สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คำต่อคำ ขุนคลัง ธีระชัย สู้...กู้วิกฤต ก้าวสู่ปีทอง 2012

จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ “สู้...กู้วิกฤต ก้าวสู่ปีทอง 2012” ในงาน Thailand Smart Money 2011-2012 วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2554 ณ ห้องเพลนนารี ฮอลล์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


มีคนเคยสอบถามนายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษคนหนึ่ง ว่าในการที่รัฐบาลหนึ่งๆ เริ่มต้นเข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศนั้น อะไรจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

 

คำตอบที่ได้  ไม่ใช่เรื่องที่เน้นไปทางด้านเศรษฐกิจ หรือเน้นไปทางด้านการทหาร  หรือด้านปัญหาระหว่างประเทศ ไม่ได้เน้นด้านในเป็นพิเศษ  แต่นายกรัฐมนตรีผู้นั้นตอบว่า เรื่องที่สำคัญที่สุดนั้น ก็คือเหตุการณ์ใหญ่ที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากการเข้าไปบริหารประเทศนั่นเอง (events)  ซึ่งหมายถึงเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด เรื่องที่มิได้วางแผนเอาไว้ก่อน  และ

 

บางเรื่องนั้นก็เป็นปัจจัยหลักที่กำหนดกรอบให้แก่รัฐบาลเป็นเวลานานหลาย ปี       ตัวอย่างของกรณีของประธานาธิบดีบุชของสหรัฐ  ก็คือเหตุการณ์  9/11 เป็นต้น

กรณีของประเทศไทย  กรณีของรัฐบาลของท่านนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เหตุการณ์ที่มีลักษณะเช่นนี้  ก็คือมหาอุทกภัยปี 2554 ซึ่งเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด และจะเป็นเรื่องหลักของรัฐบาลต่อเนื่องไปหลายปี


ความเสียหาย
อุทกภัย เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยแล้วหลายครั้ง ในอดีตเคยมีภาพที่น้ำท่วมเข้ามาถึงพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพอยู่เป็นเวลานาน ผู้แทนต้องนั่งเรือแจวไปประชุมสภาที่พระที่นั่งอนันตสมาคม  น้ำท่วมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิก็ถึงระดับเอว

ในอดีต  ความเสียหายด้านเศรษฐกิจก็จะเน้นอยู่ที่ภาคเกษตร และภาคครัวเรือนที่มีปัญหาต้องซ่อมรถซ่อมบ้าน  แต่ในครั้งนี้ ได้เกิดความเสียหายขึ้นอย่างกว้างขวาง  เป็นเพราะเหตุใด

 

เหตุผลแรกเกิดจากการที่เราปล่อยให้มีการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ลุ่ม ซึ่งควรจะเป็นพื้นที่รับน้ำ  หรือพื้นที่เกษตร  ประกอบกับในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา  ประเทศไทยได้มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมกันอย่างมาก  ดังนั้น ถึงแม้กิจกรรมอุตสาหกรรมจะมีพื้นที่เป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยที่ครอบคลุม เพียงประมาณ 15 จังหวัด  แต่ก็มีสัดส่วนต่อผลผลิตสูงถึงร้อยละ 40 ของจีดีพี  ดังนั้น หากเกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรม  ก็ย่อมมีผลกระทบสูง

 

เหตุผลที่สอง  ก็คือการบริหารจัดการน้ำนั้น เราใช้วิธีป้องกันล้อมพื้นที่ด้วยเขื่อน
พนัง กั้นน้ำ  และกำแพง  ดังนั้น  หากระดับน้ำขึ้นสูงแต่เพียงน้อย ต่ำกว่าเขื่อน  การป้องกันพื้นที่ก็จะได้ประสิทธิผลเต็มที่ แต่เมื่อใดที่ระดับน้ำขึ้นสูงกว่าระดับของเขื่อน การมีเขื่อนก็จะเหมือนไม่มีเขื่อน

 

นอกจากนี้  ในหลายพื้นที่  เขื่อนที่ใช้ป้องกันนั้น ก็ไม่มีลักษณะที่ถาวรแข็งแรง  เมื่อปริมาณน้ำมาก  เขื่อนก็จะชำรุด และทำให้น้ำไหลเข้าไปอย่างรวดเร็ว

 

 

