่วนภาคอุตสาหกรรมกับชุมชนใช้ประมาณ 10% และใช้ปั่นไฟฟ้าอีกเล็กน้อย เมื่อมีเหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นแล้ว การเก็บน้ำในช่วงต้นฤดูฝน จะไปห่วงน้ำช่วงปลายฤดูมากคงไม่ได้

"ต้องมาดูว่าปีหน้าจะทำอย่างไร ตรงนี้เป็นเรื่องการบริหารโดยเฉพาะ ไม่ต้องไปดูเรื่องอื่นเลย ถ้าบริหารจัดการตรงนี้ได้ คือรู้ว่าควรจะปล่อยเมื่อไหร่ แค่ไหน อย่างไร เหตุการณ์อย่างนี้ก็จะลดลง"

2.การบริหารจัดการประตูระบายน้ำ ประตูกั้นน้ำ ในส่วนของล่มน้ำเจ้าพระยา จะให้ใครดูแลรับผิดชอบ ขณะนี้คนที่รับผิดชอบคือกรมชลประทาน ต่อไปถ้าจะดูเรื่องการป้องกันน้ำท่วมด้วยก็จะต้องเอาคนที่ไม่ต้องการน้ำ เข้ามาดูด้วยว่าจะจัดการอย่างไร ถ้าไม่มองภาพรวมก็จะเกิดปัญหาได้อีก

ขณะเดียวกันพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา หรือฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้มันเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างต่างๆ  โดยที่พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวฯทรงเคยได้ให้พระบรมราโชบายไว้ว่าการระบายน้ำต้องใช้ปั๊มน้ำและคลองระบายน้ำ เท่าที่ทราบขณะนี้คลองระบายน้ำหลายคลองจากกทม.ด้านล่างตื้นเขิน มีคนเข้าไปบุกรุก มีผักตบชวา มันจึงเป็นปัญหาว่า  เป็นเหตุทำให้น้ำทางด้านตะวันออกไม่ลดลงเร็วเหมือนฝั่งตะวันตก เครื่องสูบน้ำแถวจังหวัดสมุทรปราการ ยังไม่เริ่มทำงานเลย เพราะน้ำยังไม่ไหลมา เพราะฉะนั้นคูคลองต้องคิดว่าจะทำอะไรถึงจะให้ใช้งานได้

การบริหารจัดการเรื่องน้ำ ควรมีกลไกที่ทำงานเรื่องนี้ เวลามีปัญหาไม่ว่าน้ำท่วมหรือไม่ท่วม สิ่งหนึ่งที่ตั้งข้อสังเกตุ คือสมัยก่อนเราจะลงทุนด้านการให้น้ำ คือการชลประทานเยอะมาก  แต่การลงทุนป้องกันน้ำท่วมน้อยมาก

"เราไม่เคยประสบมาก่อนทำให้ไม่มีใครลงทุน ไม่รู้ว่าน้ำจะท่วมเมื่อไหร่ ไปสร้างแล้วอาจจะโดนด่าได้ สู้ไปสร้างให้มีน้ำเป็นบุญคุณทางการเมือง ชาวบ้านก็ชอบ แต่อยู่ดีๆไปสร้างพนังกั้นน้ำ ไล่ชาวบ้านออกจากคลอง เป็นอะไรที่ไม่มีใครชอบ ฉะนั้นการลงทุนเรื่องการป้องกันน้ำจึงมีน้อย"

วันนี้เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ภาพการลงทุนควรจะสร้างความสมดุลให้มากขึ้น ถ้าไปดูเรื่องน้ำชลประทานอย่างเดียวแล้ว ไม่ดูเรื่องน้ำท่วม ตอนนี้ก็เห็นภาพชัดแล้วว่าเวลาเกิดปัญหามันเสียหายมาก

ประตูระบายน้ำที่ต้องเข้าไปดูแล กลไกจะทำอย่างไร เรื่องนี้คิดถึงเวลาแล้วที่ต้องทบทวนอำนาจการดูแลของหน่วยงานต่างๆ  การแก้ปัญหาระยะสั้นในส่วนนี้ไม่ต้องลงทุนมาก ที่ผ่านมาเห็นชัดเจนกทม.กับจังหวัดข้างๆพอน้ำเข้ามารัฐบาลถอย ดังนั้นควรมีความชัดเจนในการดูแลตั้งแต่ประตูระบาย ประตูกักเก็บน้ำ การทำความสะอาดทางเดินของน้ำและจัดการว่าใครดูแลรับผิดชอบ

นายปีติพงศ์ ยกตัวอย่างให้เห็นอย่างแม่น้ำเจ้าพระยาตอนนี้ไม่รู้ว่าใครดูแล รับผิดชอบ กรมชลประทานก็ดูเรื่องแม่น้ำ กรมโยธาธิการ ก็ดูเรื่องตลิ่ง กรมเจ้าท่า ก็ดูเรื่องการเดินเรือ แต่ภาพรวมไม่มีใครดูแล เรื่องนี้ตนเห็นว่ารัฐบาลควรออกระเบียบชั่วคราวสร้างสัมพันภาพกับผู้เกี่ยวข้อง 4-5กลุ่ม ให้ทำงานร่วมกันทำงานอย่างบูรณาการให้ได้ ต้องมีระบบบริหารให้เป็น

สำหรับการก่อสร้างเขื่อน ในความเห็นส่วนตัวคิดว่ายังมีความจำเป็น เพราะเราไม่มีทางเลือกอื่น ขณะนี้ต้นทุนน้ำทั้งหมด "เราเก็บน้ำผิวดินได้ประมาณ 30% ที่เหลือลงใต้ดิน ลงทะเล ลงเร็วขึ้นทุกวัน ผมว่าเหมือนคนหัวล้าน เพราะป่าไม้ถูกทำลายมาก "ระยะยาวคงต้องดูเรื่องการปลูกป่าด้วยที่ผ่านมาทำให้เห็นแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น

