สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โต้งเขย่าเก้าอี้ผู้ว่าธปท. ยึดปธ.บอร์ดคุมเบ็ดเสร็จหนุนเพื่อไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

การเมืองเปิดเกมเขย่าเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ส่งสัญญาณขัดแย้งทางนโยบายและความคิดต่อเนื่อง วงในยืนยันรัฐบาลเพื่อไทย "ไม่เอา" ผู้ว่าการ ธปท.ชื่อ "ประสาร" จับตาเก้าอี้ประธานบอร์ดหลัง "หม่อมเต่า" หมดวาระเมษายนนี้ เปิดทางการเมืองส่งตัวแทนเสียบ ขณะที่นายแบงก์ใหญ่ "ชาตรี-บัณฑูร" ขานรับนโยบายแบงก์ชาติมาถูกทาง



กระแส ความขัดแย้งทางนโยบายการบริหารการเงินการคลังของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลมองว่าการดำเนินนโยบายหลายเรื่องของ ธปท.ไม่สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับนโยบายรัฐบาล ส่งผลให้กรณีขัดแย้งไม่เข้าใจกันระหว่าง 2 ฝ่ายเกิดขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ยุคที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล นั่งเก้าอี้ รมว.คลัง ช่วงแรก ๆ ที่มีการเปิดศึกกับ ธปท. เรื่องการโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.14 ล้านล้านบาท ไปให้ ธปท.รับผิดชอบ รวมถึงการขอให้ ธปท.แบ่งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ส่วนหนึ่งมาจัดตั้งกองทุนมั่งคั่ง เพื่อลงทุนในกิจการที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศ

ถึงยุคนายกิตติ รัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีที่เข้านั่งควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา นายกิตติรัตน์ได้เดินหน้าเรื่องการแก้ไขหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ โดยการโอนหนี้ดังกล่าวไปให้ ธปท. รับผิดชอบในการบริหาร และล่าสุด ก็ออกมาส่งสัญญาณให้ ธปท.ดำเนินนโยบาย "บาทอ่อน" พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ ธปท.อย่างรุนแรง

จับตาเก้าอี้ประธานบอร์ด ธปท.

แหล่ง ข่าวจากแวดวงการเงิน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้หลายฝ่ายได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับกรณีข้อขัดแย้งทางนโยบายระหว่าง รมว.คลังกับผู้ว่าการ ธปท. เนื่องจากที่ผ่านมามีประเด็นที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นไม่ตรงกัน หรือนโยบายไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันเกิดขึ้นต่อเนื่อง เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่ารัฐบาลของพรรคเพื่อไทยไม่พอใจนโยบายการเงินของผู้ ว่าการ ธปท. เนื่องจากไม่สอดรับกับแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

นอก จากนี้ยังมีกระแสข่าวว่ามีความพยายามเขย่าเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่จะมีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ ธปท.ที่กำลังจะหมดวาระลง โดยฝ่ายการเมืองจะส่งคนเข้ามานั่งในบอร์ดแทน เพื่อหาโอกาสปรับเปลี่ยนผู้ว่าการ ธปท.ให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น

อย่างไรก็ตาม นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ถือว่าเป็นผู้ว่าการ ธปท.ที่ได้รับการยอมรับและเชื่อถืออย่างมาก ทั้งจากผู้คนในแวดวงธุรกิจและการเงิน ดังนั้นการเขย่าเก้าอี้จากฟากการเมืองจึงไม่ง่าย แต่ทางการเมืองก็ส่งสัญญาณสร้างแรงกดดันอยู่ตลอดเวลา

ขณะเดียวกัน ที่กำลังเป็นที่จับตามองคือ กระบวนการสรรหา ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แทน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ซึ่งจะหมดวาระลงในเดือนเมษายนนี้ พร้อมกับกรรมการอีก 2 ตำแหน่ง ว่าจะเปิดช่องทางให้การเมืองส่งตัวแทนเข้ามาเพื่อกดดันการบริหารงานของผู้ ว่าการ ธปท.หรือไม่

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับกระบวนการสรรหา ประธานบอร์ดและกรรมการ ธปท. ขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา 7 คนเรียบร้อยแล้ว กระบวนการต่อจากนี้ไปผู้ว่าการ ธปท.และปลัดกระทรวงการคลัง จะเป็นผู้เสนอชื่อผู้มีความเหมาะสมให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณา

ตาม กฎหมายจะให้ผู้ว่าการ ธปท.เสนอชื่อได้ 2 เท่าของตำแหน่งที่ว่างลง ส่วนปลัดกระทรวงการคลังเสนอได้ 1 เท่า หมายความว่าในการสรรหาครั้งนี้ ผู้ว่าการ ธปท.สามารถเสนอชื่อผู้ที่จะเข้ารับการ

