สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นายกสมาคมบลจ.ค้านโยนหนี้ทั้งก้อนให้ธปท.

โดย : สาธิต อุปชา

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




นายกสมาคมบลจ.ค้านโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูทั้งหมดให้ธปท. ชี้ต้นเหตุปัญหามาจากทั้งธปท.-คลัง จี้ปราบคอรัปชั่น-เลี่ยงภาษี-ยึดทรัพย์นักการเมืองขี้ฉ้อ
วรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" กรณีที่รัฐบาลเตรียมโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปดูแลว่า ปัญหาในวันนี้คือ เรามีหนี้ และเป็นหนี้ของประเทศคือของพวกเราทุกคนที่ต้องจ่ายคืน หนี้ก้อนนี้เกิดจากการเข้าไปอุ้มสถาบันการเงินเมื่อกว่า10 ปีก่อน โดยที่รัฐบาลไปออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนให้กองทุนฟื้นฟูฯ มันจึงเป็นหนี้ภาครัฐ

"คำว่าหนี้ภาครัฐ ก็คือหนี้สาธารณะ หรือหนี้ของพวกเราประชาชนทั้งหมดรวมถึงลูกหลานที่ยังไม่เกิด  อย่าไปมองว่ามันเกิดจากรัฐบาลไหน เพราะจะอย่างไรเราก็ปฏิเสธหนี้ไม่ได้ เราอยู่กับมันมากว่าสิบปีแล้วโดยที่พวกเราหลายคนอาจจะไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ  และเมื่อประมาณ 14 ปีก่อนที่มีปัญหาต้มยำกุ้ง หลายคนก็ชี้นิ้วไปที่แบงก์ชาติว่าเป็นต้นเหตุ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วไม่ใช่ แต่แบงก์ชาติเป็นส่วนที่ทำให้เสียหายเพิ่มด้วยการไปต่อสู้ค่าเงินบาทที่โดนโจมตีจากกองทุน Hedge Fund ต่างประเทศ แล้วก็สู้ไม่ได้ ต้องยอมมอบตัวในที่สุด เกิดความเสียหายมากมาย  หลายคนตกงานเพราะสถาบันการเงินถูกปิดไป 56 แห่ง เนื่องจากขาดสภาพคล่องรุนแรง อัตราดอกเบี้ยระหว่างกันบางวันพุ่งขึ้นไปถึง 50% ก็ยังไม่มีใครให้กู้  แบงก์ชาติก็อุ้มไม่ไหว ไม่มีเงินไปอุ้ม เมื่อธุรกิจไม่มีเงินจากแบงก์มาหนุน คนฝากเงินกลัวไม่ได้เงินฝากคืนก็พากันแห่ถอน ทุกอย่างจึงแทบจะหยุดไปหมด เรียกว่ากลไกของระบบการเงินมันพังทลายไปเลยก็ได้"


ส่วนต้นเหตุจริงๆ น่าจะเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการไปเปิดทางให้เอกชนกู้เงิน BIBF ที่ดูว่าเก๋มาก ทันสมัย ก้าวหน้าที่สุด โดยที่ประเทศยังไม่มีภูมิคุ้มกันเพียงพอ ก็อาจกล่าวได้ว่าสาเหตุเกิดจากทั้งรัฐบาล ทั้งแบงค์ชาติ ทั้งเอกชนที่ไปใช้ BIBF กู้เงินต่างประเทศดอกเบี้ยถูกเข้ามา และทั้งผู้ฝากเงินที่รัฐบาลต้องอุ้มไว้

แบงก์ชาติใช้เวลาพักใหญ่ฝ่ามรสุมที่ผู้คนสาปแช่งอยู่นานกว่าจะได้รับความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้ถึงขนาดนี้ แล้วคนที่ความจำดีก็บ่นว่าทำไมคนที่ทำให้เกิดความเสียหายยังได้ดิบได้ดีกันยกชุด ยกเว้นคุณเริงชัย (มะระกานนท์) อดีตผู้ว่าการธปท. ที่เป็นคน หรือแพะผู้โดดเดี่ยวก็ไม่รู้ เพราะรับเละรายเดียวในฐานะเป็น CEO ธปท. และต้องรับในปริมาณที่เกิดใหม่ 500 ชาติก็ชดใช้คืนไม่ไหว

