สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นิติเรด เหิม ห้ามในหลวงมีพระราชดำรัส และอาการเสียสติของ คอป.

นิติเรด” เหิม ห้ามในหลวงมีพระราชดำรัส และอาการเสียสติของ “คอป.

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ไม่ต้องรอคำทำนายของเด็กชายปลาบู่ ก็รู้ว่าการเมืองปีงูใหญ่จะร้อนแรงขนาดไหน เพราะขนาดยังไม่ทันสิ้นปีกระต่าย เหล่าบรรดา “อนาคอนด้าหางแดง” ทั้งหลายก็ออกมาสำแดงกายพ่นพิษไฟแห่งความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองเสียแล้ว
       
       ดูได้จากในช่วงเวลาที่ชาวบ้านชาวเมืองเขากำลังใจจดใจจ่ออยู่กับการ เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ขบวนการหางแดงทั้งหลายก็ยังไม่หยุดแผนร้ายที่หวังทำลายและสั่นคลอน “สถาบัน” อันเป็นที่รักและเคารพของคนไทยทั้งประเทศให้อ่อนแอ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงของพวกเขา
       
       โดยเฉพาะที่เหิมเกริมหนักก็เห็นจะเป็นกรณีของ "นายปิยบุตร แสงกนกกุล" นัก วิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ที่แสดงความเห็นในวงเสนาวิชาการแห่งหนึ่ง ถึงขั้นละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานขององค์พระประมุข โดยเสนอห้ามกษัตริย์แสดงพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะ และต้องสาบานต่อรัฐสภาในฐานะประมุขว่าจะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ
       
       ทั้งนี้ นายปิยบุตรอธิบายภาพรวมของอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย โดยชี้ว่า สถานะของสถาบันที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีอำนาจมากเกินควรจะเป็นในระบอบ ประชาธิปไตย มิได้เป็นมาแต่ไหนแต่ไรตามที่หลายๆ คนอาจได้รับรู้ เนื่องจากในความเป็นจริง สถาบันกษัตริย์ถูกยกระดับให้มีอำนาจเท่าที่เป็นในปัจจุบันตั้งแต่สมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา ซึ่งนับเป็นเพียง 40-50 ปีของการช่วงชิงทางความคิดและอุดมการณ์ระหว่างคู่ขัดแย้งฝ่ายต่างๆ ในประวัติศาสตร์เท่านั้น เช่นเดียวกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่สะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองจากการเลือกตั้งและฝ่ายจารีตนิยม ที่ใช้การโฆษณาชวนเชื่อ ก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินไปของสนามที่ต่อสู้เชิงความ คิดที่ยังไม่สิ้นสุดในสังคมไทย
       
       เพื่อที่จะสร้างและรักษาระบอบประชาธิปไตยให้ธำรงอยู่ นายปิยบุตรชี้ว่า สถาบันกษัตริย์จำเป็นต้องปรับตัวให้อยู่ได้กับประชาธิปไตย โดยแยกการใช้อำนาจจากรัฐให้เป็นเพียงหน่วยทางการเมืองหน่วยหนึ่ง ซึ่งทำให้กษัตริย์ไม่สามารถใช้อำนาจใดๆ ผ่านรัฐได้อีกต่อไป โดยในทางรูปธรรมนั้นหมายถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์สามารถทำอะไรเองได้ เนื่องจากผู้ที่รับผิดชอบคือผู้สนองพระบรมราชโองการ รวมถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์แสดงพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะ และการสาบานต่อรัฐสภาในฐานะประมุขว่าจะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ เป็นต้น
       
       นี่คือการเคลื่อนไหวของนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ที่แสดงความคิดเห็นที่เหิมเกริมหนักข้อขึ้นทุกวัน เรียกได้ว่าเป็นนักวิชาการกลุ่ม “นิติเรด” ที่ไม่เคย วิจารณ์ความเลวทรามของระบอบทักษิณ และตัวทักษิณที่ทำลายหลักการประชาธิปไตยอย่างหนัก และวันนี้พวกเขาได้ออกมาสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคม ปลุกคนให้ลุกขึ้นมาเผชิญหน้ากัน ด้วยมาตรา 112
       
       ซ้ำร้าย ล่าสุด ที่ดูเหมือนจะเพื่อให้กระบวนการแก้ไขมาตรา 112 มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่นำโดย “นายคณิต ณ นคร” ก็เสนอให้รัฐบาลแก้กฎหมายคุ้มครองสถาบันเช่นเดียวกัน โดยอ้างเหตุผลเสียยืดยาว แต่ที่น่าสังเกตก็คือข้อเสนอดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์
       
       คำถามที่หลายคนคาใจก็คือ คอป. ตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างความปรองดอง และหวังยุติปัญหาความขัดแย้งใช่หรือไม่ แต่ทำไมวันนี้กลับมาเสนอแนวทางที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม !?
       
       อย่างไรก็ตาม เมื่อสังเกตดูหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้หลายคนสงสัยและตั้งคำถามว่า งานนี้มีการเขียนบทไว้ล่วงหน้าหรือไม่ เพราะดูเหมือนทุกอย่างมันช่างสอดคล้องกันพอดี เหมือนมีใครจัดฉาก วางแผนงานไว้ทั้งหมด
       
       จนกระทั่ง “หลงจู๊” นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะที่เคยเป็นนายกฯ เคยนำครม.เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณมาแล้ว ได้ออกมาเตือนสติว่า “อย่าง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่นายคณิต ณ นคร ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่ง ชาติ (คอป.) เสนอนายกรัฐมนตรีปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนนั้น ห้ามแตะ แตะไม่ได้ คนที่พูดสติดีหรือเปล่าก็ไม่รู้”
       
       หรืออย่างที่ นายคมสัน โพธิ์คง อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ให้ความเห็นกรณีที่กลุ่มนิติราษฎร์ออกมาเคลื่อนไหวว่า ไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะแก้มาตรา 112 เพียงอย่างเดียว แต่เป้าหมายหลักของคนกลุ่มนี้คือ เพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือลิดรอนอำนาจมากกว่า ตนอยากบอกว่า ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกก็จริง แต่จากการแถลงการณ์ของกลุ่มนิติราษฎร์ จะพูดถึงแต่คำว่าทำเพื่อระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่เคยเอ่ยคำว่าระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั่นก็คือการแสดงออกชัดเจนอย่างหนึ่งว่า ทุกวันนี้ต้องการล้มล้างกษัตริย์ แต่ไม่กล้าเปิดตัวพูดออกมาตรงๆ
       
