สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กึ๋น ของมืออาชีพ กับทุนนิยมที่แท้จริง : บทเรียนจากชีวิต ไมเคิล มาโย

"กึ๋น" ของมืออาชีพ กับทุนนิยมที่แท้จริง : บทเรียนจากชีวิต ไมเคิล มาโย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




“กึ๋น” ของมืออาชีพในตลาดทุนอยู่ตรงไหน ...นักลงทุนหลายคนอาจไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้
เพราะคิดว่ามืออาชีพในภาคการเงินล้วนแต่ต้องรับใช้ลูกค้าอย่างดีที่สุดถ้าบริษัทอยากมีกำไร ไม่ต่างจากวงการอื่น ต้องใช้ “กึ๋น” ตรงไหนอย่างไรกัน
 

แต่ในระบบการเงินสมัยใหม่ การทำหน้าที่ในความหมายของการ “ส่งมอบบริการที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า” อาจเดินสวนทางกับ “การทำให้บริษัทได้กำไรมากที่สุด” ในฐานะพนักงานผู้ซื่อสัตย์ต่อองค์กร หรืออย่างน้อยก็ต่อกระเป๋าสตางค์ของตัวเอง
 

ในกรณีที่ผลประโยชน์ของลูกค้าขัดกันกับผลประโยชน์ของบริษัท อย่างน้อยก็ในระยะสั้น ความมีหรือไม่มี “กึ๋น” ของมืออาชีพจะเป็นตัวตัดสินว่าฝ่ายไหนจะได้ประโยชน์
 

ตัวอย่างจริงที่ฉายความขัดแย้งเรื่องนี้ได้ดี คือเรื่องราวของ ไมเคิล มาโย นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ชื่อก้องของอเมริกา นักวิเคราะห์เพียงคนเดียวที่ไปให้การต่อคณะกรรมาธิการของสภาเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนในภาคการเงินถึงสองครั้ง ก่อนและหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
 

ปัจจุบันมาโยในวัย 48 ปี เป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์สาขาธุรกิจธนาคาร สังกัดบริษัทหลักทรัพย์เครดิต อากริโคล โด่งดังในฐานะ “หอกข้างแคร่” ของธนาคารที่เขาวิเคราะห์หุ้น ด้วยความที่เขียนบทวิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมา โดนมาหมดแล้วตั้งแต่ถูกกีดกันไม่ให้เข้างานสัมมนาของธนาคาร ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าพบซีอีโอ ถูกเพื่อนร่วมอาชีพเยาะเย้ยถากถาง และถูกไล่ออก
 

มาโยไม่ใช่ “องุ่นเปรี้ยว” ที่วิพากษ์วิจารณ์ภาคการเงินเพราะล้มเหลวในหน้าที่การงาน ตรงกันข้าม เขา เป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่ได้รับรางวัลมากมายและเป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนทั่วโลก เนื่องจากมีความแหลมคมและเป็นอิสระชนิดหาตัวจับยาก แทบทุกคนที่ซื้อหรือขายหุ้นตามคำแนะนำของเขาล้วนแต่ได้กำไรหรือไม่ขาดทุน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ ในเดือนพฤษภาคม 1999 มาโยออกรายงานหนา 1,000 หน้า แนะนำให้ขายหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ 47 แห่งในตลาดหุ้นอเมริกัน ด้วยเหตุผลว่าหุ้นเหล่านี้แพงเกินไปแล้ว อีกทั้งธนาคารหลายแห่งก็บริหารจัดการแย่มาก แต่ซีอีโอยังได้ค่าตอบแทนมหาศาล คำแนะนำของเขาสวนทางกับนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่กำลังเชียร์ให้ซื้อหุ้นธนาคาร ส่งผลให้มาโยถูกซีอีโอธนาคารหลายคนหัวเราะเยาะ
 

แต่หนึ่งเดือนให้หลัง สถานการณ์ก็พิสูจน์ว่าเขาวิเคราะห์ถูกเผง หุ้นธนาคารเริ่มดิ่งเหว ราคาหุ้นของแบงก์วัน (Bank One) ธนาคารที่เขามองลบที่สุด สูญมูลค่ากว่าหนึ่งในสี่ในเวลาสามเดือน สี่เดือนหลังจากนั้นซีอีโอธนาคารประกาศลาออก ความแม่นยำของมาโยส่งผลให้เขาได้รับการขนานนามว่า เทพพยากรณ์แห่งเดลฟี
 

แต่รายงานหนา 1,000 หน้าซึ่งเหตุการณ์พิสูจน์ว่าถูกต้องเล่มนั้น กลับเป็นชนวนให้มาโยถูก เครดิต สวิส ไล่ออกในปี 2000 เพราะบทวิเคราะห์ของเขาทำให้ซีอีโอของธนาคารยักษ์ใหญ่ไม่สบอารมณ์ และบริษัทหลักทรัพย์แทบทุกแห่งยังรู้สึกว่าต้อง “เอาใจ” ลูกค้ารายใหญ่ที่ให้ดีลวาณิชธนกิจมูลค่ามหาศาล ด้วยการเขียนเชียร์หุ้นของพวกเขาหรืออย่างน้อยก็ไม่แนะนำให้ขาย
 

