สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นรนิติ มือร่าง รธน.ฉบับอำมาตย์ ม.309 ไม่เคยเล่นงานทักษิณ ไม่เชียร์พรรคไหน

จากประชาชาติธุรกิจ

สัมภาษณ์พิเศษ


"นรนิติ เศรษฐบุตร" อดีตมือทำคลอดรัฐธรรมนูญฉบับทหาร ในฐานะประธานสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เปิดห้องทำงานบนชั้น 2 ของ "ตึกโดม" ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สนทนาธรรมการเมืองเป็นที่แรก

หลังเสร็จภารกิจร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ 5 ปีก่อน "นรนิติ" หายเข้ากลีบเมฆ มุ่งมั่นช่วยงานมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาโลก ก่อนถูกตามตัวให้มาพัวพันการเมืองอีกครั้ง เพราะ "ประวิช รัตนเพียร" ผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อสายตรงถึงเขาให้มารับหน้าที่ประธานที่ปรึกษาติดตาม ประเมินผล และจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

"นรนิติ" ในวัย 70 ปี ไม่รู้สึกตกใจที่ถูกเรียกตัวกลับมาช่วยงานอีกครั้ง แม้ยอมรับว่าเหนื่อยแสนเหนื่อยแต่ก็ยินดี

- คณะที่ปรึกษาฯ จะขีดเส้นแบ่งอย่างไร ไม่ให้คนมองว่าไปล้ำเส้น หรือชักธงนำ

หลัง การร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผมไม่ค่อยให้สัมภาษณ์ เดี๋ยวหาว่ามาปกป้องรัฐธรรมนูญ เพราะสถานการณ์ในการร่างมันไม่เหมือนกัน ปัญหาของประเทศมันไม่ได้หมดด้วยการมีรัฐธรรมนูญ แก้ไปแล้วบอกว่าปัญหาหมด อันนั้นอาจเป็นความเข้าใจผิด ผมจึงบอกว่ารัฐธรรมนูญแก้ได้ ไม่สำคัญว่าจะต้องแก้ให้ถูกใจผู้ร่างหรือถูกใจใคร มันต้องถามว่ามหาชนเขาจะเอาอย่างไร

มันจะไปขีดเส้นอย่างไร เพราะมันไม่มี เขาอาจให้ความเห็นตามที่เขาเชื่อก็ได้ ไม่ได้หมายความว่าเราต้องมีมติไปในทางเดียว การที่ผู้ตรวจการตั้งคณะที่ปรึกษาทั้ง 10 คน เหมือนเดินทางลัด ถ้าไม่ตั้งคณะที่ปรึกษา ผู้ตรวจการก็ต้องไปประชุมระดมสมองเอง เรามีความเห็นไปไม่ได้ผูกมัด แล้วเมื่อดูตัวดูชื่อคณะที่ปรึกษา

ก็รู้ ว่าต้องอิสระแน่นอนอยู่แล้ว

- ในฐานะที่เป็นประธาน ส.ส.ร. 2550 เป็นผู้ทำคลอดรัฐธรรมนูญ 2550 มา มีมาตราไหนที่คิดว่ายังดีอยู่

มี สิ (เน้นเสียง) มันไม่มีได้ไง แต่ไม่ได้หมายความว่าผมจะต้องชอบหมดทุกมาตรานะ แต่ก็คิดว่าเอาน่า... แม้ไม่ถูกใจเราทั้งหมด แต่เราก็ต้องดูทั้งฉบับ ถ้ามาดูบางมาตรามันไม่ผ่านหรอก การที่เราไม่ชอบบางมาตรามันก็ไม่ได้ทำให้เสียหลักประชาธิปไตย

ที่ พูดกันมากคือ นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากการเลือกตั้ง อีกฝ่ายบอกว่าไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ เพราะหลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างดีเลย เขาไม่ต้องเขียนหรอกว่านายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง เขาให้รัฐสภาตัดสิน แต่เรามีประสบการณ์ว่าถ้าเราไม่เขียนแล้วมันมีปัญหา แต่พอไปเขียนก็มีปัญหาอีก เกิดพฤษภาทมิฬ ซึ่งปัญหาของเราที่ต้องใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญเพราะในสังคมเรามันไม่วางใจกัน ขนาดนั้น

- แต่ใน 5 ปีที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมา มีนักการเมือง หรือนักวิชาการ มักพูดว่ารัฐธรรมนูญบางมาตราไม่เป็นประชาธิปไตย

มัน เป็นสิทธิที่เขาพูดได้ เราก็ไม่ว่าอะไร แต่อยู่ที่ประชาชน เมื่อทำประชามติแล้วจะให้ทำอย่างไร คนที่ลงมติรับรัฐธรรมนูญ 2550 โดยที่ไม่อ่านเลยก็เยอะ คนที่ลงไม่รับโดยไม่อ่านก็เยอะ

