สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เสียงของญาติเหยื่อ คุ้มมั้ยค่าความตาย?

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย....ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

แม้เป็นวันแรกที่รัฐบาลตั้งโต๊ะเปิดให้ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือเยียว ยาด้านการเงิน สำหรับผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง (2548- 2553 ) ที่ สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี แต่บรรยากาศก็เป็นไปด้วยความคึกคัก  ปรากฎว่ามีผู้มีแสดงเจตนารับค่าเยียวยา 500 กว่าคน  จากที่เตรียมบัตรคิวรองรับไว้ 5 พันใบ

ทั้งนี้ครม.ได้จำแนกการเยียวยาการเงินให้กลุ่มที่ 1 ก่อน ซึ่งก็คือ ประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐหรือสื่อมวลชนที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะสำคัญ ไม่สำคัญ ได้รับบาดเจ็บสาหัส ไม่สาหัสหรือได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เนื่องจากอยู่ในสถานที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง โดยที่ตนมิได้เป็นบุคคลที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดีโดยหน่วยงานของรัฐ หรือผู้เกี่ยวข้อง หรือปรากฎหลักฐานเกี่ยวกับความเหมาะสมหรือไม่ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยา

แต่ก็มีผู้ไม่ได้อยู่ในข่ายกลุ่มที่ 1  เดินทางมาในวันนี้ด้วย  เช่นผู้ถูกกล่าวหาหรือดำเนินคดี บางรายพบว่าเป็นเพียงญาติห่างๆของผู้เสียชีวิตมาสังเกตการณ์ขอเอกสาร  บางรายเป็นภรรยานอกสมรสของผู้เสียชีวิตก็มาปรากฎตัว   บางรายเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ชุมนุมการเมือง เมื่อปี 49 เดินทางมาสอบถามรายละเอียดการขอค่าเยียวยาเพิ่มเติมจากที่เคยได้รับไป แล้ว      บางรายเข้าใจข่าวสารคลาดเคลื่อนนึกว่ามาแจ้งขอค่าเสียหายทางแพ่งได้

 

พะเยาว์

ความสับสนอลหม่าน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องประชาสัมพันธ์ ชี้แจงหลายรอบว่า การดำเนินครั้งนี้เป็นการแจ้งลงทะเบียนรับค่าเยียวยาทางการเงินเท่านั้น   ไม่มีการรับเรื่องค่าเสียหายทางแพ่ง  กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทำหน้าที่รวบรวมเอกสารส่งไปที่อนุกรรมการซึ่งมีนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกฯเป็นประธานกลั่นกรองอีกครั้ง ถึงจะทราบว่าจะได้รับเงินกันเมื่อไหร่         

“วันนี้ยังไม่มีการจ่ายเงินนะครับ”  เสียงประกาศเจ้าหน้าที่ พม.ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ลั่นอาคารชั้นล่าง            

พะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ปรากฎตัวเมื่อตอนสายท่ามกลางสื่อมวลชนรุมล้อม  หลายคนนึกว่าเธอจะมาลงทะเบียนแจ้งสิทธิเหมือนกับผู้เสียหายรายอื่นๆ แต่ผิดคาดเธอไม่ได้นำเอกสารใดๆมาด้วย โดยบอกว่า มาให้กำลังใจบรรดาญาติผู้เสียชีวิตและติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่  และจะไม่ขอลงทะเบียนขอสิทธิ         

