สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กิตติรัตน์ ณ ระนอง ทำให้บาทอ่อนไปบ้าง...มันไม่ตายหรอก

จากประชาชาติธุรกิจ

สัมภาษณ์พิเศษ


วิวาทะค่าเงินบาท กลายเป็นวาระร้อน

ร้อนสะเทือนถึงเก้าอี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ร้อนไปถึงตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ระอุไปถึงผู้มีบารมีทางเศรษฐศาสตร์ในพรรคเพื่อไทย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร และคณะ

"ประชาชาติธุรกิจ" เบียดคิวขึ้นโพเดียมที่เมืองจีนของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สนทนาหาคำตอบกับหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ผู้ที่จะดับร้อน ผ่อนเย็น ตอบคำถามที่ร้อนรุ่ม ดุเดือด ราวกับนั่งอยู่บนเตาไฟ

- ในฐานะ รมว.คลัง ทำไมถึงออกมาพูดว่าต้องการให้ค่าเงินบาทอ่อน พร้อมบอกตัวเลขเป้าหมาย

เศรษฐกิจของโลก ของประเทศก็เหมือนโต๊ะตัวหนึ่ง คุณจะดูแค่ขาตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้ ต้องมองภาพใหญ่

หากถามเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ก็จะมีคนจำนวนหนึ่งออกมาบอกว่าดี ค่าเงินอ่อนหน่อยก็ดีจะได้ส่งออกได้ง่าย อีกคนหนึ่งก็บอกว่าไม่ดี ไม่ถูกกาละเวลาเพราะช่วงนี้น้ำมันแพงต้องนำเข้า เดี๋ยวก็เกิดเงินเฟ้ออีก ถามว่าถูกหรือไม่ ก็ถูกทั้งคู่ แต่ว่าคนที่ดูแลนโยบายเศรษฐกิจประเทศนะครับเขามีหน้าที่อะไร เขาคิดอะไร

ผมเคยพูดสักคำหรือไม่ว่าอยากเห็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปช่วยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนจนผิดธรรมชาติ ผมไม่ได้พูด (เสียงดัง) ผมอยากเห็นค่าเงินบาทอ่อนกว่านี้ และอ่อนกว่านี้ ต้องให้หน่วยงานเดียวทำอย่างเฉพาะเจาะจงหรือไม่ คนรับผิดชอบที่ทำให้มันอ่อนกว่านี้มีตั้งเยอะ

- ค่าแรง 300 บาท ราคาพลังงานเพิ่มขึ้น สินค้าราคาแพงขึ้น หัวหน้าทีมเศรษฐกิจจะดีไซน์มาตรการอะไรออกมาแก้ไข

ถ้ากลไกทำงานได้ทุกเรื่อง ทำไมเราต้องประกาศอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็ให้กลไกเป็นตัวกำหนดสิ แสดงว่ากลไกมันทำงานบ้างไม่ทำงานบ้าง ฉะนั้นการที่เราจะแก้ไขให้กลไกมันทำงานต้องหาเหตุให้เจอและแก้ไข ทำให้มีความเข้มแข็ง

วันนี้ถึงตั้งต้นว่า ประเทศไทยเป็นอย่างไร เหมือนคนอื่นเขาหรือไม่ มีประเทศไหนหรือไม่ที่มีเงินสำรองเยอะ ๆ แบบเรา มีประเทศไหนหรือไม่ที่มีสภาพคล่องเป็นเงินบาทล้นระบบเสียจนล้นธนาคาร ให้ ธปท.ดูดซับสภาพคล่องเข้าไปเยอะ ๆ มีประเทศไหนหรือไม่ มีศักยภาพทรัพยากรมากมายแต่เติบโตช้าเหลือเกินในช่วงที่ผ่านมา

- ปัญหาของกลไกเศรษฐกิจ ไม่สมดุลตรงไหน

สมัยที่เงินสำรองน้อยขาดดุลการค้า ข่าวดีของเราคือ ได้เปรียบดุลการค้า ได้เงินตราต่างประเทศ เราดีใจที่มีคนเอาเงินมาลงทุนในระบบต่าง ๆ แต่วันนี้มันเลยสมดุลนั้นมาจนถึงขั้นสภาพคล่องส่วนเกินกำลังทำร้ายระบบ

