สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปราโมทย์ ไม้กลัด วิพากษ์แผนรับมือน้ำท่วม ปูแดง ฉบับขัดพระราชดำริ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - อาการไร้ความเชื่อมั่นต่อแผนรับมือกับวิกฤตอุทกภัยของรัฐบาลไทยที่ฉาย ผ่านภาพการย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้น ส่วนยานยนต์และสิ่งทอ ซึ่งตัดสินใจโบกมือลาประเทศไทยไปยังเวียดนามและอินโดนีเซีย สะท้อนจริงว่า มาตรการเตรียมรับมือวิกฤตอุทกภัยครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นซ้ำรอยปี 2554 โดยการทุ่มเทงบมหาศาลกว่า 3.5 แสนล้านบาท ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นใดๆ ให้แก่นักลงทุนต่างชาติและคนในชาติว่าจะสามารถรอดพ้นจากวิกฤตครั้งใหญ่ที่ อาจเกิดขึ้นในอนาคต
       
       การทุ่มงบประมาณมหาศาลอย่างไร้ทิศทาง หรือความไม่เชื่อมั่นที่ต่างชาติมีต่อการแก้ปัญหาอุทกภัยของรัฐบาล ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องจากทุกสารทิศ และเสียงที่วิพากษ์รัฐบาลอย่างไม่เกรงกลัว ตรงไปตรงมา ของ “ปราโมทย์ ไม้กลัด” อดีตอธิบดีกรมชลประทาน หนึ่งในคณะกรรมการ กยน. ที่ ตีแผ่ให้เห็นความจริงว่า โครงการและมาตรการของรัฐบาลที่ออกมาเป็นเพียงแนวคิดที่ร่างไว้บนกระดาษและ หน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยขาดการลงพื้นที่สำรวจอย่างจริงจัง ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่สำคัญการปกปิดข้อมูลผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ที่อาจถูกใช้เป็นพื้นที่ รับน้ำรวมทั้งแนวฟลัดเวย์ในอนาคตนั้น อาจจะขัดกับสิ่งที่ ปราโมทย์ เน้นย้ำว่า “ต้องไม่ลืมยึดหลักสำคัญที่พระองค์ท่านรับสั่งไว้ว่า อย่าโยกย้ายความเดือดร้อนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง”
       
       3.5 แสนล้านกับโครงการที่ว่างเปล่า
       
       “การพูดแต่ฟลัดเวย์ มีแต่การวาดภาพว่าไปทางนั้นทางนี้ ยังเป็นแต่เพียงแนวคิด เป็นแต่เพียงการวาดอยู่ในแผนที่ ผมจึงบอกว่าปี 2555 มันยังไม่มีอะไรชัดเจน แต่ที่พูดนี่ผมก็ไม่ได้หมายความว่าปี 2555 จะมีน้ำท่วมอีกนะ แต่มันก็มีการรับมือ เพิ่มขึ้นมาจาก ปี 2554 นิดหน่อย ปรับปรุงของเก่า ขุดลอกคูคลอง ทำแผนบริหารเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ให้ดีขึ้น”
       
       การแก้ปัญหาที่เหมาะสมในระยะเริ่มต้นตามความเห็นของปราโมทย์ จึงมิใช่การมุ่งแก้ไปที่การทุ่มงบประมาณเพื่อเมกะโปรเจคอย่างการเตรียม ฟลัดเวย์ที่ยังไม่มีรูปธรรมชัดเจน แต่อ้างว่าเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม เพราะนั่นเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาในระยะยาว สิ่งสำคัญเร่งด่วนที่สุด ณ ตอนนี้คือการที่รัฐบาลต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ต้องผสานความร่วมมือกับหน่วยงานราชการให้ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางน้ำ พื้นที่ที่คาดว่าจะให้เป็นพื้นที่ชะลอน้ำ ทั้งอธิบายหรือตอบคำถามประชาชนในสิ่งที่เขาต้องการรู้ โดยเฉพาะคำถามจากชาวนาชาวไร่ที่ว่า หากบ้านเขาต้องถูกน้ำท่วมอีกก็เพื่อป้องกันไม่ให้กรุงเทพฯ น้ำท่วมใช่หรือไม่? ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ รัฐต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้
       