แม่น้องเกด ให้เหตุผลว่า รัฐบาลไม่ควรตั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้มาก  อยากให้รัฐบาลจ่ายค่าเยียวยาโดยเร็ว  โดยเฉพาะกรณีการแบ่งจ่ายเงิน 2 ช่วง และกรณีเมื่อได้รับเงินแล้วผู้ได้รับผลกระทบจะต้องถอนฟ้องคดีแพ่ง ซึ่งไม่เห็นด้วย  เดือนเมษายนที่จะถึงนี้จะครบ 2 ปีเหตุการณ์ชุมนุมเสียชีวิต   ญาติพี่น้องเขาจะได้เงินก่อนหรือเปล่า เผื่อเขาจะได้นำเงินไปทำบุญทางศาสนา   หรือจะปล่อยให้ล่วงเลยออกไปอีก  ดังนั้นดิฉันยังไม่ขอยื่นคำร้องตอนนี้  แต่จะรอความชัดเจนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และปคอป. อีกครั้งในวันที่ 12 มี.ค. นี้ก่อน           

"เงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญไม่สามารถมาทดแทนลูกสาวที่สูญเสียไปได้ สิ่งที่ดินฉันต้องการคือความคืบหน้าคดี และดิฉันก็ไม่ต้องการนิรโทษกรรมด้วย อยากถามว่านิรโทษกรรมให้ใคร คนตายไม่ผิด นิรโทษกรรมเพื่อใคร"แม่น้องเกด กล่าว ก่อนขอตัวไปให้กำลังญาติพี่น้องผู้เสียชีวิต         

นารี

มุมหนึ่งใต้อาคาร  นารี แสนประเสริฐ กำลังกรอกแบบฟอร์มเรียกร้องค่าเยียวยาขณะที่มือซ้ายประคองภาพบุตรชายที่เสีย ชีวิต  เธอเป็นมารดาของ มานะ แสนประเสริฐ เจ้าหน้าที่มูลนิธิปอเต็กตึ๊งที่สวมวิญญาณจิตอาสาออกไปช่วยผู้บาดเจ็บบริเวณ ปากซอยงามดูพลี ย่านสนามมวยลุมพินี  แต่ถูกกระสุนปริศนายิงทะลุหมวกกันน็อค เสียชีวิตอย่างน่าสลดใจ  ครอบครัวแสนประเสริฐรวบรวมรูปถ่ายบุตรชายหลายสิบใบพร้อมใบมรณบัตรเพื่อมายืน ยันเจ้าหน้าที่ พม.เพื่อขอรับค่าเยียวยา            

ผู้เป็นแม่กลั้นน้ำตาไม่อยู่ขณะแจกแจงรายละเอียดการเสียชีวิต แม้เธอปักใจเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทหารเป็นคนยิงบุตรชายของเธอ แต่สามีซึ่งมาร่วมกรอกเอกสารก็กล่าวกับสื่อมวลชนไปอีกทาง ว่ายังไม่แน่ชัดว่าเป็นฝีมือใครยิงลูกชาย             

“เราไม่รู้เพราะไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ” บิดาของมานะ กล่าวแย้งขึ้นมา            

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นทำให้ครอบครัวแสนประเสริฐขาดกำลังหลักของบ้านไป หนึ่งคนจากสามคน  เพราะมานะเป็นคนขับแท็กซี่รับผิดชอบค่าน้ำค่าไฟ และดูแลพ่อแม่ หลังจากเสียชีวิต เถ้าแก่ก็ยึดแท็กซี่เพราะไม่มีกำลังเงินที่จะผ่อนต่อไป           

คุณแม่นารี ไม่เห็นด้วยที่ครม.ใช้วิธีจ่ายค่าเยียวยาด้วยการหักเงินออกจำนวนหนึ่งจากที่ เคยจ่ายไปก่อนหน้านี้ในรัฐบาลที่แล้ว  “ตอนนั้นรัฐบาลจ่ายให้สี่แสนบาท ก็เอาไปใช้หนี้ใช้สินไปหมดแล้ว  แม่ที่เลี้ยงลูกมาเป็นหนี้เป็นสินเยอะเหมือนกัน  แท็กซี่ถูกยึดไม่มีตังค์จะผ่อน ตอนนี้รัฐบาลไม่น่าจะหักส่วนต่าง        

