สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ส.สถาปนิกแนะสร้าง ทางด่วนน้ำ 2เส้นทางผันจากรังสิตระบายลง ท่าจีน-อ่าวไทย

จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์



สมาคมสถาปนิกสยามฯเสนอไอเดียแก้ปัญหาน้ำท่วม กรุงเทพฯระยะยาว ลงทุนทำ "ทางด่วนระบายน้ำ" แนวเหนือ-ใต้ 2 เส้นจาก "รังสิต-แม่น้ำท่าจีน" และ "รังสิต-อ่าวไทย" ไหลตรงลงสู่ทะเล ประเมินใช้เวลาไม่เกิน 5 ปีเสร็จ เตรียมพัฒนา "แบบบ้านไม่กลัวน้ำ" เป็นไกด์ไลน์ให้ประชาชน



นายทวีจิตร จันทรสาขา นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่สร้างความเสียหายให้กับอาคารบ้านเรือนและเศรษฐกิจ อย่างมากในขณะนี้ มีความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาวว่ารัฐบาลควรจะลงทุนก่อสร้าง "ทางระบายน้ำพิเศษ" เป็นท่อส่งน้ำตรงไม่ต้องผ่านคลองต่าง ๆ ยาวไปตามแนวเหนือ-ใต้ของกรุงเทพฯ โดยน่าจะต้องทำทั้งหมด 2 เส้นทาง แต่ละสายมีระยะทางไม่เกิน 80 กิโลเมตรคือ 1) ทางพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จาก "รังสิต" ถึง "อ่าวไทย" และ 2) พื้นที่ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา จาก "รังสิต" ถึง "แม่น้ำท่าจีน"

"เนื่องจากในสมัยก่อนต้องการให้ น้ำไหลผ่านกรุงเทพฯช้าลง เพื่อนำไปใช้ในการเกษตร คลองส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงถูกขุดเป็น แนวขวางตามทิศตะวันออก-ตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนแนวทิศเหนือ-ใต้เป็นคลองขนาดเล็กทำหน้าที่เชื่อมต่อคลองต่าง ๆ เข้าด้วยกันเท่านั้น ทำให้น้ำไม่ได้ถูกระบายออกได้อย่างรวดเร็ว ตามคลองต่าง ๆ"

แนวคิดที่จะเสนอเบื้องต้นมี 3 แนว ทาง คือ 1) เวนคืนที่ดินทำทางระบายน้ำ 2) ทำอุโมงค์ใต้ดิน และ 3) ทำเป็น ทางด่วนยกระดับสูงจากพื้นที่ หรือ "ทาง ด่วนระบายน้ำ"

ทั้งนี้ จากการพิจารณาถึงระยะเวลาดำเนินการและความคุ้มค่าในการลงทุนพบว่า แนวทางที่ 3 คือการทำทางด่วนระบายน้ำน่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะเป็นลักษณะการเวนคืนสิทธิเหมือนการก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูง ไม่จำเป็นจะต้องเวนคืนที่ดิน ซึ่งน่าจะมีอุปสรรคต้องใช้เวลานาน โดยประเมินว่าภายในเวลา 5 ปีน่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ เทียบเท่ากับการก่อสร้างทางโทลล์เวย์

ส่วนแนวทางที่ 1 จำเป็นต้องเวนคืนที่ดินซึ่งต้องใช้ระยะเวลานาน และสุดท้ายคือแนวทางที่ 2 ไม่จำเป็นต้องเวนคืนที่ดินแต่จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก

สำหรับ ประเด็นปัญหาว่า น้ำท่วม ครั้งนี้เกิดจากผังเมืองรวม กทม.หรือไม่ นายทวีจิตรกล่าวว่า ข้อกำหนดของผังเมืองรวม กทม.ไม่ใช่ต้นตอของปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ทั้งหมด เพราะปัญหาจริง ๆ อยู่ที่การบังคับใช้ ซึ่งต้องยอมรับว่าในบางพื้นที่ซึ่งผังเมืองกำหนดให้เป็น "พื้นที่สีเขียว" เพื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำก็ยังคงมีการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยได้ รวมถึงมีระบบสาธารณูปโภคเกิดขึ้นทำให้ไปขวางทางน้ำ ส่งผลให้การระบายน้ำทำได้ช้าลง