       “นายปิยบุตรพูดแบบนี้เหมือนเด็กเมื่อวานซืนที่ไม่รู้จักสังคมไทยหรือ เปล่า เพราะแม้ประเทศไทยจะมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่พระองค์ท่านก็ไม่เคยประพฤติอะไรที่นายปิยบุตร กล่าวมา แล้วที่ชี้นำในหัวข้อว่าไม่ควรอนุญาตให้กษัตริย์มีพระราชดำรัสต่อสาธารณะ นั้น ถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของกษัตริย์ให้ยิ่งกว่านักโทษซะอีก เรียกว่านิติราษฎร์เผด็จการแล้ว ถ้ามีคนออกมาบอกให้นิติราษฎร์หุบปากมั่งล่ะ นายปิยบุตรพูดอย่างนี้พูดจาล่องลอยไม่มีกฎหมายรับรอง กล่าวเท็จ”
       
       ทั้งนี้ นายคมสันกล่าวว่า เรื่องมาตรา 112 ประเด็นปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย เพราะเป็นกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ถ้าไม่ไปละเมิดก็ไม่ผิด ซึ่งประมุขของรัฐสมควรที่จะมีกฎหมายไว้สำหรับคุ้มครอง ถ้าพูดว่ามีคนเป็นเหยื่อในมาตรานี้เยอะ ตนขอบอกว่าคนเป็นเหยื่อคดีอาญาทั่วไปเยอะกว่ามาก จะมีพวกที่ทำผิดในมาตรา 112 สักกี่คน ถ้าแก้ก็ควรแก้ทุกมาตรา ให้มีความเป็นธรรม มาตรา 112 นั้นไม่เกี่ยวเลย
       
       ถามว่า หากไม่ใช่คณะนิติราษฎร์เป็นผู้เสนอการแก้ไขมาตรา 112 แต่เป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือทางสังคมจะสามารถลดแรงเสียดทานได้หรือไม่ อดีต ส.ส.ร.50 กล่าวว่า หากเป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ ภาพลักษณ์ที่ดี อย่างนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี มาเสนอก็เห็นควรว่าแก้ได้ แต่ควรแก้ในกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการค้นหาข้อเท็จจริง ไม่ควรเกี่ยวกับบทลดโทษหรือเพิ่มโทษ แต่ถ้าแก้ก็ควรเพิ่มโทษซะด้วยซ้ำ
       
       เช่นเดียวกับ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม แกนนำกลุ่มสยาม สามัคคี กล่าวว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้มีความคิดไปไกล และเกินกว่าขอบเขตที่มีความพยายามจะแก้มาตรา 112 แล้ว เนื่องจากในเนื้อหามีการกล่าวอ้างว่าสถาบันกษัตริย์เพิ่งจะถูกยกระดับให้มี อำนาจเท่าที่เป็นในปัจจุบัน ช่วงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คล้ายจะเป็นการดิสเครดิตของสถาบัน แต่เชื่อว่ากลุ่มนี้มีความคิดไปไกลกว่านั้น
       
       “ที่จริงแล้วระบบสถาบันมีความผูกพันกับรากฐานความเป็นประเทศไทยมา อย่างช้านาน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านได้สะสมความดีและสร้างอะไรให้กับประเทศไทยมาเกินกว่าจะอธิบาย แล้วสำหรับนายปิยบุตรคนนี้เขาคือใคร เคยทำอะไรให้ประเทศชาติหรือไม่” แกนนำกลุ่มสยามสามัคคีกล่าว
       
       ทางด้าน พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีตผู้บัญชาการทหาร บก ให้ความเห็นว่า มาตรา 112 เป็นเรื่องของจิตใจคนไทย อย่าเพิ่งไปยุ่ง ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ขอให้ยึดมั่นก็มีแต่ประโยชน์
       
       ในขณะที่ นายบวร ยสินทร แกนนำเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน บอกว่า อยากจะให้ทางกองทัพหันกลับมาดูสถานการณ์ในสังคม และอย่าปล่อยให้กลุ่มมวลชนมาเผชิญหน้ากันเอง แต่กองทัพควรตัดไฟตั้งแต่ต้นลม โดยใช้อำนาจตามหลักกฎหมายเข้าไปต่อสู้ เช่น การจัดการกับกลุ่มหมู่บ้านเสื้อแดง ที่มีการให้ข้อมูลที่ผิดๆ หรือกลุ่มอาจารย์ที่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ไม่ใช่รอเวลาให้เรื่องสุกงอม ก่อนใช้กำลังเข้าไปทำปฏิวัติ นอกจากนี้ อยากเรียกร้องให้ทางอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าไปตรวจสอบกลุ่ม คณาจารย์ที่มีความคิดอยากจะเปลี่ยนแปลงมาตรา 112 เหล่านี้อีกครั้ง เนื่องจากมีความคิดที่ไปไกลเกินกว่าที่จะรับได้
       
       และแม้กระทั่ง นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาล รัฐธรรมนูญ ก็ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่จะยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่บัญญัติความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง โดยกล่าวว่า ในประมวลกฎหมายอาญามีหมวดความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ อยู่ในมาตรา 130-135 ที่บัญญัติในลักษณะเป็นการคุ้มครองประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐต่างประเทศ ว่าใครจะดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายมิได้ มีทั้งโทษจำคุกและปรับ ดังนั้นถ้ายกเลิก ป.วิ อาญามาตรา 112 ถามว่าเราจะคุ้มครองแต่ประมุขรัฐต่างประเทศเท่านั้นใช่หรือไม่ จะไม่คุ้มครองประมุขรัฐไทยใช่หรือไม่
       
       "ผมเห็นเหมือนกับนักกฎหมายหลายคนที่แสดงความเห็นก่อนหน้านี้ ว่า คนที่คิดจะเลิกมาตรา 112 เขาต้องการที่จะหมิ่นสถาบันโดยไม่ผิดกฎหมายใช่หรือไม่ ซึ่งกฎหมายอยู่ดีๆ ถ้าเขาไม่ไปหมิ่นก็ไม่มีใครเดือดร้อน"
       
       ทั้งนี้ ประธานศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า ถ้าจะยกเลิกมาตรา 112 มันก็ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ที่บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ด้วย และถ้าเราทำจริง ประเทศไทยก็จะเป็นประเทศแรกที่ยกย่องประมุขต่างประเทศยิ่งกว่าประมุขของเรา เอง แล้วก็จะได้ลงบันทึกในกินเนสส์บุ๊ก
       
       ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายวสันต์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย แก้อย่างไรก็ยังมีช่องน้อยๆ ให้หลีกเลี่ยง หลุดรอดไปได้ เพราะบ้านเราคนที่เลี่ยงกฎหมายเก่งถือว่าเป็นนักกฎหมายที่เก่ง อย่างภาษีอากรใครที่หลีกเลี่ยงกฎหมายจนทำให้จ่ายภาษีน้อยได้ก็จะถือว่านัก กฎหมายคนนั้นเป็นคนที่เก่ง ดังนั้นกฎหมายเขียนอย่างไรก็ได้ ที่สำคัญถ้าคนมี
       
