สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เศรษฐศาสตร์ความสุขและการบุกวอชิงตัน

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เศรษฐศาสตร์ความสุขและการบุกวอชิงตัน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา วอชิงตันโพสต์รายงานว่าหนังสือสารคดีขายดีอันดับสองของย่านกรุงวอชิงตัน ได้แก่ เรื่อง Thinking, Fast and Slow
ของ ศาสตราจารย์แดเนียล คาห์นีแมน นักจิตวิทยาชื่อดังผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปี 2545  เขาได้รับรางวัลด้านเศรษฐศาสตร์เพราะนำวิชาจิตวิทยามาประยุกต์ใช้ในด้านเศรษฐศาสตร์ได้ผลจนกลายเป็นฐานของการมองเศรษฐศาสตร์จากด้านอารมณ์ของคนแทนที่จะมองจากด้านเหตุผลเพียงอย่างเดียว  วิชาเศรษฐศาสตร์จึงมีสาขาใหม่ชื่อ “เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม” (Behavioral Economics) เนื้อหาของหนังสือเล่มนั้นวางอยู่บนฐานของการแยกกระบวนการคิดของคนเราออกเป็นสองระบบ คือ ระบบเร็วและระบบช้า  การตัดสินใจในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่มาจากการใช้ระบบคิดเร็ว ซึ่งมักมีอารมณ์เป็นตัวขับเคลื่อน
 

ศาสตราจารย์คาห์นีแมนใช้หลักจิตวิทยาศึกษาเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับความสุขได้ข้อสรุปว่า คนเรามีความสุขเพิ่มขึ้นตามรายได้จนเมื่อรายได้เพิ่มขึ้นไปถึงปีละประมาณ 75,000 ดอลลาร์  หลังจากนั้น ความสุขจะไม่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย  ข้อสรุปแนวนี้มีการอ้างถึงในงานของ “มูลนิธิเศรษฐศาสตร์ใหม่” (New Economics Foundation) และในหนังสือหลายเล่ม อาทิเช่น The Progress Paradox : How Life Gets Better While People Feel Worse และเรื่อง Happiness : Lessons from a New Science  (ทั้งสองเล่มนี้มีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในเรื่อง "กะลาภิวัตน์")  การวิจัยจากหลายแง่มุมพบว่า หลังจากมีรายได้ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพอย่างสะดวกสบายในระดับหนึ่งแล้ว ความสุขเกิดจากปัจจัยหลายอย่างรวมทั้งการมีสุขภาพดี การมีเพื่อนและการบริจาค
 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คอลัมน์นี้อ้างถึง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ว่า ใช้เงินปีละไม่เกิน 1.5 แสนดอลลาร์ ทั้งที่มีทรัพย์นับหมื่นล้านและมีรายได้ปีละหลายสิบล้านดอลลาร์  เขาเริ่มบริจาคทรัพย์เพื่อการกุศลและจะบริจาคต่อไปจนหมดไม่ต่ำกว่า 99% ของทรัพย์ที่มีอยู่  ผู้ที่เข้าไปดูเว็บไซต์ www.givingpledge.org จะพบเหตุผลของเขาที่ว่าทรัพย์ที่เกิน 1% ขึ้นไปจะไม่ทำให้เขาสุขสบายมากกว่าในปัจจุบัน แต่มันจะช่วยเพื่อนมนุษย์อีกมากมายให้สุขสบายขึ้น  เขาเน้นความสำคัญของการมีเพื่อน  แม้เขาจะไม่ได้กล่าวถึง แต่เรื่องราวของเขาในนิตยสารไทม์ที่คอลัมน์นี้อ้างถึงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ยืนยันว่าเขายังมีสุขภาพดีทั้งที่อายุ 81 ปีแล้ว
 

