สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไทยจะรักษาตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งได้หรือไม่

ไทยจะรักษาตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งได้หรือไม่

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ตั้งแต่ปี 2523 ไทยครองตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งติดต่อมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน โดยมีอินเดีย ปากีสถาน สหรัฐอเมริกา เวียดนาม

สลับกันเป็นลำดับรองลงไปในกลุ่มห้าอันดับแรก   
 

นโยบายรับจำนำข้าว รัฐบาลปัจจุบันได้ประกาศนโยบายข้าว ช่วงเวลาการผลิตปี 2554/2555 โดยจะรับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 20,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 100%  ตันละ 15,000 บาท ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2555 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่าชาวนาจะได้รับ ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวไม่มากนัก แต่จะมีผลกระทบเสียหายต่อการส่งออกข้าวของไทย และสูญเสียงบประมาณของชาติจำนวนมหาศาล
 

เสียงสะท้อนจากต่างชาติ สื่อต่างชาติ นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข้าวของต่างชาติ ก็ให้ความสนใจติดตามข้อมูลและให้ความเห็นในเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง เช่น เมื่อปลายเดือนกันยายน 2554 สำนักข่าว Viet Nam Net Bridge ของเวียดนาม ได้โปรยหัวข้อว่า ชาวนา เวียดนามจะได้ประโยชน์จากนโยบายราคาข้าวของรัฐบาลไทยหรือไม่ และได้สรุปว่า ตามหลักการชาวนาเวียดนามจะได้ประโยชน์ จากการที่รัฐบาลไทยรับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาตันละ 15,000 บาท โดยผู้บริหารระดับสูงของสมาคมอาหารแห่งเวียดนาม วิเคราะห์ว่า นโยบายของไทยจะทำให้ราคาส่งออกข้าวในภูมิภาคสูงขึ้น จะมีผลให้ราคาส่งออกข้าวของเวียดนามสูงขึ้นอันจะมีผลให้ราคาข้าวภายในประเทศสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังเห็นว่า หากข้าวไทยมีราคาสูงขึ้น นักเก็งกำไรไทยคงจะขวนขวายหาซื้อข้าวเวียดนามและข้าวกัมพูชาไปขายในไทย ซึ่งจะส่งผลให้ข้าวเวียดนามมีความต้องการสูง และอาจทำให้เวียดนามเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งแทนไทย    
 

หนังสือพิมพ์ Jakarta Globe ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม 2554 คอลัมน์เกี่ยวกับเอเชีย พาดหัวว่า ประเทศไทยวางกับดักบิดเบือนราคาข้าว แล้วเกริ่นนำว่าอินโดนีเซียเป็นลูกค้าผู้บริโภคข้าวไทยรายใหญ่ แต่โครงการประชานิยมของรัฐบาลจะทำให้ข้าวแพงขึ้น และวิจารณ์ทำนองว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีส่วนสำคัญในวงการค้าข้าวระหว่างประเทศ กลับมีส่วนในการทำลายตลาดธัญพืชนี้   
 

เมื่อเดือนสิงหาคม 2554 มีข่าวในสื่อ ออนไลน์  Asean Affair.Com ว่านโยบายรับซื้อข้าวของรัฐบาลไทยมีผลคุกคามต่อผู้ประกอบการโรงสีของ กัมพูชา เพราะเมื่อราคาข้าวไทยมีราคาสูงขึ้นผู้ส่งออกและผู้ประกอบการโรงสีไทยคงจะไปกว้านซื้อข้าวจากกัมพูชาแข่งขันกับผู้ประกอบการโรงสีของกัมพูชา      
 