คัดเลือกเป็นประธานบอร์ด ธปท.ได้ 2 คน และผู้รับเลือกเป็นบอร์ดได้ 4 คน ขณะที่ปลัดกระทรวงการคลังเสนอชื่อได้ 1 คน และ 2 คนตามลำดับ

หลัง จากคณะกรรมการสรรหาคัดเลือกผู้มีความเหมาะสมแล้ว จะให้เสนอชื่อต่อ รมว.คลัง เพื่อนำรายชื่อเข้าเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ จากนั้นเฉพาะตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.จะต้องนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้ง ส่วนบอร์ด รมว.คลังสามารถแต่งตั้งได้ทันที รายงานข่าวระบุว่า สำหรับรายชื่อคณะกรรมการสรรหา 7 คน ประกอบด้วย 1.นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล 2.นายพรชัย นุชสุวรรณ 3.นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ 4.นายสวัสดิภาพ กันทาธรรม 5.นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ 6.นายพนัส สิมะเสถียร 7.นายปรีชา อรรถวิภัชน์

ตามขั้นตอนคณะกรรมการสรรหาทั้ง 7 คนจะเป็นผู้เสนอชื่อประธานและกรรมการบอร์ด ธปท. ที่หมดวาระทั้ง 3 ตำแหน่งดังกล่าว ส่วนกรรมการอื่นในบอร์ด ประกอบด้วยรองผู้ว่าการ ธปท. 3 คน, เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีก 5 คน โดยผู้ว่าการจะนั่งในตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการ และแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประธานบอร์ด และกรรมการ 3 ตำแหน่งที่จะได้รับแต่งตั้งเข้ามาแทนผู้ที่หมดวาระ ถ้าหากฝ่ายการเมืองสามารถส่งคนเข้ามานั่งในตำแหน่งที่ว่างลงได้ก็จะทำให้ กรรมการในฟากรัฐบาลมีเสียงข้างมาก เท่ากับเปิดโอกาสให้สามารถปรับเปลี่ยนตัวผู้ว่าการ ธปท.ได้โดยผ่านทางบอร์ด ธปท.ได้

แต่เนื่องจากปัจจุบัน พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่เปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองสามารถเข้าไปแทรกแซง ธปท.ได้มากนัก โดยเฉพาะการปลดผู้ว่าการ ธปท.ออกจากตำแหน่ง ดังนั้นช่องทางที่มีโอกาสเป็นไปได้สูงคือ การผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยผ่านทางบอร์ด ธปท. โดยอาศัยมาตรา 28/19 (5) แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรี หรือการเสนอของรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ โดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง

ทั้งนี้ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.เมื่อ 1 ตุลาคม 2553

ยิ่งลักษณ์ ไฟเขียว บาทอ่อน

นาย กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เรื่องค่าเงินบาทตนไม่ได้ต้องการให้ ธปท. หน่วยงานเดียวทำให้ค่าเงินบาทอ่อนจนผิดธรรมชาติ แต่เห็นว่าหากต้องการให้ค่าเงินบาทอ่อนกว่าที่เป็นอยู่ต้องให้หลายหน่วยงาน ร่วมกันดำเนินการ

ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล นายกิตติรัตน์กล่าวว่า เรื่องทิศทางค่าเงิน ได้หารือกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ตลอด เพราะถือว่าทั้ง 2 ท่านเป็นผู้บริหารระดับนโยบาย และเข้าใจภาพรวม ทิศทางประเทศ

"แค่ผมชี้ทิศ ยังโดนรุมขนาดนี้ ถ้าให้ผมชี้ระดับ ก็คงจะมากันอีกเยอะ อย่าให้ถึงขนาดนั้นเลยครับ คนอื่นจะเข้าใจบ้างหรือไม่ แต่ผมมีตัวเลขนั้น ผมคุยกับท่านนายกฯ อาจารย์วีรพงษ์ ถ้าถามว่าตัวเลขจะเป็นอย่างไรก็ให้คนอื่นเขาคิดเอา"

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีเงินสำรองมาก มีสภาพคล่องล้นระบบธนาคาร ทำให้ ธปท.ต้องดูดซับสภาพคล่องไปแล้วถึง 3 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) เติบโตเพียง 3-5%

"เงิน ตราต่างประเทศที่มาลงทุนในประเทศ วันนี้มันถึงขั้นสภาพคล่องส่วนเกินกำลังทำร้ายระบบ ธปท. ต้องดูดซับ สภาพคล่องออกไป ต้องจ่ายดอกเบี้ย

ถ้าให้ผมพูดแรง ๆ ก็ต้องถามว่าพิมพ์แบงก์จ่ายหรือเปล่า ไหนว่าวินัยการเงินการคลังสูงไม่ชอบพิมพ์แบงก์" นายกิตติรัตน์กล่าว