จากประเด็นดังกล่าว นอกจากการเสนอแนวคิดทำทางด่วนระบายน้ำ ส่วนตัวมีแนวคิดที่อยากเสนอเพิ่มเติมอีก 2 เรื่องคือ 1) ภาครัฐควรวางนโยบายไม่ส่งเสริมให้คนเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่รับน้ำ และ 2) ต้องปรับปรุงอาคารที่อยู่อาศัยใหม่ให้สามารถอยู่ได้ในภาวะน้ำท่วมโดยไม่ ลำบากจนเกินไป

สำหรับแนวคิดนโยบายไม่ส่งเสริม ให้คนเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่รับน้ำ ข้อเสนอคือในโซนพื้นที่น้ำท่วมภาครัฐอาจจะใช้วิธีควบคุมเรื่องสาธารณูปโภค เช่น สามารถขอมิเตอร์ไฟฟ้าได้ไม่เกิน 5 แอมป์, ไม่ขยายท่อประปาขนาดใหญ่ส่งน้ำไปถึง ฯลฯ ก็จะทำให้เมืองไม่ขยายตัว ประเทศพัฒนาแล้วก็ปฏิบัติลักษณะนี้คือ เมื่อออกนอกพื้นที่เขตเมืองบริเวณ "พื้นที่รอยต่อ" ระหว่างเมืองจะถูกควบคุมความหนาแน่นการอยู่อาศัยทันที และไปพัฒนาความเจริญในเมืองถัดไป

ส่วนแนวคิดสุดท้ายถัดมาคือ การปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้สามารถอยู่ได้ในภาวะน้ำท่วมมี 3 ระดับคือ 1.บ้านไม่กลัวน้ำท่วม 2.หมู่บ้านไม่กลัวน้ำท่วม และ 3.เมืองที่ไม่กลัวน้ำท่วม

สำหรับ "บ้านที่ไม่กลัวน้ำท่วม" คือบ้านที่ระบบไฟฟ้า ระบบถังบำบัด ระบบประปายังใช้ได้ตามปกติเมื่อน้ำท่วม ตรงนี้คงต้องกลับมาที่ "บ้านไทยยกสูง" ชั้นล่างใช้วัสดุทนน้ำ ห้องนอน ห้องครัว ห้องน้ำ อยู่ชั้นบน เมื่อห้องน้ำอยู่ชั้นบน

สิ่งที่ปรับ เปลี่ยน อาทิ ต้องทำถังส้วมแยกระบบกันให้มีถังขนาดเล็กอีกใบตั้งไว้ในห้องเก็บของและต่อ ท่ออากาศไปด้านบน ยกสูงกว่าพื้นประมาณ 1.80 เมตร, ระบบประปาในบ้านอาจจะต้องพัฒนาท่อประปาที่ยืดหยุ่นเพื่อจะไม่แตกหัก, ออกแบบถังเก็บน้ำไว้ด้านบนจากปัจจุบันอยู่บนดินหรือใต้ดินแล้วใช้ปั๊มสูบ ขึ้นไปใช้งาน, ตัวปั๊มอาจจะต้องต้องออกแบบให้มีระบบมือโยกเพิ่มขึ้นกรณีไฟฟ้าดับ ฯลฯ

ส่วน "หมู่บ้านไม่กลัวน้ำ" วิธีการคืออาจจะออกแบบให้มีทางเดินเชื่อมต่อบ้านแต่ละหลัง ความสูงจากระดับพื้นประมาณ 2.20 เมตร เชื่อมต่อกันไปถึงหน้าโครงการไว้ใช้กรณีน้ำท่วม และมีทุ่นลอยน้ำเพื่อเป็นทางลง โดยจะเริ่มต้นออกแบบการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรในต่างจังหวัดประเภท ทาวน์เฮาส์ก่อนเพื่อเป็นโครงการนำร่อง

และ "เมืองไม่กลัวน้ำ" คือควรจะต้องทำพื้นที่รับน้ำให้เป็นพื้นที่รับน้ำ จริง ๆ และทำระบบป้องกันพื้นที่ส่วนในที่เป็นย่านธุรกิจให้น้ำอยู่ด้านนอกและ ถูกระบายด้วยระบบทางด่วนระบายน้ำ ที่กล่าวข้างต้น

"ตัวอย่างแบบบ้าน ไม่กลัวน้ำเป็นสิ่งที่สมาคมจะผลักดันให้เกิดขึ้น หลังจากนี้จะกลับไปพัฒนาบ้านต้นแบบให้ดูว่าเป็นอย่างไร และเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ"


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ส.สถาปนิก แนะสร้าง ทางด่วนน้ำ เส้นทางผันจากรังสิต ระบายลง ท่าจีน อ่าวไทย

view