สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ของแพงทั้งแผ่นดิน ความจริงอันโหดร้าย ของปชช.ยุครัฐบาลปูแดง

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-นาทีนี้ถ้าจะพูดถึงประเด็นที่ประชาชนทั้งประเทศมีเรื่องจะให้พูดคุยกันซักเรื่อง เชื่อขนมกินได้เลยว่า ปัญหาข้าวยากหมากแพง คง จะต้องติดโผอยู่ในทอร์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ของผู้คนทั่วบ้านทั่วเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะนาทีนี้ไม่ว่าจะกวาดตาไปทางใดก็จะพบว่า ของแพงไปเกือบจะหมดทุกอย่าง เอาแบบว่าถ้าจะพูดในภาษาชาวบ้านก็ต้องบอกว่าโคตรแพง
       
       และนี่คงจะไม่ปฏิเสธไม่ได้ถึงการบริหารประเทศในเชิงเศรษฐกิจของ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่ามีความบรมห่วยในการบริหารจัดการปัญหาข้าวยากหมากแพงเพียงใด ถือว่าเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านอย่างแสนสาหัส
       
       ไม่ต้องอื่นไกล ราคาข้าวแกงยุครัฐบาลปูแดงปรับตัวขึ้นเป็นจานละ 35-40 บาท กันอย่างถ้วนหน้า คงต้องบอกว่ายังไม่เคยมียุคไหนแพงระยับเท่านี้มาก่อน ซึ่งราคาข้าวแกงที่แพงขึ้นเช่นนี้ มีสาเหตุมาจากต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมัน ราคาวัตถุดิบทั้งหลายที่ต้นสายปลายเหตุมาจากราคาสินค้าพาเหรดกันขึ้นในช่วง น้ำท่วม ช่วงนั้นจะเห็นการทำลายสถิติราคาอาหารและราคาสินค้าอุปโภค บริโภคสูงสุดเป็นประวัติการณ์
       
       แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้เลยก็คือ มาถึงขณะนี้แล้วก็ยังไม่เห็นท่าทีว่าสินค้าแต่ละอย่างจะลดลงไปแต่อย่างใด
       
       ยิ่งเมื่อตรวจสอบราคาสินค้าอันเป็นเหตุให้ ข้าวแกงต้องพุ่งมาแตะราคา 40 บาทด้วยแล้ว คงจะไม่แปลกใจอันใด เพราะวัตถุดิบที่ใช้ขยับราคาอย่างมหาโหดเอาเรื่อง อาทิ ราคาหมู ตกกิโลกรัมละ 120 บาท ไก่ กิโลกรัมละ 90 บาท ราคาผักก็นับว่าหฤโหดไม่แพ้กัน ถัวฝักยาว ปาเข้ากิโลกรัมละ 50 บาท ผักคะน้า กิโลกรัมละ 40 บาท หอมแดงตกกิโลกรัมละ 80 บาท พริกตกเข้าไปกิโลกรัมละ 80 บาท มะนาวตกลูกละ 8-10 บาท ถ้าลูกใหญ่หน่อยปาเข้าไปลูกละ 12 บาท ส่วนน้ำมันปาล์ม ก็ยังไม่ได้ลดลงไปแต่อย่างใดตก ขวดละ 43-45 เหมือนเดิมที่เคยถล่มฝ่ายตรงข้ามไว้ไม่มีผิดเพี้ยน
       
       ส่วนราคาไข่ไก่ แนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไข่ปรับเพิ่มจากราคาแนะนำของกรมการค้าภายในที่ฟองละ 2.20 บาทมาอยู่ที่ฟองละ 2.60 บาท ส่งผลให้ราคาขายปลีกได้ปรับราคาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยไข่ไก่เบอร์ 3 ซึ่งเป็นเบอร์ที่ประชาชนนิยมบริโภค กำหนดราคาแนะนำขายที่ฟองละ 2.60 บาท แต่ราคาขายจริงในท้องตลาดอยู่ที่ฟองละ 2.85-3.00 บาท และตามชุมชนหมู่บ้านยังขายถึงฟองละ 4.50-5.00 บาท และยิ่งถ้ารวมอยู่ในราคาอาหารตามสั่งด้วยแล้วก็จะพบว่าถูกถีบราคาขึ้นไปฟอง ละ 7-10 บาท เลยทีเดียว
       
