สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ส.ส.เก๋า-ใหม่วิพากษ์รัฐสภาไทย จากมีน้ำใจไม่ต่อยสุดหมัด ถึงไม่ด่าไม่ลาไม่ไหว้ ช่างแม่มัน

จากประชาชาติธุรกิจ

นับตั้งแต่เกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ-รายงานปรองดอง ถูกโยนให้ถึงมือ "สภาผู้แทนราษฎร" ปรากฏการณ์-พฤติกรรมหลายอย่างของ ส.ส.ก็ถูกขุดคุ้ยให้ปรากฏชัดมากขึ้น

ทั้ง พฤติกรรมแอบหลับ เสียบบัตรแทนกัน ลากยาวไปถึงนั่งดูภาพอนาจาร ยิ่งทำลายความเชื่อมั่นในตัว "ผู้แทนราษฎร" ผู้ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเข้ามาทำงานแทนประชาชน

ทั้งหมดกลายเป็นลิ่มที่ตอกย้ำทำลาย "ภาพลักษณ์" ของรัฐสภาไทย สถานที่อันทรงพลังในการขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

"ประชา ชาติธุรกิจ" เปิดวงวิเคราะห์ สำรวจความเห็นจากคนวงใน 2 พรรค 2 ฝ่าย ทั้ง ส.ส.ยุคเก่า ไตรรงค์ สุวรรณคีรี, สุนัย จุลพงศธร และ ส.ส.หน้าใหม่ รัชดา ธนาดิเรก และจิรายุ ห่วงทรัพย์

พวกเขามองอย่างไรในวันที่ภาพลักษณ์รัฐสภากลายเป็นประเด็นสังคม ติดตามได้ตั้งแต่บรรทัดต่อจากนี้

ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ผู้แทนฯรุ่นลายครามของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มองสถานการณ์ปัจจุบันว่า นี่คือความตกต่ำของสภาไทย !

"วันนี้ สภามันแตกต่างกันเยอะ ไม่ใช่แค่ผม แต่ผู้แทนรุ่นเก่า ๆ ก็ไม่สบายใจ สมัยก่อนเราเล่นการเมืองแบบอังกฤษ เป็นระบบหลายพรรคแข่งขันกัน ก็เป็นที่รู้กันว่าจะปราศรัยในสภาหรือนอกสภาก็ไม่เคยด่ากันรุนแรงเหมือนสมัย นี้ มีแต่หยอกล้อให้คนฟังได้หัวเราะ บางทีคนที่ถูกด่ายังขำกับเราด้วยซ้ำไป"

เขาบอกว่า ปัจจุบันนักการเมืองแต่ละขั้วจ้องด่ากันอย่างเอาเป็นเอาตาย จนบางครั้งหลงลืมสิ่งสำคัญใกล้ตัว อย่างเช่น "น้ำใจนักการเมือง"

"เมื่อก่อนผมไปหาเสียงภาคอีสาน

ยุค นั้นพรรค ปชป.แข่งกับพรรคกิจสังคม ครั้งหนึ่งเหลือเวลาอีก 7 วันก่อนเลือกตั้ง พรรคเราหมดเงินแล้ว ไม่มีเงินเติมน้ำมันแล้ว ยังไปขอผู้อำนวยการพรรคกิจสังคมว่าขอเงินเติมน้ำมันหน่อย เขาก็หาเงินให้เรา ก็ได้ปราศรัยกันต่อจนครบกำหนด

นี่คืองานการเมืองแบบมีน้ำใจต่อกัน"

"ไตรรงค์" บอกว่า ยิ่งเมื่อมองลงลึกไปในรายละเอียดถึงการอภิปรายในรัฐสภา นักการเมืองรุ่นเก่า-เก๋า ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็ไม่เคยต่อยกันสุดหมัด

"ทะเลาะกันใน สภาเสร็จก็ออกไปกินข้าวกันเป็นเรื่องปกติ การทำงานมีค้านมีติติงกันบ้างตามหน้าที่ ไม่โกรธไม่เกลียดกัน แต่เดี๋ยวนี้มันด่ากันตั้งแต่เริ่มหาเสียงแล้ว ด่ากันแบบไม่เลี้ยง"

"ขนาด นักการเมืองผู้ใหญ่บางคนบางพรรคเวลามีอะไรไม่เห็นด้วยยังอุทานออกมาว่า ช่างแม่มัน เมื่อก่อนเราไม่พูดกันอย่างนั้น มันต้องรักษาน้ำใจกัน นักการเมืองทำงานมันเจอหน้ากันตลอด ถ้าไม่มีการยั้งปากอย่างนี้ เจอหน้าก็ไม่ลาไม่ไหว้กัน โกรธและเกลียดกันจะเป็นจะตาย"

