สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บันได 8 ขั้น จีน ดัน หยวน ผงาดโลก

บันได 8 ขั้น'จีน'ดัน'หยวน'ผงาดโลก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




"พิษณุ เหรียญมหาสาร" สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ วิเคราะห์ จีนกับยุทธการนำหยวนสู่เงินสกุลหลักโลกในอีก 2 ปีข้างหน้า
ระบบเศรษฐกิจการเงินของจีนภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์สามารถแยกได้ 2 ช่วงตามช่วงก่อนและหลังการใช้นโยบายเปิดประเทศในปี คศ.1978  กล่าวคือ

(1) ช่วงก่อนปีคศ.1978 ที่จีนอยู่ในระบบเศรษฐกิจปิดหรือเป็นระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมที่มีการวางแผนจากส่วนกลาง  รัฐบาลกลางเป็นผู้กำหนดนโยบายและบริหารดำเนินการทางการเงินโดยตรงแต่ผู้เดียว  มีธนาคารกลางแห่งรัฐที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลด้านการเงินและดำเนินการกิจกรรรมการเงินร่วมกับธนาคารนโยบายและธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง ทำหน้าที่ด้านการออมและการปล่อยกู้ตามนโยบายธนารคารกลาง

ขณะที่ในส่วนเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ หรือเงินเหรินหมินปี้(Ren Minbi หรือ RMB) หรือเงินหยวน  มีการตั้งหน่วยงานกลางทำหน้าที่ผลิตเงินหยวนขึ้น  ในช่วงนี้จีนกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯเป็นอัตราเดียว  แต่ในระหว่างปี คศ.1949-1952 ปรากฎว่าอัตราแลกเปลี่ยนหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯแก่วงมากที่สุด

ในปีคศ.1949 เท่ากับ 600 หยวนต่อหนึ่งดอลลาร์ ปี คศ.1950  อัตราแลกเปลี่ยนลดฮวบเป็นดอลล่าร์ละ 42,000 หยวน ปีคศ.1951 ขยับเป็นดอลลาร์ละ 22,389 หยวน ต่อมาธนาคารกลางจีนออกเงินเหรินหมินปี้ใหม่แทนเหรินหมินปี้เก่า พร้อมกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่ดอลลาร์ละ 10,000 หยวน

ในปีคศ.1955 ธนาคารกลางจีนปฏิรูประบบเงินตราต่างประเทศใหม่กำหนดให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐฯที่ 2.4618 หยวนเป็นอัตราตายตัวที่ใช้กันมาจนถึงปีคศ.1971

(2)ช่วงหลังปีคศ.1978 เมื่อจีนใช้นโยบายเปิดประเทศพร้อมกับการนำยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเปิดมาใช้  มีการปรับระบบเศรษฐกิจเป็น “ตลาดเสรี” หรือที่จีนเรียกชื่อว่า ระบบเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยม”  และเริ่มตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980s จีนได้ปฏิรูประบบเงินตราต่างประเทศ ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของธนาคารกลางจีน   กำหนดปรับอัตราแลกเปลี่ยนจากดอลลาร์ละ 2.35 หยวนในปีคศ.1978 เป็นดอลลาร์ละ 2.8 หยวนในปีคศ.1981    ต่อมาในระหว่างปี คศ.1988-1993  จีนได้กำหนดใช้ระบบเงินตราต่างประเทศ 2 ระบบ คือ

1)อัตราแลกเปลี่ยนตายตัวเงินหยวนกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

2)อัตราแลกเปลี่ยนตายตัวสำหรับเงินต่างประเทศ(Foreign Exchnage Currency หรือ FEC)กับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ  โดยจีนมีจุดประสงค์เพื่อแยกเงินตราต่างประเทศ FEC ให้เป็นเครื่องมือในการเอื้ออำนวยความสะดวกทางธุรกิจกับต่างประเทศเป็นการเฉพาะอย่างชัดเจน  แต่ในทางปฏิบัติกลับกลายเป็นอุปสรรคที่สร้างความสลับซับซ้อนเกิดความสับสนยุ่งยากอีกทั้งเป็นมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับ Article 8 ของ IMF

ดังนั้นในปี คศ.1994 จีนจึงได้ยกเลิกระบบ 2 อัตราแลกเปลียนดังกล่าว  และกำหนดให้มีอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนกับดอลลาร์สหรัฐฯเพียงระบบเดียว

การยกเลิกสองระบบอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว  มีสาเหตุจากการที่จีนอยู่ในช่วงที่ต้องการจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกWTO  จึงต้องปรับระบบการค้าและการบริการรวมถึงระบบการเงินให้สอดคล้องกับกติกา WTO และ IMF  อีกทั้งต้องยอมโอนอ่อนผ่อนตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ประเทศตะวันตก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกากำหนดกดดันให้จีนต้องปฏิบัติตาม  ซึ่งสองระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินให้เป็นระบบเดียว ก็เป็นหนึ่งเงื่อนไขที่จีนถูกกดดัน   แต่เนื่องจากมาตรการเงินตราต่างประเทศมีส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมหภาค  โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศจีนเป็นอย่างมาก  ดังนั้นจีนจึงได้ใช้ความระมัดระวังในการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนอย่างรอบคอบมากที่สุด

อย่างไรก็ตามหลังจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO เมื่อ 11 ธันวาคม คศ.2011  ประเทศตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกายังคงสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินหยวนของจีนมากยิ่งขึ้น  โดยอ้างถึงการขาดดุลการค้ากับจีนที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990s และในปีคศ.2000

สหรัฐอเมริกาขาดดุลกับจีนถึงประมาณ 84,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มเป็นยอดขาดดุลประมาณ 162,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปีคศ.2004 พร้อมกล่าวหาว่าเป็นเพราะค่าเงินหยวนที่อ่อนเกินจริงถึงร้อยละ 20  จึงพากันกดดันให้จีนปรับเพิ่มค่าเงินหยวนให้ใกล้ค่าแท้จริงโดยเร็ว  

ในเดือนกรกฎาคม คศ.2005  จีนจำเป็นต้องสนองต่อแรงกดดันของประเทศตะวันตกด้วยการปรับเพิ่มค่าเงินหยวนอย่างระมัดระวัง  หันมาใช้ระบบแลกเปลี่ยนเงินตราลอยตัวแบบจัดการได้(Managed Floating Rate)ด้วยการกำหนดเพิ่มค่าเงินหยวนขึ้นในอัตราต่ำมากเพียงร้อยละ 2.1

กล่าวคือจากอัตราดอลลาร์ละ 8.27 หยวนเป็นดอลลาร์ละ 8.10 หยวน  ทั้งนี้เพื่อรักษาภาพลักษณ์ความน่าเชื่อมั่นของเงินหยวนให้เป็นเงินตราที่มีเสถียรภาพอย่างมั่นคง  ไม่แกว่งขึ้นลงอย่างฮวบฮาบ  ซึ่งจะช่วยให้เงินหยวนได้รับความเชื่อถือนิยมและวงการการค้าและธุรกิจให้ความไว้วางใจเชื่อมั่นในระดับโลกต่อเงินหยวน  เป็นการเพิ่มโอกาสให้เงินหยวนกลายเป็นเงินสกุลหลักคู่ไปกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯและเงินยูโร ได้ภายในระยะเวลาอันใกล้ได้

จีนกับการขับเคลื่อนเร่งเงินหยวนเข้าสู่สากล

ตั้งแต่กลางปี คศ.2005 ที่จีนได้เปลี่ยนระบบเงินตราต่างประเทศเป็นแบบกำหนดค่าเงินหยวนลอยตัวแบบจัดการได้  พร้อมกับทยอยปรับค่าเงินหยวนให้แข็งขึ้นเพื่อผ่อนปรนแรงกดดันจากประเทศตะวันตกทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรปแบบค่อยเป็นค่อยไป  ปรากฎว่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา

ตั้งแต่กรกฎาคม 2005 จนถึง  ตุลาคม 2011  ค่าเงินหยวนได้ปรับค่าแข็งขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากดอลลาร์ละ 8.27 หยวน เมื่อ 20 กรกฎาคม 2005 เป็นดอลลาร์ละ 6.3483 หยวนเมื่อ 11 ตุลาคม 2011  หรือเงินหยวนแข็งค่าขึ้นร้อยละ 23.3  