       นอกจากนั้น ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ยังได้รับการร้องเรียนเพิ่มเติมจากร้านกาแฟและร้านขนมปังเบเก อรี่ว่าเริ่มประสบปัญหานมข้นหวานและนมข้นจืดขาดตลาด โดยขณะนี้ในท้องตลาดมีจำหน่ายเพียงไม่กี่ยี่ห้อ เช่น นกเหยี่ยว และพาเลซ ส่วนยี่ห้อมะลิ คาร์เนชั่น ปัจจุบันไม่มีจำหน่าย และที่แย่กว่านั้นแม้นมข้นยี่ห้อนกเหยี่ยวและพาเลซจะมีขาย แต่ก็ได้ปรับขึ้นราคาไปกระป๋องละ 3-4 บาท จากเดิม 19 บาท เป็น 22-23 บาท และยังต้องสั่งจองซื้อกันล่วงหน้า ไม่สามารถหาซื้อได้ตามปกติ
       
       ดังนั้นแล้วอย่าได้แปลกใจอันใดหากประชาชนทั่วบ้านทั่วเมือง เทใจกันกระหนำ โทรฯเข้ามายังสายด่วน 1569 ของกระทรวงพาณิชย์กันสายแทบไหม้ ถึงราคาสินค้าแต่ละอย่างที่พาเหรดกันแพงขึ้นแบบชนิดที่ว่ารับไม่ได้ อย่างที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น
       
       ขณะเดียวกัน หากจะกล่าวถึงวิธีการแก้ปัญหาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็เรียกว่าทำเอาประชาชน แม่ค้าพ่อค้าร้านตลาดละเหี่ยใจไปตามกัน อย่างดีที่สุด ก็ได้งัดเอาไม้ตายมุขเดิมๆ คือสินค้าธงฟ้า เพราะเวลาของแพง กระทรวงพาณิชย์ก็ได้แต่ท่องคาถา ตระกูลธงฟ้า เป็นเครื่อง มือแทรกแซงตลาดตรึงราคาสินค้า มีครบเซ็ตทั้งร้านธงฟ้า ตลาดนัด ธงฟ้า ร้านมิตรธงฟ้า รถเข็นธงฟ้าขายอาหารราคาถูก ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะใช้งบฯ 2 พันล้านบาท เนรมิต 1 ธงฟ้า 1 ชุมชน งบฯ 2 พันล้านเหมือนกันแต่เป็นมหกรรมธงฟ้าสัญจร 100 ครั้งทั่วประเทศงบฯ 2 พันล้านบาทที่จะมาทำ ธงฟ้าชุมชน กวาดตาไปมาก็ดูเหมือนว่าจะเข้าตำราตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเสียเงินเสียทอง เปล่าๆ
       
       เพราะคงต้องบอกว่าเป็นพิธีแก้ปัญหาแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอดโดยแท้ คงต้องถามว่าประชาชนคนทั่วไปใครจะไปนั่งตามหาร้านธงฟ้า อย่างที่ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ช่างคิดสรรหาวิธีให้กับประชาชน เพราะคงต้องมีหวังเป็นลมเป็นแล้ง หิวข้าวตาลายไปก่อนเป็นแน่แท้
       
       ที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ก็คือ สะท้อนให้เห็นว่าการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พยายามสร้างภาพเดินเฉิดฉายลงตลาดเพื่อตรวจดูราคาสินค้านั้นไม่ได้ช่วยให้รอย หยักในสมองเธอเพิ่มขึ้นเลย แถมยังเป็นการละลายงบประมาณไปแบบเปล่าๆ ปลี้ๆ เพราะต้นเหตุก็หนีไม่พ้นพ่อค้าคนกลาง ที่ค้ากำไรเกินควรยังอยู่อย่างลอยนวล อย่างราคาเนื้อหมูแพง กิโลฯละ 120 บาท แต่ทางผู้เลี้ยงก็ร้องว่าหมูเป็นราคาถูกขายหน้าฟาร์มกิโลละ 40 กว่าบาทเท่านั้น ส่วนต่างตรงข้อกลาง สูงถึง 90 บาทต่อกิโลฯ ไม่ว่าราคาหมู ราคาไก่ หรือสินค้าอื่นๆ ไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะปัญหาพ่อค้าคนกลางซึ่งเป็นวงจรอุบาทว์ที่ไม่เคยแก้ได้
       
