สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พรก.ฉลุยรัฐบาลลุยใช้เงินเต็มสูบ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

เรียกได้ว่ายกภูเขาออกจากอกรัฐบาลเมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า 2 พ.ร.ก. ไม่ขัดศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ บรรดาแกนนำรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องลุ้นระทึกและตกอยู่ภาวะสุญญากาศมาหลายสัปดาห์ จะหยุดนิ่งอยู่เฉยก็ไม่ได้ จะเดินหน้าก็กลัวมีปัญหาภายหลัง

คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากปัดกวาดขวากหนามที่เป็นอุปสรรคมาขวางกั้นการทำงานของรัฐบาลแล้ว ยังเป็นการเรียกความเชื่อมั่นของรัฐบาลในการบริหารฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมา เกินร้อยได้อีกครั้ง

ทว่า หลังจากนี้ไปภาระหนักของรัฐบาล คือ จะต้องเดินหน้าตาม พ.ร.ก.กู้เงินชุดใหญ่ให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง เพราะมีเงื่อนไขเวลากำหนดไว้

เริ่มตั้งแต่ พ.ร.ก.กู้เงินฟื้นฟูประเทศ 3.5 แสนล้านบาท ที่ผ่านมายังไม่มีความชัดเจนโครงการจะทำที่ไหน อย่างไร และคิดเป็นมูลค่าแต่ละโครงการจำนวนเท่าไร

ที่ผ่านมาเป็นเพียงโรดแมปกว้างๆ เท่านั้นว่า ต้องพัฒนาลุ่มน้ำต่างๆ อย่างไร เพื่อบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่ต้องไม่ลืมว่า การลงทุนพัฒนาลุ่มน้ำตาม พ.ร.ก.กู้เงิน ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ประเมินความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนาน

ที่สำคัญโครงการส่วนใหญ่คงต้องผ่านการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้การพิจารณาโครงการต้องกินเวลาเพิ่มอีกไม่ใช่น้อย

กว่าจะผ่านด่านแรกคงต้องเร่งเข็นกันยกใหญ่

 

ขนาดพรรคฝ่ายค้าน กรณ์ จาติกวณิช สส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีต รมว.คลัง ที่ยอมรับการตัดสินของศาล ก็เห็นไปในทางเดียวกันว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ รัฐบาลจะต้องมีการเสนอแผนและกรอบการใช้เงินดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณา ก่อนที่จะดำเนินการกู้เงินตามแผนที่เสนอ โดยฝ่ายค้านตามกฎหมายในฐานะตัวแทนประชาชนในการตรวจสอบขั้นตอนการทำงานของ รัฐบาลว่า เป็นไปตามที่ได้มีการเสนอแผนต่อสภาหรือไม่

หลังจากนั้น ยังต้องผ่านด่านหินการประมูลหาผู้รับเหมา ซึ่งต้องยอมรับว่า มีการวิ่งกันชุลมุนวุ่นวาย และจะนำพาส่งกลิ่นไม่ดี เรื่องของโครงการทุจริตคอร์รัปชัน ฮั้วการประมูล เป็นอีกด่านหินที่ต้องเหนื่อย

เพราะหากมีการดำเนินการฟ้องร้องตรวจสอบ การใช้เงินกู้ย่อมมีปัญหาอย่างแน่นอน

หากดูตามเนื้อหาของ พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท กำหนดเวลาที่ต้องกู้เงินก่อนวันที่30 มิ.ย. 2556

หากนับถอยหลังจากวันนี้เหลือเวลาเพียง1 ปี 4 เดือน ที่โครงการจะต้องเคาะโครงการออกมาให้เบ็ดเสร็จ เซ็นสัญญาก่อสร้าง เพื่อเดินหน้ากู้ตาม พ.ร.ก.ที่กำหนดไว้ได้

หากดูย้อนกลับไปสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ออก พ.ร.ก.กู้เงินไทยเข้มแข็ง 4 แสนล้านบาท ซึ่งการลงทุนก่อสร้างเป็นโครงการเล็กๆ เพื่อเร่งกระจายเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

แต่พอดำเนินการจริงก็มีปัญหาเรื่องการเบิกจ่าย ประมูลรับเหมาไม่ได้ และหลายโครงการก็พบว่า มีการทุจริตจนต้องพับโครงการทิ้ง และถึงวันนี้ ก็ยังมีเงินกู้อีกจำนวนหลายหมื่นล้านบาทที่ค้างเติ่งอยู่จนรัฐบาลปูต้องตัด ทิ้งมาใช้ในการฟื้นฟูน้ำท่วม

ดังนั้น หากมาเทียบกับ พ.ร.ก.กู้เงินของรัฐบาลชุดปัจจุบัน จะเจองานหินกว่ามาก เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ต้องใช้เวลานาน ขณะที่เวลาการกู้เงินมีจำกัด และการเร่งเดินหน้าโครงการเกินไป ก็เสี่ยงเป็นโครงการที่ออกมาสุกเอาเผากินได้

ขณะที่ด้านการดำเนินการตาม พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.14 ล้านล้านบาท หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ผ่านแล้ว ก็เป็นงานหินไม่แพ้ พ.ร.ก.กู้เงิน

หลังจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเดินหน้าเก็บเงินค่าต๋งจากสถาบันการเงิน 0.47% ของเงินฝากและตั๋วบีอี ซึ่งต้องลุ้นต่อไปว่า สถาบันการเงินจะโยนภาระไปให้ลูกค้าหรือไม่

แม้ว่ากระทรวงการคลัง และ ธปท.จะออกมาการันตีเช้าเย็นว่า สถาบันการเงินจะไม่โยนภาระให้ลูกค้า แต่ก็ไม่มีกลไกหรือมาตรการใดที่จะออกมาเป็นหลักประกันให้กับประชาชนได้เบาใจ ว่าเอาอยู่ได้เลย

