สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฉ้อราษฎร์บังหลวง?!? ข้าราชการ พันล้าน หาไม่ได้ในโลกของคน สุจริต

ฉ้อราษฎร์บังหลวง?!?’ ข้าราชการ ‘พันล้าน’ หาไม่ได้ในโลกของคน ‘สุจริต

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

สำหรับ สังคมไทย เป็นอันรู้กันดีว่า อาชีพข้าราชการนั้น เป็นอาชีพที่มั่นคงและสวัสดิการดีที่สุดอาชีพหนึ่ง แต่ถ้าถามว่าเป็นข้าราชการแล้วจะมีโอกาสรวยหรือไม่ ร้อยทั้งร้อยก็ตอบมาเป็นเสียงเดียวกันว่า 'ไม่' เพราะเงินเดือนของข้าราชการเกือบทั้งหมดนั้น นับว่าน้อยแสนน้อย หากจะนำมาเปรียบเทียบกับการจ้างงานในภาคเอกชน หรือเปรียบกับรายได้ของเจ้าของกิจการ
       
       แต่กระนั้น คนส่วนมากในบ้านเราก็อยากจะเป็นข้าราชการกันอยู่ดี นั่นก็เพราะสวัสดิการต่างๆ ที่รัฐมีให้ ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียน บางทีก็มีช่วยเหลือไปถึงค่าเช่าบ้าน แถมยังมีบำเหน็จบำนาญหลังเกษียณ แน่นอนว่าโอกาสรวยนั้นแทบจะไม่มี แต่ก็รับประกันได้เลยว่าจะไม่ลำบากแน่ๆ
       
       แต่ความเชื่อในเรื่องที่ว่าข้าราชการเป็นอาชีพที่มั่นคงแต่ไม่รวย ก็กำลังถูกสั่นคลอนเพราะเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีกรณีโจรบุกเข้าไปขโมยเงินจากบ้านของปลัดกระทรวงคมนาคม สุพจน์ ทรัพย์ล้อม ซึ่งจำนวนเงินที่โจรได้ออกไปก็เป็นเงินจำนวนไม่น้อย โดยวีระศักดิ์ เชื่อลี หรือโก้ หนึ่งในผู้ต้องหาอ้างว่าปล้นเงินจากบ้านปลัดกระทรวงคมนาคม ได้เงินมาราว 200 ล้านบาท และยังมีเงินอีกจำนวนหนึ่งในบ้านที่ยังขนออกมาไม่ได้ ซึ่งว่ากันว่าเงินทั้งหมดที่อยู่ในบ้านของข้าราชการคนนี้ มีอยู่กว่า 1,000 ล้านบาท!!
       
       แน่นอนว่า เงินจำนวนนี้ ไม่น่าจะเป็นเงินเก็บที่ได้มาจากการทำงานราชการเพียงอย่างเดียวเป็นแน่ เพราะไม่ว่าจะนั่งคิดนอนคิดอย่างไร รายได้ (แบบปกติ) ของข้าราชการ ต่อให้เก็บมาทั้งชีวิตก็ไม่น่าจะมีมากขนาดนั้น!
       
       คิดคำนวณความน่าจะเป็น
       
       เพื่อให้ความกระจ่างชัดว่า เรื่องของเงินๆ ทองๆ ของช้าราชการในแต่ละปีนั้น มันช่างอัตคัดแค่ไหน เพราะฉะนั้นก็จะขอมาจำลองแบบการเติบโตของข้าราชการคนหนึ่งให้เห็นกันแบบ คร่าวๆ คือ
       
       หากข้าราชการคนนี้ปัจจุบันอายุ 60 ปี รับราชการมาตั้งแต่ปี 2521 เติบโตจนมาถึงบทบาทสูงสุดของข้าราชการคนหนึ่งพึงจะได้ พูดง่ายๆ คือตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า โอกาสที่เขาจะมีรายได้ก็จะเป็นดังนั้น
       
