สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เรื่องหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ (1)

เรื่องหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ (1)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในช่วงที่ผ่านมา มีข่าวบ่อยครั้งเกี่ยวกับข้อเสนอของ รัฐบาลที่อยากโอนหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท
ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน (กองทุนฟื้นฟูฯ) กลับไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งนี้ ภูมิหลังมีอยู่ว่าได้มีการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ดังกล่าวมาเป็นหนี้สาธารณะเมื่อปี 2002 โดยมีข้อตกลงว่ารัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยที่เกิดจากหนี้ดังกล่าว ในขณะที่ ธปท.จะนำกำไรสุทธิส่งคืนให้รัฐบาลเพื่อรัฐบาลจะได้นำไปลดมูลหนี้ โดยในปี 2002 ได้มีการทำแบบจำลองคาดการณ์ว่าเป็นการแบ่งเบาภาระอย่างเท่าเทียมกัน คือ ทั้ง ธปท.และรัฐบาลจะผ่อนจ่ายเงินฝ่ายละประมาณ 1 ล้านล้านบาทใน 20 ปีจากปี 2002 หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ก็จะหมดลงทั้งจำนวน แต่เมื่อเวลาผ่านไป 9 ปี ปรากฏว่า ธปท.มีผลดำเนินการขาดทุนมากกว่ากำไร จึงจ่ายคืนเงินต้นได้น้อยมาก (ประมาณ 2 แสนล้านบาท) ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลต้องจ่ายดอกเบี้ยต่อปีอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยไปกว่า 6 แสนล้านบาท จึงเกิดความต้องการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเกี่ยวกับหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ดังกล่าว รวมทั้งการเสนอให้โอนหนี้ทั้งก้อนกลับไปให้ ธปท.บริหาร ซึ่ง ธปท.ก็คัดค้านเพราะจะเป็นภาระและส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการรักษาวินัยทางการเงิน
 

กล่าวคือ หาก ธปท.ต้องบริหารจัดการหนี้จำนวนมหาศาลดังกล่าว ก็จะส่งผลให้ ธปท.ต้องพิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมาก (การต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละ 50,000-60,000 ล้านของกองทุนฟื้นฟูฯ ก็เท่ากับการต้องพิมพ์เงินเพิ่มปีละ 5% เป็นต้น) ทำให้เสี่ยงต่อการกดดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นและเงินบาทอ่อนค่าลง ในส่วนหลังนี้ผมคิดว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ (รวมทั้งตัวผมเอง) จะมองไปในทิศทางเดียวกันว่าการโอนหนี้จำนวนมากให้ ธปท. เป็นความเสี่ยงอย่างแน่นอน แม้บางคนจะอ้างถึงการพิมพ์เงินอย่างไม่จำกัดขอบเขตของธนาคารกลางสหรัฐและการกดดันให้ธนาคารกลางยุโรปทำตามแบบสหรัฐ แต่เมื่อเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำก็ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควรเอาอย่าง โดยเฉพาะสำหรับเงินบาทที่ไม่ได้มีสถานะพิเศษที่เป็นเงินสกุลหลักของโลก
 

แต่ปัญหาการล่มสลายของสถาบันการเงินนั้นมิได้เกิดขึ้นมาโดยตัวของระบบการเงินเอง แต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากความตกต่ำอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจไทย เมื่อปี 1997-1998 ที่มีต้นเหตุมาจากวิกฤติอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น รากเหง้าของปัญหาจึงเกิดจากเรื่องของการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องกล่าวถึงเพื่อให้เห็นภาพอย่างครบถ้วนและรอบด้าน เรื่องนี้ได้เคยมีการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งและกว้างขวางมาแล้ว โดยเฉพาะคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) ซึ่งได้ตีพิมพ์รายงานของคณะกรรมการออกมาเมื่อ 10 มีนาคม  2541 (1998) ซึ่งผมขอคัดลอกบทสรุปบางส่วนออกมาให้อ่านเพื่อเป็นภูมิหลังในการประเมินปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ดังต่อไปนี้ และเมื่ออ่านแล้วจะได้มาพิจารณาประเด็นต่างๆ ในเชิงวิเคราะห์ต่อไปครับ
 

สรุปความเห็น/ข้อเสนอแนะของ ศปร. (คัดลอกจากรายงาน ศปร.)
 

