สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เพราะโกหก จึงเป็นเช่นนี้

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ศ.ดร.วรภัทร โตธนะเกษม



เชื่อไหมครับ วิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในยุโรปวันนี้ เริ่มมาจาก “การโกหก”
     เมื่อปี ค.ศ. 1999 หลายประเทศในยุโรป ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มประเทศยูโรโซน เพื่อใช้เงินตราสกุลเดียวกัน คือ เงินยูโร โดยประเทศที่เข้าร่วมกลุ่ม จะต้องยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ใน “ข้อตกลงว่าด้วยเสถียรภาพและความเติบโต” (Stability and Growth Pact) หรือเรียกย่อๆ ว่า SGP ซึ่งหนึ่งในข้อตกลงนั้น กำหนดไว้ว่า ประเทศสมาชิก จะต้องมีงบประมาณขาดดุล ไม่เกิน 3% ของ GDP
     ประเทศกรีซ สมัครเข้าเป็นสมาชิก ในปี ค.ศ. 2001 และได้รับการยอมรับให้เข้าเป็นสมาชิกยูโรโซนได้ เพราะข้อมูลทางเศรษฐกิจของกรีซ เป็นไปตามเงื่อนไขทุกประการ และในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิก แต่ละประเทศก็จะต้องให้ความช่วยเหลือ หรือได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ซึ่งกันและกัน ตามความเหมาะสมและความจำเป็น
      เป็นสมาชิกได้ 3 ปี ก็ปรากฏเป็นข่าว และ รัฐบาลกรีซ ประกาศยอมรับความจริง ในปี  ค.ศ. 2004 ว่า กรีซมีงบประมาณขาดดุลที่ มากกว่า 3%  นับตั้งแต่วันที่ยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกยูโรโซน แล้ว พูดง่ายๆ ก็คือ โกหก มาตั้งแต่แรกนั่นแหละ จนทำให้ได้เป็นสมาชิกยูโรโซน
     เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเทศสมาชิกอีกสิบกว่าประเทศควรทำเช่นใด ธนาคารเจ้าหนี้ ควรทำเช่นใด หรือบริษัทจัดอันดับเครดิต ควรทำเช่นใด.......คำตอบใน วันนี้ อาจจะไม่ยากนัก เพราะเป็นการมองย้อนหลัง แต่ความจริงก็คือ วันนั้น เมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ไม่มีใครทำอะไรมากมายนัก
     ประเทศสมาชิกอื่นๆ จะทำอย่างไรได้เล่า ในเมื่อ กติกาของยูโรโซน ก็คือไม่สามารถไล่สมาชิกออกได้ กรีซ ก็เลยกลายเป็นประเทศภาระ ที่ประเทศอื่นๆ ต้องช่วยเหลือประคับประคองมาตลอด ส่วน ธนาคารต่างๆ รวมทั้ง นักลงทุน และบริษัทจัดอันดับเครดิต ก็ยังไม่ค่อยจะให้ความสนใจในเรื่องการโกหกของกรีซ เท่าใดนัก เพราะทุกฝ่ายต่างเชื่อว่า กรีซ จะได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากประเทศอื่นๆ ในยูโรโซน ซึ่งมีมากกว่าสิบประเทศ
     เหตุการณ์ก็เลยพัฒนามาจนกลายเป็นวิกฤติในวันนี้ และอันดับเครดิตของกรีซ ก็ถูกลดลงมาอย่างรวดเร็ว จนอยู่ในกลุ่มที่อันดับเครดิต ต่ำที่สุดในโลกไปแล้ว
     แต่เรื่องไม่จบเพียงนั้น เพราะวิกฤติครั้งนี้ ได้กระจายไปยังประเทศอื่นในยูโรโซน อีกหลายประเทศ เช่นอิตาลี และ โปรตุเกส เป็นต้น และก็เป็นธรรมดา เมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงอย่างนี้เกิดขึ้น อย่าว่าแต่คนไทยเราเลย ฝรั่งต่างชาติ ก็อดไม่ได้ที่จะวิเคราะห์ว่า ใครมีส่วนทำให้เกิดเหตุการณ์ เช่นนี้
     แน่นอนว่า กรีซ น่ะ หมดคุณค่าไปแล้ว นับตั้งแต่วันที่ยอมรับต่อชาวโลกว่า ได้ให้ตัวเลขที่โกหกหลอกลวง เพื่อจะได้เข้าเป็นสมาชิกยูโรโซน ซึ่งหลังจากนั้น ประเทศสมาชิกก็เลยต้องให้ความช่วยเหลือต่างๆ มาโดยตลอด แต่ที่นักวิจารณ์ทั้งหลาย ต่างทยอยกันออกมาตั้งคำถามบ่อยครั้งว่า แล้วทำไมบริษัทจัดอันดับยักษ์ของโลก ไม่ลดอันดับเครดิตของกรีซ ให้เร็วกว่านี้เล่า