ถ้าสภาพคล่องถูกทิ้งไว้ในระบบสถาบันการเงิน สถาบันการเงินก็ต้องปล่อยดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ เงินกู้สูง เพราะต้องชดเชยในส่วนที่ปล่อยไม่ได้ หรือไม่ก็ต้องผลักดันสภาพคล่องนั้นไปในสินเชื่อคุณภาพต่ำลง ก็อันตรายภาคธุรกิจที่กู้ไปก็ทำรีเทิร์นไม่ได้ กำลังซื้อในประเทศไม่ดี ธปท.ไม่อยากให้เกิดภาวะนั้น

ก็ต้องดูดซับสภาพคล่องออกไป ดูดเข้าไปแล้วตอนนี้มากกว่า 3 ล้านล้านบาทแล้ว

ถ้าให้ผมพูดแรง ๆ ก็ต้องถามว่า พิมพ์แบงก์จ่ายหรือเปล่า ไหนว่าวินัยการเงินการคลังสูง ไม่ชอบพิมพ์แบงก์ ผมไม่ได้ไปชี้ว่าอะไรใคร ไม่อยากว่าด้วย แต่อยากให้มองทั้งระบบว่า ต้องการแบบนี้ใช่หรือไม่

- ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จะเริ่มต้นที่ ธปท.หรือที่ไหน

อยากเห็นสภาพคล่องปริมาณพอดี ถ้าค่าเงินบาทมันแข็งขึ้นมาเรื่อย ๆ ในรอบ 10 ปี จากอัตรา 40 บาท จนเกือบทะลุลงไป 20 บาทกว่า ๆ แล้วถ้าคุณเป็นผู้ลงทุนอยากเอาเงินเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่ คุณก็อยาก เพราะได้กำไรจากค่าเงินที่แข็งขึ้นแล้ว ถามว่าอยากได้แบบนั้นหรือไม่ ผมไม่อยาก

ผมเพียงแต่คิดว่า หลายคนที่ให้ความเห็นเขาให้ข้อมูลจากความหวาดกลัว ยกตัวอย่าง บางคนที่เป็นรองประธานองค์กรต่าง ๆ ที่กลัวว่าคนจะเข้ามาเก็งกำไร ความเห็นผมที่อยากจะทำบาทอ่อนมันจะเก็งกำไรอย่างไร ทำให้ดูหน่อย

- จะส่งสัญญาณอย่างไรกับภาคธุรกิจ

ผมย้ำอีกทีว่า ผมไม่ได้ต้องการให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมาทำให้ค่าเงินอ่อนจนผิดธรรมชาติจนขัดขืนกลไกตลาดอะไรเลย แต่มันหมายความว่า ถ้ามีโครงการใดที่เป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ที่กลัวว่าจะมีการนำเข้าสินค้าประเภททุน กลัวว่าสมัยก่อนเงินสำรองจะไม่พอ ต้องคิดเสียใหม่ได้แล้ว กล้า ๆ เถอะ ทำให้เงินบาทอ่อนไปบ้างมันไม่ตายหรอก

- ต้องการบาทอ่อน เพื่อตอบโจทย์ปัญหาระยะสั้น

ถ้ากลับมาตอบโจทย์ก็คือว่า ในมุมของรัฐมนตรีคนรับผิดชอบหน้าที่ ค่าเงินบาทแข็งชีวิตบนเปลือกผมมันง่าย เพราะนำเข้าพลังงานราคาต่ำ เงินเฟ้อต่ำ มันง่ายมาก