ข้อบกพร่องของโครงสร้างระบบการบริหารการเงินอันนำไปสู่วิกฤตการณ์และความไม่มีประสิทธิภาพในการตัดสินใจเชิงนโยบาย
 

วิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทยครั้งนี้มีจุดเริ่มมาจากการก่อหนี้ของภาคเอกชน แต่การดำเนินนโยบายการเงินของรัฐก็มีส่วนทำให้ปัญหาการก่อหนี้บานปลายอย่างแทบจะไม่มีขีดจำกัด
 

ขั้นตอนของความเพลี่ยงพล้ำในการดำเนินนโยบายการเงิน ลำดับได้ดังต่อไปนี้
 

1. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจเลือกที่จะไม่ให้เปิดตลาดเงินทุนเสรีตั้งแต่ พ.ศ. 2533 แต่ ธปท.ก็เลือกที่จะให้เปิด การตัดสินใจให้เปิดครั้งนั้นนับว่าเป็นผลพวงของแนวนโยบายที่เป็นมาโดยต่อเนื่องเป็นระยะยาวนาน และสะท้อนความต้องการของฝ่ายการเมืองในขณะนั้นอย่างเต็มที่ เมื่อนายวิจิตรเข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้ว่าการก็สานต่อนโยบายนั้นอย่างขะมักเขม้นถึงขั้นเปิดวิเทศธนกิจ ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย
 

2. เมื่อ ธปท.เลือกที่จะเปิดตลาดเงินทุนให้เสร็จแล้ว ธปท.ก็ควรเลือกที่จะให้อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นมากกว่านี้ แต่ ธปท.ก็เลือกที่จะรักษาช่วง (band) อัตราแลกเปลี่ยนที่แคบมากไว้จะมาเริ่มพิจารณาก็ในเดือนเมษายน 2539 ซึ่งสายไปเสียแล้ว เพราะหลังจากนั้น อีกไม่กี่เดือนปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นก็รุนแรงจนทำให้ ธปท.กลัวที่จะดำเนินการใดๆ อีกต่อไป เพราะเกรงว่าจะส่งสัญญาณผิดให้กับตลาด
 

3. เมื่อ ธปท.เลือกที่จะรักษาช่วงอัตราแลกเปลี่ยนที่แคบไว้เช่นนั้น ก็หมายความว่า แนวนโยบายทางด้านอุปสงค์รวมจะต้องมีความระมัดระวัง (conservative) เป็นพิเศษ โดยเฉพาะในระยะตั้งแต่ พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา นโยบายการคลังเป็นเรื่องของรัฐบาลและรัฐสภาก็จริงอยู่ แต่ ธปท.ก็มิได้ผลักดันอย่างจริงจังให้รัฐบาลมีนโยบายเกินดุลซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงนั้น ส่วนนโยบายการเงินที่ดึงปริมาณเงินในประเทศก็ไร้ผล เพราะถูกลบล้างด้วยเงินกู้จากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
 

4. เมื่อ ธปท.ไม่สามารถใช้นโยบายการคลังหรือการเงินได้ ก็ควรจะใช้มาตรการไม่ให้เงินกู้ไหลเข้าประเทศอย่างมากมายเสียตั้งแต่ต้น แต่มาตรการที่ประกาศเป็นมาตรการที่อ่อนและนำมาใช้เมื่อสายไปแล้ว คือ หลังจากไทยมีหนี้สินระยะสั้นในระดับสูงมากเกินไปเสียแล้ว
 

จะเห็นว่า รายงานของ ศปร. ได้ชี้ให้เห็นว่าการสาเหตุของวิกฤติครั้งนั้น เกิดจากการบริหารจัดการที่บกพร่องในการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งในสัปดาห์หน้า ผมจะนำเสนอรายงานในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาสถาบันการเงินที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและการบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟูฯ ครับ


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : เรื่องหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ (1)

view