สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เละก่อนลุยแก้รธน. สัญญาณกระเพื่อมแรง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

ออกสตาร์ตไม่สวยเท่าไรกับการเดินหน้ารื้อใหญ่รัฐธรรมนูญ...

เครือข่ายทักษิณประกอบด้วยกลุ่มพลังต่างๆ หลายกลุ่มมีเป้าหมายร่วมกันคือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ผลผลิตจากการรัฐประหาร 2549 นิรโทษกรรมฟื้นฟูอำนาจให้แข็งแกร่งขึ้น

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มีหลายประเด็นที่แนวร่วมทักษิณ-เสื้อแดง ต้องการจัดวางโครงสร้าง กติกา องค์กรอิสระ ที่บังคับใช้กฎหมายกันใหม่ จึงมีมุมมองแตกต่างที่หลากหลาย เพราะเนื้อหาที่จะแก้มีมากหลายประเด็น

แต่เพียงแค่เริ่มก็ยังไม่ตกผลึกว่าจะเดินหน้าสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันอย่างไร จะ ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่คัดมาจากหลายภาคส่วน หรือจะให้มีคณะกรรมการพิเศษตั้งโดยรัฐบาล หรือจะให้รัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา

ข้อเสนอล่าสุดที่ทำให้พรรคเพื่อไทยและแกนนำเสื้อแดงต่างอ้าปากค้าง กลับมาจากแนวร่วมเดียวกัน เมื่อ “คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมนิติธรรมแห่งชาติ” หรือคอ.นธ. ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตั้งขึ้น มี อุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธานเสนอรูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้คณะรัฐมนตรีเลือกตัวแทนจากคู่ขัด แย้งการเมือง นักกฎหมาย และตัวแทนสื่อ รวม 34 คน ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญภายในเวลา 60 วัน และผ่านกระบวนการพิจารณาในรัฐสภา เมื่อร่างเสร็จให้ไปทำประชามติ

เหตุผลหลัก คือ ถ้าตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญอย่างที่เสนอมาจะช้า สิ้นเปลืองงบประมาณจนการแก้อาจไม่สำเร็จ ดังนั้น ถ้ารวบรัดตัดตอนใช้ผู้รู้ นักเทคนิค และคู่ขัดแย้งมาร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากเวทีนี้จะได้ประโยชน์นำไปสู่การปรองดองด้วยแล้ว ประชาชนยังมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวางในขั้นตอนทำ ประชามติอีก

 

แต่พลันที่ข้อเสนอ อุกฤษ โพล่งออกมาแบบ “แหกคีย์” วงซิมโฟนีเรตฮอต ก็เล่นเอาบรรดาแนวร่วม “เพื่อไทย–เสื้อแดง” รวมถึง จาตุรนต์ ฉายแสง จากกลุ่ม 111 ออกมารุมสวดยับไปไกลถึงขั้นว่า คอ.นธ.ดูถูกประชาชน 67 ล้านคน เพราะให้ผู้วิเศษมายกร่างรัฐธรรมนูญ

ถึงแม้จะถูกแนวร่วมออกมารุมโจมตี แต่อุกฤษยืนยันจะเสนอแนวคิดนี้ต่อรัฐบาล ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาพิจารณาต่อไป

เป็นความขัดแย้งที่ย่อมกระทบต่อ คอ.นธ.ที่รัฐบาลอุตส่าห์ตั้งขึ้นให้ช่วยเป็นหางเสือ ชงแก้ไขกฎหมายที่เป็นผลพวงจากการรัฐประหาร อันเกี่ยวข้องกับการขยับฟื้นอำนาจรัฐบาล

นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงออกมาต้องเล่นบทประนีประนอมกระชับพื้นที่ แนวร่วมปลอบใจทั้งอุกฤษและฝ่ายเสื้อแดง ว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของ คอ.นธ.และการตั้ง ส.ส.ร.

ยกแรกอุกฤษก็บาดเจ็บไปซิบๆ...