ถึงกระนั้น ไม่ว่ารัฐบาลจะจ่ายอย่างไร  แต่สิ่งที่แม่นารีต้องการตอนนี้ที่สุดคือ อยากให้เจ้าหน้าที่ติดตามความคืบหน้าคดีลูกชายของเธอ  เธอบอกด้วยว่า บริเวณจุดเกิดเหตุไม่ค่อยมีการเสนอข่าวการเสียชีวิต  ส่วนใหญ่ไปเสนอข่าวที่ราชประสงค์ วัดปทุมวนาราม ทั้งที่ตรงนี้ก็มีคนเสียชีวิต             

 

นวพงษ์

"ทั้งที่รู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้  แต่ถ้าฉันขอได้  เอาชีวิตลูกของฉันกลับมาดีกว่า"นารีกล่าวทั้งน้ำตา             

นวพงษ์ วรคชิน ซึ่งสูญเสียแขนขวาจากการถูกยิงที่บริเวณสี่แยกคอกวัว เมื่อค่ำวันที่ 10 เม.ย. 53 เขาบรรจงกรอกแบบฟอร์มเรียกร้องค่าทุพพลภาพด้วยมือซ้ายที่ไม่ใช่ข้างถนัด 

เขายอมรับว่า ก่อนหน้านี้ได้รับค่าชดเชยจากรัฐบาลที่แล้ว 436,000 บาท จากรมคุ้มครองสิทธิ 10,000 บาท และเงินผู้ทุพพลภาพเดือนละ 3,000 บาท แต่มีข้อเสียกรณีเงินผู้ทุพพลภาพรายเดือนกลับมีการสะสมสามสี่เดือนถึงจ่ายมา เป็นก้อน ไม่ได้จ่ายเป็นรายเดือน            

นวพงษ์ เคยมีอาชีพเป็นช่างไฟฟ้าทำเครื่องตรวจอุปกรณ์ไฟฟ้าร่วมหุ้นกับพี่ชายแต่หลัง จากสูญเสียแขนขวาไปก็ต้องยุติกิจการ เขาก็ใช้ชีวิตอยู่กับแม่อายุ 78 ปี โดยลำพัง             

"ถามว่าเราเครียดไหมเคยเครียดระยะเวลาสั้นๆ นะ  เราเคยทำอะไรได้ แต่ตอนนี้ไม่เหมือนก่อน แต่เราก็ทำใจได้แล้ว  อย่างเขียนหนังสือมือซ้ายเราก็ต้องฝึก"นวพงษ์กล่าวอย่างเข้มแข็ง        

นวพงษ์  บอกว่า ถ้าจะถามว่าเงินเยียวยาคุ้มไหม  เรื่องเงินผมจะไม่คุยเลย จะให้ไม่ให้ไม่สำคัญเป็นเรื่องเล็กมาก ปัญหาเป็นการตอบโจทก์ว่า รัฐบาลมองเห็นคุณค่าชีวิตทุกคน มีคุณค่าทุกคน นั่นคือความรับผิดชอบ ส่วนประชาชนจะถูกจะผิดคุณไม่มีสิทธิมาสั่งฆ่าสั่งยิงเขา การเยียวยาเป็นการรับผิดชอบ ตอบว่ารัฐบาลรักประชาชน ตรงนี้คือสิ่งทีเขาทำถูกต้องแล้ว จำนวนเงินไม่สำคัญ                 

ขณะที่รัฐบาลปัจจุบันพยายามอ้างว่า การจ่ายค่าชดเชยเป็นจุดเริ่มของการปรองดอง  ในมุมมองของนวพงษ์ บอกว่า  การจะนำไปสู่ปรองดองหรือไม่ ไม่ขอตอบเพราะตอบไปแล้วก็จะมีอีกความเห็นแย้งกันไปกันมามา ถามว่าได้อะไร ไม่มีประโยชน์แต่อยากให้มองภาพใหญ่ดีกว่า  ว่ารัฐบาลทำอย่างนี้ถูกต้องแล้วทั้งที่รัฐบาลนี้ไม่ทำนะแต่รัฐบาลที่แล้ว เป็นคนทำ แต่รัฐบาลชุดนี้แสดงความรับผิดชอบด้วยการจ่ายค่าเยียวยา         

