สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

น้ำท่วม ตลาดทุน และการพัฒนาที่ยั่งยืน

น้ำท่วม ตลาดทุน และการพัฒนาที่ยั่งยืน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




วิกฤติมหาอุทกภัยปี 2554 ทำให้คนไทยได้รู้ซึ้งถึงผลกระทบจากภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ภาวะการบริหารแบบแทบไม่บริหารอะไรของรัฐบาล
และภาวะความขัดแย้งระหว่างพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน
 

ธนาคารโลกประเมินว่า มหาอุทกภัยครั้งนี้ก่อให้เกิดความเสียหายและสูญเสียรวมกันกว่า 1.3 ล้านล้านบาท
 

นอกจากจะทำให้คนไทยรู้ซึ้งเป็นอย่างดีในหลายมิติ และถ้าไม่นับตัวเลขความเสียหายและสูญเสียซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ อุทกภัยครั้งนี้ก็ไม่ต่างจากครั้งก่อนๆ ในแง่ที่เผยให้เห็น “ตอ” มากมายที่ยังไม่เคยได้รับการสะสางในสังคม
 

โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างวิธีคิดแบบ “แก้ปัญหาเฉพาะหน้า” กับ “ลดความเสี่ยงระยะยาว”
 

ในเมื่อน้ำส่งผลกระทบต่อคนไทยทุกภาคส่วน รวมถึงระบบนิเวศน์น้ำจืดและน้ำเค็ม การป้องกันน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมจึงไม่อาจขึ้นอยู่กับการหาวิธี “ป้องกันน้ำท่วม” เพียงอย่างเดียว เพราะวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามักจะเป็นวิธีที่ก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาว ซึ่งผลเสียนั้นดีไม่ดีอาจมีมูลค่าสูงกว่าประโยชน์เฉพาะหน้าด้วยซ้ำไป
 

ยกตัวอย่างเช่น การวางแนวคันกันน้ำไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ชั้นใน โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของคนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ และปราศจากมาตรการชดเชยที่เป็นธรรม มักจะกระพือความโกรธแค้นที่เข้าใจได้ของผู้เดือดร้อน ตอกลิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้ถ่างกว้างกว่าเดิม รอวันที่จะปะทุเป็นความขัดแย้งรอบใหม่ในอนาคต
 

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่มีประสิทธิภาพ จึงต้องคิดเรื่องการแก้ปัญหาระยะยาวควบคู่กันไปด้วย
 

ไม่ใช่มองว่าเรื่องระยะสั้นกับระยะยาวเป็นคนละเรื่องที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน พอมองแบบนี้ก็สุ่มเสี่ยงว่าจะแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจระยะยาว
 

ตราบใดที่คิดแบบนี้ การแก้ปัญหาก็จะมี “ต้นทุน” ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะอนาคตไม่ว่าจะอยู่ไกลเพียงใดย่อมกลายเป็นปัจจุบันไม่วันใดก็วันหนึ่ง ที่สำคัญ “เวลา” ที่เรามีก่อนมันกลายเป็นปัจจุบันดูจะหดแคบลงเรื่อยๆ ตามกระแสโลกาภิวัตน์และความรุนแรงทวีคูณของภัยธรรมชาติ
 

พูดมาทั้งหมดนี้หลายท่านอาจคิดว่า ไม่เห็นเกี่ยวอะไรเลยกับตลาดทุน
 

แต่ที่จริงตลาดทุนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก เพราะวิธีคิดสั้น แบบ “แก้ปัญหาเฉพาะหน้า” นั้นส่วนหนึ่งถูกตอกตรึงด้วยโลกทัศน์และทัศนคติของนักลงทุน และของผู้กำกับดูแลตลาดทุน
 

โบรกเกอร์และนักลงทุนส่วนใหญ่มองผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างคับแคบ คือ ดูว่าหุ้นตัวไหนน่าจะได้รับอานิสงส์จากน้ำท่วมบ้าง ด้วยการมองแต่แนวโน้มผลประกอบการไตรมาสหน้า
 

หุ้นของบริษัทไหนประกอบธุรกิจก่อสร้าง ขายกระสอบทราย หรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณที่น้ำไม่ท่วม หุ้นตัวนั้นก็มีแนวโน้มสดใส นักลงทุนและโบรกเกอร์แห่กันเชียร์
 

มองแบบนี้ก็ไม่ผิดตำราอะไร แต่น่าเสียดายมาก เพราะเป็นการมองแบบย่ำเท้าอยู่กับที่ ไม่ได้ใช้ศักยภาพของตลาดทุนในการช่วยปรับเปลี่ยนวิธีคิดของคนไทยและภาคธุรกิจ ให้คำนึงถึงการ “ลดความเสี่ยงระยะยาว” มากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
 