ผลเสียหายทางทรัพย์สินประเมินโดยธนาคารโลกนั้น ตกประมาณ 640,000 ล้านบาท ซึ่งกรณีที่เป็นบริษัทธุรกิจส่วนใหญ่จะได้รับคืนเป็นค่าสินไหมจากบริษัท ประกันภัย ส่วนผลเสียหายในด้านการผลิตนั้น  ธนาคารโลกประเมินไว้ประมาณ 710,000 ล้านบาท  ซึ่งอาจจะสูงไปหน่อย  เพราะหน่วยงานราชการในไทยส่วนใหญ่คาดว่า GDP ปี 2554 จะหายไปประมาณร้อยละ 2  ซึ่งจะเป็นเงินประมาณ 200,000 ล้านบาท  ส่วนผลกระทบต่อ GDP ปี 2555 นั้น  คาดว่าจะไม่มากนั้น เพราะรัฐมีนโยบายที่จะเร่งรัดเรื่องการฟื้นฟู

 

แต่ผลเสียหายที่ประเมินตัวเลขไม่ได้ คือผลต่อความเชื่อมั่นของนักธุรกิจต่างประเทศ ที่จะต้องตัดสินใจว่าจะลงทุนต่อในประเทศไทยหรือไม่

 

ในด้านตัวเลข  GDP ปี 2555 นั้น  รัฐบาลยังเชื่อว่าจะโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ซึ่งเป็นไปตามประมาณการเดิม  ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่ท้าทาย เพราะโรงงานบางแห่งที่ถูกน้ำท่วม จะยังไม่สามารถเริ่มขบวนการผลิตได้จนกว่าไตรมาสสองปี 2555  ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการของรัฐเพื่อเร่งฟื้นฟูเยียวยา


มาตรการด้านการเงินการคลังที่ดำเนินการไปแล้ว
ด้านเงินให้เปล่า

 

 

สิ่งแรกที่รัฐบาลได้ดำเนินการ ก็คือให้การช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน โดยผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดมีงบประมาณฉุกเฉินที่จะใช้จ่ายเบื้องต้น 50 ล้านบาทอยู่แล้ว  สำหรับจังหวัดที่ผลกระทบรุนแรง ก็สามารถขอขยายวงเงินนี้ได้เป็นพิเศษ ซึ่งก็มีหลายจังหวัดที่จำเป็นต้องขยายไปเป็นระดับ 200 ล้านบาท  300 ล้านบาท  ถึงสูงสุด 350 ล้านบาท

 

ต่อมาก็จัดให้มีการจ่ายเงินครัวเรือนที่ประสบภัยครัวเรือนละ 5,000 บาท ซึ่งขณะนี้จ่ายเงินไปแล้วทั่วประเทศประมาณ 206,000 ครัวเรือน เป็นเงิน 1,030 ล้านบาท และคาดว่าจะมีครัวเรือนที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น 2.9 ล้านครัวเรือน เป็นเงินประมาณ 14,500 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ ยังมีการจ่ายเงินให้แก่บ้านเรือนที่เสียหายเพื่อการซ่อมแซมอีกไม่เกินครัว เรือนละ 30,000 บาท ซึ่งอยู่ระหว่างการประเมินและตรวจสอบความเสียหายเป็นรายครัวเรือนโดย อบต ต่างๆ และจะจ่ายตามความเสียหายจริง
สำหรับด้านเกษตรกรนั้น มีการช่วยเหลือนาข้าวที่ได้รับความเสียหายเป็นเงินไร่ละ 2,222 บาท ซึ่งในขณะนี้มีเกษตรกรผู้ได้รับความเสียหายที่ได้ยื่นขอชดเชยดังกล่าวกว่า 360,000 ราย ซึ่งภาครัฐได้จ่ายความช่วยเหลือ 290,000 รายแล้ว เป็นเงินประมาณกว่า 7,300 ล้าน

 


จะเห็นได้ว่ารัฐบาลจะมีการจ่ายเงินเพื่อการฟื้นฟูให้แบบจ่ายขาดเป็น เงินรวมไม่น้อยกว่า 21,800 ล้านบาทในช่วงปลายปี 2554 และต้นปี 2555 ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สำคัญประการที่หนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2555


