สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การเงินโลกสะท้านกฎเหล็กบาเซิล หวั่นซ้ำเติมวิกฤตความเชื่อมั่น

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

สัญญาณเลวร้ายทางเศรษฐกิจที่ปรากฏให้เห็นอย่างค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่ เริ่มต้นปีใหม่นี้ ถือเป็นของขวัญสุดเจ็บประจำปีที่ไม่มีใครอยากอ้าแขนรับเท่าใดนัก

ทว่าเมื่อไม่ค่อยมีหนทางให้หลีกเลี่ยง ทางเดียวที่พอจะเหลืออยู่ก็คือการเตรียมการตั้งรับและเตรียมใจให้ดีที่สุด โดยหนึ่งในการเตรียมความพร้อมที่สำคัญที่สุดที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ การเตรียมการของบรรดาธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกที่กำลังยืนหมิ่นเหม่จ่อปาก เหวอยู่ในขณะนี้

เพราะสภาพที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ของตลาด อันเป็นผลจากวิกฤตหนี้สาธารณะในภูมิภาคยุโรป ส่งผลให้นักลงทุนไม่ค่อยอยากนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน จนบรรดาธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มประสบปัญหากับการขาดสภาพคล่อง จนมีสิทธิซ้ำรอยวิกฤตเลห์แมน บราเธอร์ส เมื่อปี 2551

รูปการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้คณะกรรมการด้านนโยบายการเงินที่คอยควบคุมดูแลหลักเกณฑ์การกำกับดูแล สถาบันการเงิน หรือที่รู้จักกันดีใน ชื่อ บาเซิล ส่งสัญญาณออกมาแล้วว่า จะเริ่มตรวจสอบสถานะของธนาคารพาณิชย์ในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น และสหรัฐ ภายในไตรมาสแรกของปีนี้

เหตุผลหลักๆ ของการตรวจสอบก็เพื่อดูว่าบรรดาธนาคารพาณิชย์ในประเทศนั้นๆ ปฏิบัติตามเกณฑ์บาเซิล 2 ที่กำหนดให้ธนาคารต้องกันเงินทุนสำรองให้ได้ 2% ของสินทรัพย์ทั้งหมดของธนาคารอย่างจริงจังเข้มงวดมากน้อยแค่ไหนเพื่อให้แน่ ใจว่า ธนาคารมีความแข็งแกร่งพอที่จะรับมือวิกฤตการเงินที่อาจจะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ โลกได้เผชิญหน้ากับวิกฤตการเงินครั้งใหญ่มาแล้วเมื่อช่วงปี 25512552 ที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินแทบทุกแห่งต้องเจอกับปัญหาการขาดสภาพ คล่อง ขณะที่บางแห่งเลวร้ายหนักถึงขั้นล้มละลาย กลายเป็นกรณีศึกษาให้ทั่วโลกต้องจดจำ เช่น เลห์แมน บราเธอร์ส เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์สุดระทึกต้องเกิดซ้ำรอยอีกระลอก กฎบาเซิลจึงเกิดขึ้น

บาเซิล คือหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงินบาเซิล ซึ่งจะคอยกำหนดกฎเกณฑ์ ดูแล ตรวจสอบการดำรงเงินกองทุน และการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของบรรดาธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ทั่วโลก เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้สถาบันการเงินสามารถต้านทานภาวะวิกฤตในระบบการเงิน และระบบเศรษฐกิจได้ดีขึ้น พร้อมทั้งลดการส่งต่อความเสี่ยงจากระบบการเงินไปยังภาคเศรษฐกิจจริง

หรือพูดให้เข้าใจง่ายก็คือว่า เป็นหลักเกณฑ์ที่ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่าธนาคารมีกันชนที่แข็งแรงดีพอที่ จะรับมือวิกฤตไม่ให้กิจการล้มและไม่ให้ลุกลามไปกระทบบรรดากิจการโรงงานทั้ง หลาย ด้วยการดูว่าธนาคารเหล่านี้มีทุนสำรองเพียงพอและมีสินทรัพย์คุณภาพที่มีสภาพ คล่องสูง เช่น พันธบัตรรัฐบาล AAA