       สมมติว่า ข้าราชการปฏิบัติการระดับ 1 อยู่ 12 เดือน คือระหว่างปี 2521-2522 เงินเดือนตามพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2521 นั้นให้อัตราสูงสุดก็คือ 3,535 บาท ถ้าคิดรวบยอดทั้งหมด 12 เดือนจำนวนเงินที่จะได้นั้นจะอยู่ที่ 42,420 บาท
       
       แล้วต่อมาได้เลื่อนขั้นไปอยู่ระดับ 2 อีก 24 เดือน คือระหว่างปี 2522-2524 อัตราเงินเดือนตาม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวนั้นอยู่ที่ 4,685 บาท ระยะ 2 ปี ข้าราชการคนนี้ก็จะได้เงินเดือนรวมกันอยู่ที่ 112,440 บาท
       
       หลังจากนั้น หากได้เลื่อนมาอยู่ระดับ 3 อยู่อีก 60 เดือน คือระหว่างปี 2524-2529 เพราะฉะนั้นเดือนๆ หนึ่งข้าราชการผู้นี้ก็จะได้เงิน 5,745 บาท สรุปแล้วรวม 5 ปีก็จะได้ 344,700 บาท
       
       พอปี 2529-2532 อาจจะได้เลื่อนมาอยู่ในระดับ 4 รวมระยะเวลาคือ 36 เดือน อัตราเงินเดือนก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย โดยอัตราต่อเดือนก็คือ 7,285 บาท รวม 3 ปีคิดเป็น 262,260 บาท
       
       และหากเลื่อนมาอยู่เป็นระดับ 5 ในปี 2532 จนถึง 2535 รวม 36 เดือนเช่นกัน อัตราเงินเดือนตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวก็จะเพิ่มขึ้นให้เป็น 9,385 บาท รวมๆ แล้วก็จะตกอยู่ที่ 337,140 บาท
       
       และเมื่อถึงปี 2535 ที่มีการปรับฐานเงินเดือนตาม พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่ อัตราเงินเดือนก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย โดยข้าราชการคนนี้ดำรงตำแหน่งในระดับ 6 ตั้งแต่ปี 2535-2538 หากได้เงินเฉลี่ยตั้ง 12,040 บาท แล้วปรับตามอัตราขั้นๆ เรื่อยๆ จนถึง 20,000 บาท เฉลี่ยแล้วก็ตกเดือนละ 16,000 บาท สรุป 36 เดือนรายได้ก็จะอยู่ที่ 576,000 บาท
       
       พอไต่เต้ามาถึงระดับซี 7-8 หากเป็นตั้งแต่ปี 2538 จนถึง 2549 หากได้เงินเดือนที่ 24,700 บาทจนถึง 48,860 บาท ทำไป 11 ปีเต็ม เฉลี่ยได้เดือนละ 36,780 บาท ก็จะได้เงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 4,854,960 บาท
       
       และเมื่ออาวุโสมากๆ ฐานเงินเดือนและการพิจารณา แถมยังมีเงินจิปาถะตั้งแต่เงินประจำตำแหน่งและเติบโตมาในงานสายบริหาร หากเป็นนักบริหารระดับสูง (หรือซี 10 ในอดีต) ตั้งแต่ 2549-2553 โดยหากได้เงินเดือนอยู่ 64,730 บาท บวกกับเงินเพิ่มที่จะได้ต่างหากคือ 14,500 บาท เพราะฉะนั้นเดือนหนึ่งก็จะได้ 79,230 บาท ถ้าอยู่ตำแหน่งนี้สัก 48 เดือน รายได้ทั้งหมดก็จะตกอยู่ที่ 3,803,040 บาท
       