       คุณธรรมปัญหาก็ไม่เกิด แก้นิสัยของคนดีกว่าแก้กฎหมาย ถ้าคนมีคุณธรรม ปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม ไม่ต้องแก้กฎหมายมันก็อยู่ได้
       
       “กฎหมายเขียนว่า ผู้ใดฆ่าคนอื่นจะถูกประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต แต่ก็ยังมีการฆ่ากันทั้งๆ ที่ในหลักพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นบาปหนัก ดังนั้นถ้าทุกคนมีธรรมในใจ ไม่ต้องมีกฎหมายก็ได้
       
       ก็เหมือนการแก้รัฐธรรมนูญ แก้ให้ดีอย่างไรก็ยังจะมีคนหลีกเลี่ยงและเอาไปเป็นเครื่องมือตนเอง คนที่เข้าข้างตัวเองก็ถือว่าถูก อย่างนักวิชาการบางกลุ่มเคยพูดเลยว่า ถ้าศาลตัดสินมาอย่างไรเขาไม่เห็นด้วยทั้งนั้น ซึ่งความเห็นมันก็คือความเห็นที่อาจจะไม่ตรงกันได้ แต่มันอยู่ที่ว่าใครมีหน้าที่อะไร” ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็น
       
       เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ บัญชาการทหารบก ที่พูดถึงการเคลื่อนไหวของคณะนิติราษฎร์ เตรียมรณรงค์ล่ารายชื่อประชาชนเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อล้างความผิดหลังการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่า
       
       "ไม่เป็นไร หากคิดได้ก็คิดกันไป ก็ลองดู ถ้าทำได้ก็ทำ ซึ่งคนที่มีความคิดเช่นนี้มีมานานแล้ว และมีหลายส่วนพัฒนามาตามลำดับ มีมาตั้งแต่เด็กๆ คนพวกนี้เขาคิดกว้าง คิดเปิด สมองเขาปลายเปิด แต่ไม่เป็นไร ก็คิดไป แต่อยู่ที่ประชาชนส่วนใหญ่เขาจะว่าอย่างไร ถ้าประชาชนส่วนใหญ่เขาโอเคก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว ต่างชาติชื่นชมที่ประเทศไทยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนประเทศไทยเราเองจะคิดอย่างไรก็คิดเอา"
       
       ทั้งนี้ ผบ.ทบ.บอกว่า เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ว่าเราจะห้ามไม่ให้มีคนคิด แต่หน้าที่ของเรา เราเป็นทหารรักษาพระองค์ และมีการถวายสัตย์ปฏิญาณทุกปี ทหารมีจิตสำนึกอยู่อย่างหนึ่ง คือทหารอยู่คู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด ซึ่งก่อนที่เราจะมาเป็นประเทศไทย ก็เป็นทหารกันทั้งประเทศ โดยพระมหากษัตริย์รวบรวมทุกคนขึ้นมาแล้วต่อสู้ป้องกันผืนแผ่นดินนี้มา จนถึงทุกวันนี้เราสืบทอดกันมา เราต้องรักษาประวัติศาสตร์ชาติไทยไว้ เพราะเป็นความสง่างามของชาติ เป็นวัฒนธรรม ประเพณี ท่านจะดำเนินการก็ว่ากันไป อย่าทำให้วุ่นวาย เราเคารพในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
       
       อย่างไรก็ตาม สุดท้ายนี้ ขออัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานพระราชดำรัสอวยพรปีใหม่ พ.ศ.2555 แก่ปวงชนชาวไทย ความว่า
       
       "ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดีมาอวยพรแก่ท่านทุกๆ คน และขอขอบใจท่านเป็นอย่างมากที่ร่วมกันจัดงานฉลองอายุครบ 7 รอบ ให้อย่างเหมาะสมงดงาม
       
       “ระหว่างปีที่แล้ว เหตุการณ์ต่างๆ ในบ้านเมืองนับว่าเป็นปรกติดี แต่พอเข้าปลายปี ก็เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ เป็นเหตุให้ประชาชนหลายจังหวัด ต้องประสบอันตราย และความเดือดร้อนลำบาก ความเสีย
       
       หายครั้งนี้ ดูจะร้ายแรงกว่าครั้งไหนๆ ที่ผ่านมา ข้อนี้น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจอย่างสำคัญ ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้หลายครั้งแล้วว่า วิถีชีวิตของคนเรานั้น จะต้องมีทุกข์ มีภัย มีอุปสรรค ผ่านเข้ามาเนืองๆ
       
       ไม่มีผู้ใดจะอยู่เป็นปรกติสุขอย่างเดียวได้ ทุกคนจึงต้องเตรียมกายเตรียมใจ และเตรียมการไว้ให้พร้อมเสมอ เพื่อเผชิญและป้องกันแก้ไขความไม่ปรกติเดือดร้อนต่างๆ ด้วยความไม่ประมาท ด้วยเหตุผล
       
       ด้วยหลักวิชา และด้วยสามัคคีธรรม
       
       “ในปีใหม่นี้ จึงขอให้ประชาชนชาวไทยได้ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท โดยมีสติรู้ตัวและปัญญารู้คิดกำกับอยู่ตลอดเวลา ผู้ใดมีภาระหน้าที่อันใด ก็เร่งกระทำให้สำเร็จลุล่วงไปให้ทันการณ์ทันเวลา ผลงานทั้งนั้นจะได้ส่งเสริมให้แต่ละคนประสบแต่ความสุขความเจริญ และทำให้ชาติบ้านเมืองดำรงมั่นคง และก้าวหน้าต่อไปด้วยความผาสุกสวัสดี
       
       “ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงคุ้มครองรักษาท่านทุกคน ให้มีความสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีภัย ตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน"
       
       ทั้งนี้ พระองค์ยังพระราชทาน ส.ค.ส. มีข้อความจากบทพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ความว่า
       
       “ถึงจะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็ต้องพยายามว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร โภคะทั้งหลาย มิได้สำเร็จด้วยเพียงคิดเท่านั้น”
       
       หากประชาชนทุกคนน้อมนำพระราชดำรัสใส่เกล้าใส่กระหม่อม และนำไปประพฤติปฏิบัติโดยทั่วกัน เชื่อว่าบ้านเมืองก็จะมีแต่ความผาสุก ไม่เกิดความแตกแยกและวุ่นวาย อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้


ประธานศาลรธน.ค้านเลิกม.112

จาก โพสต์ทูเดย์

ประธานศาลรัฐธรรมนูญค้านยกเลิกม.112ชี้แก้นิสัยคนดีกว่าแก้กฎหมาย และหากมีคุณธรรมปัญหาไม่เกิด

นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้ยกเลิกมาตรา 112ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถ้าจะยกเลิกมาตรา 112 ก็ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ที่บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ด้วย

 

วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์

ส่วนที่พรรคเพื่อไทย เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แก้อย่างไรก็ยังมีช่องน้อยๆให้หลีกเลี่ยงหลุดรอดไปได้ ดังนั้น กฎหมายจะเขียนอย่างไรก็ได้ ที่สำคัญ ถ้าคนมีคุณธรรม ปัญหาก็ไม่เกิด จึงอยากแนะนำว่า ควรแก้นิสัยของคนดีกว่าแก้กฎหมาย.


