สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยูโรโซนกับสารพัดปัจจัยเสี่ยง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

นักวิเคราะห์มีความเห็นว่ายูโรโซนอาจจะรอดพ้นจากวิกฤติขั้นร้ายแรงมาได้แล้วแต่ก็ยังอยู่ในภาวะอ่อนแอเป็นเวลายาวนานแทนที่จะฟื้นตัว
ปัญหาสำคัญที่ยุโรปเผชิญในขณะนี้คือ การหลีกเลี่ยงจากความชะล่าใจในการแก้ไขปัญหา การกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมกับปรับลดหนี้สินลง และการป้องกันไม่ให้ปัจจัยทางการเมืองในแต่ละประเทศส่งผลให้ยูโรโซนล่มสลาย

การประชุมสุดยอดของสหภาพยุโรป (อียู) ในสัปดาห์ที่แล้ว ถือเป็นการประชุมครั้งแรกในรอบ 2 ปี ที่ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การแก้ไขวิกฤตหนี้ยุโรปอย่างเร่งด่วน และผู้เข้าร่วมประชุม ก็แสดงความพึงพอใจในเรื่องนี้อย่างเห็นได้ชัด

นายโฮเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การจัดการกับวิกฤติ และสิ่งนี้ถือเป็นสิ่งใหม่ การประชุมในครั้งนี้มุ่งเป้าไปที่การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก

มีเหตุการณ์สำคัญ 3 ประการที่ช่วยลดความกังวลในตลาดการเงินลงในช่วงที่ผ่านมา หลังจากที่ตลาดเคยกังวลในช่วงปลายปีที่แล้วว่า อาจจะมีบางประเทศแยกตัวออกจากยูโรโซน เป็นครั้งแรกหลังจากยูโรโซน ได้รับการจัดตั้งมานาน 13 ปี โดยเหตุการณ์สำคัญประการแรกคือ การที่ผู้นำยุโรป ได้ลงนามในบทบัญญัติทางการคลัง เพื่อรักษาวินัยด้านงบประมาณ โดยมีเยอรมนีเป็นแกนนำในการผลักดันเรื่องนี้ และประเทศอย่างเช่นอิตาลีและสเปนได้ดำเนินมาตรการปฏิรูปแรงงานและเงินบำนาญ และปรับลดงบใช้จ่ายลง

เหตุการณ์สำคัญประการที่สองคือ การที่กรีซ สามารถหลีกเลี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ อย่างไม่เป็นระเบียบได้ในช่วงนี้ โดยกรีซ ได้รับมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินรอบสองจากต่างประเทศ และสามารถทำข้อตกลงกับเจ้าหนี้เอกชนเพื่อปรับลดหนี้ลง

เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดก็คือ การที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ปล่อยกู้ ดอกเบี้ยต่ำระยะยาว (แอลทีอาร์โอ) ขนาดใหญ่สองครั้ง ซึ่งช่วยสกัดกั้นภาวะสินเชื่อหดตัว โดยภาวะดังกล่าว อาจส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ล้มละลาย มีการแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรสเปนและอิตาลีพุ่งสูง

นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ได้รับคำชมอย่างมากในเรื่องนี้ เนื่องจากเขาสามารถ หาหนทางในการทำหน้าที่เป็นผู้ปล่อยกู้แหล่งสุดท้ายแก่ธนาคารพาณิชย์ได้ โดยที่อีซีบีไม่ได้ฝ่าฝืนสนธิสัญญาของอียูที่ห้ามการให้ทุนแก่รัฐบาลโดยตรง แต่นายดรากี ก็กล่าวเตือนผู้นำอียูว่า วิกฤติครั้งนี้จะยังคงดำเนินต่อไปอีกนาน และอีซีบี ได้ทำงานในส่วนของตนเองแล้ว

ที่จริงมาตรการของอีซีบี ทำได้เพียงแค่ซื้อเวลาระยะหนึ่ง เพื่อให้ประเทศในยูโรโซน มีเวลาในการปรับปรุงฐานะการเงินของตนเอง ในการดำเนินการปฏิรูปอย่างน่าเชื่อถือ และในการฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าหากยุโรปไม่ปฏิรูปประเทศในช่วงนี้ ก็จะเกิดผลที่เลวร้ายมากตามมา

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ประเทศสมาชิกอียู จำเป็นต้องตัดสินใจเรื่องวิธีการเสริมความแข็งแกร่ง ให้แก่เกราะคุ้มกันทางการเงินของตนเอง และตัดสินใจว่า จะลงโทษสเปนหรือไม่ สำหรับการไม่ปฏิบัติตามเป้าหมายในการปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณ หรือว่าจะให้เวลาแก่สเปนมากยิ่งขึ้น ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

นางแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีต้องเผชิญกับการตัดสินใจครั้งสำคัญในช่วงสิ้นเดือนมี.ค.ว่า จะอนุญาตให้ยูโรโซนรวมกองทุนคุ้มครองชั่วคราวเข้ากับกองทุนคุ้มครองถาวรหรือไม่ เพื่อจะได้ปรับเพิ่มขนาดทุนทรัพย์ที่สามารถนำมาใช้ในการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน

สหรัฐ จีน และประเทศเศรษฐกิจสำคัญบางประเทศ กำลังกดดันยุโรป ให้ปรับเพิ่มขนาดกองทุนคุ้มครองของตนเอง ไม่เช่นนั้น ประเทศนอกยุโรปจะไม่ยอมจัดสรรเงินเพิ่มเติมให้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อใช้ในการรับมือกับวิกฤติหนี้ยูโรโซน

เนื่องจากประชาชนเยอรมนีหลายคน และสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลฝ่ายกลาง-ขวา ของเยอรมนีบางคนไม่เห็นด้วยกับการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศอื่นๆ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่นางแมร์เคิล อาจจะกล่าวว่า ยูโรโซนไม่จำเป็นต้องปรับเพิ่มขนาดกองทุนคุ้มครอง

เจ้าหน้าที่เยอรมนีบางคน กล่าวว่า การปรับลดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลลงสู่ระดับที่ต่ำเกินไป จะเป็นการลดแรงกดดันต่อประเทศนั้นในการดำเนินการปฏิรูป ซึ่งถ้าหากนางแมร์เคิลปฏิเสธการปรับเพิ่มขนาดกองทุนคุ้มครอง และไอเอ็มเอฟ ไม่ได้รับเงินทุนเพิ่มเติมในเดือนเม.ย. ตลาดก็จะกลับเข้าสู่ภาวะตึงเครียดภายในเวลาอันรวดเร็ว

ตลาดพันธบัตร ได้รับแรงหนุนในช่วงนี้จากปฏิบัติการแอลทีอาร์โอ แต่ตลาดอาจได้รับแรงกดดันในอนาคต ถ้าหากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศสมาชิกยูโรโซนลงอีกรอบ

แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงด้านความชะล่าใจด้วยเช่นกัน เพราะประเทศอย่างเช่นฝรั่งเศส ที่มีต้นทุนการกู้ยืมร่วงลงในช่วงที่ผ่านมา อาจจะชะลอมาตรการรัดเข็มขัดในปีที่มีการเลือกตั้ง โดยขณะนี้ พรรคการเมืองบางพรรคในอิตาลี ส่งสัญญาณว่า จะปรับลดมาตรการปฏิรูป ที่เสนอโดยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีมาริโอ มอนติของอิตาลี

ขณะที่มีความเสี่ยงทางการเมืองในไอร์แลนด์ด้วย เพราะไอร์แลนด์เป็นประเทศที่เคยโหวตคัดค้านสนธิสัญญาอียู และจะจัดการลงประชามติสำหรับบทบัญญัติทางการคลังของยุโรป ส่วนกรีซ กำลังจะจัดการเลือกตั้งทั่วไป ในขณะที่ประชาชนไม่พอใจกับมาตรการรัดเข็มขัดอย่างเข้มงวด

ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ความขัดแย้งกันระหว่างความจำเป็นในการปรับลดหนี้สินและการส่งเสริมอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยสเปน ถือเป็นกรณีทดสอบในเรื่องนี้ ในขณะที่รัฐบาลสเปนต้องการเวลามากกว่าเดิมในการปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณ โดยยอดขาดดุลของสเปนอยู่ที่ระดับ 8.5 %ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปีที่แล้ว

สเปน อาจจะเผชิญกับเหตุการณ์จลาจล เนื่องจากอัตราการว่างงานในสเปนอยู่สูงกว่า 23 % และแรงงานอายุน้อยราวครึ่งหนึ่งอยู่ในภาวะตกงาน ส่วนฝรั่งเศส ก็กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนในช่วงนี้ เพราะชาวฝรั่งเศสอาจเลือกนายฟรังซัวส์ ออลลองด์ จากพรรคสังคมนิยมให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนพ.ค.ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนี

ด้านเยอรมนี กำลังจะจัดการเลือกตั้งในปี 2556 แต่สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลบางรายของเยอรมนี เริ่มแสดงความเห็นในเชิงคัดค้านการให้ความช่วยเหลือแก่ยุโรป แน่นอนว่า ถ้าหากกรีซไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินอีกครั้ง เยอรมนี ฟินแลนด์ และเนเธอร์แลนด์ก็อาจจะกดดันให้มีการตัดความช่วยเหลือสำหรับกรีซ ซึ่งจะส่งผลให้กรีซผิดนัดชำระหนี้ และอาจต้องออกจากยูโรโซนไป


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ยูโรโซน สารพัดปัจจัยเสี่ยง

view