"ที่จริงแล้วเราทุกคนต้องไม่มองเรื่องนี้ด้วยสายตาที่ส่องผ่านความเกลียดชัง หรือความรักใคร่ชอบพอ เราต้องมองด้วยสายตาของคนไทยที่มีวุฒิภาวะและมีความรับผิดชอบต่อภาระหนี้ที้เกิดขึ้น  อย่ามองเพียงว่าเราไม่ได้เป็นคนทำแล้วทำไมเราต้องรับ เพราะหากเราเป็นคนญี่ปุ่น เราจะไม่โทษกันไปมาว่าหนี้นี้รัฐบาลก่อ หรือ แบงก์ชาติก่อ มันก็หน่วยงานรัฐทั้งหมดไม่ใช่หรือ เงินสามีเงินภรรยามันก็คนคนเดียวกันนั่นแหละ คนญี่ปุ่นเขามีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติสูงมาก ซึ่งเราก็ชื่นชมเขาใช่ไหม แล้วทำไมเราไม่ทำตนอย่างคนญี่ปุ่นในเรื่องความรับผิดชอบ กับระเบียบวินัย และความไม่เห็นแก่ตัว"

ผลกระทบธุรกิจธนาคาร?

วรวรรณ มองว่า ในระยะสั้น หากมีการทำตามข่าวล่าสุดที่ออกมาในวันเสาร์ คือจะยังไม่ขึ้นค่าประกันเงินฝากให้เกิน 0.40%  แม้ว่า 0.35% จาก 0.40% นี้สถาบันประกันเงินฝากจะต้องส่งให้แบงค์ชาติจนเหลือไว้เองเพียง 0.05% ก็ตาม ผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ก็ยังไม่มีอะไร  แต่ผลกระทบเชิงจิตวิทยาของผู้เล่นในตลาดหุ้นมันเป็น อีกเรื่องหนึ่ง อย่างในปลายสัปดาห์ที่แล้ว หุ้นแบงก์ตกกันกราวเลย ทั้งๆ ที่แบงค์ไม่น่าจะกระทบเลยในระยะสั้น
แต่ในระยะปานกลางถึงระยะยาวหากมีความจำเป็นที่จะต้องเก็บค่าประกันเงินฝากเกิน 0.40% (กฏหมายกำหนดให้เก็บได้ไม่เกิน 1.00%) เช่น สมมติว่าเขาเก็บที่ 1.00% ก็จะทำให้เงินฝาก 100 บาทถูกกันไว้ 1 บาทเพื่อเป็นค่าประกันเงินฝาก ซึ่งแบงก์พาณิชย์เลยเอาไปปล่อยสินเชื่อเพื่อหารายได้ หรือทำอะไรอื่นๆ ได้ลดน้อยลง เรียกว่าต้นทุนเงินฝากของธนาคารจะสูงขึ้น และจะผลกระทบต่อกำไรของธนาคาร แต่ที่จะไปกระทบมากหรือน้อยมันขึ้นอยู่กับความสามารถของธนาคารในการผลักภาระไปยังลูกค้า ซึ่งรัฐบาลก็อาจจะตีกันไว้ก่อนเพื่อรักษาฐานเสียงว่าห้ามธนาคารผลักภาระไปยังลูกค้าก็ได้

"หากเป็นเช่นนี้ ก็จะทำให้ ธนาคารไม่สามารถผลักภาระดังกล่าวไปให้ลูกค้าได้ทั้งในแง่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก  กำไรก็จะลดลง  แต่อาจจะหลบไปออกตั๋วบีอีแทนการหาเงินฝากบางส่วน เพราะตั๋วบีอีนี่สถาบันประกันเงินฝากไม่คุ้มครอง จึงไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมปะกัน อย่างไรก็ตาม ธปท. หรือ กลต. อาจ จะออกมาตรการควบคุมการออก B/E ที่เข้มงวดขึ้น จนทำให้ธนาคารไม่สามารถลดภาระต้นทุนดังกล่าวผ่านการออก B/E ได้สะดวกเหมือนที่ผ่านมาก็ได้  และจากเหตุผลข้างต้นในระยะสั้นที่ธนาคารอาจไม่สามารถผลักภาระมายังลูกค้าได้ หากเป็นอย่างนี้แล้วธนาคารก็จะไม่สามารถรักษาระดับ NIM (Net Interest margin = รายได้ดอกเบี้ยรับ – ดอกเบี้ยจ่าย) ไว้ได้ กำไรจึงจะลดลง"

