สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นิติบุคคลทำผิดผู้แทนนิติบุคคลต้องรับโทษด้วย : มีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญ

นิติบุคคลทำผิดผู้แทนนิติบุคคลต้องรับโทษด้วย : มีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




บรรดานิติบุคคลต่างๆ เช่น ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด เป็นบุคคลสมมติ ไม่มีตัวตน ไม่มีชีวิตจิตใจของตนเองโดยสภาพ
ไม่สามารถกระทำหรือดำเนินการอะไรด้วยตนเองได้ แต่มีบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้แทนหรือตัวแทนของนิติบุคคลนั้น เช่น หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วน กรรมการหรือผู้จัดการของบริษัท เป็นผู้กระทำและดำเนินกิจการแทน จึงมีปัญหาว่านิติบุคคลกระทำความผิดและต้องรับผิดทางอาญาได้หรือไม่ เรื่องนี้วงการนิติศาสตร์มีความเห็นเป็นสองแนว แนวหนึ่งเห็นว่านิติบุคคลไม่มีความรับผิดทางอาญา เพราะไม่มีตัวตน นิติบุคคลมีสิทธิหน้าที่ภายในวัตถุประสงค์ นิติบุคคลจะมีวัตถุประสงค์ทำความผิดทางอาญาไม่ได้   ลักษณะของโทษทางอาญา เช่น ประหารชีวิต จำคุก กักขัง เป็นโทษที่มีได้เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น อีกแนวหนึ่งเห็นว่านิติบุคคลต้องรับผิดทางอาญาได้ โดยมีการกระทำผ่านทางผู้แทนนิติบุคคล โทษทางอาญาบางอย่างมีได้เฉพาะบุคคลธรรมดาก็จริง แต่ยังมีโทษ ปรับ ริบทรัพย์สิน ที่สามารถลงโทษนิติบุคคลได้ การกระทำของนิติบุคคลที่กระทำภายในกรอบวัตถุประสงค์ ก็อาจเป็นการกระทำที่ผิดอาญาได้
 

แนวทางของกฎหมายไทยถือว่านิติบุคคลมีความรับผิดทางอาญาได้ ดังที่ปรากฏตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7 ที่กำหนดให้ส่งหมายเรียกบุคคลคดีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย กฎหมายบางฉบับก็ได้กำหนดให้ลงโทษนิติบุคคลไว้โดยตรง เช่น พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 แต่เดิมถึงแม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ศาลฎีกาก็เคยพิพากษาลงโทษนิติบุคคลมาแล้ว เช่น ลงโทษปรับบริษัทเจ้าของหนังสือพิมพ์ฐานหมิ่นประมาท ลงโทษปรับบริษัทที่ขนข้าวออกนอกเขตโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น
 

นอกจากนี้ ก็มีคำพิพากษาฎีกาวางเป็นแนวบรรทัดฐานไว้ว่า นิติบุคคลอาจรับผิดทางอาญาร่วมกับบุคคลธรรมดาได้ ถ้าการกระทำผิดทางอาญานั้น กรรมการดำเนินงานกระทำไปเกี่ยวกับกิจการตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลตามที่จดทะเบียนไว้ และเพื่อให้นิติบุคคลได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 584/2508) และก็ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยต่อมาในทำนองว่า ถ้ากรรมการได้กระทำการในนามบริษัทและการกระทำนั้นเป็นความผิด กรรมการนั้นต้องร่วมรับผิดเป็นการส่วนตัวกับบริษัทด้วย เช่น กรรมการผู้จัดการออกเช็คสั่งจ่ายเงินในนามบริษัท โดยเจตนาจะมิให้มีการใช้เงินตามเช็ค ถือได้ว่าร่วมกับบริษัทกระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ 63/2517) ผลิตและขายอาหารกระป๋องที่ไม่บริสุทธิ์และปลอม ศาลลงโทษบริษัทจำกัดนิติบุคคล และถือว่าเป็นการกระทำของกรรมการผู้จัดการผู้รับผิดชอบดำเนินการของบริษัทและลงโทษกรรมการผู้จัดการฐานร่วมกระทำความผิดนั้นด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ 1620/2508)
 

