สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โต้ง กลับลำรีดเงินแบงก์รัฐ ข้อกังขา กองทุนพัฒนาประเทศ

จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ในที่สุดก็ได้คำตอบสุดท้ายของการเรียกเก็บเงินจากธนาคาร พาณิชย์เพื่อนำส่งเข้า "บัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการ ฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน" ภายใต้พระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อ ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จากการประชุมร่วมกันระหว่าง "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย เมื่อ วันที่ 13 ก.พ.

ข้อสรุปที่ออกมาดูเป็นที่น่าพอใจสำหรับบรรดานายแบงก์ แบงก์ชาติ และคลัง เพราะมีการเรียกเก็บอัตราเงินนำส่งจากธนาคารพาณิชย์ในอัตราไม่สูงนักคือ 0.47% เพิ่มขึ้นจากเดิมเพียง 0.07% ขณะเดียวกัน "กิตติรัตน์" ยังได้แก้ปัญหาความลักลั่นระหว่างแบงก์รัฐกับแบงก์พาณิชย์ด้วยการกำหนดให้มี การเรียกเก็บเงินจากแบงก์รัฐในอัตราเท่าเทียมกัน เพียงแต่เงินที่เรียกเก็บไม่ได้นำส่งเข้าบัญชีตามมาตรา 5 เพื่อชำระหนี้ FIDF เหมือนกรณีแบงก์พาณิชย์ แต่จะนำไปใส่ไว้ใน "กองทุนเพื่อพัฒนาประเทศ"

"คลัง จะเสนอ ครม.ให้มีการกำหนดอัตราเรียกเก็บจากแบงก์รัฐในอัตราที่เท่ากัน เขาเก็บเท่าไหร่ เราก็เก็บเท่านั้น และอัตราที่เก็บเท่ากันนี้ก็จะเป็นภารกิจของการที่จะนำเงินไปพัฒนาประเทศ ส่วนอื่น ๆ"

ทั้งนี้ แม้ว่าผู้บริหารแบงก์รัฐจะออกมาขานรับกันแทบจะในทันที โดยยืนยันว่าพร้อมจะทำตามนโยบายและผลกระทบต่อต้นทุนมีไม่มาก รวมถึงจะดูแลไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ แต่ผู้บริหารแบงก์รัฐรวมถึงผู้บริหารระดับสูงของคลังหลายคนก็อดกังขาไม่ได้ ว่า เหตุใด "กิตติรัตน์" จึงกลับลำ จากที่ก่อนหน้านี้เคยยืนยันอย่างแข็งขันว่าจะไม่มีการเรียกเก็บเงินนำส่งจาก แบงก์รัฐแน่นอน

"การเก็บค่าธรรมเนียมแบงก์รัฐอย่าเอามาปนกัน ผมชี้แจงแล้ว ผมเห็นความลักลั่นแล้ว และจะนำเอาไปหาแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน ถ้าจะให้พูดแรง ๆ ก็คือ การเก็บค่าธรรมเนียมแบงก์รัฐอย่าได้หวัง" นี่เป็นประโยคที่ "กิตติรัตน์" เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพียง 1 สัปดาห์ก่อนหน้า

ขณะ เดียวกันยังมีคำถามต่อมาคือ จะเป็นการเปิดช่องให้มีการฉวยโอกาสนำเงินส่วนนี้มาใช้แบบไม่โปร่งใสหรือไม่ ซึ่ง "กรณ์ จาติกวณิช" ส.ส.สัดส่วน รายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมว.คลัง ถึงกับตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นการ "ปล้นคลัง" เพราะ "กิตติรัตน์" เพียงแต่ให้แนวทางกว้าง ๆ ว่าจะใช้ในการ "พัฒนาประเทศส่วนอื่น ๆ" และบอกว่าจะให้มี "คณะกรรมการ" ขึ้นมากลั่นกรองการนำเงินไปใช้ โดยยืนยันว่าจะไม่ให้เป็นอำนาจของ รมว.คลัง หรือนักการเมือง

