สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คดีซุกหุ้น ต้นตอวิกฤต พท.ชะงักปรองดอง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเมือง

การจุดกระแสสร้างความปรองดองมีมาอย่างต่อเนื่องในช่วงการเมืองไทยต้อง ประสบภาวะของการแบ่งขั้วเลือกข้างอย่างรุนแรงในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมีกระบวนการแสวงหาแนวทางเพื่อนำไปสู่ความ ปรองดองอย่างแท้จริง แต่สุดท้ายข้อเสนอของสารพัดคณะกรรมการเหล่านี้ที่ทำมาไปจบลงในลิ้นชักของ ฝ่ายรัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญในรัฐบาลที่แล้ว หรือแม้แต่การเอาตัวเข้าแลกของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ตระเวนพบคู่ขัดแย้งทางการเมืองเพื่อปูถนนสร้างความสมานฉันท์

ผลที่ออกมาไม่สามารถแก้ไขอะไรนอกจากเป็นข่าวบนพื้นที่สื่อ

อย่างไรก็ตาม จะมีเพียงในส่วนของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง แห่งชาติ (คอป.) ที่มี คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุดเป็นประธานเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายการเมืองและ คู่ขัดแย้งหลังจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อเดือน พ.ค. 2553

สะท้อนได้จากท่าทีของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งได้ประกาศสนับสนุนการทำงานของ คอป. แม้ว่าที่มาของ คอป.จะมาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ท่าทีที่ออกมาในเวลานั้นช่วยส่งเสริมการทำงานของ คอป.ให้เป็นไปอย่างราบรื่น ปราศจากการต่อต้านจากกลุ่มเสื้อแดง ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง คอป.จึงกลายเป็นคณะบุคคลที่สามารถยืนหยัดบนสถานการณ์การเมืองที่กำลังปั่น ป่วนในเวลานี้ได้เป็นอย่างดี

แรงสนับสนุนจากคนเสื้อแดงที่มีให้ คอป.นั้นแน่นอนว่ามาจากข้อเสนอของ คอป. หลายต่อหลายครั้งเป็นไปในลักษณะเป็นคุณกับคนเสื้อแดง หรือแม้แต่เสื้อเหลืองเอง

โดยเฉพาะการเรียกร้องให้รัฐบาลหามาตรการเยียวยาแนวร่วมคนเสื้อแดงที่มี ข้อหาไม่ร้ายแรงให้ได้รับการประกันตัวจากเรือนจำเพื่อมาสู่คดีในชั้นศาล จนมาถึงการไปยืนยันในชั้นศาลหลายครั้งจนสามารถช่วยให้แกนนำ นปช.ระดับแกนนำเสื้อแดง 7 คน อาทิ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ พ้นคุก

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ คอป.ยังทำงานอยู่ได้ภายใต้การเมืองที่มีการเปลี่ยนผ่านขั้วอำนาจจากพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นพรรคเพื่อไทย

ใช่ว่าเสื้อแดงเท่านั้นที่หวังพึ่ง คอป.เพื่อประโยชน์ในทางการเมือง เพราะแม้แต่พรรคเพื่อไทยเองก็มีความพยายามใช้ฐานของ คอป.เพื่อให้บรรลุการปรองดองเช่นกันผ่านการเดินเกมในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เป็นประธาน

กล่าวคือ พรรคเพื่อไทยต้องการใช้ผลสรุปของ คอป.และ กมธ.ปรองดอง เป็นเส้นทางสู่การนิรโทษกรรมทางการเมืองด้วยการตรากฎหมายในช่วงสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติที่กำลังจะเริ่มในวันที่ 21 ธ.ค.นี้

การมีฐานของ สอง ส่วนนี้รองรับจะทำให้พรรคเพื่อไทยมีความชอบธรรมมาก ขึ้นสำหรับการใช้เสียงข้างมากในรัฐสภา อย่างน้อยพรรคเพื่อไทยจะอ้างต่อสังคมได้ว่าไม่ได้เป็นผู้คิดเองเออเองทั้ง หมด ซึ่งจะลดแรงเสียดทานไม่ให้มาปะทะกับพรรคมากเกินไป

