สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ได้เวลาเอเชียเดินหน้าปลดเบรก เร่งเครื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

พลอยฟ้าพลอยฝนกันถ้วนหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับเศรษฐกิจของหลายประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเริ่มออกอาการร่อแร่นับตั้งแต่ปัญหาหนี้สาธารณะของภูมิภาคยุโรปเดินเข้า สู่วิกฤต

เพราะบรรดาตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียที่มีรายงานทยอย ออกมาให้เห็นในขณะนี้ล้วนบ่งบอกสถานะของแต่ละประเทศได้เป็นอย่างดีว่า หากไม่ชะลอตัว ก็หยุดชะงัก หรือลดลง

ไล่เรียงตั้งแต่ยักษ์ใหญ่อันดับ 1 แห่งเอเชีย และอันดับ 2 ของโลกอย่างจีน ที่เจอพิษยุโรปสาดใส่เสียจนตัวเลขดุลการค้าในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ขาดดุลมากที่สุดในรอบ 22 ปี โดยมีมูลค่าสูงถึง 3.148 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 9.44 แสนล้านบาท) ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงมากที่สุดในรอบ 2 ปี

ขณะที่ อินเดีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย โดยไม่นับรวมญี่ปุ่น ที่บอบช้ำจากปัจจัยเหนือคาดหมายอย่างภัยพิบัติทางธรรมชาติ ก็ล้วนแล้วแต่มีชะตากรรมไม่ต่างจากจีนเท่าไรนักคือ การผลิตและการส่งออกของประเทศลดฮวบเพราะปริมาณความต้องการในตลาดโลกลด จนกระเทือนการเติบโตของประเทศ

และกลายเป็นสัญญาณสำคัญที่ทำให้ทุกๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกตระหนักว่าถึงเวลาที่ต้องเดินหน้ากระตุ้น เศรษฐกิจอย่างจริงจัง ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไปเสียที

ทั้งนี้ ไมเคิล บูชานัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ โกลด์แมน แซคส์ ในฮ่องกง แสดงความเห็นว่า ตัวเลขการส่งออกและผลผลิตอุตสาหกรรมที่น่าผิดหวังของหลายๆ ประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ถือเป็นโอกาสในวิกฤตที่จะทำให้ประเทศเหล่านี้สามารถเดินหน้าผ่อนปรนนโยบาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่

เพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมีส่วนสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อที่หลายประเทศ กำลังปวดหัวอยู่ในขณะนี้เริ่มชะลอตัวลงด้วยเช่นกัน เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนเมื่อเดือน ก.พ. ที่เพิ่มขึ้น 3.2% ซึ่งนับว่าช้าที่สุดในรอบ 20 เดือน

เอสวาร์ ปราสาท นักวิเคราะห์อาวุโสจากสถาบันบรูกกิงส์ ในวอชิงตัน และอดีตหัวหน้ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในจีน ระบุว่า หลังจากที่ต้องใช้นโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวดในช่วง 23 ปีมานี้ เพราะปัญหาเงินเฟ้อภายในประเทศเกือบทุกประเทศในเอเชียในขณะนี้เริ่มพินิจ พิเคราะห์นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น

เริ่มต้นที่พี่ใหญ่อย่างจีน ซึ่งมีจำนวนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 3.18 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 9.54 ล้านล้านบาท) ได้แสดงท่าทีผ่าน โจวเสี่ยวฉวน ประธานธนาคารกลางซึ่งกล่าวเป็นนัยว่า รัฐบาลจีนมีสิทธิเดินหน้าปรับลดทุนสำรองเงินฝากของธนาคาร และหั่นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Reference Rate) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางประกาศเพื่อใช้ในการอ้างอิงสำหรับกำหนด อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์เหล่านั้นเดินหน้าปล่อยกู้ได้อย่างเต็มที่ และทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีสภาพคล่อง มีเงินหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น ไม่ซึมเซาซบหนักมากเกินกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

จางจีเว่ย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระ โฮลดิงส์ อิงก์ ในฮ่องกง คาดการณ์ว่า จีนน่าจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน เม.ย.

นอกจากจีนแล้ว ธนาคารกลางของอินเดียก็เพิ่งจะประกาศออกมาเมื่อวันที่ 9 มี.ค. ว่า ได้ปรับลดจำนวนเงินทุนสำรองที่ต้องกันเอาไว้เพื่อการปล่อยกู้เป็นที่เรียบ ร้อยแล้ว ขณะที่ธนาคารกลางของออสเตรเลียก็ไม่น้อยหน้าประกาศปรับลดเช่นกันเมื่อวันที่ 6 มี.ค. โดยให้เหตุผลว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะใช้นโยบายดังกล่าว เพราะยุโรปยังคงเป็นความเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม

ขณะที่สำหรับธนาคารกลางของเกาหลีใต้ แม้จะไม่ได้ปรับลดเหมือนประเทศอื่นๆ แต่ก็เลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยให้กู้ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 เช่นเดียวกันกับธนาคารกลางของอินโดนีเซียที่ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา

เรียกได้ว่านโยบายการปรับลดทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นไปเพื่อกระตุ้นให้ เศรษฐกิจในภูมิภาคมีความคึกคักและแข็งแกร่งพอที่จะเป็นปราการป้องกันวิกฤต เศรษฐกิจจากชาติยุโรปที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่าน่าจะยังคงมีตามมาอีก หลายระลอกในช่วง 1-2 ปีข้างหน้านี้

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ยังไม่วายออกมาเตือนว่า แม้จะเป็นช่วงเวลาดีที่เอเชียจะปลดเบรก เหยียบคันเร่งเคลื่อนไปข้างหน้าได้ แต่ก็ควรจะปรับเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป

เพราะหากเหยียบมิดโดยไม่คิดให้รอบด้านก็อาจมีสิทธิพลิกคว่ำคะมำหงายจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะพ่วงท้ายมาด้วยหนี้จำนวนมหาศาล


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ได้เวลาเอเชีย เดินหน้า ปลดเบรก เร่งเครื่อง กระตุ้นเศรษฐกิจ

view