สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แฉแปรรูปปตท.เอื้อ ทักษิณ ฮุบธุรกิจพลังงาน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"กรณ์"แฉ"ทักษิณ"จ้องฮุบธุรกิจพลังงาน อัดไร้คำตอบทำไมต้องแปรรูปปตท ชี้โอนให้กองทุนวายุภักษ์อาจขัดกฏหมาย อัดรัฐเผด็จการทางเศรษฐกิจ
นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นในรายการ "ตอบโจทย์" ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยแนะนำให้ประชาชนจับตาความพยายามในการแปรรูปบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) จากอาจมีประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะที่ผ่านมาอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีประเด็นปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และเคยทำจนศาลพิพากษายึดทรัพย์ และในขณะนี้พ.ต.ท.ทักษิณ ก็มีความสนใจในธุรกิจพลังงาน อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ได้เดินทางไปยังประเทศกัมพูชา เพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายพลังงาน

"ประชาชนต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และตั้งคำถามในสิ่งที่รัฐบาลพูดว่า เหตุผลที่แท้จริงคืออะไร และเหตุผลที่รัฐบาลอ้าง ก็ฟังไม่ขึ้น"ส่วนความจำเป็นในการแปรรูปปตท. และการบินไทย นายกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีความจำเป็นต้องเร่งแปรรูป โดยให้เหตุผลว่าต้องการนำเงินไปลงทุนโครงกรขนาดใหญ่ (อินฟราสตรัคเจอร์) ทั้งการแก้ปัญหาน้ำ การลงทุนในระบบราง หรือสาธารณูปโภคต่างๆ หรือเพื่อนำเงินไปคืนหนี้ให้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพราะปัจจุบันรัฐบาลมีรายได้ถึง 10 ล้านล้านบาท สามารถกู้ได้ถึง 2 ล้านล้านบาท ตามนิยามเพดาน หนี้สาธารณะ และไม่มีความจำเป็นต้องไปแต่งบัญชีหรือซุกหนี้

"ผมไม่แน่ใจว่าใช้ข้อมูลอย่างตั้งใจหรือคาดเคลื่อน เกี่ยวกับเพดานหนี้ต่อภาระรายจ่ายของเงินงบประมาณ"

ส่วนกรณีที่รัฐบาลบอกว่าการขายหุ้นปตท.ออกไป 2% เพื่อให้ออกจากความเป็นรัฐวิสาหกิจและลดหนี้สาธารณะ นายกรณ์ กล่าวว่า เมื่อปตท.ออกจากความเป็นรัฐวิสาหกิจจะทำให้บทบาทในการดูแลประชาชนใหมดไป และปตท.จะดูแลผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ

นายกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้เตรียมการไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น การลอยตัวราคาแก๊ส ลอยตัวราคาเอ็นจีวี ซึ่งปตท.เป็นคนผูกขาดท่อส่งน้ำมัน ซึ่งคนที่รับเคราะห์ก็คือประชาชน ถือเป็นการปลดล็อกเพื่อเอื้อต่อการเป็นเอกชน

"เมื่อปตท.เป็นเอกชนแล้ว รัฐไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงราคาได้ การแปรรูปปตท. จึงเป็นคำถามที่รัฐบาลต้องบอกประชาชนว่าทำไปทำไม ซึ่งที่ผ่านมาก็ฟังไม่ขึ้น"

นายกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่มีคำตอบว่า พ.ร.ก.เงินกู้ การแปรรูปปตท. และการบินไทย ว่ากู้เงินไปทำไม แล้วจะดูแลประชาชนอย่างไร ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีคำตอบ ทุกคนก็ตัวใครตัวมัน

อย่างไรก็ตาม นายกรณ์ ยอมรับว่า ในช่วงที่ผ่านมาในฐานะที่เป็นคนทำงานในตลาดทุน เขาสนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการแข่งขัน และเพื่อประโยชน์สูงสุดตกไปถึงมือประชาชน ยกตัวอย่างเช่น การแปรรูปองค์การโทรศัพท์ ซึ่งผู้บริโภคได้ประโยชน์จากเดิมีที่คิดจะซื้อโทรศัพท์ต้องจ่ายใต้โต๊ะ แต่หลังจากที่เปิดเสรี และให้เอกชนเข้ามาแข่งขัน ประชาชนก็ได้รับประโยชน์