"บิ๊กอ๊อด"ไล่นิติเรด อ่านประวัติศาสตร์ไทยให้ลึกซึ้ง

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

"พล.อ.ยุทธศักดิ์"ไล่พวกกระสันอยากแก้ม.112 กลับไปอ่านประวัติศาสตร์ชาติไทยให้ลึก ชี้มีทุกวันนี้เพราะพระมหากษัตริย์เป็นผู้กอบกู้ ลั่นกองทัพมีหน้าที่ปกป้องสถาบันไม่ให้ใครมาดูหมิ่น ปัดน้อยใจกองทัพถูกตัดงบ

         วันนี้ (7 ม.ค.)ที่วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม พร้อมครอบครัวได้ร่วมกันทำบุญถวายสังฆทานเนื่องในวันครบรอบวันเกิดปีที่ 75 โดยกล่าวถึงกรณีที่ทุกพรรคการเมืองมีมติไม่ควรแก้ไขมาตรา 112 ว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับเรื่องนี้ และที่ผ่านมาก็เคยแสดงความเห็นด้วยกับแนวคิดของบรรดานักวิชาการที่เห็นว่า เป็นการไม่บังควรอย่างยิ่ง
       
       "ขอให้คนที่คิดเรื่องนี้ศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยให้ลึกและมากหน่อย ว่า เรามีชาติไทยมาได้ถึงทุกวันนี้ เพราะเรามีพระมหากษัตริย์เป็นผู้กอบกู้ประเทศชาติมาตลอดเวลา ดังนั้นจึงสมควรให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับชาติตลอดไป"รมว.กลาโหม กล่าว
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า กองทัพไม่เห็นด้วยที่ให้มีการแก้ไขม. 112 ใช่หรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า กองทัพมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เราไม่อยากให้ใครมาดูหมิ่นประมุขของประเทศ ส่วนขณะนี้มีการเคลื่อนไหวล่ารายชื่อเพื่อให้เสนอให้มีการแก้ไขมาตรานี้ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ใครจะดำเนินการอย่างไรก็ตาม แต่ในความรู้สึกของทหารที่นอกจากจะต้องปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญแล้วยังความ รู้สึกที่เต็มไปด้วยความจงรักภักดีนั้น เรามีความคิดอย่างนี้และยืนยันอย่างนี้ตลอดเวลา
       
       ส่วนเมื่อถามว่า เป็นห่วงว่าการเคลื่อนไหวในเรื่องจะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในสังคมหรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า คงต้องจับดูว่าในอนาคตจะพัฒนาไปอย่างไร แต่เท่าที่เห็นภาพการประชุมของหัวหน้าพรรคการเมืองแล้วก็เห็นว่าเป็นภาพที่ ดี และหัวหน้าพรรคการเมืองมีความคิดในแนวทางเดียวกันคือความปรองดอง รวมทั้งจะไม่แตะต้องมาตรานี้ ซึ่งตนก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้และคิดว่าน่าจะเกิดความปรองดองในสังคมได้
       
       พล.อ.ยุทธศักดิ์ ยังกล่าวเปิดเผยว่าไม่น้อยใจที่งบประมาณของกระทรวงกลาโหม ที่ถูกปรับลดกว่า 5,800 ล้านบาท เพราะยังได้เพิ่มมาอีก 1,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังสามารถทำงานได้ และได้รับการยืนยันจากผู้บัญชาการเหล่าทัพ ว่า สามารถปรับแนวทางการทำงานได้
       
       "งานใดที่มีความสำคัญต้องเร่งดำเนินการ ก็ให้ดำเนินการเป็นลำดับแรก และหากไม่ทันปีงบประมาณนี้ ให้จัดเป็นปีงบประมาณถัดไป แต่หากมีงานเร่งด่วนที่จำเป็นและงบประมาณมีไม่เพียง ยังสามารถขอจากงบกลางได้"พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าว


“ถ้า ม.112 ดำรงอยู่ มันจะไปกระทบกับการดำรงชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นอะไรนักหนา”

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-กล่าว สำหรับสถานการณ์การเมืองไทย ปี 2555 หลายฝ่ายมองไปในทิศทางเดียวกันว่ายังเป็นปีแห่งความสุ่มเสี่ยงทางการเมือง ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์จริง ณ ปัจจุบัน ก็ดูจะเข้าเค้าเอาด้วยหลายสิ่งหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งหลายฝ่ายก็เกรงว่าสุดท้ายแล้วจะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อล้างคดี ความของทักษิณ ชินวัตรในที่สุด ประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 กรณีดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ที่กลุ่มคนเสื้อแดงและคณะนิติราษฎร์ได้เดินคู่ขนาน เพื่อแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากประชาชน ประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม ที่แน่นอนว่าอาจจะต้องไปกระทบกับกองทัพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฯลฯ
       
       เหล่านี้ล้วนเป็นเหมือนชนวนร้อนที่อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงทางการ เมืองได้ทุกเมื่อเช่นกันและดูเหมือนจะมีความร้อนแรงคุกรุ่นกันตั้งแต่ต้นปี 2555 เลยทีเดียว จึงถือได้ว่าสถานการณ์การเมืองในปีนี้มีเรื่องให้น่าติดตามไม่น้อยเช่นกัน
       
       ทั้งนี้ รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด ได้ให้สัมภาษณ์กับ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ ถึงประเด็นทางการเมืองในปี 2555 ที่หลายฝ่ายจับตาว่ามีความเสี่ยงทางการเมืองว่าจะเดินไปในทิศทางใด
       
       **ในทัศนะของอาจารย์ การเมืองในปี 2555 มีแนวโน้มจะเป็นไปในลักษณะใด
       
       รัฐบาลคงจะต้องมุ่งไปที่การที่รัฐบาลมีแนวคิดจะแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งคงเป็นประเด็นหลักที่จะต้องมีอยู่ด้วยอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าคุณเฉลิม (ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี) บอกว่าจะไม่มีทางแตะมาตรา 112 คือเรื่องดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ รัชทายาท แต่ก็ไม่แน่ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงที่นำโดยคุณธิดา ถาวรเศรษฐ จะยอมตรงจุดนี้หรือไม่ อาจจะรวมไปถึงกลุ่มเสื้อแดงอีกหลายกลุ่มจะยอมตรงนี้ด้วยหรือไม่ ส่วนคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นถึงนายกรัฐมนตรี จะออกมาบอกว่าไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลไม่ได้ เป็นเรื่องของรัฐสภา ซึ่งความเป็นจริงก็คือ แกนนำ หรือ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นคนเคลื่อนไหวก็เป็นของรัฐบาลทั้งสิ้น คุณยิ่งลักษณ์จะมาบอกว่าไม่รู้ไม่เห็นคงไม่ได้
       