ทั้งนี้ นอกจากจะเดินหน้าตรวจสอบอย่างจริงจังแล้ว ทางบาเซิลยังส่งสัญญาณเตรียมยกระดับความเข้มงวดของหลักเกณฑ์ที่ใช้กันอยู่ ให้มากขึ้น

เรียกได้ว่า เปลี่ยนสถานะจากกฎบาเซิล 2 เป็นบาเซิล 3 โดยธนาคารต้องเพิ่มสัดส่วนเงินทุนสำรองให้ไปอยู่ที่ 7% ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ต้องกันเงินทุนสำรองมากกว่าธนาคารปกติถึง 12.5% จากระดับ 7% ที่กำหนดไว้

พร้อมกันนี้ บาเซิลยังเตรียมใช้มาตรการกำหนดอัตราสินทรัพย์ต่อสภาพคล่อง (Liquidity Coverage Ratio : LCR) กับการกำหนดกฎสภาพคล่องใหม่ของธนาคาร โดยการเพิ่มอัตราส่วนเงินกองทุน เพื่อเป็นหลักประกันให้กับบรรดานักลงทุนให้ใจชื้นขึ้นมาได้เปลาะหนึ่งว่า ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายมีสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะอยู่รอดเป็น เวลา 30 วัน หากเกิดวิกฤตจนไม่สามารถระดมเงินทุนจากตลาดได้

แน่นอนว่า การเร่งเดินหน้าตรวจสอบสุขภาพทางการเงินของธนาคารทั้งหลายย่อมเป็นเรื่องดี ที่จะเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับคืนมาได้

และการเดินหน้าปฏิรูปหลักเกณฑ์บาเซิลให้เข้มงวดมากขึ้นก็ย่อมช่วยให้ธนาคารมีความแข็งแกร่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อดีไม่น้อย แต่บรรดานายธนาคารและนักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งกลับมองว่า หลักเกณฑ์บาเซิลดังกล่าวอาจทำให้ธนาคารหลงลืมหน้าที่สำคัญของตนเอง ก็คือการเป็นแหล่งเงินทุนให้กับบรรดาธุรกิจและกิจการทั้งหลาย

พูดแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือว่า ถ้าต้องปฏิบัติตามกฎของบาเซิลอย่างจริงจัง ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งก็จำต้องลดการปล่อยกู้ให้กับบรรดาธุรกิจ ซึ่งอยู่ในภาคเศรษฐกิจจริงลง

หมายความว่า ในสภาพที่เศรษฐกิจทั่วโลกยังชะลอตัว บริษัทห้างร้านทั้งหลายย่อมต้องการเงินทุนสนับสนุนเพื่อกระตุ้นให้มีความ เคลื่อนไหวหมุนเวียน มีสภาพคล่องในตลาด

แต่เพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของบาเซิลที่ได้ตกลงกันไว้ ธนาคารหลายแห่งมีแนวโน้มที่อาจจะต้องลดการปล่อยกู้ลง

เท่ากับยิ่งเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่ซึมเซาทั่วโลกให้ซึมเซาหนักขึ้น

นอกจากนี้ บรรดานายธนาคารต่างแสดงความวิตกกังวลถึงอนาคตของธนาคารที่ต้องเผชิญกับกฎบาเซิลที่เข้มงวดขึ้น

เพราะการที่ธนาคารพาณิชย์ต้องมุ่งกันทุนสำรองเงินฝากให้ได้ตามมาตรฐานบา เซิล จะทำให้ธนาคารต้องมุ่งเก็บเงินมากขึ้น แทนที่จะนำไปใช้ลงทุนอย่างอื่นให้งอกเงยจนท้ายที่สุดก็จะกระทบต่อผลกำไรและ การเติบโตของธนาคารเอง

ดังนั้น การที่คณะกรรมการนโยบายการเงินออกมาส่งสัญญาณตั้งแต่ต้นปีว่า หลักเกณฑ์บาเซิล คือกฎเหล็กสูงสุดที่ธนาคารต้องคำนึงถึงก่อนเรื่องอื่นใด จึงเป็นเรื่องที่ธนาคารหรือแม้กระทั่งนักลงทุนเองจะอดออกอาการสะท้านไม่ได้


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : การเงินโลกสะท้าน กฎเหล็กบาเซิล หวั่นซ้ำเติมวิกฤตความเชื่อมั่น

view