แม้เรื่องราวของวอร์เรน บัฟเฟตต์ จะยืนยันผลการศึกษาที่สรุปว่า เมื่อรายได้เพิ่มขึ้นไปถึงจุดหนึ่ง ความสุขของคนเราจะมาจากปัจจัยอื่น แต่เศรษฐีอเมริกันส่วนใหญ่คงไม่เห็นด้วยทั้งนี้เพราะเพียง 69 คนเท่านั้นที่สัญญาว่าจะเข้าร่วมโครงการบริจาคทรัพย์อย่างน้อย 50% เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทั้งที่สหรัฐมีเศรษฐีที่มีทรัพย์นับพันล้านดอลลาร์กว่า 400 คนและชาวอเมริกัน 1% หรือกว่า 3 ล้านคนมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 3.8 แสนดอลลาร์ต่อปี  คนกลุ่มนี้เป็นเศรษฐีกันถ้วนหน้าเนื่องจากข้อมูลของธนาคารกลางอเมริกันบ่งว่าแต่ละคนมีทรัพย์อย่างน้อย 6.9 ล้านดอลลาร์  เศรษฐีเหล่านี้แหละที่เป็นเป้าของการประท้วงโดยกระบวนการ “ยึดครองถนนวอลล์” (Occupy Wall Street) ซึ่งบุกไปยึดครองกรุงวอชิงตันมานานแล้วเพราะแม้จะมีรายได้และทรัพย์เกินระดับที่จะสนับสนุนให้มีความสุขสบายได้เป็นอย่างดี แต่เศรษฐีส่วนใหญ่ไม่กระทำตามวอร์เรน บัฟเฟตต์ หากมักกระทำในทางตรงข้ามมากกว่าโดยเฉพาะการหาทางเลี่ยงภาษี  พฤติกรรมทำนองนี้ชี้ว่าพวกเขาตัดสินใจด้วยการใช้ระบบการคิดเร็วตามการวิเคราะห์ของศาสตราจารย์คาห์นีแมน
 

เมื่อรวมเรื่องราวที่เล่ามานี้เข้าด้วยกันจะเกิดประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งซึ่งดูจะยังไม่มีผู้นำมาพิจารณา นั่นคือ สมมติว่าบรรดาเศรษฐียอมเสียภาษีตามที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ เสนอและนโยบายของรัฐสามารถลดความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนลงได้ตามเป้าหมายของผู้ยึดครองถนนวอลล์และบุกกรุงวอชิงตัน  นอกจากนั้น เศรษฐกิจโลกก็ขยายตัวต่อไปส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของชาวโลกเพิ่มขึ้นจากราว 11,000 ดอลลาร์ต่อปีตามที่ข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศบ่งบอก  เศรษฐกิจจะขยายตัวต่อไปจนทำให้ทุกคนมีรายได้ปีละ 75,000 ดอลลาร์ เพื่อทำให้เกิดความสุขถ้วนหน้าได้หรือไม่ในเมื่อโลกใบนี้มีทรัพยากรเพียงจำกัด การศึกษาของศาสตราจารย์พอล เออร์ลิชสรุปว่าไม่น่าทำได้  เขาเสนอไว้ในหนังสือชื่อ One with Nineveh: Politics, Consumption, and the Human Future (มีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในเรื่อง “ธาตุ 4 พิโรธ”) ว่า ทรัพยากรโลกจะสนับสนุนประชากรให้อยู่อย่างดีและมีความสุขได้เพียง 2 พันล้านคนเท่านั้น
 

ตอนนี้โลกมีประชากรเกิน 7 พันล้านคนซึ่งจะเพิ่มขึ้นต่อไป  นั่นหมายความว่า แม้บรรดาเศรษฐีจะคิดอย่างมีเหตุผลและกระทำตามวอร์เรน บัฟเฟตต์กันทุกคนก็ตาม แต่ตราบใดที่โลกใบนี้ยังมีคนถึง 7 พันล้านคน มันย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ทุกคนมีรายได้ในระดับที่จะสนับสนุนให้อยู่ได้อย่างดีจนมีความสุขกันถ้วนหน้า  ด้วยเหตุนี้ การไม่มีลูกจะเป็นการประท้วงที่มีประสิทธิผลเหนือกว่าการยึดครองถนนวอลล์ และการบุกกรุงวอชิงตัน


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : วอร์เรน บัฟเฟตต์ เศรษฐศาสตร์ความสุข การบุกวอชิงตัน

view