       “ต้องเข้าใจด้วยว่าสิ่งก่อสร้างหรือเครื่องมือกลไกต่างๆ ถ้าจะให้แล้วเสร็จภายใน 5 เดือน 6 เดือน มันเป็นไปไม่ได้ แต่รัฐบาลไม่พูด เมื่อรัฐบาลไม่พูด พี่น้องประชาชนไม่เข้าใจ มันก็ยุ่ง หรือยกตัวอย่างนิคมอุตสาหกรรมที่เขาต้องทำคันกั้นน้ำ แล้วรัฐบาลมีหลักประกันอะไรบ้างสำหรับพื้นที่น้ำนองอื่นๆ ยอมรับว่าการจะให้มันเรียบร้อยทุกพื้นที่ยังเป็นที่น่าหนักใจ
       
       “รัฐบาลไม่ชอบพูด ซึ่งผมว่ารัฐบาลต้องพูดต้องอธิบาย ถ้าพูดเพียงว่า 'มีแผนแล้ว' 'ปี 2555 ไม่มีปัญหา' อ้าว! ทำไมพูดอย่างนั้น ผมพูดได้เลยว่าที่มีอยู่นั้นเป็นเพียงแนวคิด เป็นเพียงความคิดที่อยากจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น เรื่องพื้นที่รับน้ำหลากก็เป็นเพียงแนวคิด ผมพูดได้อย่างเดียวว่าเป็นแนวคิดที่อยากจะทำ แต่ความอยากจะทำมันต้องผ่านอะไรอีกเยอะ
        
       เช่น พื้นที่รับน้ำหลากก็มีแนวคิดที่อยากหาพื้นที่จำนวนมากไว้รอรับน้ำที่ไหลบ่า มาจากข้างบน เพื่อมากักไว้ ถ้าเป็นแนวคิดที่ไม่มีปัญหาก็ดีไป แต่ถ้ามันกระทบกับสังคม กับผู้คน จะตอบเขาได้หรือเปล่า หากเขาถามว่าที่ทำไปนี่เพื่อป้องกันกรุงเทพมหานครใช่ไหม? เพื่อป้องกันนิคมอุตสาหกรรมใช่ไหม? ถ้ารัฐบาลบอกว่าไม่ใช่? แล้วที่ไม่ใช่นั้นคืออะไร? ผมอยู่ในกยน.ก็จริง แต่ก็ต้องพูดว่าเหล่านี้เป็นเพียงแนวคิด ทุกสิ่งทุกอย่างมันตอบคำถามได้ ท่านต้องพูดออกมา ต้องชี้แจงประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการดูแลปัญหาที่จุดใดจุดหนึ่งหรือการดูแลเศรษฐกิจที่มัน เหมือนกับว่าโยกย้ายความเดือดร้อนไปหาเขา ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ต้องยอมเสียเวลา เพื่อการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ต้องยอมรับว่าการจัดการที่ดีต้องใช้เวลา ไม่ใช่ ทำได้ในระยะเวลาสั้นๆ”
       
       นอกจากนั้น อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ได้ยกตัวอย่างเรื่องการทำความเข้าใจกับประชาชนโดยบอกเล่าถึงการทำงานในอดีต ที่น้อมนำแนวพระราชดำริเป็นหลักสำคัญในการทำงานซึ่งก็มุ่งเน้นไปที่การทำ ความเข้าใจกับประชาชนเป็นหลัก
       
       “เมื่อครั้งที่ผมน้อมนำแนวพระราชดำริมาพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก เกิดเป็นเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จุดเริ่มต้นกว่าจะทำนี่ ใช้เวลาเยอะ กระทบกับคนมากมาย เพราะน้ำจะท่วมที่อยู่เขา เราก็ต้องมีการศึกษาให้รอบคอบ ว่ามีประชาชนกี่ครอบครัวที่จะโดนผลกระทบ เราต้องศึกษาปัญหาของเขาทั้งหมด แล้วก็มาหาคำตอบ ว่าคุณจะแก้ไขสิ่งที่เขาได้รับความเดือดร้อนอย่างไร คุณก็ต้องไปหาเขา ไปทำความเข้าใจ รัฐบาลต้องไม่ทอดทิ้ง ตอนนั้นต้องใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าแนวคิดจะตกผลึกแล้วนำเสนอ ครม. ดังนั้น การแก้ปัญหาครั้งนี้มันเป็นเรื่องใหญ่ยักษ์ คุณต้องศึกษาอย่างละเอียดและอธิบายประชาชนให้เข้าใจ ในการที่คุณจะผลักความเดือดร้อนไปให้เขาในบางส่วน ถ้าคุณมีแนวคิด คุณก็ต้องทำแนวคิดให้ละเอียดก่อน จากนั้นก็วางยุทธศาสตร์ในการเข้าไปหาชาวบ้าน”
       