ขณะที่ประเทศตะวันตกกล่าวหาว่าค่าเงินหยวนอ่อนกว่าความเป็นจริงถึงกว่าร้อยละ 40   ปรากฎว่าล่าสุดจีนได้ปรับค่าเงินหยวนแข็งขึ้นสูงสุดเท่าที่มีมาในช่วง 6 ปี คือร้อยละ 7  ก่อนที่รัฐสภาสหรัฐอเมริกาจะมีการผ่านร่างกฏหมายลงโทษจีนกรณีควบคุมค่าเงินหยวน เมื่อ 3 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา

ในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา  ภายใต้แรงกดดันต่อเงินหยวนจากประเทศตะวันตกอย่างต่อเนื่องนั้น  ทางฝ่ายจีนก็ได้ดำเนินการออกมาตรการต่าง ๆ ควบคู่กันไป  เพื่อผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ หันมานิยมและให้ความเชื่อมั่นต่อเงินหยวนอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นตลอดมา  ดัง ปรากฎมาตรการเร่งผลักดันหยวนสู่เงินหลักสากล ดังต่อไปนี้     

การผ่อนปรนการควบคุมการใช้เงินหยวนในเวทีสากล  ส่งเสริมให้มีการใช้เงินหยวนในวงการธุรกิจการค้าระหว่างประเทศให้กว้างขวางมากขึ้น   กล่าวคือ

1.1) ในเดือนกันยายน 2554 ที่ผ่านมา จีนประกาศให้บริษัทต่างชาติที่จะเข้าลงทุนในจีนสามารถใช้เงินหยวนลงทุนได้

1.2) ในเดือนสิงหาคม 2554 จีนอนุญาตให้กลุ่มผู้ส่งออกจีนทั่วประเทศ สามารถใช้เงินหยวนชำระหนี้ต่างแดนได้   

1.3)ในเดือนมิถุนายน 2553 จีนยอมผ่อนปรนแรงกดดันจากตะวันตกด้วยการปล่อยให้มีการค้าด้วยเงินหยวนกับดอลลาร์สหรัฐฯได้เสรีมากขึ้น  เลิกการตรึงค่าเงินหยวนกับดอลลาร์อย่างเหนียวแน่นตายตัว  ทำให้ค่าเงินหยวนในช่วงที่ที่ผ่านมาเพิ่มค่าได้สูงถึงร้อยละ 7  เทียบกับการเพิ่มค่าเงินหยวนเพียงร้อยละ 2-3  ต่อครั้ง

ภายใต้มาตรการควบคุมการปล่อยค่าเงินหยวนอย่างระมัดระวังค่อยเป็นค่อยไป  จนทำให้เกิดการกล่าวหาจากประเทศตะวันตกว่าค่าเงินหยวนเพิ่มค่าต่ำกว่าค่าแท้จริงถึงกว่าร้อยบละ 40  เป็นที่มาให้สหรัฐอเมริกานำมาตรการตอบโต้จีนมาใช้

โดยวุฒิสภาสหรัฐอเมริกาลงมติผ่านร่างกฎหมายลงโทษจีนที่ควบคุมค่าเงินหยวน   ซึ่งนายกรัฐมนตรีจีน เวิน เจียเป่า ได้แสดงท่าทีตอบโต้ทันทีด้วยการกล่าวว่า “จีนจะรักษาเสถียรภาพเงินหยวนเพื่อผู้ส่งออกจีน  เพราะถ้าให้ค่าเงินหยวนแกว่งมากไปก็จะเสี่ยงต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมของจีนได้”

2) จีนส่งเสิรมให้เกิดการใช้เงินหยวนในต่างแดนมากยิ่งขึ้น โดยให้มีการซื้อพันธบัตรในตลาดฮ่องกงด้วยเงินหยวนควบคู่กับการใช้เงินปอนด์สเตอริงซึ่งเป็นสกุลเงินที่นิยมกันมากในฮ่องกง   ในปีคศ. 2011 จีนสามารถออกพันธบัตรขายในฮ่องกงได้คิดเป็นมูลค่าแล้ว  70,000 ล้านหยวน

3) รัฐบาลจีนกำหนดให้กลุ่มบริษัทจีนที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ  สามารถนำเงินหยวนไปลงทุนต่างประเทศได้

4) จีนลงนามทำข้อตกลงสวอป เงินหยวนกับ 6 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ ฮ่องกง มาเลเซีย อินโดนีเซีย รัสเซียและอาร์เจนตินา และให้มีการใช้เงินหยวนในการซื้อขายนำเข้าส่งออกสินค้าบริการกับ 10 ประเทศ ได้แก่  เกาหลีใต้  เกาหลีเหนือ รัสเซีย พม่า ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียตนาม ฮ่องกง และอาร์เจนติน่า