ที่ผ่านมาคิดว่าเราดูด้านอุปทานมาก โดยไม่ได้ดูในเรื่องของอุปสงค์ กับการบริหารจัดการ ถ้าเราลดการใช้น้ำลงได้10% ดุลของการใช้น้ำของประเทศจะดีขึ้น แต่เราพูดเรื่องการให้อย่างเดียว  ในส่วนประชาชนที่รับภัยพิบัติจะป้องกันตัวเองอย่างไร จะใช้น้ำอย่างไร  จะมีการเก็บค่าน้ำอย่างไร เราไม่เคยพูดถึง เพราะถ้าพูดไปก็จะสั่นสะเทือนทางการเมืองทุกครั้ง  เรื่องนี้เคยคิดแต่ก็โดนด่าไปแล้ว

เช่นเดียวกับประตูน้ำที่ผ่านมาก็มีการทะเลาะกัน ในส่วนของประตูระบายน้ำทั้งหมดสร้างมาไม่ต่ำกว่า 30 ปีแล้ว ควรจะต้องปรับปรุง ตรงนี้ใช้เงินไม่เท่าไหร่ และควรเก็บข้อมูลให้มากกว่านี้ บริหารต้องเกิดความสมดุล ทำให้เกิดการมีส่วนร่วม ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ ต้องให้เกิดกระบวนการในการเรียนรู้

3.การก่อสร้างบุกรุกลำน้ำ หรือทางเดินของน้ำ ถามว่าเราจะใช้วิกฤติตรงนี้มาแก้ปัญหากับผู้บุกรุก โดยเฉพาะโครงการบ้านจัดสรรที่บุกรุกได้หรือไม่ นายปีติพงศ์ ยืนยันว่าเรื่องนี้ทำได้แต่ไม่มีใครลงมือ เราต้องสร้างทางน้ำหลากให้ได้ หรือมีกุศโลบายในการโยกย้ายที่ไม่ทำให้เกิดปัญหามากนัก นี่ก็เป็นวิธีการหนึ่ง อีกวิธีหนึ่งแพงและไม่น่าจะเป็นคำตอบคือ การสร้างอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ การใช้โอกาสใช้ได้แน่ๆ แต่ควรใช้หรือไม่ ไม่รู้

สำหรับการลงทุนในระยะยาว สิ่งที่เคยเสนอไว้ เช่น การสร้างแม่น้ำเจ้าพระยา 2 แผนการชลประทานกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมของแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีอยู่ ต้องหยิบขึ้นมาพิจารณา หรือการก่อสร้างเขื่อนเพิ่มเติมก็มีความจำเป็น แต่ไม่แน่ใจว่าวิกฤติรอบนี้จะเปลี่ยนวิธีคิดของคนได้

"เอาง่ายๆต้องเปลี่ยนวิธีคิดของคนที่รับผิดชอบก่อน จะทำอะไรต้องรีบทำ มัวแต่นั่งคิด ชาตินึงก็ไม่เกิด เดี๋ยวก็ลืม เดี๋ยวก็ภัยแล้ง น้ำท่วมอีก ปัญหาสำคัญที่สุดคือจะทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่เข้าใจหน้าที่ และตกลงกันได้ ถ้าใช้กฎหมายอย่างที่นายกฯใช้คิดว่าพอ แต่ทำอย่างไรให้กลไกที่กำหนดไว้ในกฎหมายในระเบียบมีผลในทางปฏิบัติ"

สิ่งที่คิดว่ารัฐบาลจะต้องปรับปรุงในทางเทคนิคคือ ระบบป้องกันน้ำของกทม.ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันน้ำท่วมจากน้ำท่วมขังจากน้ำฝน ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับน้ำเหนือ

ส่วนเครื่องสูบน้ำที่ยังขาดแคลนอยู่ ความจริงในระบบมีอยู่แล้ว แต่ต้องมีกระบวนการกำหนดให้มีการย้ายเครื่องสูบน้ำในช่วงที่วิกฤติ แต่บังเอิญกทม.กับรัฐบาลผมไม่รู้ว่าพวกเดียวกันหรือเปล่า

สำหรับการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่เสนอข้อมูลให้รัฐบาลตัดสินใจ คนใช้อำนาจคือพนักงานเจ้าหน้าที่ กับรัฐบาล คณะกรรมการ มีอำนาจตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ออกมารองรับเกี่ยวกับกระบวนการทำแผน ถ้ารัฐบาลหมดอายุกรรมการชุดนี้ก็ต้องหมดวาระไป แต่ถ้ารัฐบาลนี้กับรัฐบาลต่อไปเห็นฟ้องกันว่าแผนที่เสนอควรเป็นแผนระยะยาวก็ต้องเดินต่อไป

"ในระยะยาวก็ต้องพิจารณาว่าควรมีการพิจารณาหน่วยงานขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะหรือไม่ จะแก้ไขกฎหมาย แก้ไของค์กร ต้องพิจารณากัน"

ส่วนที่มองว่าหากไม่มีตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร เข้าไปเป็นกรรมการจะทำให้การแก้ไขปัญหาขาดตอนหรือไม่ เรื่องนี้คิดว่าถ้าเราไปจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้พื้นที่การปกครองเป็นขอบเขต มันก็ทำไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าน้ำจะไปที่ไหน จึงต้องทำงานเป็นโซน มีแผนเผชิญเหตุเป็นโซนๆไป


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : เปิดใจ อดีตปลัด ปีติพงศ์ ปมกู้วิกฤติน้ำ

view