รม ว.คลังกล่าวด้วยว่า ตนขอย้ำว่าไม่ได้ต้องการให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง มาทำให้ค่าเงินอ่อนจนผิดธรรมชาติ จนขัดขืนกลไกตลาดอะไรเลย แต่ถ้ามีโครงการใดที่เป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ที่กลัวว่าจะมีการนำเข้าสินค้าประเภททุน กลัวว่าเงินสำรองจะไม่พอเหมือนสมัยก่อน ต้องคิดเสียใหม่ได้แล้ว กล้า ๆ เถอะ ทำให้เงินบาทอ่อนไปบ้างมันไม่ตายหรอก

สำหรับความขัดแย้งกับนาย ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.เรื่องค่าเงินบาท นายกิตติรัตน์ตอบว่า "ไม่เห็นจะมีอะไรที่ขัดกันนักหนา และผมก็พูดชัดเจนว่า ให้ฟังเยอะ ๆ หน่อย ต้องเปิดใจรับฟังหน่อย เดี๋ยวก็คงคิดออกเอง"

ส่วนกระแสข่าวการปลด ผู้ว่าการ ธปท. นายกิตติรัตน์ไม่ตอบตรง ๆ แต่อธิบายว่า "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะปลด ต่อให้มีก็จะไม่ปลด ผมก็ไม่เคยคิดจะปลดใคร มีแต่คนเก็งกัน ผมเพียงแต่บอกว่า ต้องฟังเยอะ ๆ หน่อย"

ชาตรี-ปั้นห่วงการเมืองทุบ ศก.

นาย บัณฑูร ลํ่าซํา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงกรณีรองนายกฯและ รมว.คลัง ส่งสัญญาณดําเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าว่า นักการเมืองต้องออกมาพูด หรือส่งสัญญาณที่มีผลต่อภาพรวมในการบริหารงาน แต่ในขณะนี้ก็ยังไม่เห็นการดําเนินนโยบายดังกล่าวอย่างหวือหวา และยังไม่มีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ

นายบัณฑูรแสดงความเป็นห่วงว่า ความไม่มีเสถียรภาพของการเมืองไทยจะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะหากขัดแย้งทั้งในและนอกสภาจะส่งผลให้การดําเนินนโยบายประเทศหยุดชะงัก และล้าหลัง รวมทั้งกฎหมายหลายฉบับที่หมดอายุและจําเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ รัฐสภาจะล่าช้าออกไป

ด้านนายชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ขณะนี้ ธปท.ยังทำหน้าที่ได้ดีในการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 30-31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสมและควรที่จะรักษาอัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับนี้ต่อไป เพราะสามารถสนับสนุนภาคการส่งออกได้ โดย 2 เดือนแรกของปีนี้ภาคการส่งออกสามารถขยายตัวได้ และคาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมของไทยปีนี้ยังมีทิศทางเติบโตดี

ทั้งนี้มอง ว่าค่าอัตราแลกเปลี่ยนควรมีเสถียรภาพ ไม่ควรเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงขึ้นลงบ่อยครั้ง โดยการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนควรดูแลทั้งภาคส่งออกและนำเข้าควบคู่กัน และสถานการณ์ขณะนี้ไม่มีความเป็นห่วงในประเด็นเศรษฐกิจของประเทศ แต่เป็นห่วงเสถียรภาพด้านการเมืองมากกว่า เพราะหากเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้งจะไม่เป็นผลดี

ขณะที่นาย บุญส่ง บุญยะสารนันท์ รองผู้จัดการใหญ่สายบริหารการเงิน ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงจากอดีตมาก โดยมีการป้องกันความเสี่ยงโดยการซื้อขายเงินล่วงหน้าไว้ในระดับที่รองรับ ธุรกรรมการค้าขาย ไม่มีการเก็งกำไรเหมือนในอดีต โดยตลาดซื้อขายเงินตราที่ใหญ่ขึ้น ทำให้มีผู้นำเข้า ส่งออกจำนวนมากเป็นผู้เล่นที่ทำให้ตลาดมีความสมดุล ความจำเป็นที่ ธปท.เข้าไปแทรกแซงมีน้อยลง

โดย ใน 3 เดือนแรกที่ผ่านมา ค่าเงินบาทปรับตัวขึ้นลงในกรอบ 1.50 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นกรอบที่ค่อนข้างกว้าง แต่ผู้ส่งออก นำเข้า ไม่ได้ออกมาเรียกร้องให้ ธปท.เข้าไปช่วยดูแลตลาดเหมือนในอดีต จึงเห็นว่าควรปล่อยให้ตลาดเคลื่อนไหวไปตามกลไกที่สมดุลนี้ดีที่สุด


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โต้ง เขย่าเก้าอี้ผู้ว่าธปท. ยึดปธ.บอร์ด คุมเบ็ดเสร็จ หนุนเพื่อไทย

view