       ถามว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำอย่างไร เคยจะเข้าไปแก้ไขระบบกลไกตลาดที่เป็นต้นเหตุของสินค้าแพงบ้างหรือไม่ ทั้งผู้ค้ากลุ่มใหญ่ตลาดบนและตลาดล่าง ที่ไม่ได้มีมาตรฐานของราคาสินค้าที่แน่นอน ปล่อยให้พ่อค้าคนกลางปั่นราคากันตามใจชอบ โดยที่ไม่ได้เข้าไปจัดการอย่างจริงจังและเป็นชิ้นเป็นอัน
       
       ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์เอง ก็ยังคงงมโข่ง ประกาศคอเป็นเอ็นว่า สินค้าขึ้นเป็นเพราะต้นทุนสูงขึ้น แต่เวลาต้นทุนขึ้น กระทรวงพาณิชย์ก็ยังมีหน้าบอกว่าไม่กระทบต่อสินค้า ยังไงก็ไม่ให้ขึ้นๆๆ พูดทุกวันจนคอเป็นเอ็น สินค้าก็ยังขึ้น ก่อนหน้านี้ไม่นานก็ยังทำงามหน้าด้วยการประกาศว่า จะควบคุมราคาข้าวแกงไม่ให้เกินจานละ 30 บาท ถามว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร พ่อค้า แม่ค้าที่ไหน จะบ้าจี้ทำตามรัฐบาล เพราะก็เห็นอยู่ทนโถ่แล้วว่าต้นทุน ราคาสินค้าแต่ละอย่างมันแพงระยับขนาดไหน แล้วใครพ่อค้า แม่ค้าหน้าไหนจะยอมขายราคาขาดทุน
       
       แน่นอน ภาระทั้งหลายทั้งปวง ก็ต้องตกในภาระประชาชนตาดำๆ
       
       อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยผกผันตามราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ “น้ำมัน” ซึ่งเป็นต้นทุนในเรื่องค่าขนส่ง เพราะถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรจะทำได้มากกว่าไปโร่ประกาศควบคุมราคาข้าวแกง กับพ่อค้าแม่ค้าตาดำๆ ซึ่งเป็นตลาดการแบบเสรี ไม่สามารถที่ควบคุมได้โดยง่าย แต่กลับในตลาดที่มีการผูกขาดอย่างเบ็ดเสร็จตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ลงมาจนถึงปลายน้ำ โดยผู้ผลิตรายใหญ่เพียงรายเดียว คือ ตลาดพลังงานที่ถูกผูกขาดโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รัฐบาลกลับอ้างเหตุผลเรื่องกลไกตลาดในการขึ้นราคาพลังงาน โดยเฉพาะการขึ้นราคาแก๊สแอลพีจี และเอ็นจีวี
       
       ปล่อยให้ ปตท.เป็นผู้ตั้งตัวเลขเอาตามใจชอบ และยังยอมให้บวกภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายทุกอย่างเข้าไปในราคาพลังงาน ตั้งแต่ค่าขนส่ง ค่าสร้างปั๊ม ค่าบริหารจัดการ ต้นทุนทางการเงิน แต่ไม่คิดบ้างว่าต้นทุนของแม่ค้าข้าวแกงไม่ได้มีเพียงหมู ผัก ปลา เท่านั้น แต่ยังมีค่าเช่าที่ ทั้งที่ถูกกฎหมาย และจ่ายใต้โต๊ะ ค่าดอกเบี้ยรายวัน และอีกสารพัดสารเพ
       
       รวมถึงราคาสินค้าอื่นที่วัตถุดิบเกี่ยวข้องกับการปรับขึ้นลงของราคา น้ำมัน เช่น เหล็ก ปุ๋ยเคมี พืชพลังงาน ซึ่งยังไม่มีวี่แววแก้ไขปัญหาปากท้องได้สำเร็จ
       
       นอกจากนั้น ปัญหาที่จะต้องตามมาติดๆ ย่อมหนีไม่พ้นปัญหาเงินเฟ้อ ล่าสุด นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของเดือน ก.พ. ปรากฏว่า เงินเฟ้อยังคงสูง มาจากผลพวงจากอาหารประเภทต่างๆ มีราคาแพง โดยเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับ 113.63 สูงขึ้น 3.35% เมื่อเทียบเดือน ก.พ.2554 และสูงขึ้น 0.37% จากเดือน ม.ค.2555 ขณะที่เฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) สูงขึ้น 3.36% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
       
