สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ละเลง 100 ล้าน..ทำได้แค่นี้หรือ?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เฉลา กาญจนา



2-3 วันก่อนเห็นกลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่ กลุ่มรถบรรทุก รถร่วม ขสมก. และรถมินิบัส นำรถออกมาปิดถนนกันอย่างเมามัน
    เรียกร้องรัฐบาลให้ชะลอปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีอีกกิโลกรัมละ 50 สตางค์ทุกๆ เดือนเป็นเวลา 1 ปี เท่ากับว่า ราคาเอ็นจีวีในปีนี้จะถูกปรับขึ้นอีกกิโลกรัมละ 6 บาท ฟังผิวเผินดูเหมือน "สาหัสสากรรจ์" แต่เรื่องนี้บอกเลยไม่ธรรมดา

  หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2547 ราคาเอ็นจีวีอยู่ที่กิโลกรัมละ 6.73-8.42 บาท กระทั่งเดือน มิ.ย. 2548 ได้ขยับราคามาอยู่ที่กิโลกรัมละ 8.50 บาท กว่า 7 ปีที่เอ็นจีวีไม่เคยได้ปรับราคาเลย

 ถามว่าส่วนต่างที่เกิดขึ้น ใครคือผู้รับผิดชอบ คำตอบง่ายๆ ก็ผู้ใช้น้ำมันทั้งหลาย...ที่ต้องคอยอุดหนุนส่วนต่างที่เกิดขึ้น  เพราะผู้ใช้น้ำมันที่แน่ๆ น้ำมันทุกหยดต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตตามชนิดน้ำมัน ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีบำรุงท้องที่ รวมไปถึงการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ตรงกันข้ามผู้ใช้เอ็นจีวีและดีเซลกลับไม่ต้องรับภาระส่วนนี้  

 ฉะนั้นการที่รัฐบาลจะปรับขึ้นราคาเอ็นจีวี น่าจะมีเหตุผลเพียงพอ หากปล่อยไว้อย่างนี้อยากรู้ว่ารัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมาชดเชยส่วนต่างนักหนา

 ว่ากันว่า งานนี้....ไม่ได้อยู่ที่ปรับราคาเอ็นจีวีสักเท่าไร แต่ปมปัญหาอยู่ที่รัฐบาลต้องการผู้ขับขี่รถแท็กซี่มี "บัตรเครดิตพลังงาน" เพื่อลดภาระผู้ให้บริการรถสาธารณะ ตามเงื่อนไขผู้ขับขี่รถแท็กซี่ต้องมีบัตร 2 ใบใช้ควบคู่กัน นั่นคือ บัตรเติมเอ็นจีวี เป็นบัตรประจำรถ ใช้เพื่อแสดงสิทธิของรถที่เข้าร่วมโครงการ และ บัตรเครดิตพลังงาน เป็นบัตรประจำตัวบุคคล เพื่อใช้ชำระค่าก๊าซแบบเครดิตแทนเงินสด

 สำคัญยิ่งผู้ที่ใช้สิทธิต้องมีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์สาธารณะจากกรมการขนส่งทางบก จึงจะเข้าร่วมโครงการได้ ปัญหาใหญ่ คือ ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์สาธารณะ จนเป็นเหตุทำให้มีผู้เข้าร่วมโครงการไม่มากพอ จนกลายเป็นแรงต้าน นำไปสู่กรณีคัดค้านการปรับราคาเอ็นจีวีอย่างที่เห็นๆ

 จริงๆ ถ้าผู้ขับขี่รถแท็กซี่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์สาธารณะที่ถูกต้อง บอกได้เลยแนวทางนี้น่าจะเป็นผลดี ถามว่าวันนี้คนขับแท็กซี่บ้านเรามีใบขับขี่ถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องทำไมไม่ทำให้ถูกต้อง หรือมีวาระซ่อนเร้นอะไรที่ปล่อยให้เกิดเรื่องอย่างนี้  

  ดังนั้น ห้วงเวลา 4 เดือนจากนี้ไป หวังว่าผู้ขับขี่รถแท็กซี่น่าจะปฏิบัติตนให้ถูกต้อง เพื่อผลประโยชน์ตัวเอง

 ตรงกันข้ามการประท้วงที่ผ่านมา สิ่งที่อดคิดไม่ได้ ทำไม กลุ่มรถบรรทุกสิบล้อถึงต้องเข้าร่วมขบวนการกับเขาด้วย ทั้งๆ ที่ต้นทุนเชื้อเพลิงจากเอ็นจีวีถือว่าถูกมากในเชิงธุรกิจ ปัจจุบันรถบรรทุกสิบล้อทั้งระบบมีประมาณ 8 แสนคัน แต่ที่หันมาใช้เอ็นจีวีอยู่ประมาณ 3 หมื่นคัน ลองทบทวนดูว่าต้นทุนแท้จริงเป็นอย่างไร เจ้าของรถบรรทุกเป็นใคร ก่อนที่จะขนรถบรรทุกออกมาปิดถนน สร้างความวุ่นวายให้กับสังคมอย่างที่ผ่านมา

  ที่แน่ๆ "เสี่ยโต้ง" กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึงกับ "ควันออกหู" เมื่อกลุ่มรถบรรทุกสิบล้อยกโขยงออกมา ไม่รู้ว่าออกมาด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือถูกใครชักจูง ทำเอา "เสี่ยโต้ง" ถึงขั้น "ทวงบุญคุณ" กลางห้องประชุมเสีย ทำนองว่าเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ก็ช่วยเหลือไปพอสมควร ทำไม ทำกันอย่างนี้

  อยากฝากผ่านไปยังผู้ขับรถแท็กซี่และรถสาธารณะทั้งหลาย กรุณาเห็นใจผู้ใช้น้ำมัน ที่ต้องมานั่งอุดหนุนพวกท่านด้วย ที่น่าเห็นใจที่สุดเห็นทีจะเป็น กลุ่มผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่ต้องมานั่งแบกภาระแทนแท็กซี่ เพราะใช้น้ำมันเบนซิน 91

 แต่ที่ประหลาดใจยิ่งนัก เขาว่ากันว่า...งานนี้ใช้งบพีอาร์โครงการบัตรเครดิตพลังงานร่วม 100 ล้านบาท  โอ้...แม่เจ้า ทำได้แค่นี้หรือ อยากให้ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะหน่วยงานที่ถูกรีดไถ ลองกลับไปทบทวนดูว่างบประมาณที่จ่ายไปมันคุ้มค่ากับงานพีอาร์แล้วหรือไม่ เชื่อไม่เชื่องานนี้ลองถาม ปตท.ดูว่าจ่ายไป 30 ล้านบาทจริงหรือไม่

  สุดท้ายอยากฝากบอกไปยังผู้บริหารที่รู้เห็นเป็นใจ ยอมจ่ายเงินตามการ "เรี่ยไร" หรือ "ตามใบสั่ง" ระวังตอนจบ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะเรียกสอบการใช้เงินรายตัวนะครับท่าน...!!!


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ละเลง 100 ล้าน ทำได้แค่นี้หรือ

view