(วิธีหนึ่งที่จะดูว่านักวิเคราะห์คนไหนมีกึ๋นหรือไม่ คือ ติดตามดูว่าในชีวิตการทำงานของเขาเคยแนะนำให้ “ขาย” กี่ครั้ง เพราะเป็นไปไม่ได้ที่หุ้นทุกตัวจะ “น่าซื้อ” ตลอดเวลา อีกวิธีที่ง่ายกว่าคือ ดูว่านักวิเคราะห์คนไหนชอบแนะนำให้ “ถือ” (hold) หุ้น นักวิเคราะห์แบบนี้ชอบ “แทงกั๊ก” และไม่มีกึ๋น เพราะหุ้นแต่ละตัวในแต่ละจังหวะถ้าไม่น่าซื้อก็แปลว่าน่าขาย ถ้าจะแนะนำให้ถือไว้เฉยๆ นักลงทุนไม่ต้องอาศัยนักวิเคราะห์ก็ได้)
 

ถึงแม้เขาจะคาดการณ์หุ้นธนาคารถูกต้องแทบทุกครั้ง บางครั้งมาโยก็พลาดไม่ต่างจากที่นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ความผิดพลาดที่มาโยเสียใจที่สุด คือ เขาแนะนำให้นักลงทุน “ซื้อ” หุ้นของเลแมน บราเธอร์ส ในปี 2007 และไม่เปลี่ยนคำแนะนำจนกระทั่งหุ้นเลแมนตกลงไปแล้วกว่าร้อยละ 70 และไม่นานหลังจากนั้นก็ยื่นล้มละลาย จุดประกายความตื่นตระหนกในตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกและทำให้วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ถลำลึกรุนแรงนับจากนั้น
 

เดือนตุลาคม 2011 ก่อนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์กลายเป็นอดีต มาโยย่อยประสบการณ์และแง่คิดของเขาต่อภาคการเงินและระบบทุนนิยมออกมาเป็นหนังสืออ่านสนุกชื่อ “Exile on Wall Street” หลังจากนั้น เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า -
 

"สมัยที่ผมเริ่มทำงานในภาคการเงินใหม่ๆ ผมทำตามที่ถูกสอนในคณะบริหารธุรกิจและตอนสอบเป็นนักวิเคราะห์เป๊ะเลย แต่พอผมวิเคราะห์เชิงลบ อย่างเช่น ตอนที่ผมบอกว่าหุ้นของ คีย์คอร์ป (KeyCorp) ไม่ใช่การลงทุนที่ดี บริษัทก็หั่นธุรกิจกับธนาคารที่จ้างผม ผมถูกลงโทษ พูดง่ายๆ คือ กฎกติกาของเกมที่ผมเรียนรู้ในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่กฎกติกาที่ภาคการเงินใช้จริง"
 

"ทุนนิยมทำงานได้ดีที่สุดเมื่อเราวางกฎกติกาให้ดีและบังคับใช้มันอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ให้รัฐบาลแกล้งมองไปทางอื่นตอนที่กฎล้มเหลว เสร็จแล้วก็ก้าวเข้ามาปกป้องธนาคารที่รับมือกับผลพวงจากการตัดสินใจแย่ๆ ของตัวเองไม่ได้ ทุนนิยมจะทำงานก็ต่อเมื่อผู้บริหารได้รับรางวัลก็ต่อเมื่อทำผลงานดี ไม่ใช่เขียนกฎให้พวกเขาได้รางวัลมหาศาลแม้ในเวลาที่บริษัทย่ำแย่"
 

"นี่ไม่ใช่ระบบทุนนิยม แต่เป็นระบบศักดินา (entitlement) ต่างหาก"
 

บทสรุปของไมเคิล มาโย ดูจะใช้ได้ดีกับตลาดทุนไทยปัจจุบัน นับตั้งแต่รองนายกฯ กิตติรัตน์ ณ ระนอง สั่งหยุดการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไว้กับที่ และให้ ก.ล.ต. ไป “ทบทวนนโยบายเปิดเสรี” ธุรกิจหลักทรัพย์เสียใหม่
 

ไม่เห็นใครมี “กึ๋น” ออกมาประณามความล้าหลังของผู้ดำเนินนโยบาย ล่าสุดเมื่อไม่นานนี้ผู้เขียนอ่านข่าวว่า สมาคมบริษัทหลักทรัพย์อ้างว่าการให้สมาชิกเก็บค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์แบบขั้นบันไดนั้น “ไม่ใช่การล้มการเปิดเสรี”
 

อ่านแล้วก็รู้สึกตลกดี การฮั้วกันอย่างเปิดเผยถ้าไม่เรียกว่าล้มการเปิดเสรี ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร
 

ผู้เขียนเห็นด้วยกับ ไมเคิล มาโย นักวิเคราะห์มีกึ๋น ว่าระบบทุนนิยมตลาดเสรีที่แท้จริง คือ ระบบที่ทุกคนยอมรับว่าใครๆ ก็มีสิทธิมาลงสนามแข่งขันอย่างเท่าเทียม ราคาต่างๆ ถูกกำหนดโดยตลาดภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ไม่ใช่ระบบศักดินาที่รัฐปกป้องผู้ครองตลาดรายเดิมตลอดไป
 

วิธีเตรียมพร้อมรับมือกับการเปิดประชาคมอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ที่ดีที่สุด คือ การเดินหน้าเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์ และแปรรูป ตลท. ต่อไป ไม่ใช่กลับหลังหันไปถอยหลังเข้าคลอง
 

แต่วงการที่ผู้บริหารส่วนใหญ่ไม่มี “กึ๋น” อย่างมากก็อยู่กันไปแบบแกนๆ ผู้มีอำนาจรัฐว่าอะไรก็ได้แต่เออออห่อหมก ไร้พลังที่จะขับเคลื่อนตลาดทุนให้หลุดพ้นจากหล่มระบบศักดินาสมัยใหม่


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กึ๋น ของมืออาชีพ กับทุนนิยมที่แท้จริง บทเรียนจากชีวิต ไมเคิล มาโย

view