       “เรื่องแผนเร่งด่วนไม่ต้องพูดกันหรอก แต่แผนยั่งยืนที่จะวางไว้เพื่ออนาคต ควรจะเอาออกมาวาง และรอให้ตกผลึก การเตีรยมพื้นที่รับน้ำหลักอาจเป็นแนวคิดที่ดี แต่ในขั้นตอนการศึกษารายละเอียดต้องทำอย่างจริงจัง แต่เมื่อทำแล้วมันไม่ดี ก็ต้องพร้อมเปลี่ยนแปลงไปใช้แผนอื่น ส่วนเรื่องทางระบายน้ำอุทกภัยที่ทำให้ลงอ่าวไทยเร็วๆ ถ้าทำได้ครบถ้วนก็จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ผมเองยอมรับในหลักการว่าควรทำ แต่เมื่อยังไม่ได้ศึกษาผลกระทบอย่างละเอียด ก็ยังไม่ควรไปเจาะจง รัฐต้องศึกษาวิเคราะห์อย่างชัดเจนแล้วทำให้เป็นรูปธรรม รวมทั้ง กทม. หรือองค์กรอื่นๆ ที่ไม่ใช่กทม. ตอนนี้ไม่บูรณาการกันเลย แผนต่างๆ ไม่ใช่ว่าจะศึกษาด้วยความคิดคำนึง แต่ต้องศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกันหมด แต่วันนี้ไม่มีคำตอบทั้งเรื่องสิ่งก่อสร้างและคำตอบสำหรับประชาชน แล้วมันจะไปแก้ปัญหาตามเป้าได้อย่างไร เงิน 3แสนล้านที่กองอยู่จะเอาไปทำอะไร ประชาชนก็สงสัย”
       
       สำหรับการแก้ไขแบบยั่งยืน หรือการเตรียมพื้นที่รับน้ำสำหรับชะลอน้ำหลากก่อนปล่อยออกมาเมื่อน้ำลดนั้น อดีตอธิบดีกรมชลประทาน มองว่า ในต่างประเทศ หากสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบผลักดันน้ำ หรือมีการผลักน้ำเข้าและกักไว้อย่างเป็นระบบแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ใหญ่โตกินอาณาเขตนับล้านไร่ ต่างจากของเรา ระบุไว้เป็นล้านไร่ ของเขาแค่ 50 ไร่ก็ทำได้
       
       ทั้งนี้ ปราโมทย์ ยังย้ำว่า แนวคิดอันว่าด้วยการเตรียมพื้นที่รับน้ำของรัฐบาลชุดนี้ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้รับข้อมูล หรือข้อเท็จจริงว่าพื้นที่อันทรงประสิทธิภาพดังกล่าวนั้น อยู่ในอาณาบริเวณใดบ้าง และจะมีระบบการจัดการอย่างไร ที่ทำให้พื้นที่รับน้ำเกิดขึ้นได้จริง เพราะทุกวันนี้ รัฐยังไม่มีการสำรวจพื้นที่และพูดคุยกับชาวบ้านอย่างจริงจัง
       
       “ไม่รู้ว่าขอบข่ายเป็นยังไง ถ้าทำแล้วชาวบ้านจะได้รับผลกระทบแค่ไหน ยังเป็นเรื่องซับซ้อน วันนี้รัฐบาลบอกว่าหาพื้นที่ แล้วหาแบบไหน ไม่ได้หาแบบละเอียดใช้แต่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และคำนวณทางคณิตศาสตร์ ทั้งที่ควรจะลงพื้นที่แบบละเอียด ดังนั้น วันนี้ผมจึงยังตอบคุณไม่ได้ว่าจะมีสิ่งก่อสร้างอะไรอยู่ในพื้นที่รับน้ำบ้าง รู้แค่คร่าวๆ ว่าควรจะมีการกักน้ำไว้ ไม่ให้ออก เมื่อน้ำด้านนอกคลี่คลายแล้ว จึงค่อยๆ ปล่อยออกมา ผมจึงกังวลว่า การทำพื้นที่รับน้ำขึ้นมาใหม่โดยไม่ชี้แจงชาวบ้านอาจจะก่อความโกลาหล ไม่สามารถช่วยอะไรได้ในปี 2555 หรือในปี 2556 ก็ไม่สามารถช่วยได้อีก”
       