ขณะที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ก็ต้องเดินหน้าลดการเก็บเงินนำส่งของสถาบันการเงินจาก 0.4% เหลือ 0.01% เพื่อหลีกทางให้ ธปท.เก็บค่าต๋งไปใช้หนี้

โจทย์ใหญ่ของสถาบันคุ้มครองเงินฝากคือ หลังจากนี้จะหาหลักประกันอะไรมาคุ้มครองเงินฝาก 60 ล้านบัญชี เพราะเดิมคาดว่าต้องหาเงินตุนไว้ 2 แสนล้านบาท แต่ตอนนี้เก็บได้ 1 แสนล้านบาท

ข้ออ้างที่บอกว่า หากเงินไม่พอให้คลังกู้เงิน ถือเป็นเหตุผลง่ายๆ ชนิดที่ไปตายดาบหน้า และไม่สมเหตุสมผล เพราะหากเป็นเช่นนี้สถาบันคุ้มครองเงินฝากก็จะกลายร่างเป็นกองทุนฟื้นฟู 2 หนี้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดทันที หากมีวิกฤตสถาบันการเงินเกิดขึ้น

นี่ยังไม่รวมถึงนโยบายของกิตติรัตน์ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ที่ต้องการให้เพิ่มการคุ้มครองเงินฝากเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านบาทต่อบัญชี ถือเป็นการถอยหลังเข้าคลองย้อนเวลาหาวิกฤตหรือไม่

ขนาดลำพังแค่การคุ้มครอง 1 ล้านบาทต่อบัญชี เงินกองทุนที่ตุนไว้ก็ยังไม่พอ หากเพิ่มวงเงินคุ้มครองเพิ่มขึ้น และหากมีความเสียหายเกิดขึ้นสถาบันคุ้มครองเงินฝากก็ต้องเจ็บตัวหนักเป็น หนี้เพิ่ม

ที่สำคัญเป็นการสร้างหนี้ของคนทั้งประเทศไปช่วยคนรวยมีเงินฝาก

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการเก็บค่าต๋งแบงก์รัฐ 0.47% เพื่อลดความเหลื่อมล้ำการแข่งขันของสถาบันการเงินเอกชน

โดยรัฐบาลจะได้เงินค่าต๋งจากสถาบันการเงินของรัฐปีละ 1.5 หมื่นบาท ซึ่งจะมีการนำมาตั้งกองทุนพัฒนาประเทศไทย ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าเป็นกองทุนอะไร เอาไปทำอะไร และมีความจำเป็น หรือเป็นการซ้ำซ้อนหรือไม่

จะเห็นว่า แม้ว่า พ.ร.ก. 2 ฉบับจะพ้นปากเหวมาได้ เพราะไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่หนทางข้างหน้าก็ยังไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ที่สำคัญรัฐบาลจะถูกเอกซเรย์จากฝ่ายค้านที่ผิดหวังจากการยื่นให้ศาลรัฐ ธรรมนูญ ชนิดทุกตารางนิ้ว หากพบการทุจริตจะเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ของรัฐบาลทีเดียว

หากรวมกับปัญหา พ.ร.ก.กองทุนประกันภัยพิบัติ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ที่ต้องเป็นโรคเลื่อนเปิดตัวไม่ได้เสียที

เงื่อนไขการทำประกันยังเคาะกันไม่ลง เพราะเอกชนต้องการเบี้ยถูก และเปิดรับประกันแบบไม่อั้น

ขณะที่รัฐบาลก็ต้องคิดหนักดีดลูกคิด เพราะรับมากทำประกันต่อไม่ได้ รับไว้คนเดียว หากรัฐบาลเอาน้ำไม่อยู่เหมือนปีที่ผ่านมา เห็นทีกองทุนประกันจะวินาศภัยไปกับน้ำด้วย

ลำพังตัวเลขความเสียหายปีที่ผ่านมาก็หลอนเช้าเย็นแล้วว่า มีการเคลมค่าเสียหายประกัน 3 แสนล้านบาท หากปีนี้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยก็พอจะเห็นภาพกองทุนประกันภัยจะมีสภาพโคม่า อย่างไร

ยังไม่รวมกับนโยบายของกิตติรัตน์ ที่จะหาช่องนำเงินของกองทุนประกันไปให้เปล่านิคมสร้างเขื่อน ซึ่งทำให้กรรมการกองทุนหนักอกกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

เพราะพลิกกฎหมายอย่างไรก็ทำไม่ได้

ทำให้กองทุนประกันอาการสาหัสตั้งแต่ยังไม่เริ่ม ที่สำคัญเรื่องที่ทำให้ตายดาบหน้า คือ การเข็นเงื่อนไขการประกันออกมาให้เร็วที่สุด เพื่อสร้างความมั่นใจผู้ประกอบการก่อนน้ำท่วมรอบใหม่ที่จะมาถึง

การเดินหน้าตาม พ.ร.ก. ถือว่าตอนนี้รัฐบาลทำได้เต็มที่ไม่มีอะไรมาขวางได้อีกต่อไป โดยเฉพาะการกู้เงินตาม พ.ร.ก.ต่างๆ เดินหน้าได้เต็มสูบไม่ต้องใส่เกียร์ถอยหลัง

ส่วนการกู้เงิน หรือการทำตาม พ.ร.ก. ผลจะออกมาสำเร็จเรียบร้อยหรือล้มเหลวเสียหายตามมา รัฐบาลคงต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : พรก.ฉลุย รัฐบาลลุย ใช้เงินเต็มสูบ

view