เขาบอกว่า พฤติกรรมการแอบหลับ-เสียบบัตรแทนกัน เป็นอาการที่ถูกเพาะเลี้ยงมาจากความเบื่อหน่ายในการนั่งฟังอภิปราย เพราะทุกวันนี้ ส.ส.คิดว่าได้พูดนานถือว่าเป็นฮีโร่ เป็นค่านิยมเกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

"มันผิดปกติตรงที่สภา ไทยหลับมากกว่าประเทศอื่น เพราะเราชอบคิดว่าใครพูดเป็นชั่วโมงจะเป็นคนเก่ง คุณไปดูที่อื่นวัฒนธรรมเรื่องเวลามันสำคัญ เขาก็เลยพูดกันแต่ประเด็น ส่วนรายละเอียดก็แจกเป็นข้อมูลไป ใครอยากได้ก็ไปติดต่อเอา"

"ผมไป ฟังที่อังกฤษ แคนาดา ญี่ปุ่น อเมริกา และออสเตรเลีย แม้แต่อภิปรายไม่ไว้วางใจเขาก็พูดกันคนละ 10 นาทีเอง เขาไม่บ้าน้ำลายเหมือนบ้านเรา คิดว่าพูดนานแล้วจะเก่ง มันบ้าบอคอแตกมาก คุณต้องเห็นใจคนฟังนะ ฟังอะไรที่มันไร้สาระและไม่ได้ความรู้เนี่ย นอนหลับยังดีกว่า"

"สภามันมีค่ามากนะ ปัญหาประชาชนมีมากมาย จะมานั่งพ่นน้ำลายอย่างนี้ได้อย่างไร นี่ 2-3 อาทิตย์ยังมัวแต่พ่นน้ำลายอยู่ ยิ่งถ้าถ่ายทอดสดทีวียิ่งพูดกันใหญ่ อยากโชว์หน้า อยากหาเสียง นี่ล่ะที่ผมว่าสภามันแย่"

บรรทัดสุดท้าย จากการวิเคราะห์ของ "ไตรรงค์" ระบุว่า จุดเปลี่ยนการเมืองไทยเริ่มต้นตั้งแต่ชายที่ชื่อ "ทักษิณ ชินวัตร" ตัดสินใจเข้ามาเล่นการเมือง

"เขา (พ.ต.ท.ทักษิณ) เคยพูดกับคุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) ครั้งหนึ่งว่า ต้องการให้มีพรรคการเมืองเดียวเหมือนสิงคโปร์ ถ้าเป็นอย่างที่พูดใครไม่เห็นด้วยกับเขาก็ต้องล้างผลาญกันให้หมด และเดี๋ยวนี้มีนายทุนเข้ามามีส่วนในการเมืองมาก เอาเงินมาทำลายความ royalty ในแต่ละพื้นที่ ก็เงินมันง้างได้ทุกอย่าง"

"เมื่อก่อนใครจะเป็น ส.ส.มันต้องใจรัก ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ ลงทำพื้นที่กับประชาชน แต่นักการเมืองเดี๋ยวนี้ทำอะไรไม่เกรงใจชาวบ้าน มันก็เหมือนกับการซื้อกะปิ ให้เงินเขาแล้วคุณต้องเกรงใจแม่ค้าไหม ก็ไม่ต้อง แต่ถ้าไปแบมือขอกะปิฟรี ๆ มันก็อีกเรื่องนะ ทำอะไรก็ต้องเกรงใจ ต้องคิดว่าภาพลักษณ์จะเป็นไง เพราะนี่คือเสียงบริสุทธิ์ เราเป็นหนี้บุญคุณคนที่เลือกเรา"

สุนัย จุลพงศธร พรรคเพื่อไทย

ที่ สวมหัวโขนผู้แทนฯตั้งแต่ปี 2538 เป็น 1 ใน ส.ส.ที่พรรคเพื่อไทยวางตัวเป็นผู้เดินเกมหลักในสภา ต่อกรกับ ปชป.ที่เชี่ยวชาญการประชุม

เขาเทียบพฤติกรรมกดบัตรแทนกันใน ปัจจุบันกับครั้งอดีตว่า "ดั้งเดิมมันไม่มีเทคโนโลยี อย่างเมื่อก่อนใช้ม้าเดินทาง พอมีรถเดินทางได้เร็วกว่ารถม้า แต่อุบัติเหตุก็ตายมากกว่า เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าสรรพสิ่งมีสองด้าน เมื่อมีดีมันก็มีร้าย ฉันใดก็ฉันนั้น"