       แนวทางที่ควรทำนั้น ปราโมทย์ ยกตัวอย่างประกอบ เช่นถ้าหากเห็นว่าพื้นที่ที่เหมาะสมคือ อ.วิเศษไชยชาญ จ.สิงห์บุรี ก็ต้องระบุชัดๆ ส่วนลักษณะหรือคุณสมบัติของพื้นที่รับน้ำก็ต้องมีลักษณะเป็นแอ่ง เป็นท้องกะทะ รัฐบาลต้องระบุขอบเขต มีอาณาบริเวณที่ระบุให้ชัด ต้องลงไปคุยกับ อบต. ไปคุยกับแกนนำชาวบ้าน อธิบายรายละเอียดให้เขาเข้าใจชัดเจนว่าถ้าน้ำไหลบ่ามาแล้วจะขอให้น้ำเข้ามา ในพื้นที่ของเขา ต้องชี้แจงให้ได้ว่านานกี่วันจึงจะผลักน้ำออกไป เป็นรายละเอียดที่ต้องทำให้เรียบร้อย
       
       “รัฐต้องตอบคำถามชาวไร่ชาวนาให้ได้ การร่างแนวคิดในกระดาษมันดูเหมือนจะง่าย เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่า ปี 2555 พื้นที่น้ำหลากจะรองรับได้ไหม ผมก็ไม่แน่ใจจริงๆ แต่พื้นที่ที่รับน้ำตามธรรมชาตินั้นมีอยู่แล้ว อย่างในปี 2554 มีพื้นที่แบบนี้อยู่เต็มเลย”
       
       ถึงวันนี้ จึงอาจสรุปได้ว่า งบประมาณกว่า 3. 5 แสนล้าน ที่อนุมัติมาเพื่อการแก้ไขรับมือปัญหาอุทกภัยนั้นยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม และรัฐก็ไม่สามารถอธิบายได้ถึงแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจน ซึ่งปราโมทย์ เองก็ยอมรับต่อข้อสังเกตดังกล่าวว่า “ใช่ เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ แล้วถ้าสักแต่ว่าจะใช้งบประมาณนี่ ใช้สุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้นะครับ มันต้องมีเป็นแผนงาน ตัวงาน ต้องระบุให้ชัดว่างานอะไร เป็นรูปธรรมอย่างไร หมดงบเท่าไหร่ และมันต้องมีผลของความสำเร็จที่พิสูจน์ได้ พูดไปแล้วผู้คนต้องมองออก ไม่ใช่ว่าใช้จ่ายเงินไปโดยไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม ไม่เช่นนั้น นี่ก็จะเป็นปัญหาต่อไปภายในอนาคต สำหรับพื้นที่รับน้ำหลากที่เป็นโครงการใหม่ซึ่งยังไม่มีอะไรชัดเจนก็เป็น เรื่องของงบประมาณแผ่นดินที่ใช้สุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้”
       
       'พื้นที่รับน้ำ' ปราการธรรมชาติที่ตกสำรวจ
       
       เมื่อเอ่ยถึงพื้นที่รับน้ำ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในแนวทางที่ถูกวางไว้ว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาอุทกภัยในอนาคต ปราโมทย์ อธิบายว่า พื้นที่รับน้ำก็คือพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีลักษณะเป็นท้องกะทะชัดเจน ต้องทำความเข้าใจว่า พื้นที่รับน้ำ ต่างจากพื้นที่น้ำนองอย่างสิ้นเชิง พื้นที่น้ำนองก็คือพื้นที่ราบที่น้ำท่วมถึง ขณะที่พื้นที่รับน้ำต้องสามารถพักหรือกักน้ำไว้ไม่ให้ไหลออกไปได้ในระยะเวลา หนึ่ง
       