     เมื่อสองวันก่อน Julie Creswell และ Graham Bowley ออกมาเขียนบทความ ระบุว่า ในวันที่กรีซ ได้เข้าเป็นสมาชิกยูโรโซน เมื่อปี ค.ศ. 2001 นั้น กรีซ กลับได้รับการปรับอันดับเครดิตขึ้นไปจากเดิม ด้วยซ้ำไป ทั้งๆ ที่กรีซ ก็ไม่ได้เข้มแข็งอะไรมากไปกว่าเดิมเลย ซึ่งประเด็นนี้ นักวิเคราะห์จากค่าย มูดี้ส์ ก็ออกมาอธิบายว่า เป็นเพราะมูดี้ส์ เชื่อว่าการได้เข้าเป็นสมาชิกยูโรโซน นั้น ทำให้สถานะของกรีซ แตกต่างไปจากเดิม เพราะจะได้รับการสนับสนุน จากกลุ่มยูโรโซน ถือว่าเข้มแข็งขึ้น จึงมีการปรับอันดับเครดิตให้สูงขึ้น
     ส่วนประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่า แล้วทำไมในระยะหลัง เมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า กรีซ มีปัญหา ทำไมไม่ลดอันดับเครดิตลงให้เร็วกว่านี้ เพราะอันดับเครดิตที่สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ธนาคารต่างๆ และนักลงทุนเข้าใจผิด และยังให้เงินกู้ยืมแก่กรีซ เพิ่มขึ้นตลอดเวลา จนนำไปสู่หนี้สินมากมาย กลายเป็นปัญหาในวันนี้
     ค่ายผู้จัดอันดับเครดิต ก็อธิบายว่า ความจริง ก็ได้ลดอันดับเครดิตลงมาบ้างแล้ว ตามลำดับ แต่ขอให้สังเกตด้วยว่า ธนาคารและนักลงทุนเอง เสียอีก กลับยังเต็มใจให้กรีซกู้ยืม โดยคิดอัตราดอกเบี้ย ที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นด้วยซ้ำไป (สำหรับอันดับเครดิตในระดับนั้น) แสดงว่าธนาคารและนักลงทุน ก็เต็มใจให้กรีซกู้ยืม โดยไม่คำนึงถึงอันดับเครดิต เท่าที่ควร เช่นกัน
     ฟังแล้ว ก็ได้บรรยากาศ คล้ายๆ การประชุมสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเลยครับ ที่ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลต่างชี้นิ้วให้กันและกัน ว่าใครกันแน่ เป็นผู้ทำให้เกิดมหาอุทกภัยครั้งนี้  ฟังฝ่ายรัฐบาล ก็มีเหตุผล ฟังฝ่ายค้าน ก็มีเหตุผล ประชาชนไปตัดสินกันเอง ก็แล้วกัน แต่ที่แน่ๆ มหาอุทกภัยได้เกิดขึ้นแล้ว เช่นเดียวกับวิกฤตการณ์ ยูโรโซน ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว เช่นกัน
     วิกฤติยูโรโซน จึงเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุประกอบกัน แต่ถ้าหาก เมื่อปี ค.ศ. 2001 กรีซ ไม่ได้โกหกประเทศอื่นๆ ด้วยตัวเลขงบประมาณขาดดุลที่น้อยกว่าความเป็นจริง กรีซ ก็อาจจะไม่มีสิทธิ ได้รับการยอมรับให้เข้าเป็นสมาชิกยูโรโซน จนทำให้กรีซดูน่าเชื่อถือขึ้นกว่าเดิม ได้รับอันดับเครดิตดีขึ้น รวมทั้งธนาคารและนักลงทุน ก็หลั่งไหลให้กู้ยืมเงิน เป็นจำนวนมากกว่าที่ควรจะเป็น แถมยังยอมรับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราที่ควรจะเป็นเสียอีกด้วย จนที่สุด หลายปีผ่านไป กรีซ จึงมีหนี้สินล้นพ้นตัว จุดชนวนวิกฤติยูโรโซน ลามปามไปประเทศอื่น อย่างที่เห็นกันในวันนี้

สรุปได้ว่า......
    การโกหก นั้น วันหนึ่งความจริง ก็ต้องปรากฏต่อสังคม อย่างที่กรีซ ถูกค้นพบ และต้องออกมายอมรับ เมื่อปี ค.ศ. 2004 น่าอับอายไม่น้อยเลย
     การคบกับคนโกหก ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าเขาโกหก แต่ก็ยังเชื่อถือเขามากกว่าที่ควรเป็น วันหนึ่ง ก็ได้รับผลอย่างนี้แล
     อาชีพบางอาชีพ วันนี้กำลังตกเป็นเป้าหมาย และถูกจับตาอย่างมาก นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เอ็นรอน เป็นต้นมา เช่น อาชีพนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ อาชีพผู้สอบบัญชี และอาชีพจัดอันดับเครดิต เป็นต้น
     แต่ไม่ว่าอาชีพอะไรก็ตาม ถ้าหากเราทำหน้าที่ ด้วยจิตโปร่งใส ด้วยความรู้ และด้วยสติ เสียอย่าง
 เชื่อได้ว่าพ้นภัย แน่นอนครับ


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : เพราะโกหก จึงเป็นเช่นนี้

view