       และอย่างที่จั่วหัวไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า หากคนนั้นเกิดจับพลัดจับผลูได้เป็นปลัดกระทรวงขึ้นมาก็จะมีเงินเดือนถึง 66,460 บาท แถมยังมีเงินประจำตำแหน่งอีก 21,000 บาท สรุปเดือนหนึ่งก็จะได้เงินตกที่ 87,460 บาท หากคิดระยะเวลาถึงปัจจุบันก็อยู่ที่ 14 เดือน สรุปเป็นเงินทั้งสิ้น 1,224,400 บาท
       
       เพราะฉะนั้นหากมาไล่ดูอายุราชการ 30 กว่าปี เงินที่น่าจะได้รับ บวกกับค่าพิเศษอีกมากมายก็จะอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาทต้นๆ และหากเป็นกรรมการของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งได้เบี้ยประชุมครั้งหนึ่ง 5,000-6,250 บาท ประชุมกันเดือนละ 1-2 ครั้ง โอกาสที่จะกระตุ้นยอดรายได้ให้มีสูงกว่าก็มีน้อยมาก
       
       นี่ยังไม่รวมกับค่าใช้จ่ายจิปาถะ ไม่ว่าจะเป็นบ้านหลังโต รถหรูอีกหลายคนที่ข้าราชการระดับสูงชอบมีกัน เพราะฉะนั้นรายได้ของผู้บริหารบางคนที่มีเป็นร้อยๆ ล้านจึงน่าสนใจมากๆ
       
       เส้นทางทำกิน (ของข้าราชการบางคน)
       
       เห็นๆ กันอยู่ว่าลำพังการทำงานข้าราชการนั้น ไม่น่าจะหาเงินมาได้มากมายขนาดนั้น คำถามต่อมาก็คือแล้วมันจะมาจากทางไหนได้บ้าง ถ้ามองในแง่ดี มันก็อาจจะมาจากการประกอบสัมมาอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริม อย่างการทำขายตรงขายประกัน แต่ถ้าหากจะมองในแง่จริง เงินจำนวนมหาศาลเหล่านี้ เป็นไปได้สูงมาก ที่จะมาจากการทุจริตประพฤติมิชอบโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ที่ตนมีอยู่
       
       ในประเด็นนี้ กล้านรงค์ จันทิก ในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับสูง และทำงานด้านตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน ในตำแหน่งกรรมการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นของการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่ไม่ชอบของข้าราชการว่า
       
       “ในทางที่ชอบก็คือเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง คือค่าจ้าง ถ้าเกิดที่ได้มาในทางไม่ชอบ ก็เป็นเรื่องของการได้ทรัพย์สินมาโดยใช้อำนาจหน้าที่ของตัวเอง ในเรื่องของธรรมจรรยานั้น ข้าราชการนั้นไม่ให้รับเงินหรือทรัพย์สินอื่นใด เว้นแต่การรับเงินและทรัพย์สินนั้นจะเป็นไปโดยธรรมจรรยา ตามที่ป.ป.ช.กำหนด”
       
       โดยธรรมจรรยาก็มีระบุไว้ในกฎหมาย ซึ่งสรุปสั้นๆ แล้วก็คือ การให้เงินหรือทรัพย์สินกันในโอกาสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปีใหม่ วันเกิดหรืออะไรก็ตาม ห้ามให้เกินกว่า 3,000 บาท
       
       “ถ้ารับเกินมาต้องรีบรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบให้ทันทีที่ทำได้ แล้วถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่า ทรัพย์สินที่รับไว้เกินกว่าสามพันบาทนั้น ไม่สมควรจะรับ ให้คืนก็ต้องคืน หรือให้เก็บไว้เป็นของหลวงก็ต้องเก็บไว้เป็นของหลวง หรืออนุญาตให้รับได้ ก็รับได้ ถือว่าไม่มีการลับ นั่นคือหลักการโดยทั่วไป”
       