       อีกเรื่องที่จะส่งผลให้การเมืองร้อนแรงก็ยังมี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่จะมีการยื่นสู่สภาอีก เพราะว่ายังมีกลุ่มคนที่ไม่ต้องการให้มีกฎหมายนิรโทษกรรม กล่าวง่ายๆ คือต้องการให้คุณทักษิณ (ทักษิณ ชินวัตร) กลับมาขึ้นศาล คงจะต้องออกมาต่อต้าน และในขณะเดียวกันกลุ่มคนเสื้อแดงก็มีความต้องการให้มีการนิรโทษกรรม ซึ่งจะมีทั้งกลุ่มคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงอาจนำไปสู่การปะทะทางการเมืองได้
       
       นอกจากนั้นแล้ว ความไม่มีฝีมือของรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาล อาจจะทำให้การแก้ไขปัญหาของประเทศต่างๆ ไม่อยู่ในระดับที่เป็นที่ยอมรับ นี่คือที่เห็นเบื้องต้นจากความน่าจะเป็นของการเมืองในปี 2555
       
       **ดูเหมือนว่ากลุ่มคนเสื้อแดงมีความพยายามที่จะแก้มาตรา 112 อยู่ตลอดเวลา จะทำให้มีปัญหากับกองทัพมากแค่ไหน
       
       ถ้าคนเสื้อแดงเกิดไปแตะมาตรา 112 ขึ้นมาเมื่อไหร่รับรองว่ามีปัญหาขึ้นมาทันที และคงจะไม่มีใครยอม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายทหาร กลุ่มประชาชนที่จงรักภักดีต่อสถาบัน ถ้าเราจะตั้งคำถามกับกลุ่มคนที่มุ่งจะแก้กฎหมายมาตรา 112 เหมือนกันว่า ถ้ากฎหมายนี้ยังดำรงคงอยู่มันจะไปกระทบกับการดำรงชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น อะไรนักหนา หรือว่าเขาเหล่านั้นอยากจะตำหนิหรืออยากจะด่า พระราชวงศ์แค่ไหน ถึงอยากจะเอากฎหมายนี้ออก ซึ่งเชื่อว่าถ้าคนเสื้อแดงไปแตะเมื่อไหร่เกิดปัญหาใหญ่ขึ้นแน่นอน
       
       **มองว่าเป้าประสงค์ลึกๆ ของกลุ่มที่ต้องการให้แก้มาตรา 112 คืออะไร
       
       กลุ่มคนเสื้อแดงก็มีพวกอดีตคอมมิวนิสต์อยู่เหมือนกัน ซึ่งก็อาจมีแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์เจือปนอยู่ อีกทั้งก็ยังมีขบวนการครอบงำทางความคิด ยกตัวอย่างเช่นหมู่บ้านเสื้อแดง ตรงนี้จึงทำให้มีการเกิดการจาบจ้วงให้ร้าย จนอาจคิดเลยเถิดไปว่าหากไม่มีมาตรานี้ก็จะสามารถแสดงออก พูดจาอะไรกันได้อย่างเต็มที่ วันหนึ่งได้เคยฟัง อาจารย์วันชัย สอนศิริ ซึ่งได้พูดถึงกรณีนี้ได้ดีมาก โดยมีการตั้งคำถามว่า ในหลวงหรือพระบรมวงศานุวงศ์ หากถูกใครจาบจ้วง นินทาว่าร้าย ต่างๆ นานา จะสามารถมาฟ้องหมิ่นประมาทใครได้ ซึ่งพระองค์ท่านไม่อยู่ในฐานะที่จะมาเป็นความกับใคร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรา 112 เอาไว้
       
       **มองว่าเป้าประสงค์ของกลุ่มนิติราษฎร์คืออะไร
       
       เคยฟังหนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์ เคยบอกว่า กฎหมายมาตรา 112 เป็นกฏหมายแบบราชาธิปไตย ซึ่งไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย แต่อย่างไรก็ตามเหตุผลที่ฟังโดยรวมแล้วก็ฟังไม่ขึ้น คงต้องถามคำถามเดิมว่าฎฏหมายมาตรานี้มันทำลายชีวิตเขาขนาดไหนกันหรือ ถึงขนาดต้องยกเลิกกัน หรือจะเป็นเพราะอาการคันปากอยากพูด ที่มาอ้างว่าเป็นการปิดกั้นความเป็นสิทธิมนุษยชน แต่ก็ไม่เคยดูหลักของความเป็นจริง อย่างที่อาจารย์วันชัย ได้เคยยกตัวอย่างไว้ ว่าพระองค์ท่านคงไม่มีทางไปฟ้องร้องใครในเรื่องหมิ่นประมาท
       
       ** กรณีการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ มองว่าต่อจากนี้จะเป็นไปในลักษณะใด
       
       การที่รัฐบาล พยายามจะโยนหินเพื่อให้มีการตั้ง สสร.ขึ้นมา คิดว่าต้องการให้พ้นจากข้อครหาผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเมือง และโดยส่วนตัวเคยอยู่ในแวดวงตรงนี้มาพอสมควร ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาก็เห็นไม่พ้นกลุ่มนักการเมืองก็จะทำการล็อบบี้ เล่นพรรคเล่นพวกเอาคนตัวเองไว้ก่อนเท่านั้นเอง ทั้งที่เป็นแบบเลือกตั้งและแบบแต่งตั้ง กล่าวสำหรับเลือกตั้งจะเป็นไปลักษณะเช่น คนที่เป็นแบรนด์ประจำท้องถิ่น ก็จะเป็นคนส่งคนของตัวเองขึ้นมา เช่น คุณเสนาะ เทียนทอง เป็นคนจังหวัดสระแก้ว ก็จะมีการเสนอคนของตัวเองเข้ามา เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็หนีไม่พ้นโควตาก็เป็นของคุณเสนาะ ซึ่งไม่มีทางหนีไปไหนพ้น ขณะเดียวกันการเลือกตั้ง ส่วนตัวก็ได้เห็นนักการเมืองเขาก็คุยกันนอกรอบว่าคนนี้เอา คนนี้ไม่เอา เขาก็จะคุยกันก่อน เหมือนกับมีโพลกางออกมาเลยว่าจะให้เป็นบ้าง ฉะนั้นถ้าสมมุติว่าเรายังหนีวงจรอุบาทว์ของนักการเมืองไม่พ้น ถามว่าทำไมเราต้องยอมเสียเงินเพื่อไปตั้ง สสร.ขึ้นมาอีกเพื่ออะไร พวกนักการเมืองก็ทำการร่างขึ้นมาเองเลยว่าจะเอาใครแล้วก็ส่งประชาวิจารณ์ไป
       