5) เดือนกรกฎาคม 2552 รัฐบาลจีนอนุญาตให้ใช้เงินหยวนในการชำระหนี้กับต่างประเทศใน นครซ่างไห่  และ 4 เมืองในมณฑลกวางตง คือ กวางโจว  เซินเจิ้น     จูไห่และตงก่วน  และต่อมาได้ขยายรวมอีก 20 มณฑล ได้แก่ เป่ยจิง เทียนจิน มองโกเลียใน เหลัยวหนิง เจียงซู เจ้อเจียง ฝูเจี้ยน ซานตง หูเป่ย กวางซี ไห่หนาน ฉงชิ่ง ซึ่อชวน หยุนหนาน จี๋หลิน เฮยหลงเจียง   ทิเบต ซินเจียงและกวางตง     

เมื่อ 6 ธันวาคม 2553  ธนาคารกลางจีนได้เปิดเผยตัวเลขบริษัทจีนที่ใช้เงินหยวนทำธุรกรรมส่งออกนำเข้ากับต่างประเทศในมณฑลต่าง ๆ ของจีน มีรวมกัน 67,359 รายการ จาก 365 บริษัท แยกเป็นบริษัทในกวางโจว เซินเจิ้น จูไห่ และตงกวน รวม 273 บริษัท เป็นบริษัทในซ่างไห่จำนวน 92 บริษัท

6) เดือนสิงหาคม 2553 จีนทดลองให้สถาบันการเงินต่างชาติลงทุนตลาดตราสารหนี้  อินเตอร์แบงค์ในจีน  ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่จะเปิดช่องให้ผุ้ถือสินทรัพย์เป็นสกุลเงินหยวนได้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการถือสินทรัพย์และเป็นการกระตุ้นการใช้เงินหยวนในการชำระหนี้การค้าต่างประเทศด้วย  และส่งผลให้มีบริษัทและสถาบันการเงินในฮ่องกงได้ออกตราสารหนี้และผลิตภัณฑ์ทางการเงินเป็นเงินหยวนมากขึ้น

ธนาคารโลกเองก็ได้สนับสนุนมาตรการนี้ของจีนด้วยการออกพันธบัตรเป็นเงินหยวนระยะ 2 ปีใช้ในฮ่องกงคิดเป็นมูลค่า 500 ล้านหยวน  ซึ่งถือเป็นพื้นฐานเชิงสัญญลักษณ์สำหรับเงินหยวนที่จะเพิ่มบทบาทการเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนในวงการค้าและธุรกิจระดับโลกได้อย่างแน่นอนในที่สุด     ธนาคารดอยซ์แบงค์ของเยอรมันนีคาดว่าในปีคศ.2011

ตราสารหนี้สกุลหยวนในฮ่องกงจะเพิ่มเป็นมูลค่า 150,000 ล้านหยวนเทียบกับมูลค่า  17,800 ล้านหยวนในปี คศ.2010  และเงินฝากสกุลหยวนในฮ่องกงจะมีระดับ 2 ล้านล้านหยวนภายในปี คศ. 2012

7) เดือนกรกฎาคม 2553 รัฐบาลจีนประกาศให้ตั้งศูนย์กลางการเงินที่คุนหมิง  มุ่งเน้นเป็นศูนย์กลางของอาเซียนและเอเซียใต้ รวมถึงตะวันออกกลาง  โดยกำหนดเป็น 3 ขั้นตอน  คือ

ระยะแรก  เป็นศูนย์กลางใช้เงินหยวนชำระเงินทำการค้าต่างประเทศ                                                             

ระยะที่สอง เป็นศูนย์กลางใช้ขยายการทำธุรกรรมการเงินต่าง ๆ กับต่างประเทศ

ระยะที่สาม เป็นศูนย์กลางพัฒนาการใช้เงินหยวนขวางมากขึ้นและเป็นพื้นฐานสำคัญในการยกระดับเงินหยวนให้เป็นเงินสกุลหลัก(Hard currency)สามารถใช้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศควบคู่กับ ดอลลาร์สหรัฐฯและเงินยูโร   

