สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข้อคิดในการปฏิรูประบบการเงินโลก

ข้อคิดในการปฏิรูประบบการเงินโลก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ผมอยู่ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ไปร่วมประชุม G20 Dialogue หรือ การหารือเพื่อระดมความคิดให้กลุ่มประเทศ G20
ในหัวข้อการปฏิรูประบบการเงินโลก จัดโดยสภาวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอินเดีย หรือ ICRIER ร่วมกับสถาบัน GIZ ของเยอรมันนี อย่างที่ทราบ G20 เป็นการรวมตัวของประเทศที่มีขนาดใหญ่ 20 ประเทศในโลก เพื่อเป็นเวทีด้านนโยบายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลก โดยความคิดเห็นของกลุ่ม G20 จะเป็นตัวขับเคลื่อนการทำงานขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงปรับปรุงระบบการเงินโลก เพื่อให้เศรษฐกิจโลกมีระบบการป้องกันและแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น


ถ้าจำได้ในช่วงแรกของวิกฤตเศรษฐกิจโลกคราวนี้ บทบาทของกลุ่ม G20 ค่อนข้างเด่นในการประสานนโยบายเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโลกให้กลับมาขยายตัว แต่สี่ปีให้หลังจนถึงปัจจุบัน ปัญหาที่สืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกก็ยังไม่คลี่คลาย ล่าสุดก็ปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มสหภาพยุโรป  ความยืดเยื้อของวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้ปัจจุบันบทบาทของกลุ่ม G20 ในฐานะผู้นำด้านนโยบายดูแผ่วลง การประสานนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆมีน้อยลง และการแก้ไขปัญหาจะออกมาในลักษณะต่างคนต่างทำ


ล่าสุดในการประชุมที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน กลุ่ม G20 ได้ประกาศความตั้งใจที่จะปฏิรูประบบเศรษฐกิจการเงินโลก เพื่อให้ได้ระบบใหม่ที่มีเสถียรภาพและเข้มแข็งกว่าเดิม โดยเน้นการปฏิรูปในสามทาง คือ หนึ่ง ดูแลปัญหาเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และ สอง ผลักดันให้แต่ละประเทศ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนอย่างยืดหยุ่น เพื่อลดการสะสมเงินทุนสำรองทางการที่มองว่ามีปริมาณมากเกินพอดีในบางประเทศ และ สาม วางแนวทางให้เศรษฐกิจโลกมีความสามารถสูงขึ้นที่จะดูแลแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อเกิดขึ้น โดยปรับปรุงสถาบันและองค์กรต่างๆ ที่เศรษฐกิจโลกมี เพื่อให้โลกมีระบบป้องกันและแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น


เป้าหมายต่างๆ นี้ต้องถือว่าวางไว้สูง และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผลักดันการปฏิรูป เพราะอย่างแรกต้องมีความชัดเจนก่อนว่า ในการปฏิรูปนี้สิ่งที่จะต้องพยายามทำให้เกิดขึ้นคืออะไร และสอง เมื่อทราบแล้ว แนวคิดด้านปฏิรูปก็จะต้องได้รับการสนับสนุนจากประเทศทั่วโลกว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ ซึ่งยากทั้งสองเรื่อง


เพื่อให้ผู้อ่าน “กรุงเทพธุรกิจ” เข้าใจว่าระบบการเงินโลกขณะนี้เป็นอย่างไร และมีปัญหาอะไร จึงนำมาสู่ความต้องการของกลุ่ม G20 ที่จะปฏิรูประบบปัจจุบันให้ดีขึ้น โดยใช้แนวทางสามด้านที่ได้พูดถึงนั้น ผมขอสรุปสั้นๆ ดังนี้


หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความยิ่งใหญ่ของประเทศสหรัฐในฐานะผู้ชนะสงคราม ทำให้เงินดอลล่าร์สหรัฐกลายมาเป็นเงินสกุลหลักของโลก จากความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสหรัฐ ความก้าวหน้าของตลาดการเงินสหรัฐ และความน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่ของธนาคารกลางสหรัฐ ทำให้ทั่วโลกให้ความไว้วางใจและใช้เงินดอลล่าร์สหรัฐเป็นเงินสกุลกลางในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยแต่ละประเทศจะกำหนดค่าเงิน หรืออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลของตนกับเงินดอลล่าร์สหรัฐ ตามระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่แต่ละประเทศจะเลือกใช้ ซึ่งในช่วงแรกจะเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ แต่ต่อมาก็ผสมผสานระหว่างระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่และระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว


ภายใต้ระบบดังกล่าว ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่รุนแรงและต่อเนื่องหรือ ความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ จะเกิดขึ้นได้ยากในประเทศที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว เพราะอัตราแลกเปลี่ยนที่เคลื่อนไหวตามภาวะตลาด จะเป็นตัวปรับลดทอนความไม่สมดุลให้ลดลง ขณะที่ประเทศที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ความไม่สมดุลจะเกิดได้ง่าย  และเมื่อเกิดขึ้นก็ต้องลดค่าเงิน หรือเพิ่มค่าเงินแล้วแต่กรณี และถ้าความไม่สมดุลมีมาก จนกระทบความสามารถของประเทศในการชำระหนี้ ประเทศก็อาจเข้าสู่วิกฤต ซึ่งระบบการเงินโลกก็จะมีไอเอ็มเอฟ  ที่จะให้เงินกู้ช่วยเหลือเพื่อให้ประเทศสามารถแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลที่มีอยู่ได้


ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมา ระบบการเงินโลกจึงมีดอลล่าร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลักโดยมีความน่าเชื่อถือในการทำนโยบายการเงินของสหรัฐ เป็นตัวยึดเหนี่ยวความมั่นใจที่ทั่วโลกมีกับเงินสกุลหลัก โลกจะค้าขายและลงทุนระหว่างกัน นำมาสู่การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ซึ่งก็คือการกู้ยืมกันเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุน ความไม่สมดุลที่จะมี ก็จะถูกลดทอน โดยการปรับตัวของค่าเงิน โดยมีไอเอ็มเอฟเป็นผู้สอดส่องดูแล และให้ความช่วยเหลือในกรณีที่ประเทศต้องปรับตัวมากเพราะความไม่สมดุลมีมากจนเกิดวิกฤต


แต่ในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ความเป็นโลกาภิวัตน์ของระบบการเงินโลก ทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศได้เพิ่มขึ้นในปริมาณที่สูงมากและเกิน     การเคลื่อนย้ายเงินทุนเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนของภาคเศรษฐกิจจริง สิ่งที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเงินทุนเคลื่อนย้าย ที่เป็นการลงทุนทางการเงิน โดยตลาดการเงินโลกเพื่อแสวงหากำไร นำมาสู่ปริมาณการไหลเข้าออกของเงินทุนระหว่างประเทศที่มาก และผันผวน ประเด็นนี้ทำให้การเคลื่อนย้ายของเงินทุนระหว่างประเทศไม่ได้ถูกกำหนดโดยความต้องการทางการค้า หรือการลงทุนของภาคเศรษฐกิจจริงเหมือนอดีต แต่ถูกขับเคลื่อนโดยความต้องการของตลาดการเงินโลก ที่จะลงทุนเพื่อหากำไรหรือเพื่อเก็งกำไร ทำให้ระบบการเงินโลกปัจจุบัน เป็นระบบที่ขับเคลื่อนโดยกระแสหรือการไหลเวียนของเงิน (financial flows) ไม่ใช่ระบบที่ถูกขับเคลื่อนโดยการค้าและการลงทุน
สำหรับประเทศที่เงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาก ก็มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะใช้จ่ายเกินตัว มีปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาฟองสบู่ ปัญหาความไม่สมดุล และปัญหาหนี้ตามมา ซึ่งถ้ารุนแรงก็นำไปสู่การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ดังนั้นวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ๆที่เกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เม็กซิโก เอเชีย รวมถึงไทย และล่าสุดที่สหรัฐ และยุโรป ล้วนแต่เป็นผลของเงินทุนเคลื่อนย้ายทั้งสิ้น ที่สำคัญ เมื่อการลงทุนทางการเงินมีมาก การเคลื่อนย้ายเงินทุนก็มาก วิกฤตเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นได้บ่อย และเกิดขึ้นในขนาดที่ใหญ่ขึ้น และในประเทศที่ใหญ่ขึ้น ทำให้ความสามารถของไอเอ็มเอฟ ที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาทำได้น้อยลง เพราะไม่มีทรัพยากรการเงินมากพอที่จะช่วยเหลือประเทศที่เกิดปัญหาพร้อมกันหลายประเทศ โดยเฉพาะถ้าเป็นประเทศใหญ่ อันนี้คือปัญหาขณะนี้


ดังนั้นในชั้นแรก ความต้องการของกลุ่ม G20 ที่จะปฏิรูประบบการเงินโลก โดยดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย ต้องเริ่มที่การควบคุมการลงทุนทางการเงินของตลาดการเงินโลก ที่เป็นตัวขับเคลื่อนเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยธุรกรรมทางการเงินบางอย่างต้องมีการควบคุมด้วยกฎระเบียบใหม่ที่เข้มแข็งและเป็นระบบสากล เพื่อลดการลงทุนทางการเงิน หรือการเก็งกำไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุนของภาคเศรษฐกิจจริง  ถ้าไม่มีจุดนี้การปฏิรูประบบการเงินโลกก็จะมีข้อจำกัด เพราะกลไกของนโยบายเศรษฐกิจ และอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเดียวจะไม่สามารถลดความเสี่ยง ที่เศรษฐกิจโลกมีจากเงินทุนเคลื่อนย้ายที่นับวันจะสูงขึ้นได้ อันนี้เป็นความเห็นที่ผมฝากไว้กับการประชุมที่อินเดีย เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เพื่อการพิจารณาของกลุ่ม G20


วันนี้ขอจบแค่นี้ก่อน พบกันใหม่วันจันทร์หน้าครับ


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ข้อคิด การปฏิรูประบบการเงินโลก

view