       **พรรคเพื่อไทย บอกว่าการตั้ง สสร.ขึ้นมาเพื่อจะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม
       
       ต้องบอกว่านักการเมืองเป็นพวกที่เขียนกฎหมายต่างๆ มาเพื่อตัวเองได้ประโยชน์ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าที่สุดแล้ว สสร.ที่จะตั้งขึ้นมานั้น 70-80% ต้องเป็นคนของรัฐบาล สสร.ร่างขึ้นมาก็เพื่อให้ดูมีความชอบธรรมแค่นั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันสามารถกำหนดได้เลยว่าพื้นที่ตรงนี้ จังหวัดนี้ จะให้ใครเป็น อย่างเช่น กรณีที่ยกตัวอย่างไปแล้ว ขณะที่ สสร.สายวิชาการ ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันก็คือ ต้องมีการคุยกันก่อน เขาก็โทรศัพท์คุยกัน ว่าจะเอาใคร ไม่เอาใคร ไม่ได้ต่างกันซักเท่าไหร่เลย
       
       **แสดงว่าถึงที่สุดแล้วประชาชนยังไม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองในเรื่องการตั้ง สสร.
       
       มันเป็นเรื่องของนักการเมืองที่จะกำหนดกันเองอยู่แล้ว ส่วนที่บอกว่ามีการเลือกโดยประชาชน หรือรัฐธรรมนูญมาจาก ส.ส.ร่วมกันโหวต ซึ่งก็รวมไปถึงพวกนักวิชาการ กระบวนเหล่านี้เขาก็ได้มีการเตรียมคน คุยกันมาก่อนแล้ว สุดท้ายก็ไปจบเหมือนเดิมที่เป็นคนของนักการเมืองกว่า 70% ยกตัวอย่างตอน คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) ถูกตั้งขึ้นมา ใครที่เป็นคนตั้งก็จะมีคนของเขารวมอยู่เต็มไปหมด อย่างไรก็ดี ประเด็นการคัดค้านการตั้ง สสร.คงจะไม่ทำให้เกิดความรุนแรงเท่าไหร่ คงมีแค่การถูกวิพากษ์วิจารณ์กันเท่านั้น ซึ่งแน่นอนจะต้องต่างจากการแก้ไข มาตรา 112 กับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เชื่อว่าจะมีความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้น ยิ่งขณะนี้ดูตามคิวแล้ว กลุ่มคนเสื้อแดงก็มีการลงชื่อล่า 5 หมื่นชื่อ ผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญ อีกสายมีการจัดกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กับที่อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 เป็นคิวยาวไป อันนี้ที่ส่วนตัวมองว่าการแก้มาตรา 112 และพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่คนเสื้อแดงต้องการอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงได้
       
       ** ช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม ที่คนเสื้อแดงจะจัดระลึกชุมนุมใหญ่ ซึ่งอาจมีการทวงถามความคืบหน้าของการเสียชีวิตของคนเสื้อแดง มองว่ารัฐบาลจะจัดการอย่างไร
       
       เท่าที่สังเกตคนเสื้อแดง เขาได้มีการส่งคนของเขาไปกระจายตามสื่ออย่าง วิทยุต่างๆ และมีการประโคมข่าวว่าพวกคนเสื้อแดงได้มีการติดคุกไปหลายต่อหลายคนแล้ว แต่ทางฝั่งรัฐบาลช่วงคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่งทหาร ส่งคนมาปราบปราม มาสลายม็อบ ทำไมถึงไม่ติดคุกบ้าง จะว่าไปแล้วกลุ่มคนเสื้อแดงจะมาพูดแบบนี้ไม่ได้ เพราะว่ามันชัดเจนว่าคนเสื้อแดงใช้ความรุนแรง มีการจุดไฟเผา ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี มีการขโมยของจากห้างสรรพสินค้า ซึ่งก็ผิดชัดเจนจนต้องติดคุกอยู่ขณะนี้ แต่จะมาบอกว่าการที่ทหารปราบประชาชน มันยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ในขั้นตอนสืบสวนสอบสวน จะมาอ้างว่าฝ่ายตัวเองติดคุกอยู่ฝ่ายเดียวซึ่งจะมาอ้างแบบนี้ไม่ได ซึ่งก็ต้องบอกแบบมีเหตุผลว่ากระบวนการทางกฎหมายมันยังไม่จบ ส่วนที่จะไปกระทบกับรัฐบาลหรือไม่นั้น คงจะไม่เกิดอะไรไปกระทบรัฐบาลเพราะเขาก็เป็นพวกเดียวกัน ถ้าเกิดพรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นรัฐบาลอยู่คงเป็นอีกแบบ
       
       นี่สมมุติว่าเป็นการทวงถามรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ คงจะเป็นการทำเป็นพิธี ไม่มีอะไรมากมาย คงไม่ถึงขนาดว่ามาเดินขบวนจนรัฐบาลสั่นคลอนคงเป็นไปไม่ได้ แต่เป้าหมายน่าจะเป็นที่การทำเชิงสัญลักษณ์ว่าพวกเขาคือคนเสื้อแดงติดคุก แล้วนะ แต่ฝ่ายสั่งการทำไมยังไม่ติดคุกเลย ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดสรุปเลยว่าเจ้าหน้าที่ยิงประชาชนจนเสียชีวิต
       
       **หากสมมุติว่ารัฐบาลชุดที่แล้วถูกตัดสินว่าผิด มองว่าจะมีการนำไปสู่การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่ายหรือไม่
       
       เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่จะไม่ยอม และจะเกิดความรุนแรงทางการเมืองขึ้นได้ เคยได้ฟังนักการเมืองฝั่งเสื้อแดงคนหนึ่งพูดว่า ถ้าเราจะทำอะไรในประเทศนี้ให้เกิดความปรองดอง เราจำเป็นต้องขีดเส้นความถูกต้อง และเขาก็ได้เริ่มต้นด้วยการถามว่า การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 มันถูกต้องหรือไม่ ซึ่งตอนนั้นเราฟังเขาพูดในวิทยุแทบอยากจะโทรเข้าไปคุยด้วยว่า ถ้าคุณตั้งคำถามแบบนี้คนก็ต้องบอกไปทางเดียวหมดว่าการปฏิวัติรัฐประหารมัน เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว คุณจะมาเริ่มต้นตรงนี้ทำไม ทำไมไม่เริ่มต้นว่าคอรัปชั่นเชิงนโยบายมันถูกต้องหรือเปล่า การเปลี่ยนสัมปทานเป็นสรรพสามิตถูกต้องหรือไม่ การให้ประเทศพม่ากู้เงินถูกต้องหรือไม่ แล้วทำไมคุณไม่ตั้งคำถามพวกนี้รวมไปด้วย
       