       “พื้นที่ลุ่มต่ำมีอยู่ในหลายจังหวัด เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่ต่อเนื่องกันไปเป็นแผง เช่น อ.ผักไห่ บางปะอิน บางไทร วังน้อยทั้งอำเภอ เหล่านี้ไม่ใช่พื้นที่รับน้ำเป็นพื้นที่น้ำนอง เป็นพื้นที่น้ำท่วมถึง น้ำเต็มเป็นหน้ากระดานไปหมด หรืออย่างอ่างทอง ถ้าน้ำล้นตลิ่งเข้าไปก็ท่วมหมด แต่พื้นที่ที่จะเป็นพื้นที่รับน้ำ ต้องเป็นแอ่งท้องกะทะ เป็นที่ลุ่ม เช่น ทุ่งบางโฉมศรี อ.บ้านหมี่ อ.เมืองลพบุรี นี่คือพื้นที่ชะลอน้ำหลาก ที่เราต้องหาทางอุดไม่ให้น้ำไหลลงมาที่แม่น้ำลพบุรี แต่ทุกวันนี้ เมื่อน้ำมันไหลเข้าไปโดยอัตโนมัติแล้วก็กันเอาไว้ไม่อยู่ น้ำก็ล้นมาที่แม่น้ำลพบุรี ไปบรรจบแม่น้ำป่าสักแล้วโจมตีอยุธยา”
       
       ดังนั้น พื้นที่แอ่งท้องกะทะ จึงต้องมีขอบเขต ต้องมีสันเนินเตี้ยๆ กั้นเอาไว้ ให้น้ำเข้าได้แต่ไม่ให้น้ำออก น้ำจะเข้าทางไหนต้องหาให้เจอ แล้วหาทางอุดไว้ เพราะถ้าน้ำไหลเข้ามาแล้วอุดไว้ไม่ได้ มันก็ป่วยการ ไม่มีประโยชน์ ไม่ต่างจากบางไทรหรือปทุมธานี ที่เวิ้งว้างเป็นพื้นที่น้ำนอง ไม่ใช่พื้นที่รับน้ำ เช่นเดียวกับบางปะอิน, เสนา, วังน้อย บางไทร
       
       ปราโมทย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในต่างประเทศก็มีวิธีการทำพื้นที่ชะลอน้ำหลากก่อนที่น้ำจะไหลบ่ามาโจมตี พื้นที่เศรษฐกิจ แต่เมื่อระบุพื้นที่ได้แล้ว เขาทำอย่างมีขอบเขตและมีการสำรวจระดับเนินดินที่จะกั้นน้ำให้ชัดเจน ไม่ใช่ใช้การสำรวจเพียงจากคอมพิวเตอร์ หรือภาพถ่ายดาวเทียม ต่างจากรัฐบาลไทย ที่ ณ ตอนนี้ พื้นที่รับน้ำไม่ต่ำกว่า 2 ล้านไร่ ยังไร้การลงพื้นที่สำรวจอย่างจริงจัง
       
       “ตอนนี้ที่เขาทำรายงานไว้คือ 2 ล้านไร่ ซึ่งเราต้องมองแบบหน่วยย่อยด้วย คือลดลงมาเป็นตารางกิโลเมตร ตารางเมตร ต้องแปลงหน่วยออกมาเป็นตารางเมตร ตารางกิโลกเมตร แล้วต้องถัวเฉลี่ยว่าจะรับน้ำได้เท่าไหร่ คือประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ 2 ล้านไร่ที่คิดกันไว้นี้ มันไม่ใช่ว่าจะหาได้หรือติดกันเป็นแผงใหญ่ ยิ่งในภูมิประเทศแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา หาไม่ได้เลย มันมีแค่เป็นหย่อมๆ หรือผมจะขอยกตัวอย่างพื้นที่ที่ทุ่งบางระกำ นี่แหละคือพื้นที่รับน้ำหลาก เราอาจจะทำที่กั้นน้ำ พักน้ำเอาไว้ ยังไม่ให้น้ำออกในคราวเดียว อุดมันไว้ ให้น้ำขังไว้สักสองเดือน เมื่อแม่น้ำยมเข้าไปแล้วค่อยปล่อยออก นี่คือวิธีที่จะอุ้มน้ำไว้ ซึ่งทุ่งบางระกำนั้น โดยธรรมชาติแล้วมีความสามารถในการรับน้ำเข้าไปอยู่แล้ว และน้ำก็มักจะขังอยู่ข้างใน”
       
       แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการมองหาพื้นที่ชะลอน้ำในแห่งหนตำบลอื่นๆ นั้น เป็นหนทางที่ ปราโมทย์ มองว่าไม่สำคัญเท่าการบริหารจัดการที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ทั้งรัฐบาลและส่วนราชการทุกภาคส่วน ทุกองค์กรรวมถึงกรุงเทพมหานครฯ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาล ควรต้องเตรียมรับมือกับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นอีกในภายภาคหน้า มากกว่าจะมัวมองหาพื้นที่ที่จะผลักภาระหรือความเดือนร้อนออกไปให้พ้นตัว
       