แต่เมื่อส่องลึกไปอีกขั้นดูรูปแบบที่พรรคเพื่อไทย-เสื้อแดง ปูพรมเสนอสูตร ส.ส.ร.ก็แตกต่างไปคนละแนว

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เสนอให้ใช้รูปแบบ ส.ส.ร.ฉบับ 2540 มาใช้มี 99 คนมาจากตัวแทนจังหวัดที่เลือกตั้งจากประชาชน 77 คน และอีก 22 คน มาจากนักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ ผู้มีประสบการณ์การเมือง

ฝ่าย นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. และ สส.กลุ่มเสื้อแดงเสนอให้มี ส.ส.ร. 100 คน มาจากประชาชนเลือกทั้งหมด แต่แบ่งตามจำนวนประชากรจังหวัดยึดสัดส่วน 4 แสนคนต่อ ส.ส.ร. 1 คน

ขณะที่ สงวน พงษ์มณี สส.เสื้อแดงอีกปีกจากพรรคเพื่อไทยด้วยกัน เสนอให้มี ส.ส.ร. 101 คน มาจากเลือกตั้งจังหวัด 77 คน ที่เหลือ 24 คน มาจากนักนิติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ และผู้มีประสบการณ์การเมือง ในส่วนของนักวิชาการจะเปิดให้มีการสมัครและเลือกกันเองให้เหลือ 30 คน จากนั้นให้ตัวแทนจากจังหวัดทั้ง 77 คน เลือกอีกครั้งเหลือ 24 คน

นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้ประกาศเป็นนโยบายรัฐบาล ข้อ 1.16 จะให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่เป็นอิสระเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมกับทำประชามติ ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เข้าสู่รัฐสภา

แต่ท่าทีรัฐบาลยังซุ่มซ่อนไม่ชัดเจน ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อใด นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ลับลวงพราง สงวนจุดยืน ระบุเพียงว่า ขอทำงานแก้ปัญหาประชาชนก่อน ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม ก็ไม่มีสัญญาณชัดแต่เริ่มเอนเอียงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นเร็ว วันนี้ หลังจากก่อนหน้านี้เสนอให้ชะลอไปก่อน 8 เดือน

เกมรัฐบาลปล่อยให้คนเสื้อแดงสร้างกระแสแก้ไขรัฐธรรมนูญไปเรื่อยๆ โดยคาดว่าในเดือน ก.พ.จะมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากคนเสื้อแดงพร้อมด้วยรายชื่อนับแสนที่เริ่ม เสนอเข้าสภา “นำร่อง” ช่วยรัฐบาล เมื่อสถานการณ์สุกงอม ครม.ก็จะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภาตามนโยบายที่แถลง

แต่การขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายกลุ่ม ด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นความคึกคัก แต่อีกด้านก็น่าห่วงถึงความไม่เป็นเอกภาพที่จะให้ระหว่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกิดความขัดแย้งทางความคิดสูง

เพราะปมต่างๆ ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งรูปแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือเนื้อหาที่จะแก้มีหลายประเด็น ซึ่งล้วนกระทบต่อองค์กรต่างๆ ที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ ยังไม่ตกตะกอนทางความคิดพอ และเป้าหมายของกลุ่มเสื้อแดงแต่ละกลุ่มก็เคลื่อนคนละมุม มีทั้งสุดโต่ง ยืดหยุ่น ส่วนพรรคเพื่อไทยที่ถืออำนาจรัฐ ก็ไม่อยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทบกับกลุ่มพลังต่างๆ มากเกินไป เช่น ฝ่ายตุลาการที่แกนนำเสื้อแดงประกาศต้องการให้ยืดโยงกับประชาชน ซึ่งยังไม่ชัดว่าจะมีรูปแบบใด ฯลฯ

ประเด็นแก้ไขที่เปราะบาง การเคลื่อนไหวที่ไม่เป็นทิศทางเดียวกัน ความขัดแย้งที่จะเห็นจากกรณี คอ.นธ.กับแกนนำเสื้อแดงครั้งนี้ อาจปะทุขึ้นอีกหลายรอบ จนทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจพบอุปสรรคจากแนวร่วมเดียวกัน สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : เละก่อนลุย แก้รธน. สัญญาณกระเพื่อมแรง

view