ตามระบบกฎหมายไทยนอกจากถือว่านิติบุคคลมีความรับผิดทางอาญาได้ กฎหมายจำนวนมากที่มีโทษทางอาญายังมีบทบัญญัติกำหนดไว้ด้วยว่า ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามกฎหมายนั้นเป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้แทนนิติบุคคล หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ตนมิได้มีส่วนรู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น ตามข้อมูลเบื้องต้นปรากฏว่า ปัจจุบันมีกฎหมายที่มีบทบัญญัติลักษณะดังกล่าวจำนวน  51 ฉบับ เช่น กฎหมายศุลกากร ประมวลรัษฎากร พระราชบัญญัติการบัญชี  พ.ศ. 2543 พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 เป็นต้น               


บทบัญญัติดังกล่าวเท่ากับเป็นบทสันนิษฐานของกฎหมายว่า กรรมการผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้แทนนิติบุคคล หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลนั้น เป็นผู้กระทำความผิดเช่นเดียวกับนิติบุคคลนั้นโดยโจทก์ไม่ต้องพิสูจน์อีก แต่ภาระการพิสูจน์ตกอยู่กับจำเลยจะต้องพิสูจน์ว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิดนั้น ทั้งนี้ น่าจะมาจากหลักความเป็นจริง คือ นิติบุคคลไม่มีตัวตน ไม่มีชีวิตจิตใจ การกระทำหรือการดำเนินการต่างๆ ของนิติบุคคลต้องกระทำหรือดำเนินการโดยบุคคลธรรมดา ที่เป็นผู้แทนหรือตัวแทนของนิติบุคคลนั้น การพิสูจน์การกระทำความผิดของนิติบุคคล ก็คือ การพิสูจน์จากการกระทำหรืองดเว้นกระทำของผู้แทนหรือตัวแทนของนิติบุคคลนั้น เมื่อพิสูจน์ได้ว่านิติบุคคลกระทำความผิดก็เท่ากับได้พิสูจน์แล้วว่ากรรมการผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้แทนนิติบุคคล หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลนั้นได้กระทำการอันเป็นความผิดจึงไม่ต้องพิสูจน์ซ้ำอีก แต่ก็เปิดช่องให้สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนเองไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด เช่น นิติบุคคลนั้นอาจมีกรรมการหรือผู้รับผิดชอบหลายคน ตนไม่มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นการกระทำนั้น เช่น ไม่ได้เข้าร่วมประชุมหรือคัดค้านในที่ประชุมกรรมการแล้ว เป็นต้น
 

บทบัญญัติดังกล่าวมีปัญหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากคดีที่ บริษัท เอเซี่ยน เจมส์ จำกัด และนายพิธาน เชี่ยวหัตถพงษ์ กรรมการผู้จัดการ ถูกพนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ฟ้องในฐานความผิดต่อพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองฎีกา นายพิธาน เชี่ยวหัตถพงษ์ จำเลยที่สอง ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาโต้แย้งว่า พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 54 ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามกฎหมายนี้เป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้แทนนิติบุคคล หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ตนมิได้มีส่วนรู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 39 วรรคสอง มาตรา 50 (5) ประกอบมาตรา 30 เพราะโจทก์ไม่ต้องนำสืบว่าจำเลยที่สองได้ร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคลจำเลยที่หนึ่งหรือไม่ แต่ผลักภาระให้จำเลยที่สองนำสืบว่ามิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคล ศาลฎีกาจึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
 

ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยที่ 12/2555 วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 54 เฉพาะในส่วนที่สันนิษฐานให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใด ที่รับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษทางอาญาร่วมกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลโดยไม่ปรากฏว่ามีการกระทำหรือเจตนาประการใดอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรคสอง เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ตามมาตรา 6
 

จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมมีผลไปถึงกฎหมายอีก 70 ฉบับที่มีบทบัญญัติลักษณะทำนองเดียวกันกับมาตรา 54 ของ พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ด้วย อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าบทบัญญัติดังกล่าวใช้ไม่ได้เฉพาะส่วนที่สันนิษฐานเท่านั้น ไม่ได้หมายความผู้แทนนิติบุคคลไม่ต้องรับโทษเลย  ดังนั้น หากโจทก์นำสืบได้ว่ากรรมการผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้แทนนิติบุคคล หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลนั้น ได้กระทำการแทนและเพื่อนิติบุคคลนั้น ครบองค์ประกอบของความผิดตามกฎหมายนั้น ก็อาจถูกลงโทษได้ในฐานเป็นผู้กระทำโดยส่วนตัว หรือร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้นตามแนวคำพิพากษาฎีกา ที่เคยวินิจฉัยไว้ดังกล่าวข้างต้น


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นิติบุคคลทำผิดผู้แทนนิติบุคคลต้องรับโทษด้วย มีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญ

view