       “สิ่งสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านตรัสเสมอ และพวกผมจำไว้มั่นคือ 'อย่าโยกย้ายความเดือดร้อนจากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง' ต้องแก้ปัญหาให้ได้ ว่าอะไรเป็นอะไร นี่คือสิ่งสำคัญ”
       
       ทุกฝ่ายต้องบูรณาการและเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ
       
       หนึ่งในคำถามสำคัญที่ยังตกค้างมาจากวิกฤติอุทกภัยเมื่อปี 2554 นั้น ย่อมไม่พ้นเรื่องของความบกพร่องในการบริหารจัดการน้ำที่มีมวลมหาศาลมากกว่า ปีก่อนๆ ทั้งที่ทุกภาคส่วนของรัฐซึ่งควรจะติดตามสถานการณ์เรื่องระดับน้ำทั้งเกาะติด การพร่องน้ำจากเขื่อนอย่างใกล้ชิด กลับมัวกล่าวโทษกันไป-มา หรือมัวแต่ฝากความหวังไว้ที่การพร่องน้ำจากเขื่อนว่าจะสามารถช่วยเพิ่ม พื้นที่รับน้ำไม่ให้เกิดน้ำหลากเมื่อหน้าน้ำมาถึง 
       
       ทัศนะจาก ปราโมทย์ ไม้กลัด ที่มีต่อการพร่องน้ำจากเขื่อน รวมถึงปัจจัยและเงื่อนไขต่างๆ ในการเกิดอุทกภัย อาจช่วยสะกิดเตือนให้รัฐและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึง กทม. หันมาทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อม ทั้งร่วมมือร่วมแรงกันในการตั้งรับปัญหาได้ดีขึ้นบ้าง
       
       “หากถามว่ามาตรการพร่องน้ำจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์จะช่วยป้องกันอุทกภัยไม่ให้มาถึงกรุงเทพมหานครได้ไหม? ตอบว่าทำได้แค่ส่วนหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าหากบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนแล้วจะแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้ เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง นั่นคือต้องดูว่าฝนที่ตกหนักมานั้นตกย่านไหน เช่น ถ้าพฤติกรรมของฝน มันตกหนักในภาคเหนือมากเหมือนปี 2554 เขื่อนทั้ง 2 เขื่อน ก็จะมีโอกาสดักน้ำได้เยอะ แต่ถ้าฝนมันตกมากในภาคกลางตอนบนและภาคกลางตอนล่าง จนเกิดน้ำหลากมาถึงกรุงเทพฯ นี่เป็นปัญหาของกรุงเทพฯโดยตรง ไม่เกี่ยวกับเขื่อนแล้ว เพราะเขื่อนภูมิพล ทำหน้าที่ดักน้ำจากแม่น้ำปิงส่วนยอด ส่วนแม่น้ำปิงตอนปลายท้ายเขื่อนยังมีน้ำอีกเยอะ ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ ก็ดักน้ำจากลุ่มน้ำน่านส่วนยอด ตั้งแต่ลุ่มน้ำน่านตอนปลายท้ายเขื่อนมาจนถึงแม่น้ำยมนี่ เขื่อนสิริกิติ์ ดักไม่ได้เลย ดังนั้น เราต้องดูว่าฝนตกที่ย่านไหนหนักที่สุด
       
       “สำหรับกรุงเทพฯ นั้น เมื่อปีกลายที่ผ่านมา น้ำฝนไม่มีผลโดยตรงต่อทั้งปริมณฑลและกรุงเทพฯ เลย แต่อุทกภัยที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุน แต่เมื่อมีฝนตกหนักๆที่บริเวณภาคกลาง และไปประจวบเหมาะกับน้ำทะเลหนุน กับน้ำเหนือด้วยก็เลยไปกันใหญ่ ส่วนน้ำทะเลหนุนนั้นก็เป็นจังหวะตามธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น พฤติกรรมของน้ำจะกลายไปเป็นอุทกภัยหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับหลายเหตุผล ผมยกตัวอย่างปี พ.ศ.2538 ที่น้ำท่วม กทม. มาก เป็นน้ำภาคกลางเยอะ หนอกจอก ลาดกระบัง เจิ่งนองเป็นทะเล นั่นเพราะน้ำฝนที่มาจากเขาใหญ่ มาจากสระบุรี ส่วนปี พ.ศ.2533 น้ำท่วมกทม. เยอะจนทุ่งรังสิตล่มเลย นั่นเพราะน้ำฝนจากภาคกลาง
       