       คุณเล่นมาตั้งว่ารัฐประหารถูกต้องหรือไม่ เอาแบบกำปั้นทุบดินใครจะไปบอกว่าการปฏิวัติรัฐประหารถูกต้องล่ะ ซึ่งคุณต้องถามว่าทำไมคณะปฏิวัติจึงต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติ มีเหตุอันใด หรือมีความจำเป็นใดต้องปฏิวัติ คงต้องย้อนกลับไปเหตุการณ์ต่างๆ ก่อนการปฏิวัติด้วย แต่กลุ่มคนเสื้อแดงก็มีความพยายามที่จะขีดเส้นวันที่ 19 กันยายน 2549 ไว้ตลอดมา เอาวันนี้เป็นที่ตั้งว่าวันที่ 19 กันยายน มันไม่ถูกต้อง ดังนั้นอะไรต่างๆหลังวันที่ 19 กันยายน จึงไม่ถูกต้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายที่เกิดกับรัฐ หรือ คตส. มันไม่ถูกต้อง จนเราแทบจะโทรเข้าไปบอกว่าอย่ามาเริ่มต้นตรงนี้มันไม่ได้ คุณต้องเริ่มต้นก่อนหน้านั้นซิว่าทำไมเขาต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติคุณล่ะ
       
       **มองว่าสุดท้ายแล้วการแก้รัฐธรรมนูญ ทางรัฐบาลคงจะต้องไปแก้ มาตรา 309 เพื่อจะได้ยกเลิกความผิดของทักษิณ ชินวัตรทั้งหมด
       
       รัฐบาลคงไม่กล้าไปแตะ เพราะคงจะไม่มีฝ่ายไหนยอม ที่สำคัญคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ก็อยู่ในคมช.ด้วย ซึ่งจะต้องไปกระทบกับ ผบ.ทบ.อย่างแน่นอน เพราะว่ามาตรา 309 ก็เขียนชัดเจนว่า พวก คมช.จะไม่มีความผิดใดๆติดตัว ถ้าเกิดไปยกเลิกมาตรา 309 ก็จะกลับกลายเป็นว่า คมช.เป็นผู้ทำความผิด ก็หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ ที่ร่วมด้วยครั้งนั้น ก็จะมีความผิดไปด้วย อีกทั้งบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนั้นก็คงไม่มีทางยอมให้ยกเลิกมาตรา 309 ด้วยแน่นอน
       
       ที่ผ่านมาที่กองทัพไม่ได้ออกมาพูดถึงประเด็นนี้มากนัก เพราะว่ากองทัพก็ไม่ได้อยากจะมีเรื่องมีราวกับฝ่ายใด แต่ส่วนตัวเชื่อว่าลึกๆแล้ว ยังมีกลุ่มทีมีการยั่วยุให้ทหารออกมาอยู่ตลอด เอาแค่การจะไปแตะ พ.ร.บ.กลาโหม หรือจะเป็นการยกเลิก มาตรา 309 มันก็ชัดเจนในตัวของมันอยู่แล้ว นอกจากนั้นเป้าหมายอีกอย่างลึกๆ เชื่อว่าต้องการให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงอย่างที่เห็นก็มีกรณีที่องค์การสห ประชาชาติ หรือ UN เข้ามามีบทบาททางการเมืองของประเทศไทย อย่างที่เห็นชัดก็เรื่องการเข้ามาพูดถึงปัญหาสิทธิมนุษยชน การรัฐประหาร ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และสุดท้ายก็จะโยงเพื่อไปแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 309 จนได้ซักวันหนึ่ง
       
       **ประเด็นการปรองดอง สำหรับการเมืองในปี 2555 คิดว่าจะเกิดขึ้นได้หรือยัง
       
       ไม่ว่าจะปีไหนก็ไม่ได้ทั้งนั้น (ลากเสียงยาว) คำตอบมีคำตอบเดียว คือคุณทักษิณ ต้องเข้ามาประเทศไทยแล้วขึ้นศาลให้ถูกต้องตามกระบวนการ แกให้เหตุผลว่าสมัยก่อนไม่ไว้ใจกระบวนการยุติธรรมของไทย แต่ตอนนี้คุณทักษิณคุมหมดแล้ว ยังจะบอกว่าไม่ไว้ใจอีกหรือซึ่งการจะปรองดองได้คุณทักษิณ ต้องกลับมาขึ้นศาลสถานเดียว ที่คุณทักษิณอยากจะเข้ามาประเทศไทยแบบไร้มลทิน ไม่ยอมขึ้นศาลแม้แต่คดีเดียว มันเป็นไปไม่ได้ คงไม่มีใครยอม
       
       ส่วนตัวมองว่าคุณทักษิณ เวลานี้คงจะอยากลบล้างความผิดทั้งหมด ซึ่งอาจจะมีจะพ่วงที่มีความผิดทางการเมือง เช่นกลุ่มคนเสื้อเหลือง ที่มีคดีติดตัว แต่จะมาพูดเหมารวมว่าให้เลิกแล้วต่อกันให้หมด แต่ต้องไม่ลืมว่าประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ติดคดีก็คงจะไม่ยอมง่ายๆเช่นกัน หรือจะเป็นฝ่ายทหารก็ไม่ได้ยอมรับว่ายิงประชาชน แต่อย่างไรก็ตามคุณทักษิณก็พยายามสร้างแนวร่วมขึ้นมาเพื่อให้เกิดตรงจุดนี้ ให้ได้ จึงมองว่า พ.ร.บ.ปรองดอง คงจะเกิดขึ้นได้ยากเย็นแน่นอน คำตอบสุดท้ายในการปรองดองคุณทักษิณ ต้องกลับมาขึ้นศาลอย่างเดียวถึงจะปรองดองได้
       
       ** มองว่าการปรับคณะรัฐมนตรี จะเป็นไปในลักษณะใด
       
       ควรจะปรับใหญ่ได้แล้ว เอาแค่คณะรัฐมนตรีรอบแรกก็แทบจะช็อกตายอยู่แล้ว แต่ละคนต้องบอกว่าดูไม่จืดเหมือนกัน บอกได้เลยว่าหลายคนที่เป็นรัฐมนตรีประชาชนไม่ได้รู้จักมากมาย ความสามารถไม่เคยเป็นที่รับรู้ ความรู้ไม่มี บารมีไม่มาก จะมาเป็นรัฐมนตรีได้อย่างไร ซึ่งคงต้องบอกว่าที่ได้มาเป็นได้ เพราะเป็นรัฐมนตรีโควตา ตัวจริงติดโทษแบนการเมืองก็ส่งลุง ป้า น้า หลานมาแทนแล้วกัน
       
       **เหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาพอจะบอกอะไรได้มากแค่ไหน
       
       มีคนไม่เป็นงานในคณะรัฐมนตรีเยอะมาก และไม่ทราบว่าได้เป็นรัฐมนตรีด้วยเหตุผลกลใด จะว่าเป็นการทำงานเพราะต้องตอบแทนก็ไม่เห็นชัดเท่าไหร่ มองว่าเป็นเพราะโควตาล้วนๆ เสียมากกว่า อย่างเอาคนในตระกูลคุณเสนาะมาหนึ่งคน เอาคนของพรรคพลังชลมาคนหนึ่ง คือถ้ารัฐบาลไม่มีเงื่อนไขในการชวนคนมา คงจะทำหน้าที่บริหารประเทศได้ดีกว่านี้ ซึ่งประชาชนคนไทยก็นิ่งเฉยในเรื่องนี้เกินไป
       
