สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดแผนสร้างฟลัดเวย์-รื้อระบบเตือนภัยประเทศ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

กรุงเทพธุรกิจสัมภาษณ์"สุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล"รองปลัดกระทรวงฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรักษาการเลขาธิการกนอช.ดูแลจัดการบริหารน้ำแบบเบ็ดเสร็จ
 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 28 ก.พ.มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.)โดยอาศัยอำนาจตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.)เป็นที่ปรึกษา และมีอำนาจในการกำหนดนโยบายจัดทำ แผนการปฏิบัติ การบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐไปปฏิบัติและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้มีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับน้ำ การจ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงการตั้งงบประมาณการบริหารและการใช้จ่ายงบประมาณหรือเงินกู้ให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำ

และ อีกชุดคือคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในเชิงปฏิบัติตามนโยบายของ กนอช. รวมถึงการอนุมัติแผนงานหรือโครงการของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและให้ ความเห็นชอบการสนับสนุนวงเงินในการใช้จ่ายเพื่อดำเนินโครงการการบริหารจัดการน้ำ และสามารถเรียกหน่วยงานมารายงานความคืบหน้าของโครงการได้

นายสุพจน์  โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะรักษาการเลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขาของทั้ง 2 ชุด กล่าวว่า นายกฯได้เร่งรัดให้นโยบายการบริหารจัดการน้ำ ทั้งระยะเร่งด่วนและระยะ ยาวให้นำไปสู่การลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งบางโครงการที่เป็นโครงการระยะยาว อาจไม่แล้วเสร็จทันในฤดูน้ำหลากปีนี้ แต่ทั้งนี้ต้องเริ่มต้นลงมือพร้อมกับโครงการระยะเร่งด่วนทันที โดยคณะกรรมการทั้งสองชุดถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศ คือ การสั่งการในระบบ single command authority

"เมื่อก่อนยังไม่มีระบบ single command authority ทุกหน่วยงานลงพื้นที่ซึ่งเกิดปัญหา เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่รู้จะฟังใคร แต่ตอนนี้ไม่ใช่ เพราะเมื่อน้ำท่วมกระทรวงต่างๆ จะเป็นโอเปอร์เรเตอร์ เสนอทั้งหมดมาที่ กบอ. เมื่อพบว่ามีความซ้ำซ้อน ก็มาจัดกลุ่มของโครงการและเสนอต่อ กนอช.เพื่อออกเป็นนโยบายเสนอต่อครม. จะทำให้การบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยเป็นไปอย่างรวดเร็วและสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน"

สำหรับโครงการที่เป็นโครงการระยะยาวนั้น ทุกโครงการเหมือนระยะเร่งด่วนทั้งหมด แต่จะมีฟลัดเวย์ยั่งยืนเพิ่มขึ้นมา 2 เส้น โดยการตัดยอดน้ำจากจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งขณะนี้มีข้อมูลในแต่ละพื้นที่แล้ว ซึ่งต้องลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อนำมาจัดเตรียมพื้นที่รองรับอัตราการไหลน้ำหลากที่เกินขีดความสามารถของแม่น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเหนืออยุธยาและทางน้ำหลากธรรมชาติ (flood way)สู่อ่าวไทย โดยมีหลักการไหลของน้ำเป็น flood rout โดยให้น้ำไหลบนผิวดินบนพื้นที่สูง

ทั้งนี้ จะใช้งบประมาณในการดำเนินการฟลัดเวย์ทั้งสิ้น 120,000 ล้านบาท ระยะทาง 250-300 กิโลเมตรจากจังหวัดนครสวรรค์ลงสู่ทะเล ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง นับจากปีนี้ไปจนถึงปี พ.ศ.2560 หรือในอีก 5 ปี ข้างหน้า โดยมีรูปแบบของ north-south corridor ระยะทางประมาณ 250-300 กิโลเมตร ลักษณะการไหลของน้ำผ่านถนน ซึ่งอาจทำเป็นถนนไฮเวย์มาตรฐาน และ service road ความสูง 2 เมตร ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก

เมื่อน้ำไหลมาถึง ใกล้พื้นที่เศรษฐกิจ จะมีประตูระบายน้ำต่างๆ ควบคุมในลักษณะเดียวกับการระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ซึ่งใช้ในโอกาสที่น้ำเยอะ แต่หากปีใดน้ำไม่มาก ก็สามารถใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกได้ โดยพัฒนาเป็นเมืองใหม่ หรือ golden place เพื่อการชลประทานและการอยู่อาศัย เพื่อเป็นการพัฒนาพื้นที่ไปในตัวให้มีระบบนิเวศที่ดี และรัฐบาลจะชดเชยช่วง 2 เดือน ที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ แต่หากประชาชนยังอยากอยู่ในพื้นที่เดิม ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง จะออกแบบบ้านให้ในลักษณะที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นเป็นบ้านสูงได้เพื่อรองรับ

"ในอนาคตเชื่อว่าหากการทำฟลัดเวย์เสร็จสมบูรณ์ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่แก้มลิง เพราะตัดยอดน้ำจากนครสวรรค์มาหมดแล้ว ซึ่งการดำเนินงานเชื่อว่าจะมีความรวดเร็ว เพราะจะมีการทำในลักษณะกู้เงินทุนนอกหรือในระบบจีทูจีกับต่างประเทศ หรือในลักษณะของการแบ่งการก่อสร้างเป็นรายบริษัทละ 30 กิโลเมตร รวมทั้งสิ้น 300 กิโลเมตร การก่อสร้างก็จะรวดเร็วขึ้น ซึ่งเชื่อว่าการลงทุนครั้งนี้มีความคุ้มค่าเพราะจะสามารถรองรับน้ำได้อีก 1,000 ปี ข้างหน้าจากปริมาณน้ำที่ท่วมสูงสุด"

ส่วนอนาคตการสร้างเขื่อนเหนือน้ำยังจำเป็นหรือไม่ นั้น  ในอนาคตหากประเทศไทยไม่มีปัญหาเรื่องน้ำอีก แต่การบริหารจัดการน้ำยังต้องคงอยู่และทำต่อไปและเขื่อนก็ยังคงมีความจำเป็น เพราะไม่ได้หมายความว่าน้ำ จะล้นเข้าท่วม flood rout ทุกปี เพราะปริมาณน้ำฝนไม่เท่ากัน แต่เขื่อนจะเป็นไปเพื่อกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในฤดูน้ำแล้งทำการเกษตรและ ผลิตกระแสไฟฟ้า

สำหรับการเตือนภัยภายใต้กรอบงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ในเบื้องต้น ครม.ได้อนุมัติงบประมาณ 424 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงระบบการเตือนภัยของประเทศและเตรียมพร้อมสู่การตั้งข้อมูลน้ำแห่งชาติ ตามของเสนอของ กยน. และมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร ในการจัดทำข้อกำหนดโครงการ

อย่างไรก็ตาม วิธีการพิจารณาทางเทคนิค ให้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากการทำระบบเตือนภัยของประเทศต้องมีความเชื่อมโยงกับระบบเดิม เช่น กล้องซีซีทีวี บริเวณประตูระบายน้ำ ระบบโทรมาตร ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดูแลควบคุมอยู่เดิมโดยพื้นที่ที่จะดำเนินการประกอบด้วย พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ได้ข้อมูลปริมาณฝนตก ระดับน้ำ อัตราการไหล เกณฑ์การผันน้ำเข้าพื้นที่เกษตรชลประทาน (แก้มลิง แม่น้ำ) สำหรับนำไปชี้แจง อธิบายสภาพน้ำท่า สภาพน้ำท่วม การดำเนินการช่วยเหลือ เยียวยา เป็นต้น

"มีแผนการแจ้งเตือนประชาชนในรูปแบบทีวีพูล เพื่อให้ข้อมูลมาจากแหล่งเดียวไม่ ให้เกิดความสับสน โดยอาจเป็นรายการประมาณวันละ 5 นาที ทุกวัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงไอซีทีและกระทรวงวิทยาศาสตร์"


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดแผนสร้างฟลัดเวย์ รื้อระบบเตือนภัยประเทศ

view