       “ถามว่า กทม. จะเบาใจได้อย่างไร? มันก็ย่อมต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ เหล่านั้น ถ้าปี 2554 น้ำมาก แล้ว กทม. จะทำอย่างไรใน ปี 2555 กทม. ก็ต้องยันน้ำไว้ ถ้าน้ำบ่าแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามา กทม. ก็ต้องยันให้ดีกว่าปี 2554 เพราะน้ำมีระดับสูง คันกั้นน้ำต้องซ่อมแซม อย่าให้ขาด อย่าให้หลุด แล้วทางน้ำที่จะเบี่ยงไปทางตะวันออกหรือตะวันตก ก็ต้องดูแลซ่อมแซม”
       
       เพราะฉะนั้น กทม.เอง ก็ควรติดตามสถานการณ์น้ำและฝนในทั่วทุกภาคของประเทศอย่างใกล้ชิดมิใช่สนใจ เฉพาะเรื่องการพร่องน้ำจากเขื่อน “เราต้องดูพฤติกรรมน้ำ ต้องดูปริมาณฝนตกท้ายเขื่อนที่มักสร้างปัญหา ซึ่งกทม. ก็เคยเผชิญมาหลายครั้ง ทั้งปี พ.ศ.2526, 2533, 2538 นี่แหละ คืออุทกภัย ที่มันไม่ใช่เกิดจากการพร่องน้ำเขื่อน ถ้าฝนตกท้ายเขื่อนเยอะๆ เราจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้น คันกั้นน้ำของกทม. ต้องมีความแข็งแรง ไม่ใช่ใช้กระสอบทราบ กระสอบทรายควรจะเลิกได้แล้ว เรามีเวลาเตรียมตัวมาตั้งเยอะ ต้องหาวิธีที่จะกันน้ำให้อยู่ ต้องบริหารชุมชนให้ดี อย่าทะเลาะเบาะแว้ง ถ้าเหนือทุ่งรังสิตกันไม่อยู่ แล้วน้ำโจมตีดอนเมือง ก็เป็นเรื่องอีก น้ำจะต้องผ่านไปทางตะวันออก ก็ต้องปล่อยให้ผ่านอย่าสะกัดกั้น ต้องรีบทำความเข้าใจกับประชาชน ส่วนเรื่องของระดับน้ำทะลหนุนนั้นเป็นจังหวะของเขาตามธรรมชาติ กลางเดือน 11 กลางเดือน 12 เราหลีกเลี่ยงไม่ได้หรอก ดังนั้น กทม. ต้องมีความพร้อมว่าจะเตรียมรับมืออย่างไร?”
       
       แนวพระราชดำริ 'โมเดล' ที่รัฐบาลควรศึกษา
       
       ท้ายที่สุดหนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการ ทรัพยากรน้ำ (กยน.) และอดีตอธิบดีกรมชลประทาน ไม่ลืมแนะนำรัฐบาลถึงการน้อมนำแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยให้ไว้ ซึ่งไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนสายพระเนตรของพระองค์ท่านก็ยังคงทันต่อ สถานการณ์เสมอ
       
       “ผมมองว่ารัฐบาลยังน้อมนำแนวพระราชดำริมาใช้ขับเคลื่อนไม่ชัดเจน แม้ปากก็บอกว่าน้อมนำพระราชดำริมาใช้ แต่ไม่ชัดเจนหรอก หลักการจัดการกับปัญหาอุทกภัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีอยู่หลาย ประเด็น ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ ภูมิสังคม แต่ละที่ก็ย่อมต้องมีวิธีการจัดการที่ไม่เหมือนกัน แต่หลักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็คือเมื่อเกิดอุทกภัยขึ้นแล้ว ต้องหาทางทำให้มันออกไปเร็ว ๆ นี่เป็นหลักสำคัญของพระราชดำรัส ทำอย่างไรให้มันไหลออกไปเร็ว ๆ อย่าปะทะกับเขตเศรษฐกิจ เขตเมือง แล้วการหาทางให้น้ำมันไปเร็วๆ นี่ทำอย่างไร
        