- มาตรา 237 เรื่องการยุบพรรค ยังจำเป็นอยู่หรือไม่

เรื่อง ยุบพรรคตอนประกาศใช้ใหม่ ๆ ไม่มีใครค้านเลย เขาไม่กล้าค้าน เพราะค้านเดี๋ยวร้อนตัวก่อน แต่ถึงอย่างไรเราต้องฟังนักการเมืองเหมือนกัน เนื่องจากอีกฝ่ายต้องการยาแรง รัฐธรรมนูญ 2550 เขาต้องการคุมนักการเมือง คุมรัฐบาลมาก ให้ตรวจสอบง่าย แต่ถ้าเห็นว่าไม่ดี อยากให้ตรวจสอบยาก จะกลับไปแบบเก่าก็แล้วแต่

- มีเหตุผลอะไรที่ต้องให้มีมาตรา 237

ก็เพราะว่ามีการซื้อเสียงไง คิดว่าจะทำให้เขากลัว ให้เขาควบคุม มันก็แรงนะไม่ใช่ไม่แรง

- การยุบพรรคทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ

น่าจะมีส่วน แต่เขาบอกว่าการซื้อเสียงก็ทำให้การเมืองเสียหาย ถ้าเรามองกว้าง เราจะเข้าใจว่าทำไมฝ่ายที่ใช้ยาแรงถึงทำอย่างนั้น

- คนบางกลุ่มให้เหตุผลว่าอยากแก้รัฐธรรมนูญ 2550 เพราะเป็นฉบับที่ออกแบบโดยทหาร

(เงียบ) เขาจะคิดอย่างนั้นเราก็ไม่ว่าอะไร ก็แล้วแต่ แต่ความจริงอย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญ 2550 เป็นฉบับแรกที่มีประชามติ บกพร่องหรือไม่ชอบใจก็ไปแก้ไขกันไป เราไม่เคยบอกว่าแก้ไม่ได้

- 5 ปีของรัฐธรรมนูญ 2550 มีบางมาตราที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันในสังคม มองมาตรา 237 และ 309 อย่างไร

มาตรา 237 เจตนาเขาบอกว่าต้องการยาแรงมาจัดการกับนักการเมือง เขาก็ทำตามเจตนานั้น โดยต้องมีคนพิจารณาว่า จริงหรือไม่ ถูกหรือผิด แล้วค่อยลงโทษ มันก็เหมือนกฎหมายว่าด้วยการลักทรัพย์ การฆ่าคนตาย ก็มีระบุโทษไว้ทั้งนั้น แต่ผลจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการพิพากษาคดี ถูกไหมครับ (พูดเสียงดัง)

อย่างมาตรา 309 เขาก็เขียนไว้แบบนั้น แต่อย่าลืมว่าบางเรื่องก็ดำเนินการจบไปเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เริ่มเขียนจนถึงวันนี้ ในความเห็นผม ผมว่ามันก็จบไปแล้วเหมือนกันนะ

- การยกเลิกมาตรา 309 เท่ากับว่าไปช่วย "ทักษิณ" กลับบ้าน

ผม ไม่เคยคิดนะ แต่ก็เหมือนที่เขาบอกว่า มาตรานี้ทำมาเพื่อเล่นงานคุณทักษิณ ใครคิดเราไม่รู้ มันจะเป็นไปได้อย่างไร รัฐธรรมนูญไม่เคยเล่นงานคน เราก็เห็นนะว่าจะเล่นงานได้อย่างไร ตอนแรกบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เชียร์พรรคการเมืองบางพรรค แล้วมันเชียร์อย่างไร ตอนเลือกตั้งใครชนะ เราก็เห็น

- มีการจุดชนวนว่าควรยุบศาลปกครอง องค์กรอิสระ อาจต้องยุบไป ต้องลดอำนาจลงไป

รัฐ ธรรมนูญ 2550 ไม่ได้เป็นคนคิดตั้งองค์กรอิสระ แต่มันมีมาตั้งแต่ฉบับ 2540 ตอนนั้นเขาให้เหตุผลว่า ระบบรัฐสภา ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถตรวจสอบรัฐบาลได้ เพราะใครที่เป็นรัฐบาลต้องมีเสียงข้างมาก เมื่อมีเสียงข้างมากแล้วใครจะไปตรวจสอบได้ ก็ต้องไปหวังพึ่งองค์กรอิสระ

มหาชนจะตอบรับหรือปฏิเสธก็คอยดูกัน ผมเชื่อว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ทำให้คนสนใจเรื่องบ้านเมืองมากขึ้น ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี

- กลไกการเข้ามาดำรงตำแหน่งขององค์กรอิสระ ควรจะปรับให้ยึดโยงภาคประชาชนมากขึ้น

ก็ ต้องไปคุยกันว่าจะเอาอย่างไร จำได้หรือไม่รัฐธรรมนูญ 2540 ยึดโยงตัวแทนพรรคการเมือง แต่พอ 2550 ก็ไม่มีเลยนะ แล้วก็ว่าให้อำนาจตุลาการมากไป ดังนั้นก็ต้องไปดูว่ายุคนี้ประชาชนจะไว้ใจองค์กรไหน

- ในฐานะที่เป็นประธาน ส.ส.ร. 2550

มีประเด็นไหนสมควรที่จะอยู่หรือไป

(สวน ทันที) ไม่...ผมไม่อยากพูด ถ้าผมบอกว่าอันไหนไม่ดีหรืออันไหนดี ก็จะหาว่าผมไปชี้นำเขา ฉะนั้นก็ไปคุยกันในทางวิชาการว่าจะเอาอันไหน ที่จริงฝ่ายการเมืองอยู่ใกล้ประชาชน และต้องดูแลบ้านเมือง ก็ต้องไปคิดเองว่าจะทำอย่างไร ทุกอย่างมันคือการปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่ให้เกิดความขัดแย้งสูง ถ้าขัดแย้งสูงจะคุ้มหรือไม่

- หลายเสียงบอกว่า ไม่ให้นักการเมืองยุ่ง ไม่ให้นักการเมืองมาชี้นำ

มัน มีสองแนวคิด หนึ่ง เขาว่าให้คนอื่นเขาร่าง และคุณไปทำ ฝ่ายการเมืองก็บอกว่าคนร่างมันไม่เคยทำ มันไม่รู้ เขาก็ไม่ยอมรับ ส่วนจะทำอย่างไรให้ลงตัวก็ดูนี่ ฉบับ 2540 มันเป็นที่ชื่นชมนิยมของฝ่ายการเมือง ก็หลังจากที่มันถูกยกเลิก แต่คุณไปดูตอนยุคที่บังคับใช้สิว่าเขามาชื่นชมอะไรหนักหนาล่ะ...ไม่มี

- ในรัฐธรรมนูญ 2550 มีมาตราไหนที่ภูมิใจ

พวก เกี่ยวกับสิทธิ ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของมหาชน ส่วนใครจะเป็นรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี มันมีคนเป็นได้ไม่กี่คน ต่อให้เขียนอย่างไรก็มีคนเป็น แต่สิทธิเสรีภาพมันสำคัญ ทุกคนถูกปกครอง มันต้องคุ้มครองผู้ถูกปกครอง ส่วนใครเป็นนายกฯมันแค่บอกว่าใครจะเป็นผู้ปกครองไม่ต้องกลัว มันหาได้แน่อยู่แล้ว

- ในฐานะที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำลังจะถึงจุดจบ มีความรู้สึกอย่างไร

ใคร ไปบอกว่าถึงจุดจบ ผมตอบไม่ได้ (หัวเราะ) รัฐธรรมนูญ 2550 จะอยู่หรือไม่อยู่ สำหรับผมมันเป็นอนิจจังในความคิดผม เราทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อแก้ปัญหาในบ้านเมืองเมื่อหลังวันที่ 19 กันยายน 2549

- ชีวิตหลังร่างเสร็จภารกิจร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นอย่างไร

ผม ไม่ค่อยยุ่งการเมืองเลย ผมก็ไปทำงานอาสามากขึ้น เกี่ยวกับศาสนามากกว่า ไปช่วยมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาโลก เรียนรู้เรื่องพวกนี้มากขึ้น ส่วนเรื่องการเมืองก็ปล่อยแล้ว ยิ่งตอนนี้อายุ 70 ปีก็ปล่อยวางแล้ว

- ทุกครั้งที่มีคนมาโจมตีรัฐธรรมนูญ

ก็ ไม่รู้สึกอะไรมาก รัฐธรรมนูญมันเหมือนจำเลยที่พูดไม่ได้ เพราะทุกคนตีไปที่รัฐธรรมนูญ พูดจริง ๆ จะหาตำหนิมันไม่ยากหรอก ใครจะไปชอบมันซะทุกมาตรา คุณจะไปหาสักมุมหนึ่งมาตำหนิก็ไม่ยากหรอก คุณไปหาดูในโลกนี้นะ มีฉบับไหนที่วิเศษบ้างในทรรศนะคุณแบบไม่มีตำหนิ แต่ผมไม่เดือดร้อน เพราะผมถือว่าการทำรัฐธรรมนูญ 2550 เสร็จตั้งแต่วันที่ประกาศใช้แล้ว ให้การเมืองไปตกลงกันเองให้ดี เอาบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง


ติดต่อ Prachachat.net@Gmail.com


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นรนิติ มือร่าง รธน.ฉบับอำมาตย์ ม.309 ไม่เคยเล่นงาน ทักษิณ ไม่เชียร์พรรคไหน

view