"มองได้ ว่ารัฐบาลกำลังปล้นเงินจากคลังไปใช้นอกระบบงบประมาณ จากปกติที่ต้องใช้วิธีออกพระราชบัญญัติงบประมาณ แต่กรณีนี้รัฐบาลจะนำเงินไปใช้ได้โดยตรง ไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยรัฐสภา และไม่ต้องมีแผนการใช้เงินที่ชัดเจนด้วย แถมยังไม่มีใครลงไปตรวจสอบได้ว่าเงินที่จะมีปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาทนั้นจะใช้อย่างไรและโดยใคร เพราะหลักการกว้างมาก ดังนั้นประเด็นเหล่านี้ผมถือว่าเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักการงบประมาณ และเป็นการเปิดช่องเอื้อให้พวกพ้องเข้ามาหาประโยชน์" อดีต รมว.คลัง จากพรรคฝ่ายค้านระบุ

จากการสอบถามผู้บริหารคลังที่เกี่ยวข้องหลายคน ไม่ทราบมาก่อนว่า คำตอบสุดท้ายจะออกมาเป็นแบบนี้ ส่วนใหญ่บอกตรงกันว่าเป็นไอเดียของรองนายกฯ และ รมว.คลังเองที่นำไปโยนเข้าสู่ที่ประชุมในเช้าวันที่ 13 ก.พ.

อย่าง ไรก็ดี น่าจะมี "อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม" ปลัดกระทรวงการคลังที่ทราบถึงแนวทางนี้ล่วงหน้า เพราะก่อนจะเดินทางไปประเทศพม่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ปลัดคลังได้เลื่อนเวลาเดินทางจากช่วงเช้าเป็นช่วงบ่าย เพื่ออยู่ประชุมกับ "กิตติรัตน์" โดยปลัดคลังให้เหตุผลว่า การที่ "กิตติรัตน์" บอกว่าจะไม่เก็บค่าธรรมเนียมแบงก์รัฐนั้น น่าจะหมายถึงกรณีการเก็บเพื่อนำไปชำระหนี้ FIDF แต่กรณีนี้คำตอบออกมาว่าจะเก็บเพื่อทำให้ต้นทุนเท่าเทียมกัน ส่วนเงินที่เรียกเก็บจากแบงก์รัฐวางแนวทางไว้ว่าจะใช้สนับสนุนแบงก์รัฐในการ นำไปดูแลสังคม เช่น การพักหนี้ พักดอกเบี้ยเงินกู้ให้ประชาชน เป็นต้น

"รอง นายกฯได้วางกลไกให้ไว้ ซึ่งต้องไปดูรูปแบบ รายละเอียดต่าง ๆ อีก ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานคณะ กรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ไปศึกษา" ปลัดคลังชี้แจง

อย่างไรก็ ตาม หลังจากนี้ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามคือ เมื่อเกณฑ์ ต่าง ๆ ออกมาครบแล้ว เงินนำส่ง สคฝ. ลดลงเหลือแค่ 0.01% ต่อปี จะกระทบความเชื่อมั่นในระบบธนาคารหรือไม่ การที่ "กิตติรัตน์" ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไปหาทางเพิ่มวงเงินคุ้มครองเงินฝากที่จะลดลงเหลือ 1 ล้านบาทต่อรายต่อธนาคาร จะสามารถเพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้ฝากเงินได้เพียงใด

แต่ประเด็นสำคัญยิ่งกว่าที่ต้องจับตาเพื่อไม่ให้เป็นไปตามข้อกังวล คลังจะมีวิธีดูแลการนำเงินกองทุนเพื่อพัฒนาประเทศไปใช้อย่างไรให้มีความ โปร่งใส รวมถึงการกำหนดตัวบุคคลที่จะเข้ามาชี้ขาดการใช้เงิน


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : โต้ง กลับลำ รีดเงินแบงก์รัฐ ข้อกังขา กองทุนพัฒนาประเทศ

view