       **การกลับมาของนักการเมืองที่ถูกแบน หรือกลุ่ม 111 อดีตกรรมพรรคไทยรักไทยจะกลับมาในกลางปี จะทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลเป็นอย่างไร
       
       เบื้องต้นคงจะทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลดูดีขึ้นมาในระดับหนึ่ง แต่ถ้าตราบใดที่การจัดคณะรัฐมนตรีขึ้นอยู่กับคุณทักษิณเพียงคนเดียว เราก็จะไม่มีอะไรให้ไว้ใจได้อีกต่อไป แต่ในแง่ความสามารถคงจะทำได้ดีกว่าคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน
       
       **กลุ่มนักการเมือง 111 คน ที่มีคนของฟากเนวิน ชิดชอบ คิดว่าทักษิณ ชินวัตร จะทำอย่างไรกับคนกลุ่มนี้
       
       มีข่าวแว่วว่ามีการจะนำกลุ่มมัชฌิมาธิปไตย เข้ามารวมด้วยอยู่เหมือนกัน อย่างไรก็ดี คุณทักษิณ เป็นคนต้องการให้จำนวน ส.ส.มากพอแบบไม่ต้องไปง้อใคร อย่างจำนวน ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยก็เหลือกินเหลือการแล้ว ฉะนั้นที่คุณทักษิณจะทำต่อไปก็คือรวมกลุ่มให้ใหญ่กว่าที่เป็นอยู่เท่าที่จะ ใหญ่ได้ ก็คล้ายกับวิธีที่รวมกลุ่มตอนยังเป็นพรรคไทยรักไทยอยู่ ซึ่งวิธีคงไม่ต้องบอกเพราะรู้ๆ กันอยู่ ฉะนั้นตราบใดที่คุณทักษิณยังมีเงินที่สามารถจ่ายไปโดยไม่เสียดาย มันก็จะส่งผลเสียไปในอีกหลายทาง ทำให้ถึงขนาดว่า คนที่เราคิดว่าเป็นคนดี มีความสามารถ จะทำให้เราผิดหวังได้ สิ่งที่คุณทักษิณให้คนเหล่านั้นซึ่งไม่รู้ว่าเป็นอะไรบ้าง มันสามารถเปลี่ยนคนบางคนได้ จากคนที่สังคมเคยยกย่อง ซึ่งเราอยากตั้งคำถามว่า คนเหล่านั้นไม่รู้ ไม่เห็น ในสิ่งที่เราเห็น หรือเขาไปมองส่วนที่ดีตรงจุดไหน หรือว่าเราสติเสียไปหรือเปล่า
       
       ** การกลับมาของกลุ่มนักการเมือง 111 จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในพรรคเพื่อไทยแค่ไหน
       
       มันมีแน่นอนอยู่แล้วไม่ต้องห่วง ใครจะยอมถูกเด้งง่ายๆ นอกจากคนที่เป็นนอมินีอยู่ก็ต้องไป อย่างกลุ่มคนเสื้อแดงเคยพูดไว้แล้วว่า พวกคุณมีความสามารถด้านมวลชนคุณก็ต้องไปทำตรงจุดนั้น สำหรับคนเสื้อแดงกับตำแหน่งรัฐมนตรี คงต้องบอกว่าผิดฝาผิดตัว แต่ประเด็นสำคัญคือจะยอมออกจากตำแหน่งง่ายๆหรือเปล่า เขาก็บอกได้ว่าไม่ได้เป็นนอมินีใครนะ ถ้าพวกเขาอ้างว่าถ้าไม่ได้เสื้อแดงชุมนุมใหญ่จะได้มาเป็นรัฐบาลหรือไม่ ก็อาจจะเกิดเรื่องขึ้นอีก ไม่ต้องอื่นไกล เสื้อแดงฟัดกันเองก็มีให้เห็นเยอะแยะ
       
       **ประชาชนพอจะคาดหวังสิ่งใดจากการปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลได้แค่ไหน
       
       น่าเศร้าคือประชาชนประเทศเรา ไม่ค่อยจะสนใจใยดี เพราะไม่ไปกระทบกับเขาเหล่านั้นโดยตรง คำว่ากระทบต่อประเทศชาติ เขาไม่รู้สึก เพราะประเทศชาติหน้าตาเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ จะรู้สึกก็ต่อเมื่อกระทบต่อตัวเอง เช่นของแพง โดนขึ้นภาษี ตราบใดที่ไม่กระทบส่วนตัวชัดๆ ประชาชนก็คงเฉยเมยว่ารัฐมนตรีจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน จิตสาธารณะประเทศเรามันน้อย ถ้าอยากจะเป็นประชาธิปไตยจริง จิตสาธารณะของประชาชนในประเทศต้องมากกว่านี้
       
       **เรื่องการฟื้นฟูประเทศในกรณีน้ำท่วม มองว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางหรือยัง
       
       ต้องบอกว่ามาถูกทางของรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์เป็นพิเศษด้วยนะ ซึ่งทำให้ประชาชนมีความรู้สึกดีว่าเป็นรัฐบาลที่แจกเงินช่วยเหลือประชาชน ซึ่งประชาชนก็คงคิดว่ารัฐบาลจะทำอะไรก็ทำไป ดีจะตายแจกเงินเรา เช่นรัฐบาลเอางบฟื้นฟูน้ำท่วมไปแจกจ่าย แต่ประชาชนจะคิดว่าเป็นงบฟื้นฟูหรือเปล่า สมัยก่อนก็เห็นชัดว่าเมื่อมีงบอะไรลงไปก็จะถูกฝังหัวว่าเป็นงบของคุณทักษิณ ที่คนยังรักทักษิณอยู่ก็เพราะไม่รู้ว่าเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินไง คิดว่าทักษิณใจดีนำมาแจกจ่าย ส่วนงบน้ำท่วมซึ่งคนที่คิดไม่ไกลคงจะนึกไปว่ารัฐบาลนี้ดีมาก ยิ่งรัฐบาลนี้ถนัดในการเป็นผู้แจกอยู่แล้ว ก็อาจจะฉวยโอกาสทำคะแนนทางการเมืองไปด้วยเลยทีเดียว เรื่องการป้องกันน้ำท่วมมองว่าคงจะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เพราะคงได้บทเรียนไปมากแล้ว


'วัฒนา'ย้ำกรรมาธิการปรองดองไม่แตะม.112


Tags : นิติเรด เหิม ห้ามในหลวงมีพระราชดำรัส อาการเสียสติ คอป.

view