สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กมธ. ลุยตรวจสอบฮุบที่กลางเมืองโคราช - จังหวัดปัดสวะอ้างเป็นเรื่องพิพาทเอกชน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - คณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติฯ วุฒิสภา ลุยพื้นที่ตรวจสอบ “อาจารย์ ม.เกษตรฯ” รุกที่สาธารณประโยชน์กลางเมืองโคราช ชาวบ้านยันใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสัญจรเข้าออกและเลี้ยงสัตว์มานานหลาย 10 ปี ขณะทางจังหวัดฯปัดสวะพ้นตัวอ้างเป็นเรื่องพิพาทระหว่างเอกชนให้ไปใช้สิทธิ ทางศาลฟ้องกันเอง ไม่สนคำท้วงติงให้พิสูจน์ด้วยภาพถ่ายทางอากาศ ด้านประธานอนุกรรมาธิการ ส.ว.ขอเวลารวบรวมข้อมูลก่อนฟันธง เผยชาวบ้านเดือดสาปใครเอี่ยวฮุบที่ทรัพย์ของแผ่นดินให้ฉิบหาย
       
       วันนี้ (8 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา กว่า 10 คน นำโดย นายขวัญชัย พนมขวัญ ประธานคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรที่ดินฯ เดินทางลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ในพื้นที่เทศบาลตำบลหัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยมี นายสกลสฤษดิ์ บุญประดิษฐ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจง
       
       สืบเนื่องจากกรณีชาวบ้านหัวถนน หมู่ 7 ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา นำโดย ผศ.ดร.สามารถ จับโจร อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนไปยัง คณะกรรมาธิการ วุฒิสภา ว่าได้รับความเดือดร้อนจากการที่ นายวสวัตติ์ กฤษศิริธีรภาคย์ อาจารย์สอนพิเศษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปิดกั้นทางเข้า-ออกของราษฎร ในพื้นที่และบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ใช้ร่วมกันของส่วนรวม เพื่อครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง
       
       ทั้งนี้ ได้มีการปรับพื้นที่ถมดิน และ นำต้นตะกูยักษ์มาปลูกในที่ดินสาธารณประโยชน์ใช้ร่วมกันที่มีอยู่ประมาณ 2 ไร่ ในบ้านหัวถนน หมู่ 7 ตรงข้ามทางรถไฟ ต.หัวทะเล เพื่อให้เป็นพื้นที่แปลงเดียวกันตั้งแต่ วันที่ 24 พ.ค.2552 เป็นต้นมา
       
       คณะของ นายขวัญชัย ได้ลงตรวจสอบพื้นที่จริงซึ่งถูกปรับสภาพเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดิน เดิมของ นายวสวัตติ์ และมีการล้อมรั้วปิดกั้นไว้ทั้งหมดแล้วจนไม่เหลือสภาพถนน และที่สาธารณะใช้ร่วมกันของชาวบ้าน เดิมก่อนเดินทางไปที่สำนักงานเทศบาลตำบลหัวทะเล เพื่อรับฟังข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีกลุ่มชาวบ้านผู้เดือดร้อนติดตามเข้ารับฟังและชี้แจ้งร่วมกับหน่วยงาน รัฐที่เกี่ยวข้องด้วย ส่วน นายวสวัตติ์ กฤษศิริธีรภาคย์ ผู้ถูกร้อง ไม่ได้เข้าร่วมชี้แจงแต่อย่างใด
       
       นายสุวัฒน์ พื้นทะเล นายกเทศเทศมนตรีตำบลหัวทะเล กล่าวว่า เทศบาลฯ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางราชการ ภายหลังได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเมื่อปี 2552 โดยได้รับการยืนยันจากที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ว่า ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือไม่ และไม่ทราบว่าอยู่ในการครอบครองของหน่วยงานใด จึงไม่สามารถออกไปรังวัดพื้นที่ได้
       