ด้านสภาพคล่องและเงินทุนระยะยาว
นอก จากการจ่ายเงินแบบให้เปล่านั้นแล้ว รัฐบาลมีแผนที่จะเร่งรัดขบวนการธุรกิจให้กลับฟื้นดังเดิมโดยเร็วที่สุด วิธีการคือจัดให้มีสภาพคล่องเพื่อให้ภาคเอกชนใช้ขับเคลื่อนธุรกิจของตนเอง ซึ่งจะมีผลในการชำระหนี้การค้าและทำให้เงินหมุนเวียนไปยังธุรกิจคู่ค้าอื่นๆ และจะมีผลในการจ้างงาน  และความมั่นใจในการอุปโภคบริโภคของประชาชนโดยตรง

ใน เรื่องนี้ กระทรวงการคลังได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้อนุมัติวงเงินสินเชื่อรวม 325,000 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่กิจการขนาดใหญ่เพื่อนำไปก่อสร้างเขื่อนรอบเขตอุตสาหกรรม กิจการขนาดกลางและขนาดเล็กเพื่อนำไปซื้อเครื่องจักรใหม่ทดแทนของเดิม และกิจการขนาดจิ๋วเพื่อให้ตั้งหลักยืนกลับมาเหมือนเดิมได้ รวมไปถึงชาวบ้านที่จะกู้ยืมไปเพื่อซ่อมบ้านและซ่อมรถยนต์

 

นอกจากนี้ สถาบันการเงินภาครัฐทุกแห่งก็มีการพิจารณาสำหรับลูกหนี้เดิมที่ได้รับผล กระทบอย่างผ่อนปรน โดยส่วนใหญ่ให้พักชำระหนี้ชั่วคราว บางรายงดคิดดอกเบี้ยเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ชั่วคราว บางรายคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ผ่อนปรน

 

ทั้งนี้  สินเชื่อวงเงิน 325,000 ล้านบาทดังกล่าวนั้น บางส่วนเป็นการให้การสนับสนุนแก่ธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยกู้ใหม่ให้แก่ ลูกค้าที่ฐานะอ่อน โดยกระทรวงการคลังจัดให้มีบรรษัทค้ำประกันสินเชื่อรายย่อยเข้ามาช่วยรับความ เสี่ยง จากปกติร้อยละ 15 ของสินเชื่อ  เพิ่มพิเศษเป็นร้อยละ 30 เพื่อเปิดให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณารับลูกหนี้ที่ไม่มีหลักประกันได้ง่ายขึ้น


ด้านภาษีอากร
กระทรวง การคลังได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้ยกเว้นอากรนำเข้าเป็นการชั่วคราว สำหรับการนำเข้ารถยนต์ที่ประกอบในต่างประเทศทั้งคัน  และชิ้นส่วนอะไหล่ รวมทั้งการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อทดแทนที่เสียหาย


มาตรการด้านการเงินการคลังที่จะดำเนินการต่อไป
กระทรวงการคลังยังจะไม่ยุติเพียงเท่านี้ แต่กำลังพิจารณาที่จะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอีกบางประการ  ดังนี้

1. กำลังประสานงานกับ ธปท. ถึงความเป็นไปได้ที่จะให้ ธปท. มีการให้กู้ยืมแบบดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษผ่านสถาบันการเงิน
2. กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะให้ความช่วยเหลือธุรกิจที่ต้องซื้อเครื่อง จักรใหม่ทดแทน ให้สามารถหักค่าเสื่อมราคาในอัตราที่สูงกว่าปกติเป็นกรณีพิเศษ
3. กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนทั่วไปที่มีภาระ ต้องซ่อมบ้านและซ่อมรถยนต์ ให้สามารถนำค่าใช้จ่ายเหล่านี้มาหักภาษีได้เป็นค่าลดหย่อน
4. กำลังพิจารณาความเหมาะสมที่จะขยายขอบเขตการยกเว้นอากรนำเข้าสำหรับสินค้าอื่นนอกเหนือจากรถยนต์
5. กำลังพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปกับสำนักงานส่งเสริมการลงทุนเพื่อเยียวยากิจการที่ประสบปัญหา


สรุป
การเข้า มาบริหารประเทศโดยมีเหตุการณ์พิเศษเช่นนี้ ถึงแม้จะต้องต่อสู้กับความยากลำบากนานาประการ แต่ก็ต้องทำให้เป็นโอกาสในการที่จะปรับปรุงและพัฒนาประเทศ ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งกระทรวงการคลังก็พร้อมจะดำเนินนโยบายทุกด้านเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปใน ทางนี้ต่อไป


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : คำต่อคำ ขุนคลัง ธีระชัย กู้วิกฤต ก้าวสู่ปีทอง 2012

view