สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จะเป็นศาลเดี่ยวหรือศาลคู่ : ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน

จะเป็นศาลเดี่ยวหรือศาลคู่ : ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญใช้บังคับแล้วรวม 18 ฉบับ
ฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ต่อมาได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่มีบทบัญญัติรับรองสิทธิและหน้าที่ของชนชาวสยามไว้ในหมวดสอง และมีบทบัญญัติอันแสดงความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้ใน มาตรา 61 ที่บัญญัติว่า "บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดๆ มีข้อความแย้งหรือขัดแก่รัฐธรรมนูญนี้ท่านว่าบทบัญญัตินั้นๆ เป็นโมฆะ" แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติกำหนดหน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยไว้ ต่อมาเมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2490 ก็มีบทบัญญัติทำนองเดียวกันว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด มีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญนี้ว่าบทบัญญัตินั้นเป็นโมฆะ และก็ยังไม่มีการกำหนดองค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยไว้เช่นกัน ต่อเมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี 2492 จึงกำหนดให้มีตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาอีกหลายฉบับจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ก็ยังคงกำหนดให้มีตุลาการรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ทำหน้าที่วินิจฉัยตลอดมา โดยรัฐธรรมนูญปี 2534 ได้ให้ตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ตีความรัฐธรรมนูญด้วย
 

เมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบของศาลไทยครั้งสำคัญ โดยมีบทบัญญัติเกี่ยวกับศาลไว้เป็นหมวดที่ 8 กำหนดให้ศาลมี 4 ศาล คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร สำหรับศาลยุติธรรมนั้นเป็นศาลที่มีมาแต่ดั้งเดิมที่ที่ประชาชนคุ้นเคยเป็นอย่างดี ส่วนศาลทหารก็เป็นศาลที่มีมาแต่เดิมเช่นกันแต่คุ้นเคยกันเฉพาะผู้อยู่ในแวดวงทหาร ศาลที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 บัญญัติให้มีขึ้นใหม่ คือ ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง ต่อมาเมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับศาลอยู่ในหมวด 10 และยังคงให้ศาลมี 4 ศาลเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองอยู่ในบทบัญญัติในหมวดศาล มีสถานะเป็นศาล เช่นเดียวกับศาลยุติธรรมและศาลทหาร ที่พิพากษาอรรถคดีในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีบางท่านเข้าใจผิด เพราะตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจะอยู่ในหมวด 11 ส่วนที่ 1 ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
 

จากการที่รัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี 2540 และฉบับปี 2550 บัญญัติให้ศาลมี 4 ศาล ด้วยการเพิ่มให้มีศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองเข้ามาในระบบศาลไทย ที่เดิมมีศาลยุติธรรม และศาลทหาร จึงมีบางท่านเรียกว่าไทยเปลี่ยนจากระบบศาลเดี่ยวมาเป็นระบบศาลคู่ แต่ก็ยังหาคำอธิบายที่ชัดเจนไม่ได้ว่า ทำไมถึงเรียกว่าเป็นระบบศาลคู่ อย่างไรก็ตาม มีคำอธิบายแนวทางหนึ่งที่น่าจะเข้าเค้า คือ ระบบศาลคู่คือการมีศาลเฉพาะด้านพิจารณาพิพากษาอรรถคดีบางประเภทคู่ขนานไปกับศาลยุติธรรม คือ มีศาลพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายมหาชนเป็นการเฉพาะ
 

ศาลรัฐธรรมนูญถือกำเนิดมาจากรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 จนถึงปัจจุบันอายุครบ 14 ปีแล้ว แต่ก็มีประชาชนจำนวนมากยังไม่เข้าใจว่าศาลรัฐธรรมนูญมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิของประชาชนอย่างไร ด้วยเหตุนี้ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจึงได้จัดทำโครงการให้ความรู้กับประชาชน เรื่องรัฐธรรมนูญที่ประชาชนควรรู้ บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน ในจังหวัดต่างๆ ซึ่งเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ร่วมกับศาลจังหวัดจัดให้มีการสัมมนาให้ความรู้กับประชาชนในจังหวัด อุบลราชธานี มุกดาหาร ยโสธร โดยมีประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 6 ท่าน ผลัดกันเป็นวิทยากรบรรยายมีสาระสำคัญ และคำถามของประชาชนที่เข้าร่วมสัมมนา ที่น่าสนใจ คือ
 