ทว่าถนนสายนี้ของพรรคเพื่อไทยทำท่าจะไม่ง่ายเสียแล้ว เมื่อ คอป.ออกรายงานฉบับล่าสุดต่อสาธารณชนที่พุ่งไปที่ปัญหาของระบอบทักษิณ

สาระสำคัญอยู่ที่ข้อ 7 ระบุว่า “คอป.เห็นว่ารากเหง้าของปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการละเมิดหลักนิติธรรม กระบวนการประชาธิปไตยและการบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอและขาดประสิทธิภาพ นำไปสู่การใช้อำนาจนอกระบบในการแก้ปัญหาโดยการรัฐประหาร ซึ่งแทนที่จะแก้ปัญหา แต่ท้ายที่สุดกลับสร้างปัญหามากยิ่งขึ้น...

...การละเมิดหลักนิติธรรมโดยกระบวนการยุติธรรมอันเป็นรากเหง้าของปัญหา เกิดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 295 หรือคดีซุกหุ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญ มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย”

รายงานฉบับนี้พุ่งเป้าชัดๆ ว่า ขั้วอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการสร้างวิกฤตการเมืองให้เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ย้อนกลับไปเวลานั้นเมื่อปี 2544 ผลจากคดีนี้ ทำให้เกิดเสียงครหาตามมามากมายว่า รัฐบาลไทยรักไทยขณะนั้นเข้าไปแทรกแซง เพื่อไม่ให้คดีดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ ทั้งที่สังคมต้องการให้มีการพิสูจน์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ซุกหุ้นจริงหรือไม่ แต่คดีมาจบลงด้วยชัยชนะของ พ.ต.ท.ทักษิณ แบบคาใจสังคม

เสียงครหาที่ตามมาว่ามีกระบวนการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้รอดพ้นจากคดีนี้สะท้อนให้เห็น จากการฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทระหว่าง น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ และคณะตุลาการ

ต่อมา การบริหารราชการแผ่นดินของ พ.ต.ท.ทักษิณ นับจากนั้นเป็นต้นมากลายเป็นที่จับตามองของสังคมสูงมาก โดยช่วงปี 2548-2549 รัฐบาลทักษิณเผชิญกับวิกฤตศรัทธาอย่างหนัก ภายหลังบริษัทครอบครัวชินวัตรขายหุ้นกิจการโทรคมนาคมให้กับต่างประเทศ สังคมพยายามเพรียกหาให้มีกระบวนการตรวจสอบ แต่กลไกไม่สามารถทำงานได้ด้วยอิทธิพลทางการเมือง เกิดการแทรกแซงองค์กรอิสระทั้ง ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา กระทั่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ที่สุดเป็นเหตุผลให้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ใช้เป็นข้ออ้างยึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อปี 2549 และนำคดีคอร์รัปชันหลายคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ดังนั้น เมื่อรายงานของ คอป.ล่าสุดได้ชี้ต้นเหตุของปัญหาการเมืองทั้งหมด โดยมีคดีทักษิณเป็นหัวใจ ย่อมมีผลต่อทิศทางการปรองดองของพรรคเพื่อไทยนับจากนี้

เดิมทีเพื่อไทยมีเป้าหมายให้ทุกคดีหลังจาก 19 ก.ย. 2549 เป็นโมฆะบนทฤษฎีต้นไม้มีพิษย่อมต้องออกลูกเป็นพิษ แต่เมื่อมีรายงานฉบับนี้ออกมา ยิ่งเป็นมุมกลับที่บีบฝ่ายเพื่อไทยต้องยอมรับปัญหาจากคดีซุกหุ้นด้วย

กลายเป็นจุดวัดใจว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย ซึ่งให้การยอมรับนับถือคอป. จะยอมรับกับข้อเสนอของคอป.ได้หรือไม่ ที่อ้างว่า “ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามหลักนิติรัฐนิติธรรม” นี่ก็จะพิสูจน์ว่าไม่ได้ทำทุกอย่างเพื่อคนคนเดียว


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : คดีซุกหุ้น ต้นตอวิกฤต พท. ชะงักปรองดอง

view