อย่างไรก็ตาม การบังคับเรียกเก็บค่าประกันเงินฝากเพิ่มขึ้นจะไม่สอดคล้องกับภาระในการคุ้มครองเงินฝากของสถาบันประกันเงินฝากที่ปัจจุบันเป็น 50 ล้านบาทต่อลูกค้าต่อธนาคาร เพราะเมื่อวงเงินประกัน เงินฝากนี้ลดลงเหลือ 1 ล้านบาทแล้วในเดือนสิงหาคมนี้ ทำไมค่าประกันเงินฝากถึงไม่ลดลงจาก 0.40%  ด้วยเล่า แถมยังจะไปเพิ่มอีก มันดูไม่มีเหตุผล และยังสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านเราด้วย ซึ่งจะทำให้ต้นทุน การแข่งขันของธนาคารในประเทศสูงกว่าธนาคารคู่แข่งในภูมิภาค แล้วเมื่อเปิดเสรีแล้วจะไปแข่งกับเขาได้ อย่างไร  

นอกจากนี้ ธนาคารของรัฐก็ไม่ได้อยู่ในระบบประกันเงินฝากด้วย ไม่มีภาระส่งเงินเข้าสถาบันประกันเงินฝาก แต่สามารถใช้ยี่ห้อว่ารัฐบาลเป็นประกันมาแข่งกับธนาคารพาณิชย์ในตลาดเดียวกัน อันนี้ ก็ไม่มีความเป็นธรรมในการแข่งขัน ใครจะไปสามารถบอกได้ว่าธนาคารของรัฐมีความมั่นคง มีการควบคุมและบริหารที่ดีกว่าของเอกชนได้  ซึ่งการที่รัฐบาลเป็นประกันนั้นก็คือจะต้องใช้เงินของพวกเราทั้งหมดไปอุ้มหากมีปัญหาเกิดขึ้นใช่หรือไม่ แล้วทำไมเอาเอาเงินภาษีของประชาชนไปอุ้มอีก ก็เรากำลังจะออกจากวิ่ง วันนี้ไม่ใช่หรือ ถึงได้ลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท

สำหรับธนาคารพาณิชย์ แต่ทำไมธนาคารของรัฐถึงไม่เป็นแบบเดียวกัน ตรงนี้ผู้กำหนดนโยบายต้องบอกให้ชัดเจนถึงเหตุผล และต้องกำหนดทิศทาง ให้ธนาคารรัฐทำหน้าที่สนองนโยบายรัฐบาลได้โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เราทุกคนมีภาระหนี้เพิ่มใน วันข้างหน้าด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าไม่ได้หมายความว่าทุกวันนี้ธนาคารรัฐบริหารไม่ดี เพียงแต่เห็น

ความเสี่ยงในอนาคตในเมื่อทุกรัฐบาลจะเอาอะไรก็ไปออกหวยที่ธนาคารรัฐกันหมด ต้องสนองนโยบายรัฐทั้งนั้น จึงไม่อยากเห็นกองทุนฟื้นฟูสองเกิดขึ้นมาให้เราแบกหนี้เพิ่มอีก

เรื่องการขึ้นอัตราการเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มทุก 0.2% นั้น นักวิเคราะห์เขาประเมินว่าจะส่งผลกระทบลบ ต่อกำไรของกลุ่มธนาคารประมาณ 7% และกระทบมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นประมาณ 1% (หมายเหตุ : ที่เขาทำ scenario ว่าเก็บเงินเข้าสถาบันประกันเงินฝากเพิ่มอีก 0.20% เพราะว่าภาระหนี้ ดอกเบี้ยจ่ายของกองทุนฟื้นฟูฯ เท่ากับ 45,000 ล้านบาทต่อปี และเงินที่ปัจจุบันสถาบันประกันเงินฝากเก็บ ที่ 0.40% เป็นเงินประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี  ถ้าเก็บเพิ่ม 0.20% จะใกล้เคียงกับภาระดอกเบี้ยจ่าย)

