สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เทียบเหตุผล 3 ฝ่ายแก้-ไม่แก้ ม.112

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เปรียบเทียบเหตุผล 3 ฝ่ายแก้-ไม่แก้ มาตรา 112 ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นสถาบัน
แม้พรรคการเมืองทุกพรรคจะยืนกรานไม่แตะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นสถาบัน แต่กระบวนการแก้ไขโดยภาคประชาชนก็เริ่มเดินหน้าแล้ว โดยเมื่อวานนี้ (15 ม.ค.) ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ซึ่งใช้ตัวย่อว่า "ครก. 112" ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยมีนักวิชาการคณะนิติราษฎร์และเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมจำนวนมากเข้าร่วม

ในงานมีการเปิดโต๊ะล่าชื่อประชาชนที่สนับสนุนด้วย โดยตั้งเป้าจะรวบรวมรายชื่อให้ได้ 10,000 รายชื่อตามพระราชบัญญัติเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (มาตรา 112) ต่อรัฐสภา โดยบัญญัติเนื้อหาและโทษเกี่ยวกับการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นใหม่

นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ กล่าวว่า เป้าหมายของ ครก. 112 คือการรวบรวมรายชื่อให้ได้ 10,000 รายชื่อภายใน 112 วัน เพื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อส่งร่างกฎหมายใหม่เข้าสู่การพิจารณา ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย ผู้ใดข่มขู่ขัดขวางถือว่ามีความผิด มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

เสนอ 7 ประเด็นรื้อกฎหมายหมิ่นสถาบัน
นายวรเจตน์ กล่าวว่า จากการหารือกับกลุ่มนักวิชาการได้ข้อสรุปว่า ให้ยกเลิกมาตรา 112 ไปก่อน แล้วให้เขียนบทบัญญัติเพิ่มเติมใหม่ โดยมีประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย
 1. ให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เพราะจะทำให้มีความผิดรุนแรง และศาลจะไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยอ้างว่ากระทบกับจิตใจกับประชาชน
 2. เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และแยกออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
 3. แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อแบ่งแยกลักษณะความผิดในการลงโทษ ไม่เหมารวมเช่นที่ผ่านมา
 4. เปลี่ยนบทกำหนดโทษ โดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ แต่กำหนดเพดานโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 3 ปีสำหรับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่เกิน 2 ปีสำหรับพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
 5. เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด กรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
 6. เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ กรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง และการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
 7. ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษผู้ที่กระทำความผิด โดยให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษแทนพระองค์เท่านั้น เนื่องจากการให้ใครก็ได้ฟ้องร้องกล่าวโทษ เป็นความสุ่มเสี่ยงต่อการกลั่นแกล้งทางการเมือง

6 ข้อสังเกต กก.ที่ปรึกษากฎหมายหมิ่นฯ
เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเด็นเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีกระแสทั้งจากในและนอกประเทศมาหลายปีแล้ว โดยในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขึ้น เพื่อให้ข้อเสนอแนะการดำเนินคดีลักษณะนี้ไม่ให้กระทบต่อสถาบันเบื้องสูง และไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง

คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ประชุมหารือกันหลายครั้ง และเคยสรุปความเห็นอย่างไม่เป็นทางการต่อประเด็นปัญหาของมาตรา 112 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องและถูกจับตาจากต่างประเทศ เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ดังนี้
 1. กฎหมายมีลักษณะจำกัดและลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยทำหน้าที่เป็นเครื่องมือจำกัดมิให้มีการอภิปรายในสังคมไทย ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศของไทย
 2. กฎหมายมีบทลงโทษที่รุนแรงไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด โดยกำหนดโทษขั้นต่ำไว้ 3 ปี ทำให้ศาลไม่อาจใช้ดุลยพินิจกำหนดโทษที่ต่ำกว่าหรือใช้โทษปรับได้ อีกทั้งในกรณีผู้กระทำผิดอาญาในลักษณะต่างกรรมต่างวาระ (ดังเช่นคดีอากง) อาจได้รับการลงโทษสูงเทียบเท่าหรือเกือบเท่ากับอาชญากรรมร้ายแรงหรืออาชญากรรมระหว่างประเทศ ทำให้นานาชาติเห็นว่าการลงโทษในความผิดฐานนี้มีความรุนแรงมาก
 3. กฎหมายขาดความชัดเจนในเรื่องขอบเขตที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งฟ้องคดีไว้ก่อน เพื่อผลักภาระความรับผิดชอบไปยังศาล
 4. กฎหมายไม่มีเหตุยกเว้นความผิดหรือเหตุยกเว้นโทษ ซึ่งแตกต่างจากกรณีหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ด้วยเหตุนี้ การติชมสถาบันเบื้องสูงด้วยความเป็นธรรมก็มีความเสี่ยงต่อการเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
 5. ผู้ใดจะดำเนินการฟ้องร้องคดีก็ได้ ทำให้กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมือง เพื่อกลั่นแกล้งหรือกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าไม่จงรักภักดี
 6. กระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดี ศาลมักใช้บทบัญญัติการดำเนินคดีเป็นการลับ เพื่อประโยชน์ของความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี แต่อาจทำให้ถูกมองว่าไม่โปร่งใส