สุธรรม บุญเหมาะ ชาวอำเภอโพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด ปัจจุบันเป็นรปภ.สถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เป็นหนึ่งในเหยื่อความรุนแรงถูกกระสุนยางทหารยิงเข้ากลางหว่างคิ้ว  แพทย์บอกเขาว่ากระดูกสันจมูกแตกแต่เขาไม่ได้ทำการผ่าตัด ยังคงทำงานตามปกติแต่มีอาการระคายเคืองสันจมูกเป็นระยะๆ           

สุธรรม

ถามว่า แล้วทำไมไม่ทำการรักษา   สุธรรม เปิดเผย เคยสอบถามแพทย์ถ้าจะผ่าตัดต้องใช้เงินถึงสามแสนบาท เลยไม่รักษาและตอนนั้นได้รับค่าเยียวยาบาดเจ็บจากรัฐบาลที่แล้วสองแสนบาทนำ เงินไปให้แม่ที่ต่างจังหวัดและแฟนสาวเพื่อใช้ดำรงชีวิต  แค่นี้ก็ไม่พอที่จะนำไปรักษาแล้ว  

วันนี้สุธรรมมายื่นแสดงความจำนงขอค่าเยียวยาอีกครั้ง  โดยพกพาร่องรอยการถูกกระสุนยาง  พร้อมนำเอกสารทางการแพทย์ใบแจ้งความเมื่อวันเกิดเหตุที่บริเวณสี่แยกคอกวัว มาพร้อม  ถึงกระนั้นเจ้าตัวก็บอกว่า ไม่แน่ใจว่าจะได้รับค่าเยียวยาหรือไม่       

ทั้งนี้เมื่อดูตามกรอบอัตราเงินช่วยเหลือ ตามนัยมติครม.10 ม.ค.55 ระบุว่า  บาดเจ็บไม่สาหัส (เข้ารักษาในรพ.ไม่เกิน 20 วัน ) ได้รับค่าเยียวยา 675,000 บาท  ขณะที่บาดเจ็บเล็กน้อย ( ผู้ป่วยนอก) ได้รับค่าเยียวยา 225,000 บาท  ซึ่งกรณีของสุธรรม ก็ต้องให้คณะกรรมการพิจารณาอีกครั้ง จะเข้ากรอบอัตราไหน เขาจะได้รับเงินไปทำการผ่าตัดจมูกหรือไม่ผ่าตัดแต่เอาเงินไปเลี้ยงดูครอบ ครัวต่อไป               

หลายชีวิต ที่ทยอยเดินทางมาแสดงเจตจำนงใช้สิทธิขอรับความช่วยเหลือเยียวยา พกพารอยบาดแผล คราบน้ำตามาด้วยกันทั้งสิ้น   บางรายแขนขาด ขากระเผก ญาติต้องเข็นรถเข็นให้  บางรายต้องช่วยกันพยุงไปกรอกเอกสาร   บางรายโชว์รอยเย็บบริเวณศีรษะถูกทุบตีให้ดู           

ที่สำคัญครอบครัวที่ขาดเสาหลักเหลือไว้แต่ ภาพผู้ล่วงลับนำมาเป็นหลักฐานเพื่อแลกค่าชดเชยเยียวยา  สิ่งที่ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะนำมาซึ่งการได้รับเงินจำนวนน้อยหรือมาก  แต่ก็คงไม่อาจปลุกชีวิตคนเหล่านี้ฟื้นขึ้นมาได้  ทิ้งไว้เป็นบทเรียนสำคัญให้รู้ว่าสมควรที่จะให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับ ประเทศไทยอีกหรือไม่ 


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เสียงของญาติเหยื่อ คุ้มมั้ยค่าความตาย

view