"รัฐบาลยังไม่มีคำตอบว่าจะส่งเสริมการแข่งขันอย่างไร หลังแปรรูปปตท. ตัวอย่างเช่น ท่อแก๊ส ซึ่งที่ผ่านมา ปตท.ก็ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว เรื่องนี้ รัฐบาลต้องแก้ก่อนการแปรรูป"

นายกรณ์ ให้ความเห็นว่า ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา ปตท.ผูกขาดมาโดยตลอด แม้กระทั่งสถานีบริการปั๊มน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) กว่า 60% ซึ่งอาจเข้าผูกขาด ซึ่งที่ผ่านมาสถานีบริการปั๊มน้ำมัน หลายแห่งที่เลิกกิจการแล้วขายกิจการให้ปตท. ก็ยอมรับว่าไม่สามารถแข่งขันกับปตท.ได้ ตัวอย่างเช่น ปั๊มน้ำมันเจ็ท

"ผมว่ากรณีแปรรูปปตท. ต่างจากการบินไทย ผมไม่ได้ค้านการบินไทย แต่ถ้าจะทำก็ต้องปรึกษาทางสหภาพฯก่อน เพราะการบินไทยต้องแข่งขันทั้งกับสายการบินต่างประเทศ สายการบินในประเทศไม่ว่าจะเป็นบางกอกแอร์เวย์ส แอร์เอเซีย แต่ปตท.เป็นไปในลักษณะผูกขาด"

กรณีที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุว่า ยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน นายกรณ์ กล่าวว่า ความหมายอาจกลัวกระแส แต่เรื่องนี้เขาอยากให้มีการทบทวน ถ้าจะทำจริง ก็ต้องตอบให้ได้ว่าทำเพื่ออะไร และอยากให้คนไทยจับตาเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนของอดีตผู้นำ

ส่วนกรณีที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาให้ความเห็นผ่านเฟสบุ๊คว่าไม่เห็นด้วยกับพ.ร.ก.เงินกู้ การแปรรูปปตท. และการบินไทย นายกรณ์กล่าวว่า ถือว่าแนวคิดสอดคล้องกันกับเขา และเป็นประเด็นที่ประชนต้องนำมาคิด

นายกรณ์ กล่าวว่า ความพยายามในการแปรรูปปตท. และการบินไทย ถือเป็นการแต่งบัญชี และผู้ที่อยู่เบื้องหลังคือ นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธาน กยอ. ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษา ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) (BBC) ที่มีปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จนเกิดวิกฤติ ก็มาจากการซุกหนี้เอ็นพีแอล

"ถ้าเขาเห็นเราพยายามซุกหนี้ ต่างชาติยิ่งขาดความเชื่อมั่น และผมไม่เข้าใจว่าถูกกฎหมายหรือไม่ การโอนหนี้ให้กองทุนวายุภักษ์ เพราะถึงกำหนดกองทุนวายุภักษ์ต้องขายคืนให้กับกระทรวงการคลัง เป็นการแต่งบัญชีให้เรารวยขึ้น"

ส่วนการออกพ.ร.ก.เงินกู้ อดีตรมว.คลัง มองว่า การอ้างว่าเพื่อนำเงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยส่วนตัวแล้วมองว่าการลงทุนมีความจำเป็น แต่ต้องทำด้วยความโปร่งใส และต้องให้สภาฯตรวจสอบ ผ่านระบบงบประมาณ รัฐบาลนี้ทำได้อยู่แล้วเพราะมีเสียงข้างมาก ไม่จำเป็นต้องทำด้วยวิธีการทางลัด ด้วยการออกพ.ร.ก. ซึ่งถือเป็น"เผด็จการทางเศณษฐกิจ" หลบการตรวจสอบในระบบรัฐสภา


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : แฉแปรรูปปตท. เอื้อ ทักษิณ ฮุบธุรกิจพลังงาน

view