ประธานศาลรัฐธรรมนูญได้เปิดใจถึงการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันให้เป็นที่รับรู้ของผู้เข้าร่วมสัมมนา เช่น  เรื่อง ที่มีบุคคลบางคนเข้าใจว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันได้รับการแต่งตั้ง  จาก คมช. ความเป็นจริงได้รับการแต่งตั้งจากการคัดเลือกและสรรหาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2551 มิใช่ได้รับการแต่งตั้งจาก คมช.ตามที่มีบางท่านเข้าใจ การวินิจฉัยคดีที่ผ่านมาโดยเฉพาะคดีสำคัญๆ ที่เป็นที่สนใจของประชาชน ก็ยอมรับว่าถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่จากฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง แต่ยืนยันว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจพิจารณาตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยอิสระโดยชอบของตุลาการ คดีอดีตนายกรัฐมนตรีโชว์การทำอาหารออกทีวี ชิมไปบ่นไป ก็ถูกวิจารณ์โดยวาทกรรมว่าทำกับข้าวก็ถูกปลด ทั้งที่ความจริงมีการรับเงินค่าตอบแทนอันมีหลักฐานชัดเจน คือ การหักภาษี ณ ที่จ่าย การรับเงินค่าตอบแทนเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง คดียุบพรรคการเมืองก็ถูกกล่าวหาว่าทำไมพรรคนี้ถูกยุบ พรรคนั้นไม่ถูกยุบ ในความเป็นจริงนั้นแม้จะเรียกว่าเป็นคดียุบพรรคเหมือนกัน แต่ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงต่างกัน บางพรรคทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ บางพรรคถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง จึงไม่อาจวินิจฉัยให้เหมือนกันได้ ล่าสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าพระราชกำหนดเกี่ยวกับการกู้เงินและการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ จำนวนสองฉบับของรัฐบาลชุดนี้ ตราขึ้นโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็ถูกอีกฝ่ายก็วิพากษ์ว่าตุลาการรัฐธรรมนูญถูกซื้อตัวไปแล้ว
 

มีคำถามจากประชาชนที่เข้าสัมมนาเกี่ยวกับระบบศาลที่น่าสนใจ คือ ปัจจุบันศาลมีหลายศาล คือ มีศาลยุติธรรมซึ่งก็ยังแยกเป็นหลายศาล มีศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ประชาชนค่อนข้างสับสนว่าเรื่องไหนฟ้องศาลไหน โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญประชาชนไม่เข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับประชาชนอย่างไร มีคำอธิบายจากตุลาการที่เป็นวิทยากรสรุปได้ คือ  การที่เรามีศาลหลายศาลจุดประสงค์เพื่อแยกกันทำงานตามลักษณะของคดีความ แบ่งเบาภาระของศาลที่มีอยู่เดิม เพื่อประโยชน์ของประชาชน ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนต่อเอกชนด้วยกัน เช่น ทำสัญญาซื้อขายที่ดินแล้วตกลงกันไม่ได้ เรียกว่าพิพาทกันทางแพ่งก็ต้องฟ้องที่ศาลยุติธรรมเช่นศาลแพ่ง หรือถ้าทำผิดทางอาญามีโทษติดคุกก็ฟ้องที่ศาลยุติธรรมเช่นศาลอาญา แต่ถ้าประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ หรือจากกฎระเบียบของรัฐที่ไม่ใช่พระราชบัญญัติ เช่นนี้ประชาชนต้องพึ่งศาลปกครอง คือ ฟ้องที่ศาลปกครอง สำหรับกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นเป็นกฎหมายสูงสุด เป็นกฎหมายที่กำหนดรูปแบบการปกครองประเทศ ที่สำคัญ คือ มีบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนไว้ เช่น สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ เป็นต้น ซึ่งรัฐจะออกกฎหมายมาละเมิดไม่ได้ ถ้ามีกฎหมายที่ละเมิดสิทธิของประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ กฎหมายนั้นก็ใช้ไม่ได้ กรณีเช่นนี้ต้องพึ่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยขอให้ศาลยุติธรรมที่พิจารณาคดีส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือร้องผ่าน ผู้ตรวจการแผ่นดินหรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรืออาจยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ มีตัวอย่าง คดีที่มีการฟ้องผู้ขายข้าวต้มว่าขายเกินเวลา จำเลยร้องต่อศาลจังหวัดสระบุรีว่ากฎหมายที่ห้ามขายอาหารและเครื่องดื่มเกินเวลาขัดรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายนั้นเป็นโมฆะ ศาลจังหวัดสระบุรีต้องยกฟ้อง
 

ในการบรรยายให้ความรู้กับประชาชนที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี  มีประชาชนที่เข้าร่วมสัมมนาถามว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ผ่านการลงมติของประชาชนมาแล้ว ทำไมจึงมีการเสนอให้แก้ไข รัฐธรรมนูญมีข้อบกพร่องตรงไหนอย่างไร ได้ถามประชาชนหรือยัง และมีการเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญด้วย ศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นอย่างไร ตุลาการที่เป็นวิทยากรตอบว่า กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นผู้เสนอขอแก้ไข จึงไม่อาจให้ความเห็นได้ แต่คงมีจุดประสงค์แก้ไขให้ดีกว่าเดิม ประชาชนควรถามผู้แทนราษฎรของตนที่เป็นผู้ลงมติให้แก้ไข น่าจะให้คำตอบได้ดีกว่า
 

บทส่งท้าย การจะเลิกศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญโดยถอยหลังไปใช้ระบบที่บางท่านเรียกว่าศาลเดี่ยวแบบเดิมก่อนการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ก็น่าจะไขข้อข้องใจของประชาชนบางส่วนก่อนว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันโดยเฉพาะในหมวด ศาลมีข้อบกพร่องตรงไหนอย่างไร และที่ต้องคำนึงอย่างมาก คือ จะทำให้การคุ้มครองสิทธิของประชาชนตามกฎหมายและตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดีขึ้นหรือด้อยลงกว่าการมีศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ศาลเดี่ยว ศาลคู่ ต้องคำนึงถึง ประโยชน์ของประชาชน

view