"สุนัย" ยอมรับว่า ในอดีตก็มีเหตุการณ์คล้ายเสียบบัตรแทนกัน แต่เป็นแค่ดิสเครดิตกันธรรมดา ไม่ได้มุ่งเพื่อหักล้างทางการเมือง

"ส.ส.ใน อดีตเขาใช้วิธียกมือ แต่มีข้อด้อยในการนับคะแนนมักมีนับผิดนับถูก จึงเปลี่ยนมาเป็นการกดบัตร ทำให้เกิดช่องทางฝากบัตรได้ มันก็ฝากกันทั้งสองฟากนั่นแหละ"

ส่วนการอภิปรายที่ใครหลายคนว่า"บ้าน้ำลาย-ไร้สาระ" เขามองว่าผลสุดท้ายทำให้การประชุมไร้เหตุไร้ผล

"อย่าง ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีทั้งกลุ่มที่ต้องการให้แก้และไม่ต้องการให้แก้ คนที่ไม่เห็นด้วยก็พยายามดึงเวลาไม่ให้มันจบ หาช่องว่าง หาข้อด้อยไปเรื่อย"

สุดท้ายเมื่อถามถึงพฤติกรรมของบรรดาผู้ทรงเกียรติทั้งเล่น โทรศัพท์-แอบหลับในห้อง "สุนัย" มองว่า "การใช้เทคโนโลยีใหม่เป็นดาบสองคม ปฏิเสธมันไม่ได้ หน้าที่ของเราคือต้องดูให้เรียบร้อย ใช้มันให้ถูกต้องก็เท่านั้น"

ขณะเดียวกันทางฟาก "ส.ส.หน้าใหม่" ที่เพิ่งสัมผัสการทำงาน-บรรยากาศในรัฐสภาเพียงไม่กี่ปี ต่างก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันออกไป

รัช ดา ธนาดิเรกแห่ง ปชป. ที่เพิ่งทำงานการเมืองได้เพียง 5 ปีมองว่า ทั้งหมดคือธรรมชาติของนักการเมือง ไม่ได้น่ารังเกียจ แต่ต้องช่วยกันปรับปรุงให้ดีขึ้น

"ทุกวันนี้ที่มีกระแสข่าวเรื่องภาพ ลักษณ์ของรัฐสภา มองอีกด้านก็เป็นเรื่องดี ต่อไปนี้ทำให้ ส.ส.ต้องระมัดระวังตัว เราต้องไม่มองแง่ลบว่าเขาจะจับผิดเรา อย่าลืมว่าประชาชนคาดหวังกับเรา"

"อย่างแอบหลับในสภา ดิฉันเข้าใจว่าไม่มีใครจะมีสภาพทนฟังได้ 24 ชั่วโมงหรอก ก็ต้องมีพักผ่อนกันบ้าง แต่เดี๋ยวนี้ ส.ส.ไม่ระวังตัว คิดจะทำอะไรก็ทำ"

"รัชดา" บอกว่า อีกหลายการกระทำก็เป็นสิ่งที่ ส.ส.ต้องปรับปรุงเพื่อภาพลักษณ์ของรัฐสภาด้วย

"เพื่อ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสภา ทุกคนต้องมองทั้งเรื่องประเด็นการอภิปรายในสภา และการแต่งตัวให้เหมาะสมด้วย เพราะบางคนก็แต่งตัวบ้า ๆ บอ ๆ มาทำงาน มันต้องช่วยกันสร้างบรรยากาศให้สมกับเป็นสภาผู้ทรงเกียรติจริง ๆ"

"ดิฉัน เข้าใจว่าแต่ละคนมีวิธีการนำเสนอในรูปแบบของตัวเอง บางคนก็ต้องมีลีลา ถ้าวันนี้คนส่วนมากไม่ชอบพฤติกรรมนักการเมืองแบบใดก็ต้องออกมาวิพากษ์ วิจารณ์กันเยอะ ๆ เพราะเราเป็นสินค้าทางการเมือง ถ้าตลาดไม่รับไม่ชอบ เราเองก็ต้องปรับ ถ้าตราบใดที่ตลาดยัง

ตื่นเต้นกับสิ่งเหล่านี้ เราก็ยังคงเห็นพฤติกรรมพวกนี้อยู่ดี"

สุด ท้าย "รัชดา" บอกว่า หลายพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก็เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ แต่ในทางกลับกันหากจะให้ความเป็นธรรมกับ ส.ส. ก็อย่าตัดสินใจรักหรือไม่รักกับพฤติกรรมเพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราว

"การตัดสินใจเลือก ส.ส.คนนี้หรือไม่ เพียงแค่ว่าเขาหลับในสภาหรือเสียบบัตรให้กัน จะมาดูกันแค่นั้นไม่ได้

แต่ต้องดูการดูแลประชาชน ดูนโยบายพรรค อย่าตัดสินแบบนั้นก็จะไม่เป็นธรรมกับ ส.ส."