8)  1 พฤศจิกายน 2551  จีนส่งเสริมให้มีการใช้เงินหยวนทำการค้าซื้อขายในรูปแบบการค้าชายแดนกับประเทศที่มีดินแดนติดต่อกับจีน  โดยเฉพาะการค้าขายกับอาเซียน ให้มีการต่อยอดจากค้าชายแดนเป็นการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านด้วย  พร้อมกับกำหนดให้การค้าชายแดนกับประเทศเทศอาเซียนที่มีชายแดนติดกับจีนเพิ่มขึ้น

จากเดิมวันละ 3,000 หยวน ค่อคน เป็นไม่เกิน 8,000 หยวนต่อคน โดยไม่ต้องเสียภาษี   ผลจากการส่งเสริมการค้าชายแดนด้วยเงินหยวนทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายจากอัตราแลกเปลี่ยนผ่านดอลลาร์สหรัฐฯ และได้เพิ่มความนิยมต่อผู้ค้าชายแดนมาก  ปรากฏว่า การค้าชายแดนด้วยเงินหยวนระหว่างพม่ากีบจีนในปี 2553 รวม  1000 ล้านหยวนต่อปี และการค้าผ่านแดน(ประเทศเพื่อนบ้าน)ไทย-จีนมูลค่า   5008.2  ล้านหยวนในปี พศ.2553

ด้วยมาตรการเร่งเงินหยวนสู่เงินสกุลหลักที่จีนออกมาเป็นชุด ๆ อย่างต่อเนื่องด้วยความสุขุมเยือกเย็นและรอบคอบ จะเอื้อให้เงินหยวนเป็นเงินหลักหรือเป็นเงินสากล(International currency)  ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น  ทั้งนี้เพราะเงินหยวนมีคุณสมบัติเป็นไปตามเงื่อนไขของการเป็น International currency ครบถ้วนทุกประการ

กล่าวคือ (1) เงินหยวนเป็นเงินที่ใช้แลกเปลี่ยนได้เต็มที่(Full convertibility)  (2)ตลาดเงินสกุลหยวนมีแนวโน้มขนาดใหญ่และมีระดับการพัฒนาที่มีศักยภาพสูงมาก  ดังกรณีการพัฒนาตลาดเงินหยวนในฮ่องกงที่ประสบผลสำเร็จด้วยอัตราการเจริญเติบโตที่สูงมาก     

(3)ประเทศจีนเจ้าของเงินหยวนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกด้วย GDP ปี 2010 มูลค่า 5.88 ล้านล้านเหรียญสรอ.  ปี พศ.2543 จีนมีมูลค่าการส่งออกใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก(1.51 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ)  และมูลค่าการนำเข้าของจีนมากเป็นอันดับสองของโลก(1.31 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ)รองจากสหรัฐอเมริกา

(4) ดัชนีชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจของจีนทั้ง 5 ตัว( 5 convergences) อยู่ในช่วงการแสดงถึงเศรษฐกิจจีนมีเสถียรภาพมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้สาธารณะของจีนมีเพิยงร้อยละ 18.9 ของ GDP(EUROSTAT) หรือร้อยละ 33.8 ของ GDP(IMF) เทียบกับค่าสัดส่วนหนี้สาธารณะเสถียรภาพต้องไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP   

ดังนั้น สถานภาพเศรษฐกิจจีนจึงยังมีความมั่นคงสูงมากขนาดเป็นที่พึ่งพิงของสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้สบาย ๆ อย่างไม่ต้องกังขาและเมื่อพิจารณารวมถึงปัจจัยเสริมให้สถานภาพเศรษฐกิจระหว่างประเทศของจีนก็มีฐานะแข็งแกร่งที่สุดในโลก คือการมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก  ถึง  3.2  ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯในเดือนกันยายน 2554

ด้วยปัจจัยความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของจีนที่กล่าวมาข้างต้นย่อมเป็นหลักประกันให้  เงินหยวนของจีน สามารถผงาดขึ้นสู่เงินสกุลหลักหรือเงินสากล(Internatioal currecy) ได้อย่างไม่ยากในอนาคตอันใกล้คือภายในเวลาไม่เกิน 2  ปีข้างหน้านี้   และไม่ต้องรอถึงเกิน 10 ปีดังที่กูรูการเงินระหว่างประเทศปรามาสกันไว้


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : บันได 8 ขั้น จีน ดัน หยวน ผงาดโลก

view