เริ่มจากการเรียกร้องให้ทางการยกระดับมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน เพื่อกดดันให้บริษัทประเมินความเสี่ยงอย่างรอบด้าน และสื่อสารให้นักลงทุนรับรู้ว่า ธุรกิจของบริษัทส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร มีปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมอะไรบ้างที่เป็น “ปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจ” ของบริษัท
 

การบูรณาการประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปในกฎระเบียบการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน เป็นกระแสที่กำลังก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งในตลาดทุนที่พัฒนาแล้วทั่วโลก
 

แต่ในประเทศไทยยังไปไม่ถึงไหน
 

อันที่จริง การรายงานความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจนั้น เป็นสิ่งที่บริษัทจดทะเบียนทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอกฎระเบียบเพิ่มเติม เพราะแต่ละบริษัทไปประเมินได้เองว่าปัจจัยอะไรบ้างที่เข้าข่ายปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจ
 

แต่ในหลายประเทศ สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์ ออกกฎระเบียบและแนวทางเพิ่มเติม เพื่อบังคับให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลในประเด็นเร่งด่วนที่คุกคามเสถียรภาพของบริษัทมากขึ้นเรื่อยๆ
 

ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2010 ก.ล.ต. อเมริกา ออกประกาศว่าความเสี่ยงจากภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง จัดเป็น “ความเสี่ยงในสาระสำคัญ” ที่บริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยผลกระทบและมาตรการบรรเทาผลกระทบ หลังจากที่หนึ่งปีก่อนหน้า สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมประกาศว่าก๊าซเรือนกระจกคุกคามความเป็นอยู่ของมนุษย์ และต่อไปจะกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกชนิดในฐานะ “มลพิษ” (pollutant)
 

อีกตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2011 ก.ล.ต. แคนาดา ออกประกาศบังคับให้บริษัทจดทะเบียนจัดทำรายงานความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม เป็นรายงานประจำปี
 

ย้อนไปกลางปี 2010 วารสาร Harvard Business Review ของคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตีพิมพ์บทความ “จำเป็นต้องยั่งยืน” (The Sustainability Imperative) โดย เดวิด ลูบิน และ ดาเนียล เอสตาย (อ่านออนไลน์ได้จาก http://hbr.org/2010/05/the-sustainability-imperative/ar/1)
 

ในบทความนี้ ผู้เขียนทั้งสองเสนอว่า ยุคนี้ผู้จัดการบริษัทไม่อาจละเลยความยั่งยืน ในฐานะที่เป็นหัวใจของความได้เปรียบเชิงแข่งขันในระยะยาวอีกต่อไป
 

หวนกลับมาดูเมืองไทย ถึงวันนี้ เราก็ยังไม่มีข้อมูลว่า น้ำที่ท่วมนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่ง นั้นมีสารเคมีอันตรายอะไรบ้าง และไม่รู้ว่าอนาคตของหมู่บ้านจัดสรรนับร้อยโครงการที่สร้างขวาง “แก้มลิง” ทั้งทางตะวันออกและตะวันตก ในผังเมืองของ กทม. นั้นจะเป็นเช่นใด
 

ไม่มีใครเปิดเผยข้อมูล และไม่มีกฎหมายใดบังคับให้เปิดเผย ผังเมืองมีไปก็บังคับใช้ไม่ได้จริง
 

ตราบใดที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยยังไม่เข้าใจว่า ผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็น “ปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจ” อย่างไร และตราบใดที่ผู้บริหารและผู้กำกับดูแลตลาดทุนยังปล่อยเรื่องนี้ไว้ “ตามความสมัครใจ” เหมือนอย่างที่การเปิดเผยสารเคมีอันตรายเป็นความสมัครใจของนักอุตสาหกรรม
 

ผู้เขียนเกรงว่าโครงการ “ซีเอสอาร์” เฉพาะหน้าในตลาดทุน อย่างเช่น กองทุน “ตลาดหุ้นร่วมใจ ช่วยภัยน้ำท่วม” อย่างมากก็เป็นได้แค่เพียงการร้องเพลงบรรเทาทุกข์โศกชั่วครู่ยาม
 

ในเรือโดยสารขนาดใหญ่ที่กำลังจะจม แต่คนไม่อุดรูรั่วเพราะมัวแต่ร้องเพลง


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : น้ำท่วม ตลาดทุน การพัฒนาที่ยั่งยืน

view