       โดยเขายกตัวอย่างถึงกรณีที่มีการพิสูจน์กันในศาลฎีกาแล้ว คือกรณีของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รักเกียรติ สุขธนะ ที่พบว่า มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาประมาณ 300 กว่าล้านบาท โดยบอกว่าได้มาจากการเล่นการพนัน พิสูจน์ได้ประมาณ 40 ล้าน ที่พิสูจน์ไม่ได้ศาลก็ยึดไป ซึ่งหน้าที่ของการตรวจสอบนั้น ก็คือการมองหาความผิดปกติที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติในช่วงที่รับตำแหน่ง ทั้งนี้ ข้าราชการระดับสูง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สินทั้งหมดของตัว เอง
       
       “คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องตรวจสอบความถูกต้องและมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินเหล่านั้น สมมติว่ายื่นมา ห้าสิบล้านบาท ตรวจสอบแล้วพบว่ามีร้อยล้าน ประเด็นที่จะต้องพิจารณา หนึ่ง-คือท่านจงใจยื่นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงหรือไม่ กระบวนการนี้จะนำไปสู่กระบวนการปกครอง ในปัจจุบันต้องร้องต่อศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
       
       “สมมติศาลรับว่า จงใจยื่นเท็จ บุคคลผู้นั้นต้องพ้นจากหน้าที่ และห้ามดำรงตำแหน่ง 5 ปีติดต่อกัน นั่นคือกระบวนการปกครอง ต่อมาเงิน 50 ล้านนั้น ท่านต้องพิสูจน์ว่าท่านได้มาโดยชอบหรือไม่ ถ้าท่านพิสูจน์ได้ว่าท่านได้มาโดยชอบ กระบวนการจะเป็นแต่เพียงว่าท่านยื่นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงว่าท่านไม่ยื่น แต่ถ้าหากว่าพิสูจน์ไม่ได้ว่าท่านได้มาโดยชอบ เงิน 50 ล้านตัวนี้จะไปที่ศาลยุติธรรม เพื่อให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน โดยหากเงิน 50 ล้านนั้น สืบแล้วพบว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตต่อตำแหน่ง กระบวนการนี้ก็จะนำไปสู่การดำเนินคดีอาญา ในข้อหาความผิดต่อตำแหน่ง ซึ่งก็จะดำเนินไปตามแต่มาตรากฎหมายที่จะพิจารณา”
       
       ‘จนไม่กลัว’ เพราะข้าราชการคือข้าแผ่นดิน
       
       การใช้อำนาจทางราชการที่ตนมีเพื่อหาประโยชน์ใส่ตัวนั้น จะว่าไป มันมักจะเกิดกับคนที่มีอำนาจในระดับหนึ่ง แต่ในระดับข้าราชการชั้นผู้น้อยนั้น แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีโอกาสเลย ถ้าอยากรวยก็ต้องหางานเสริมทำกันไปแบบสุจริต ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ทัศนคติของข้าราชการชั้นผู้น้อยมักเป็นไปตามนี้
       
       จ่าอากาศตรี ทนงศักดิ์ มีรัตน์ เจ้าหน้าที่บริหารกำลังพล กองนโยบายและแผน กรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ เปิดเผยว่า ตนนั้นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยไม่ได้ร่ำรวยมาแต่ไหนแต่ไร พร้อมทั้งแสดงทัศนะว่าลำพังงานราชการอย่างเดียวอาจไม่ถึงกับรวยได้ แต่ถ้ามีอาชีพเสริมทำควบคู่ไปด้วยก็สามารถสร้างฐานะได้ไม่ยาก
       
       "ราชการมันจะค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปครับ ไม่ถึงขั้นรวยเท่าไหร่หรอก อาชีพราชการมันเหมือนกับว่าพอมีพอกิน แต่มันมีข้อดีตรงที่ว่าสวัสดิการมากกว่า อย่างตัวผมเองก็มีประสบการณ์จากคุณพ่อที่รับราชการและประกอบธุรกิจส่วนตัว ด้วย ตรงนี้เลยเป็นแนวทางที่เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ที่รับราชการได้ ก็มีสิทธิมีโอกาสร่ำรวยได้"
       