สยามประชาภิวัฒน์ชู 6 ข้อค้านรื้อ 112
อย่างไรก็ดี ในวันที่มีการเปิดตัว ครก. 112 ก็มีกลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน หรือกลุ่มเสื้อหลากสี นำโดย นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ รวมตัวกันตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 เช่นกัน

ขณะที่แกนนำกลุ่มนักวิชาการที่ใช้ชื่อว่า "สยามประชาภิวัฒน์" อย่าง นายคมสัน โพธิ์คง (นิติศาสตร์ สุโขทัยธรรมาธิราช) ก็มีข้อสังเกตและเหตุผลสนับสนุนว่าไม่มีความจำเป็นต้องแก้มาตรา 112 สรุปได้ดังนี้

1. ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นกฎหมายลักษณะหนึ่งในหมวดว่าด้วยความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งมีหลายเรื่อง เป็นการวางหลักปกป้องคุ้มครองประมุขของรัฐ ซึ่งแทบทุกประเทศก็มีกฎหมายลักษณะนี้
2. การใช้ความผิดทางอาญากลั่นแกล้งทางการเมือง ทำได้แทบทุกลักษณะความผิด ไม่ใช่เฉพาะมาตรา 112 เท่านั้น เช่น ตำรวจยัดยาเสพติดให้ผู้ต้องหา ซึ่งปรากฏเป็นข่าวอยู่เนืองๆ การแก้กฎหมายหรือแก้โทษไม่ได้ช่วยอะไร
3. การกำหนดโทษขั้นต่ำ 3 ปี และโทษขั้นสูง 15 ปี ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มโทษเมื่อปี 2519 เป็นเพราะในทางนิตินโยบายมีการกระทำที่เป็นความผิดตามมาตรานี้มากขึ้น จึงกำหนดโทษมากขึ้น ฉะนั้นการยกเลิกกฎหมาย ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องการปกป้องสถาบันในสถานะประมุขของประเทศ
4. การกำหนดโทษขั้นต่ำ 3 ปี ศาลยังใช้ดุลยพินิจลดโทษ หรือบรรเทาโทษได้ แต่ที่ผ่านมา ไม่มีเหตุบรรเทาโทษ เช่น จำเลยไม่ยอมรับสารภาพ จึงทำให้ศาลต้องลงโทษในอัตราตามที่กฎหมายกำหนด
5. มาตรา 112 ไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่แสดงความคิดเห็นเกินขอบเขตจนไปล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น (กรณีนี้คือสถาบัน) ฉะนั้นหากจะบอกว่ามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ก็ควรพูดให้ครบว่าเป็นการจำกัดเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น (สถาบัน) และสังคม
6. การที่ศาลพิจารณาคดีเป็นการลับ ถือเป็นจุดอ่อน ทำให้สังคมไม่ได้รับรู้ถึงข้อความหมิ่น ทั้งยังไม่มีการเผยแพร่ เพราะเกรงจะเป็นการกระทำผิดซ้ำ ทำให้สังคมไม่ทราบพฤติการณ์ที่แท้จริงของการกระทำความผิด จึงตกเป็นเหยื่อข่าวลือของบางฝ่าย


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : เทียบเหตุผล 3 ฝ่าย แก้-ไม่แก้  ม.112

view