"พวก เราก็เหมือนนักแสดง เวลาที่ประชาชนเห็นเล่นบทกรี๊ดกร๊าด ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนไม่ดีเสมอไป แต่นั่นคือบท นักแสดงที่เห็นว่ามีค่าตัวแพงต่อฉาก ถามว่าเขาไปทำงานสายก็มี แอบหลับในเวลางานก็มี แต่ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นคนไม่ดี ดังนั้นอย่าตัดสินอะไรเพียงแค่สิ่งที่คุณเห็น เพราะสุดท้ายคนที่ตั้งใจทำงานการเมืองจริง ๆ หลายคนคือคนที่เสียสละมากกว่า"

จิ รายุ ห่วงทรัพย์ อดีตผู้สื่อข่าว ที่ผันมาเป็นนักการเมืองสวมเสื้อคลุมผู้แทนราษฎรสมัยแรกในนามพรรคเพื่อไทย ยอมรับว่า เมื่อครั้งถือสมุดจดข่าวแวะเวียนมารัฐสภานับ 10 ปี มองเห็นวัฒนธรรมการเมืองทั้งแบบเก่า-ใหม่ แต่วัฒนธรรมทั้ง 2 ยุคไม่สามารถนำมารวมกันได้ทั้งหมด

"ผมมาสภาเป็น 10 กว่าปี ในฐานะที่เป็นผู้สื่อข่าว แต่ไม่ได้เข้าไปเป็นคู่กรณี พอเข้ามาอยู่ในนั้น ผมรู้สึกว่าเหตุการณ์ที่ ส.ส.ปะทะกันมันเบากว่าที่คิดไว้

แต่เวลานี้การด่ากันต้องใช้ข้อมูล หลักฐาน อย่างเรื่องการตรวจสอบทุจริตกล้อง CCTV ผมอภิปรายจากข้อมูลที่มีหลักฐาน มีเหตุผล"

ภาพการอภิปรายดุเดือดระหว่าง ส.ส. 2 ขั้ว พรรคเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์

หลายครั้งด่ากันด้วยถ้อยคำหยาบคาย แต่ "จิรายุ" มองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก

"ไม่ ใช่เรื่องแปลกใจ การด่ากันเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สุด เพราะสภาแปลว่าที่พูด ดีกว่า ส.ส.หรือ ส.ว. มาด่ากันข้างนอก เพราะมันไม่ใช่ประชาธิปไตย ประเทศเราไม่มีการไฮด์ปาร์กเหมือนในประเทศอังกฤษ แต่ที่ด่ากันในสภามันเป็นเรื่องของนิติรัฐ เป็นเรื่องที่สง่างาม"

"จิ รายุ" บอกว่า แม้จะต่อสู้กันในสภาอย่างดุเดือด แต่ทุกครั้งก็ไม่เคยคิดจะต้องโกรธเกลียดกัน แม้หลายครั้งจะมีการพูดกันในหมู่ ส.ส.การเมืองยุคนี้เล่นแรงชนิดผีไม่เผา-เงาไม่เหยียบ จบอภิปรายต้องลงบันไดกันคนละฝั่ง

"ผมเป็นตัวอย่าง บางคนผมโกรธ ยอมรับว่าโกรธคุณรังสิมา ผิดหวัง ความรู้สึกผมคิดว่าคุณรังสิมาน่าจะมีเหตุผล

หลักฐาน แต่โอ๊ะ คนนี้ไม่มีราคา ไม่ใช่คนตามเทรนด์ เอาเสียงดังเข้าว่าเหมือนตลาดสด"

ทั้งหมดเป็นเสียงสะท้อนจาก "คนใน" ในวันที่ภาพลักษณ์รัฐสภาไทยที่นับวันมีแต่จะถอยหลังลงคลอง


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ส.ส.เก๋า-ใหม่ วิพากษ์รัฐสภาไทย มีน้ำใจ ไม่ต่อยสุดหมัด ถึงไม่ด่า ไม่ลา ไม่ไหว้ ช่างแม่มัน

view