ธนาคารพาณิชย์จึงน่าจะหันไประดมเงินทุนผ่านการออก B/E  และ interbank มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นช่องทางที่ไม่ต้องส่งเงินเข้าสถาบันประกันเงินฝาก จึงอาจส่งผลให้เงินที่สถาบันประกันเงินฝากคาดว่าจะจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อภาระดอกเบี้ยจ่ายหนี้กองทุนฟื้นฟูไม่เป็นไปตามที่คาดว่าจะได้เพิ่มอีก 15,000  ล้านบาท หากเป็นเช่นนี้แบงก์ชาติอาจจะต้องออกกฏเพิ่มเติมเพื่อป้องกันเงินฝากไหลออกไปแหล่งอื่น เช่น ห้ามออก B/E เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของแหล่งเงินทุนทั้งหมด หรือเรียกเก็บค่าธรรมเนียมธนาคารพาณิชย์ในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นก็ได้

ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะเป็นอย่างไร ต้นทุนคนกู้จะเป็นอย่างไร?

ผลกระทบในระยะสั้นคงไม่มี แต่ในระยะยาวการ pass on ต้นทุนที่สูงขึ้นบางส่วนไปให้ผู้กู้เงินอาจทำได้ เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมของลูกค้าขนาดใหญ่ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับการระดมทุนจากตลาดเงินและตลาดทุน แต่หาก pass on มากเกินไปลูกค้าอาจจะหันให้ระดมเงินจากทางตลาดเงินมากขึ้นแทน ส่งผลให้เงินฝาก และเงินกู้ในระบบโตช้าลงได้ หรือลดลงก็ได้ในกรณีร้ายสุด  จึงมองว่าในระยะกลางและยาว ธนาคารต้องปรับตัวและกลยุทธ์ในการทำธุรกิจเพื่อมุ่งเน้นหารายได้ทางอื่นแทน ซึ่งบางแบงก์มีความพร้อม แต่หลายแบงก์ยังไม่มีความสามารถที่จะแข่งขันในผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านอื่นๆ มากนักและทรัพยากรบุคคลที่เหมาะสมก็มีจำกัด

ธุรกิจกองทุนรวมเป็นอย่างไร?

วรวรรณ มองว่า คงไม่ส่งผลกระทบกับภาพรวมธุรกิจกองทุนรวม เนื่องจากไม่เกี่ยวกับสถาบันประกันเงินฝากอยู่แล้ว

เห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้ ธปท.รับเคลียร์หนี้แทนกระทรวงการคลัง?

วรวรรณ ยอมรับว่า เห็นด้วยบางส่วนว่า ธปท.ควรมีส่วนในการช่วยรับผิดชอบหนี้ที่เกิดขึ้นแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะปัญหาเกิดมาจาก BIBF และการขาย NPL ไปในราคาลดต่ำลงมาก ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของทั้งแบงก์ชาติและคลัง  แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้โอนหนี้ FIDF ทั้งก้อน (1.14 ล้านล้านบาท) จากเดิมอยู่ที่คลัง (บันทึกเป็นหนี้สาธารณะ – Public debt) ไปที่ ธปท.และไม่เห็นด้วยกับวิธีการหาเงินมาจ่ายชำระดอกเบี้ยโดยการเพิ่มต้นทุนให้กับธนาคาร

ปัจจุบัน ธปท. ขาดทุนจากภาระการออกพันธบัตรเพื่อดูดสภาพคล่อง หากไปผลักภาระดอกเบี้ยมาให้ ธปท. รับรายเดียว (เดิมคลังรับภาระดอกเบี้ยจ่าย) ถ้าการจัดเก็บเงินเพื่อมาจ่ายชำระหนี้ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์มันก็เหมือนจะไปผลักดันให้ ธปท.ต้องทำการพิมพ์เงินชุดใหม่ออกมา ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความเป็นกลางของ ธปท. รวมถึงก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและเสถียรภาพของค่าเงินบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถานภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวแน่นอน