       ผมขอยกตัวอย่างนอกเขตกทม. อย่างเช่น เขตเศรษฐกิจที่หาดใหญ่ ก็มีการสร้างทางผันน้ำจากคลองอู่ตะเภาลงสู่ทะเลสาบสงขลา เพราะไม่เช่นนั้น น้ำจะโจมตีเขตเศรษฐกิจ แล้วจากนั้นก็ผลักน้ำสู่ทะเลอีกทางหนึ่ง หรือในจังหวัดชุมพร เมื่อปี พ.ศ. 2540 เกิดอุทกภัย พระองค์ท่านก็บอกให้ทำคลองผันน้ำจากท่าตะเภา ออกไปอ่าวไทยเร็วๆ เพื่อไม่ให้มันไปโจมตีเขตเศรษฐกิจของตัวเมือง”
       
       กรุงเทพฯ ก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ ซึ่งพระองค์ท่านก็ทรงแนะนำไปแล้ว เมื่อปี 2538 ว่าต้องให้น้ำเดินทางไปตามฟลัดเวย์ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ปล่อยน้ำไปทางฟลัดเวย์โดยให้น้ำผ่านไปโดยเร็ว แต่ถ้าไม่มีฟลัดเวย์ ก็ต้องสร้างขึ้นมา
       
       “ถ้าฝั่งธนบุรีไม่มีทางระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยเลย ก็ต้องคิดสิ จะทำอย่างไร เพราะอุทกภัยนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะโจมตีทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ตั้งแต่อยุธยา ทุ่งรังสิต แล้วน้ำก็มาอัดอั้นอยู่รวมกันจะผลักน้ำไปแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเดียวก็ไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไร? ให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดระดับลง ไม่บ่าตลิ่งเข้ามา แต่เราก็ทำแบบอ่อยๆ ผมก็ไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร เหมือนยังไม่มีการแก้ที่ตรงจุดและการแก้ปัญหานั้นไม่ใช่แก้เพียงครั้งเดียว ต้องใช้เวลากันหน่อย
       
       สำหรับการทำฟลัดเวย์ที่มีการเอ่ยถึง ก็ควรต้องทำการศึกษาอย่างละเอียด เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ต้องวิเคราะห์ ศึกษา สำรวจ ออกแบบ ให้ได้ชัดเจน แล้วจึงค่อยสร้าง แม้ต้องใช้เวลาวิเคราะห์ศึกษาสัก 5-6 ปี เราก็อาจต้องทนกันหน่อย รวมแล้วกว่าจะสร้างเสร็จอาจต้องใช้เวลาสัก 10 ปี เพื่อให้ได้มาซึ่งการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ช่วงนี้เราก็อาจต้องอดทน ต้องช่วยกันบริหารจัดการวิกฤตที่เกิดขึ้น ธรรมชาติคงจะไม่โหดร้ายกับเราจนทำให้เกิดเรื่องร้ายได้ทุกปี
       
       “บางแห่งที่มีน้ำไม่เยอะเราก็อาจสร้างอ่างเก็บน้ำดักไว้ได้ แต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น น้ำเยอะสร้างอ่างเก็บน้ำไม่ได้ หรือผมยกตัวอย่างหาดใหญ่ ยกตัวอย่างชุมพร แม้แต่สุไหงโกลกก็มี ยังมีอีกหลายที่ที่เขาทำทางผันน้ำลงไป ซึ่งเป็นหลักตามวิศวกรรมที่เมื่อน้ำมันล้นตลิ่งขึ้นมาเราก็ต้องหาวิธีผลัก ให้น้ำมันลดออกไปเร็วๆ หรือยกตัวอย่างคลองลัดโพธิ์นั้น ก็สามารถช่วยให้ประชาชนในย่านนั้นไม่ต้องเจอปัญหาน้ำล้นตลิ่ง สุดท้ายแล้ว มันอยู่ที่ว่า ทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังแค่ไหน”
       
       “แต่ต้องไม่ลืมยึดหลักสำคัญที่พระองค์ท่านรับสั่งไว้ว่า อย่าโยกย้ายความเดือดร้อนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง”
        …..


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปราโมทย์ ไม้กลัด วิพากษ์แผนรับมือน้ำท่วม ปูแดง ฉบับขัดพระราชดำริ

view