นาย Antonio Berengeur หัวหน้างานเศรษฐกิจและการค้าของคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยมีความเห็นว่า นโยบายรับจำนำข้าวดังกล่าวส่งผลให้ ราคาข้าวไทยในตลาดโลกสูงขึ้นกว่าสิบเปอร์เซ็นต์ จะส่งผลดีต่อการส่งออกของ เวียดนาม รวมทั้งกัมพูชา พม่า และอินเดียด้วย แต่จะทำให้ผู้ส่งออกไทยส่งออกได้น้อยลง ส่วนของกระทรวงเกษตรของสหรัฐก็ประเมินว่า การส่งออกของไทยในปีนี้คงจะลดลงเหลือเพียง 7 ล้านตัน     
 

นาย Conceocion Calpe นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ F A O ให้ความเห็นว่านโยบายรับจำนำข้าวของไทยจะเป็นอันตรายต่อภาคการค้าข้าวของไทย เพราะราคาข้าวที่สูงขึ้นจะลดความสามารถในการแข่งขันของไทยเองโดยเฉพาะในระยะยาว
 

นาย Clyde Russell นักวิเคราะห์ตลาดของสำนักข่าวรอยเตอร์ ได้ให้ความเห็นต่อนโยบายราคาข้าวของไทย อันเป็นความเห็นส่วนตัว โดยเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 ได้ขึ้นหัวเรื่องว่า “นโยบายราคาข้าวของประเทศไทย ความล้มเหลวราคาแพง” และขึ้นต้นบทความว่า รัฐบาลไทยกำลังจะได้รับบทเรียนทางเศรษฐศาสตร์ โครงการสนับสนุนราคาข้าวของรัฐบาลบาลที่ต้องใช้งบสี่แสนล้านบาทจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการคลังของประเทศเร็วกว่าที่คาด ชาวนาไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้มากนัก แต่โครงการนี้จะลดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทย และจะทำให้ไทยหลุดจากตำแหน่งผู้ส่งออกอันดับหนึ่ง ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณแล้วเมื่อสถิติการส่งออกในเดือนมกราคม 2555 ลดลงครึ่งหนึ่ง
 

การส่งออกข้าวไทยหลังจากรัฐบาลประกาศโครงการรับจำนำข้าว หลังจากรัฐบาลประกาศนโยบายรับจำนำข้าว ทำให้ในช่วงตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 ข้าวในตลาดสำหรับการส่งออกมีราคาสูงขึ้น โรงสีส่วนใหญ่จะไม่เสนอขายข้าว มีการคาดกันว่า โรงสีคงจะเก็บข้าวรอไว้สำหรับโครงการรับจำนำ ทำให้ ผู้ส่งออกหาซื้อข้าวเพื่อการส่งออกยากขึ้น หรือไม่ก็มีราคาสูงมาก เป็นเหตุให้ผู้ส่งออกที่มีสต็อกข้าวอยู่ในมือไม่มากพอ ไม่กล้ารับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ และไม่กล้าเสนอขาย หรือเสนอขายในราคาที่สูงกว่าปกติมาก เพราะหากเสนอขายในราคาตลาดตามปกติจะขาดทุนมาก และอาจจะหาข้าวส่งมอบให้ผู้ซื้อไม่ได้ จึงทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อจากแหล่งอื่นที่มีราคาถูกกว่าข้าวไทย เช่น เวียดนาม โดยเฉพาะข้าวนึ่งได้หันไปซื้อจาก อินเดีย ปากีสถาน แทนข้าวนึ่งจากไทย ทำให้สถิติการส่งออกข้าวไทยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนข้ามปีมาจนถึงเดือนมีนาคม 2555 ก็ยังคงลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
 

ไทยจะเสียตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งให้เวียดนามหรือไม่ จากสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่องดังกล่าว ทำให้สื่อของเวียดนามและสื่อต่างประเทศบางสำนัก ฟันธงว่า ในปี 2555 เวียตนาม จะส่งข้าวออกเป็นอันดับหนึ่งแทนประเทศไทย ที่ครองตำแหน่งนี้ติดต่อกันมา 32 ปี ซึ่งก็มีเหตุการณ์เป็นไปตามที่สื่อต่างประเทศและผู้เชี่ยวชาญของบางหน่วยงานได้ วิเคราะห์และคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เช่นมีการลักลอบนำเข้าข้าวจากกัมพูชาที่มีราคาถูกกว่าข้าวไทยมาขายให้พ่อค้าไทยซึ่งอาจนำไปปนกับข้าวไทยเพื่อส่งออกหรือสวมสิทธิจำนำ อินโดนีเซียซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของไทยก็หันไปเจรจาหาซื้อข้าว จาก เวียดนาม อินเดีย กัมพูชา  ฟิลิปปินส์ ซึ่งเคยเป็นคู่สัญญาซื้อข้าวระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล (จี ทู จี) กับไทย ก็หันไปทำสัญญาซื้อข้าว จี ทู จี กับเวียดนามแล้ว สี่แสนตัน และอาจซื้อเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า สามแสนตัน และกำลังเจรจาซื้อข้าวกับกัมพูชา พม่า ด้วย นอกจากนี้มีข่าวจากวงการค้าข้าวว่า ผู้ส่งออกไทยสองสามรายได้ไปซื้อข้าวเวียดนาม ส่งออกตรงจากเวียดนามให้ลูกค้าในต่างประเทศแทนข้าวไทย โดยลดราคาลงบ้าง ซึ่งบางรายอาจมีเหตุจำเป็นต้องทำเพื่อรักษาลูกค้า
 

ความหวังที่ไทยจะรักษาตำแหน่งไว้ให้ได้ จากสถิติการส่งออกข้าวของปีนี้ สิ้นสุด ณ เดือนมีนาคม 2555  จากตัวเลขที่มีการประเมินไว้  ปรากฏว่า เวียดนามส่งออกเป็นอันดับสองไล่ตามหลังไทยมาห่างๆ อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ไทยจะรักษาตำแหน่งเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งเป็นปีที่ 33 ติดต่อกันยังมีอยู่สูง โดยไทยต้องใช้ความได้เปรียบใน ด้านคุณภาพของข้าวไทยที่มีคุณภาพดีกว่าคู่แข่งให้เป็นประโยชน์ คือ แม้ข้าวไทยจะแพงกว่าแต่มีคุณภาพดีกว่าสมราคา ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ เมื่อปลายปีที่แล้วติดต่อต้นปี 2555 การส่งออกข้าวนึ่งของไทยซบเซามาก เพราะผู้ซื้อหันไปซื้อจากอินเดียและปากีสถานที่ราคาถูกกว่าข้าวนึ่งไทย แต่บัดนี้ผู้ซื้อได้หันกลับมาซื้อข้าวนึ่งจากไทยดังเดิมแล้ว จนเป็นเหตุให้ช่วงนี้ ข้าวนึ่งในตลาดภายในประเทศขาดแคลนหาซื้อยาก โดยมีข่าวจากวงการข้าวว่า คุณภาพของข้าวนึ่งที่ซื้อจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่ไทย มีปัญหาเรื่องคุณภาพไม่เป็นที่ถูกใจของผู้บริโภค ประการต่อมาคือรัฐบาลต้องหาทางให้ผู้ส่งออกเอกชนสามารถจัดหาข้าวคุณภาพดี ที่สามารถเสนอขายให้ผู้ซื้อในราคาที่แข่งขันกับคู่แข่งได้ ส่วนรัฐบาลก็ต้องเจรจาขายข้าวระบบ จี ทู จี ให้ลูกค้าเก่าในราคาที่สามารถจูงใจให้หันกลับมาซื้อข้าวจากไทยเช่นเดิม วิธีการคือ บริหารจัดการโดยใช้
 

สต็อกข้าวของรัฐบาลที่มีอยู่ในคลังให้เป็นประโยชน์ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นหลัก และต้องยอมรับสภาพการขาดทุนอันเนื่องจากการรับจำนำในราคาที่สูงกว่าตลาดมาก      


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไทย รักษาตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่ง ได้หรือไม่

view