แต่ทำไมผมถึงต้องการให้อ่อน เพราะรู้ว่ามันไม่ดีกับระยะยาว ถ้าคุณจะให้มันต่ำแบบนี้สภาพคล่องก็ล้นอย่างนี้ ก็จ่ายดอกเบี้ยไปสิ องค์กรที่อยากเถียงผม คุณก็จ่ายไปสิ ปีละแสนล้านบาท มันไม่ใช่เงินผมด้วย ก็เงินคนทั้งประเทศ และที่ไปดำเนินการตรงนั้นก็ไม่เคยขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำด้วย เหตุผลเพราะกฎหมายใหม่ที่เขาแก้ไขกันเอาเอง ใช้คณะกรรมการขององค์กรตัวเอง กู้เท่าไรก็ได้ ไม่ต้องขออนุญาตใคร

- ท่านย้ำว่าไม่ได้ต้องการให้ ธปท.เป็นผู้ทำให้บาทอ่อน แต่มีทางเลือกที่ดีกว่า ทางเลือกที่กล่าวถึงคืออะไร

ภาครัฐที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่รู้ว่าจะมีการนำเข้าสินค้าประเภททุนในจำนวนมากและเพียงพอ ไม่ต้องหวั่นไหวอะไร สามารถนำเข้าได้ เงินสำรองระหว่างประเทศมีเพียงพอ สภาพคล่องในประเทศมีเพียงพอ โครงการบางโครงการที่

กล้า ๆ กลัว ๆ ว่าจะต้องกู้ต่างประเทศ วันนี้กู้ในประเทศได้ เพราะสภาพคล่องเพียงพอ

ภาคเอกชนวันนี้ยังลังเลอยู่ว่าจะขยายกิจการได้หรือไม่ ก็ขยายได้แล้ว เพราะกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เพิ่มมาจากคนที่ไม่เคยมีรายได้ดี กำลังมีรายได้ที่ดี ภาคธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ ตั้งอยู่สมมติฐานว่ายอดขายเป็นเท่านั้นเท่านี้ แต่ถ้าสินค้าที่เขาจะกู้มาผลิตจะเป็นสินค้าพื้นฐานที่ผู้มีรายได้น้อยเขาเป็นผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ก็ต้องกล้าปล่อยสินเชื่อเถอะ สิ่งที่ผมพยายามชี้วันนี้คือว่า ให้ดูดี ๆ ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ผมไปยุให้เขามีหนี้อะไรมากมายเกินกว่าที่เขาจะมีศักยภาพหรือไม่...ก็ไม่นี่ครับ

- ค่าเงินบาทควรอ่อนไปที่ตัวเลขเท่าไร ถึงจะอยู่ในจุดสมดุล

แค่ผมชี้ทิศทางยังโดนรุมขนาดนี้ ถ้าให้ผมชี้ระดับก็คงจะมากันอีกเยอะ อย่าให้ถึงขนาดนั้นเลย คนอื่นจะเข้าใจมากหรือไม่ แต่ผมมีตัวเลขนั้น ถามว่าผมจะคุยกับใครบ้าง ผมคุยกับท่าน

นายกฯยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) อาจารย์วีรพงษ์ (รามางกูร) เพราะผมถือว่าท่านเหล่านี้เป็นระดับนโยบาย และเข้าใจภาพรวมทิศทางที่เรากำลังจะเดินไป ถ้าถามว่าตัวเลขจะเป็นอย่างไรก็ให้คนอื่นเขาคิดเอา

- อาจจะต้องปลดผู้ว่าการ ธปท.หรือไม่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะไปปลด ต่อให้มีก็จะไม่ปลด ผมก็ไม่เคยคิดจะปลดใคร มีแต่คนเก็งกัน ผมเพียงแต่บอกว่า ต้องฟังเยอะ ๆ หน่อย ผมย้ำอีกทีนะครับว่า กลไกเป็นเรื่องที่ดีและเข้าใจได้ในระยะยาว ขณะเดียวกันกลไกที่กำหนดความเป็นเราในขณะนี้หลายกลไกไม่ค่อยทำงาน ดังนั้นวิธีการที่จะใช้นโยบายชี้นำก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กิตติรัตน์ ณ ระนอง ทำให้บาทอ่อนไปบ้าง มันไม่ตายหรอก

view