       หากถามว่าอัตราจ้างของทหารชั้นประทวนนั้นเพียงพอกับรายจ่ายหรือไม่ ทนงศักดิ์ แสดงความคิดเห็นว่า
       
       "มันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนด้วย แต่สำหรับผมเพียงพอ เพราะว่าผมไม่ได้ใช้จ่ายอะไรมาก อย่างเรื่องที่อยู่อาศัยก็อยู่กับญาติ ก็ทุ่นค่าใช้จ่ายไปเยอะ ตัวผมเองเงินเดือนไม่ถึงหมื่นหรอก แต่เรื่องเงินเดือนน้อยก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกอะไรนะ เพราะว่าระบบราชการมันเป็นไปอย่างนี้อยู่แล้ว ก็เลยไม่ต้องมัวมาทำใจในเรื่องเงินเดือน อีกอย่างเรื่องเงินเดือนหรือว่าชั้นยศมันก็เป็นไปตามลำดับขั้น มันจะเลื่อนเป็นระบบทุกปีอยู่แล้ว
       
       "ถามว่าเงินเดือนที่ได้มันเหมาะสมกับ ภาระหน้าที่ไหม...มันเหมาะสม แต่มันก็มีบางครั้งอาจจะทำงานหนักบ้าง ส่วนใหญ่ก็เป็นการทำงานช่วยสังคม และเราก็ไม่ได้เป็นกังวลอะไรเพราะถือว่าเป็นการตอบแทนคุณแผ่นดิน"
       
       ‘โกงหรือไม่? ศาลยังไม่ตัดสิน’ แต่สังคมสามารถตัดสินได้
       
       แม้ในความเป็นจริง มันยังไม่อาจจะชี้ชัดลงไปได้ว่า ‘ปลัดพันล้าน’ เป็นคนที่ใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบจนร่ำรวยขึ้นมาหรือเปล่า แต่ในสายตาของประชาชนอย่าง เสาวคนธ์ อาจปักษา ที่รับรู้และติดตามข่าวเรื่องนี้ได้ให้ความเห็นว่า
       
       “ต้องยอมรับว่า เราก็ไม่รู้ว่าเงินมันมีจริงหรือเปล่า เพราะเราไม่ได้ไปขโมยเอง แต่เมื่อเห็นตำรวจไปจับคนร้ายแล้วได้เงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แค่นี้ก็รู้แล้วว่ามีทรัพย์สินมากกว่าปกติ คงทุจริตอยู่ไม่น้อยถึงได้มีเงินเยอะขนาดนั้น เราว่ามันเป็นนิสัยของแต่ละคน แก้ยากเรื่องพวกนี้ กินเล็กกินน้อย ยิ่งตำแหน่งสูงก็กินยิ่งเยอะ ถ้าเป็นราชการในระดับนี้ จะหาเงินได้มากมายอย่างนั้นได้ คงเป็นไปได้สองทาง คือไม่ขายยาเสพติด ก็โกงเงินโครงการต่างๆ นี่แหละ เพราะถนน ทำทางอะไรเทือกนี้ จะมีเงินเข้ามาเยอะ การสร้างก็เอาของไม่ได้มาตรฐานมาใช้ เราในฐานะประชาชนคนเสียภาษีเหมือนกันทุกคนก็ต้องทำหน้าที่ของเราไป แค่เดือนๆ หนึ่งเงินแทบไม่พอใช้ต้องเอามาให้เขาโกงกินกัน อยากจะรู้เหมือนกันว่าจะกินอะไรกินมากมาย รับไม่ไหว แล้ว คงเป็นเรื่องยาก ถ้าจะไม่กิน”
       