       จากนั้นทางเทศบาลได้ส่งเรื่องไปยังจังหวัดนครราชสีมา และจัดทำประชาคมหมู่บ้าน ซึ่งจากการทำประชาคมโดยการสอบถามข้อเท็จจริงจากประชาชนในพื้นที่เบื้องต้น สรุปว่า น่าเชื่อได้ว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ ทางเทศบาลจึงทำหนังสือแจ้งไปยังนายวสวัตติ์ ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกจากที่ดินแปลงพิพาทดังกล่าว แต่ นายวสวัตติ์ ได้อุทธรณ์คำสั่งของเทศบาล
       
       จากนั้นทางเทศบาลจึงส่งเรื่องไปยังอำเภอเมืองนครราชสีมาซึ่งเป็นผู้ กำกับดูแลและส่งต่อไปยังจังหวัดฯ ทางจังหวัดฯได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของอนุกรรมการแก้ไข ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (นครราชสีมา) หรือ “กบร.จ.นม.” และจากการประชุมของ กบร.จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2553 มีมติว่า เป็นกรณีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน ไม่น่าจะใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ และแจ้งให้ผู้ร้องไปใช้สิทธิทางศาล เทศบาลจึงมีหนังสือแจ้งยกเลิกคำสั่งทางปกครอง
       
       อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุม กบร.จ.นครราชสีมา ดังกล่าว ได้มีการท้วงติงขอให้คณะกรรมการ นำภาพถ่ายทางอากาศมาพิสูจน์สภาพที่ดินแปลงพิพาท เพื่อพิสูจน์ประเด็นข้อเท็จจริงให้สิ้นสุดเสียก่อน เนื่องจากราษฎรในพื้นที่ยืนยันว่าที่ดินเดิมเป็นบึงน้ำ และเคยนำวัว ควายเข้ามาเลี้ยงในที่ดินดังกล่าว แต่เสียงส่วนใหญ่ได้ลงมติไม่ให้มีการพิสูจน์ภาพถ่ายทางอากาศ เพราะเกรงจะกลายเป็นปัญหาใหญ่บานปลาย และสรุปว่าไม่น่าจะใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ ให้เป็นกรณีที่เอกชนพิพาทกับเอกชนต้องพึ่งอำนาจศาล เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจ กบร.ที่จะไปพิจารณา
       
       นายขวัญชัย พนมขวัญ ประธานคณะอนุกรรมาธิการที่ดิน คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา กล่าวว่ากรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวทางคณะอนุกรรมการจะนำข้อมูลที่ได้ในครั้ง นี้กลับไปพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้ง และพื้นที่พิพาทนี้อยู่ในพื้นที่บึงทะเลน้อยอยู่ใกล้ทางรถไฟซึ่งสมัยก่อน ช่วงรัชกาลที่ 5 ได้มีการกันพื้นที่เพื่อให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ ฉะนั้นประชาชนในพื้นที่จะรู้ดีว่าพื้นที่ใดเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือที่ดิน ของใคร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเท็จจริง
       
       จากการรับฟังข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบว่าที่ดินพิพาทดัง กล่าวไม่มีใครมีเอกสารสิทธิ ในการครอบครองที่แน่ชัด เพียงแต่ประชาชน ยอมรับว่า เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ใช้ร่วมกันเท่านั้น และการดำเนินการในเรื่องนี้ต้องใช้ทั้งหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์เข้ามา จัดการ ในตอนนี้คงไม่สามารถจะชี้ชัดลงไปได้ว่าใครผิดใครถูก ต้องขอเวลาในการรวบรวบข้อมูลของคณะอนุกรรมาธิการ ก่อน และต้องยอมรับว่าปัญหาการบุกรุกที่ดินเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ
       
       ด้าน นายสกลสฤษดิ์ บุญประดิษฐ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า ทางจังหวัดฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อร้องเรียนดังกล่าว และสรุปว่า เป็นเรื่องเอกชนกับเอกชนให้ดำเนินการทางศาล เนื่องจากแต่ละคนก็มีเหตุผลของตนเอง จังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจเพื่อต้องการให้เกิดความเป็นธรรม ที่ดินของหลวงก็ต้องเป็นของหลวงแต่ส่วนไหนที่เป็นเอกชนก็ต้องให้ความเป็น ธรรม
       