       ทั้งนี้ การที่เงินเฟ้อสูงขึ้น 3.35% เป็นผลจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 7.18% โดยหมวดข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้น 2.78% ประเภทเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 7.19% ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้น 2.69% ผักและผลไม้ สูงขึ้น 6.43% เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้น 11.27% และอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้น 9.19% เช่น ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยวหมู-ไก่ ข้าวมันไก่ ขณะที่สินค้าที่อยู่เหนือการควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ราคาเพิ่มขึ้น 12.10% และค่าน้ำประปา เพิ่มขึ้น 3.64% จากการปรับขึ้นค่าน้ำประปาส่วนภูมิภาคจากหน่วยละ 14.73 บาท เป็น 14.91 บาท และจะมีการปรับขึ้นทุกเดือนจนถึงเดือน ม.ค.ปีหน้า ส่วนน้ำมันเพิ่มขึ้น 1.50%
       
       สุดท้าย ถ้าจะว่าไปแล้วการออกมาระบุตัวเลขเงินเฟ้อ ไม่ต่างจากประจานหลักฐานความห่วยแตกของรัฐบาลเลยแม้แต่น้อย และแน่นอนผลกระทบจากเงินเฟ้อก็คงต้องตกอยู่กับประชาชนตาดำๆ อย่างไม่ต้องสงสัย
       
       เพราะดัชนีเงินเฟ้อคือตัวเลขที่สะท้อนถึงมูลค่าเงินที่แท้จริงใน กระเป๋า เงินเฟ้อยิ่ง เพิ่มมากเท่าไร ยิ่งทำให้มูลค่าเงินที่แท้จริงลดลงไปมากเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนมีเงิน 100 บาท อาจซื้อข้าวราดแกงได้ 3 กล่อง แต่ถ้าเงินเฟ้อปรับขึ้นมาต่อเนื่อง เงิน 100 บาท จะเหลือซื้อข้าวราดแกงได้ 2 กล่อง เท่านั้น
       
       ดังนั้น ในแต่ละปีถ้าใครมีรายได้เพิ่มต่ำกว่าเงินเฟ้อแสดงว่ากำลังจนลง ซึ่งในระยะยาวย่อมส่งผลเสียต่อกำลังซื้อผู้บริโภคภายในประเทศให้ลดลง และทำให้เศรษฐกิจฝืดเคือง และในขณะเดียวกัน ตัวเลขเงินเฟ้อย่อมมีผลโดยตรงต่อการกำหนดทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ หากเงินเฟ้อสูงขึ้น ดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝากต้องปรับเพิ่มขึ้นไล่เลี่ยกันไปด้วย กลายเป็นสวรรค์ของคนรวย นรกของคนจน เพราะคนมีฐานะปานกลาง และยากจน ส่วนใหญ่มีหนี้สินผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ต้องเสียค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้านในแต่ละเดือนเพิ่ม ซ้ำเติมรายจ่าย ค่าครองชีพที่มากอยู่แล้วให้เพิ่มขึ้นไปอีก ผิดกับคนรวยที่มีเงินฝากธนาคารไว้จะได้รับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ดังนั้นเงินเฟ้อจึงมีความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับคนทุกระดับ
       
       ..... "เราจะกระชากค่าครองชีพลงมา เอามั้ยค้า !!เราจะทำให้ราคาน้ำมันลดลงมาทันทีลิตรละ 7-8 บาทเอามั้ยค้า!! "
       
       เป็นคำพูดของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่พูดตามสคริปต์กลางสายฝนระหว่างหาเสียงช่วงโค้งสุดท้ายเมื่อก่อนมีการ เลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 จนได้มาเป็นนายกรัฐมนตรีแก้บน สมใจอยากของพี่ชาย นช.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมาถึงขณะนี้แล้ว ก็คงจะกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า ภายใต้การบริหารประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐมนตรี ตรายางยี่ห้อดูไบ ได้ทำให้ประเทศไทยเป็นยุค "ของแพงทั้งแผ่นดิน" อย่างแท้จริง แบบไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ ทั้งสิ้น


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ของแพงทั้งแผ่นดิน ความจริงอันโหดร้าย ปชช. ยุครัฐบาลปูแดง

view