       ส่วน สุนันท์ ทองอินทร์ ชาว บ้านธรรมดาอีกคนก็ถึงกับตัดพ้อและบอกว่า เราเองรู้กันทุกคนว่ามีการโกงเกิดขึ้นเกือบทุกโครงการอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการทำถนนหนทางต่างๆ มีงบประมาณอยู่เยอะ เป็นเรื่องเกือบจะปกติที่คนรับผิดชอบจะต้อง 'กิน' กันตั้งแต่หัวถึงปรายทางและเชื่อว่าสาเหตุนี้เองที่ทำให้ข้าราชการคนหนึ่ง อย่างปลัดคมนาคมมีเงินเยอะอย่างที่เป็นข่าวได้
       
       “เป็นข้าราชการคนหนึ่งต้องโกงถ้าไม่โกงไม่น่าจะมีเงินขนาดนี้ และถ้าไม่โกงประเทศก็คงดีกว่านี้เช่นกัน ชาวบ้านก็หาเช้ากินค่ำกันไปเรื่อยๆ เขามีโอกาสมากกว่า เขาก็โกง เห็นกันจนเป็นเรื่องปกติ จนความรู้สึกตอนนี้มันกลายเป็นเฉยๆเพราะมันเป็นอย่างนี้มานานแล้ว เราเองไม่มีใครอยากให้โกงหรอก บ้านเมืองจะได้เจริญขึ้นสักทีแต่เราทำอะไรไม่ได้”
       
       ………
       
       ว่ากันตามสามัญสำนึก การที่ใครสักคนจะมีเงินสด 1,000 ล้านบาทกองอยู่ในบ้าน มันย่อมไม่ใช่เรื่องปกติอยู่แล้ว และยิ่งคนที่ไม่ใช่นักธุรกิจหรือเจ้าของกิจการแต่เป็นข้าราชการในสังกัดกรม กองกระทรวงของรัฐมันก็ยิ่งแปลกเข้าไปใหญ่ ซึ่งไม่ว่าจะคิดอย่างไร หนทางในการได้มาของเงินมันก็แทบจะหลีกเลี่ยงเรื่องของการทุจริตมิได้เลย
       
       แม้สังคมไทยจะรับรู้กันอยู่แล้วว่า ในวงราชการมีการทุจริตคอร์รัปชันอยู่จริง แต่ก็ไม่ค่อยใส่ใจกันสักเท่าไหร่ คดีที่สะท้านเมืองคราวนี้ โจรแผลงฤทธิ์ทำให้เกิดการเปิดโปงการคอร์รัปชันในวงราชการอย่างเป็นเรื่อง เป็นราวเป็นรูปธรรมขึ้นมา แม้ว่าจะมีกลิ่นทะแม่งๆ ซึ่งอาจจะเกี่ยวโยงกับการเล่นงานกันทางการเมืองก็ตาม แต่สังคมไทยจะได้หันมาเห็นถึงปัญหาที่มีมานานแสนนาน แต่ยังไม่เคยได้รับการแก้ไขอีกครั้ง
       
       >>>>>>>>>>
       
       ……….
       
       เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
       ภาพ : ทีมภาพ รายวัน


ชวรัตน์ลั่นไม่ได้เป็นเจ้าของซิโน-ไทย ปธ.บริษัทไม่ได้นามสกุลชาญวีรกูล

จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีที่มีการเชื่อมโยงบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ในการตั้งกระทู้ถามสดว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับ นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ที่พบว่ามีเงินอยู่ในบ้านเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเกี่ยวกับการทุจริตในโครงการสร้างรถไฟฟ้า ว่า ตนไม่ทราบ เพราะตนไม่ได้เป็นเจ้าของบริษัทซิโน-ไทย และประธานบริษัทก็ไม่ได้นามสกุลชาญวีรกูล รายละเอียดตนไม่ทราบ เล่นการเมืองมา 10 ปีแล้ว จึงไม่ได้ดูแลบริษัท และซิโน-ไทยก็เป็นบริษัทมหาชน


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ฉ้อราษฎร์บังหลวง ข้าราชการ พันล้าน หาไม่ได้ ในโลกของคนสุจริต

view