สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐกิจเกิดใหม่ฮอตไม่จริง มุ่งแต่ส่งออกลืมพึ่งตัวเอง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ระหว่างที่บรรดาผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) กำลังตกอยู่ในสภาวะตึงเครียดอย่างหนักจากการหาทางแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะ ของกรีซ จนกลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตบรรดานักลงทุนทั่วโลกซึ่งผ่านวิกฤตยุโรปมาแล้วหลาย ระลอกต่างเร่งแสวงหาทางรอดกันทั่วหน้า

และหนึ่งในทางรอดที่นักลงทุนส่วนใหญ่เลือกก็คือความคึกคักสดใสของบรรดา ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่มียักษ์ใหญ่แห่งตะวันออกอย่างจีนเป็นศูนย์กลาง ยืนยันได้จากปริมาณเงินลงทุนจากต่างประเทศเมื่อเดือน ม.ค. ที่เริ่มไหลกลับเข้าภูมิภาคเอเชียอีกครั้ง โดยสูงถึง 2,600 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่นักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินชื่อดังในสหรัฐ เช่น ซิตี กรุ๊ป หรือ อาชมอร์ อีเอ็มเอ็ม เอลเอลซี ต่างออกมาคาดการณ์อย่างเชื่อมั่นว่า ตลาดที่น่าวางใจนำเงินไปลงทุนเพื่อผลตอบแทนที่คุ้มค่าในปีนี้ก็คือตลาดของ ประเทศเศรษฐกิจ ไล่เรียงตั้งแต่ประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุดไปจนถึงน้อยที่สุดอย่าง จีน ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ตามลำดับ โดยแม้จะซวนเซไปเล็กน้อย จากหนี้สาธารณะของยุโรป แต่เศรษฐกิจส่วนใหญ่ในภูมิภาค ยกเว้น ญี่ปุ่น ก็ยังเติบโตได้แข็งแกร่งเหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์

อังตวน แวน อักท์มาเอล ผู้ดูแลกองทุนในตลาดเศรษฐกิจใหม่ของอาชมอร์ อีเอ็มเอ็ม เอลเอลซี แสดงความเห็นผ่านบลูมเบิร์กว่า จีนจะยังคงเป็นผู้นำเศรษฐกิจที่ร้อนแรงในภูมิภาค และจะผลักให้เศรษฐกิจเอเชียมีการขยายตัวในปีนี้สูงถึง 32% เมื่อวัดจากดัชนี เอ็มเอสซีไอ ซึ่งเป็นดัชนีของมอร์แกน สแตนเลย์ แคปิตอล อินเตอร์เนชันแนล ที่ใช้สำหรับวัดการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจที่น่าลงทุนตามหลังจีนมาเป็นอันดับ 2 อย่างไทย ซึ่งสามารถเบียดแซงอินเดียและอินโดนีเซียมาได้ ก็เพราะเหตุผลที่ว่าไทยมีแรงงานอุตสาหกรรมฝีมือดีราคาไม่แพง และมีการเกษตรที่มั่งคั่งสมบูรณ์ ตลอดจนมีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า และถนน แบบครบถ้วน

หากมองเผินๆ แล้ว รายงานข่าวข้างต้นย่อมถือเป็นข่าวดีที่ทำให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกยิ้มออกมาได้

แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้เป็นข่าวที่ทำให้บรรดานักเศรษฐศาสตร์ดีใจได้มากนัก

เพราะฝันร้ายของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกยังคงอยู่ไม่ได้หายไปไหน

และฝันร้ายนั้นก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค ไล่เรียงตั้งแต่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย และไทย ยังคงพึ่งพาการส่งออกเป็นกุญแจหลัก สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมียุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นลูกค้ารายใหญ่

จีนกลายเป็นประเทศผงาดไล่หลังสหรัฐขึ้นมาได้ ด้วยการก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก ขณะที่การส่งออกของไทยคิดเป็น 2 ใน 3 หรือมากกว่า 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เช่นเดียวกับเกาหลีใต้และสิงคโปร์ หนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งมากที่สุดในภูมิภาค การส่งออกถือเป็นนโยบายสำคัญที่ผลักดันให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตโดดเด่นแซง หน้าชาติอื่นๆ ขึ้นมาได้

เมื่อการส่งออกทำให้ประเทศเติบโตในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแม้แต่น้อยที่นโยบายของรัฐบาลในประเทศเหล่านี้จะ ทุ่มเทสนับสนุนผู้ส่งออกเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นภาษี การคงอัตราแลกเปลี่ยน หรือกระทั่งการให้สินเชื่อที่มีดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เกิดวิกฤตหนี้ของยุโรป ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่เป็นต้นมา ตัวเลขการส่งออกของประเทศเหล่านี้หดตัวลดลงอย่างน่าใจหาย และส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม

การส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน พ.ย. 2554 ลดลง 4.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า การส่งออกของเกาหลีใต้ในเดือน ม.ค. ลดลง 6.6% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2554 ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าของจีนในเดือน ธ.ค. ก็ปรับลดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณการส่งออกที่น้อยลงของเกาะไต้หวันส่งผลหนักถึงขั้นทำให้ เศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มเดินหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอย

กล่าวโดยสรุปให้เข้าใจง่ายก็คือว่า แม้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชีย–แปซิฟิกจะยังมีพลังขับเคลื่อนให้ โตต่อไปได้ ด้วยหนี้สาธารณะต่ำ ค่าแรงถูก และผู้บริโภคยังคงมีกำลังซื้อ

แต่ในขณะเดียวกัน นักลงทุนก็ยังต้องเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลาก่อนเข้ามาลงทุนว่า เศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านี้ยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้ล้มได้ง่าย เพราะไม่ได้ยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเองอย่างเต็มที่

และการที่ต้องพึ่งพาอาศัยชาติอื่นก็เป็นความเสี่ยงที่เห็นได้ชัดเจนเรียบ ร้อยแล้ว ทั้งจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือสิงคโปร์ ที่ต่อให้แข็งแกร่งแค่ไหน ก็มีสิทธิเซจวนทรุดแทบไม่รอดได้เช่นกัน

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จากฝั่งตะวันตกมองว่า หากต้องการเติบโตอย่างแข็งแกร่งจริงๆ ก็คงถึงเวลาแล้วที่ผู้นำของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เหล่านี้จะต้องปรับนโยบาย ให้หันมาพึ่งพาการลงทุนและกำลังซื้อภายในประเทศให้มากขึ้น และต้องลงมือทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงแค่ตระหนักและพูดถึงอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เพราะหากยังลังเล เนื่องจากคาดหวังว่าการส่งออกที่ลดลงจะเป็นแค่สถานการณ์ชั่วคราวแล้วละก็ ทางรอดที่เหลือรออยู่ข้างหน้าอาจมีให้เลือกไม่มากนัก


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : เศรษฐกิจเกิดใหม่ ฮอตไม่จริง มุ่งแต่ส่งออก ลืมพึ่งตัวเอง

view