       ต่อข้อถามว่า ผู้ที่บุกรุกครอบครองที่ดินดังกล่าวใช้หลักฐานเอกสารสิทธิใดมายืนยันความ เป็นเจ้าของ และเข้าครองครองที่ดินพิพาท นายสกลสฤษดิ์ กล่าวว่า จากสารระบบทางที่ดินพบว่าที่ดินดังกล่าวไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ ทั้ง ส.ค.1 หรือ โฉนดที่ดิน มีแต่หลักฐานยืนยันต่อเนื่องกันมาว่าได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ ซึ่งเป็นหลักฐานที่เขียนเอาไว้ทางสารระบบที่ดินเท่านั้น เพราะที่ดินบางแปลงในประเทศไทยในปี 1997-1998 มีทั้งแจ้งเป็น ส.ค.1 หรือ ไม่ได้แจ้งก็มี
       
       “การดำเนินการในขั้นตอนของทางจังหวัดฯได้ดำเนินการจบสิ้นไปแล้ว ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมของ กบร.จ.นม.ฉะนั้น ทางฝ่ายใดเสียสิทธิ์ก็ให้ไปฟ้องกันเอง” นายสกลสฤษดิ์ กล่าว
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทางด้านตัวแทนชาวบ้านผู้เดือดร้อน 5-6 คน ได้ชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการที่ดินฯ ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกัน ว่า ที่ดินประมาณ 2 ไร่ ดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ใช้ร่วมกันของชาวบ้านในหมู่บ้าน หัวถนน หมู่ 7 ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา มานานหลาย 10 ปี ทั้งใช้เป็นที่สัญจรไปมาและเป็นสถานที่เลี้ยงสัตว์ แต่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์อย่างเป็นทางการเท่านั้น
       
       จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการนำที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้านหัวถนน ต.หัวทะเล ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินของชาติของแผ่นดิน กลับคืนมาเช่นเดิม และขอให้เทศบาลตำบลหัวทะเล ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้รับผิดชอบ ทำการขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์ตามกฎหมายอย่างเป็นทางการ พร้อมดำเนินการก่อสร้างถนนถาวร สร้างศาลาประชาคม สนามกีฬา หรือ ลานอเนกประสงค์ ได้ประชาชนใช้ร่วมกัน และเพื่อเป็นการป้องกันการถูกบุกรุกยึดครองอีก
       
       ทั้งนี้ เนื่องจากที่สาธารณะแห่งนี้เคยถูก นางรัศมี ศรีจูม มารดาของ นายวสวัตติ์ ได้พยายามบุกรุกครอบครองมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2545 แต่ถูกนายก อบต.หัวทะเล ขณะนั้น มีคำสั่งให้รื้อถอนออกไป กระทั่งล่าสุด หลังจาก นางรัศมี เสียชีวิตไปแล้ว นายวสวัตติ์ ลูกชาย ได้ทำการบุกรุกยึดครองพื้นที่ดังกล่าวอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.2552 เป็นต้นมา
       
       นอกจากนี้ เป็นที่สังเกตว่า ตลอดการประชุมดังกล่าว ตัวแทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่างพยายามชี้แจงข้อมูลเข้าข้างฝ่ายผู้ ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกที่สาธารณะอยู่ตลอดเวลา และปัดปัญหาให้พ้นตัวโดยอ้างว่าเป็นเรื่องพิพาทของเอกชนกับเอกชน ทั้งที่ผู้บุกรุกไม่ได้มีเอกสิทธิ์ใดๆ ในการเข้าครอบครองที่ดินดังกล่าว ทำให้ในช่วงท้ายหลังปิดการประชุม กลุ่มชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ไม่พอใจ ได้พากันเดินเข้าไปสอบถามและตะโกนสาปแช่ง ว่า ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีผลประโยชน์ในการเอาที่ดินทรัพย์สินของแผ่นดินไป เป็นของใครคนใดคนหนึ่งนั้นได้พบกับความวิบัติฉิบหายตลอดไป


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กมธ. ลุยตรวจสอบ ฮุบที่กลางเมืองโคราช จังหวัดปัดสวะ อ้างเป็นเรื่องพิพาทเอกชน

view