ส่วนการที่รัฐบาลจะไปกำหนดห้ามมิให้ ธปท.พิมพ์เงินเพิ่มเพื่อชำระหนี้นี้ หากเขาไม่มีปัญญาจ่ายล่ะ จะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย หรือจะไปกดดันให้เขาสหาประโยชน์จากทุนสำรองเงินตราต่างประเทศด้วยการรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แล้วหากลงทุนแล้วขาดทุนล่ะ จะทำอย่างไร

สถาบันการเงินบ้านเรามีความแข็งแกร่งเพียงพอหรือไม่ ณ ปัจจุบัน ในการรับมือวิกฤติหนี้ยุโรปเศรษฐกิจสหรัฐ?
วรวรรณ กล่าวว่า จากผลของวิกฤติต้มยำกุ้ง กลุ่มธนาคารได้มีการปรับโครงสร้างและมีใช้นโยบายการรักษาสภาพคล่องและการตั้งสำรองอย่างระมัดระวัง ผลดังกล่าวทำให้งบดุลของธนาคารมีความแข็งแกร่ง โดยมีสัดส่วนเงิน สำรองต่อหนี้เสียสูงกว่า 100% ในขณะที่อัตราหนี้เสียอยู่ในระดับที่ต่ำ ความแข็งแรงของงบดุลดังกล่าวทำ ให้เราเชื่อว่าวิกฤติหนี้ยุโรปและเศรษฐกิจสหรัฐที่ไม่แข็งแรง น่าจะกระทบต่อธนาคารในแง่ของการเติบโต ของรายได้มากกว่าจะส่งผลเสียต่อฐานะงบดุลที่แข็งแรงของกล่มธนาคาร

จี้ปราบคอรัปชั่น-เลี่ยงภาษี-ตรวจสอบยึดทรัพย์นักการเมืองขี้ฉ้อ

นายกสมาคมบลจ. ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจทิ้งท้ายว่า ทำไมไม่หาเงินก้อนแรกจากการหยุดคอร์รัปชั่น  ก้อนที่สองจากคนรวยจริงๆ ที่เลี่ยงภาษีแล้วใช้วิธีจ่ายเลี้ยงเจ้าหน้าที่ไม่ให้เก็บภาษีได้ครบถ้วน ก้อนที่สามจากการตรวจสอบทรัพย์สินข้าราชการกับนักการเมืองทุกคนโดยไปเทียบกับภาษีที่เขาจ่ายว่ามันสมเหตุสมผลกันไหม  แล้วให้ไปเร่งรัดคดียึดทรัพย์เข้าคลังให้ได้ภายใน 1-2 ปี  อาจจะดูสั้นไปสำหรับกระบวนการ (ไม่ยุติธรรม) ในบ้านเรา แต่จะให้รอจนเจ้าตัวกลับไปเกิดใหม่แบบทุกวันนี้ คงจะรอไม่ได้ หากทำแบบนี้ เราก็มีเงินใช้หนี้หมดเกลี้ยงภายใน 2 ปีแล้ว ไม่ต้องรอไปอีก 25 ปีหรอก

"ล่าสุดเมื่อมันสมองของรัฐบาล และมันสมองของแบงก์ชาติ เจรจาทำความเข้าใจกันด้วยเหตุผล ได้ผลมาว่าจะเดินไปในแนวทางที่ทุกคนเคลียร์กัน พอใจกันแล้ว มันก็เป็นผลดีต่อประเทศ เพราะอย่างน้อยที่สุด ความสำเร็จในการเจรจาในกรอบที่ชัดเจน และช่วยกันแก้ไขจุดโหว่ ก็ทำให้ความมั่นใจของผู้ลงทุนก็ไม่กระทบอะไร"


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : นายกสมาคมบลจ. ค้านโยนหนี้ทั้งก้อน ธปท.

view