สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ร่างรธน.ใหม่อย่าใช้เสียงข้างมากอย่างเดียว

จากสำนักข่าวอิสรา

   24042012003

วาระหนึ่งที่สังคมไทยเรียกร้องอยากเห็น คือ ความปรองดอง แต่จนแล้วจนรอดการสร้างปรองดองก็ยังไม่เกิดขึ้น เพราะหลายครั้งหลังโต๊ะเจรจาก็มักมาพร้อมกับความความขัดแย้งเพิ่มขึ้น

หลังน้ำลดดูเหมือนบรรยากาศทางการเมืองจะเริ่มกลับมาชื่นมื่นทุกอย่าง เริ่มลดดีกรีความรุนแรงลง ทว่ากลับมีปรากฏการณ์ที่อาจจะเป็นการสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้น ทีมงาน “ไทยรีฟอร์ม” พูดคุยกับ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิบการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอาจารย์ผู้สอนกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ภาควิชา นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อสะกดรอยความขัดแย้งก่อนอุณหภูมิความขัดแย้งจะอะไรขึ้น

-มีการเรียกร้องให้สังคมเกิดการปรองดองมาโดยตลอด ล่าสุดสถาบันพระปกเกล้าได้เสนอทางออกหลายข้อที่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่า จะมีทางออกเป็นอย่างไร สังคมไทยมีแนวทางที่จะสร้างความปรองดองหรือไม่

การปรองดองกันในสังคมที่มีความขัดแย้งแตกแยก สิ่งที่เป็นคำตอบเพื่อให้เกิดการปรองดอง สำคัญน้อยกว่าวิธีการที่จะนำไปสู่คำตอบ แต่เราสนใจแต่คำตอบ  ถ้าพูดอย่างไม่เกรงใจ คือ สังคมไทยเป็นสังคมที่ชอบของวิเศษ เราคิดว่า มีคำตอบนี้แล้วจะ นำมาใช้ได้ทันที รัฐธรรมนูญไทยจึงเต็มไปด้วยของวิเศษ

ครั้งหนึ่งเราเชื่อว่า ถ้ามีศาลรัฐธรรมนูญแล้วจะดี มีปปช. กกต.แล้วจะดี รัฐธรรมนูญไทยจึงเต็มไปด้วยของวิเศษ แต่ไม่ใช่ว่า พอมีแล้วจะดีขึ้นได้ ดังนั้นการจะปรองดองอย่างไร วิธีการหาคำตอบต่างหากที่สำคัญกว่า

เพราะการปรองดอง คือ การเอาคนสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันมาคุยกันให้ได้และยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่าย เราต้องคิดว่า เราจะมาอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกันและเดินหน้าต่อไปอย่างไร ซึ่งงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าก็มีคำตอบเสนอมาเลย แต่มีคนไม่เห็นด้วยกับคำตอบ จึงไปต่อไม่ได้ ต่อให้มีการเสนอให้คุยกัน แต่กลายเป็นว่า การให้คุยกันไม่ใช่เรื่องเด่น เรื่องที่เด่นจึงกลายเป็นข้อเสนอให้นิรโทษกรรมและการยกเลิกคดี คตส. แนวทางนี้คนอีกข้างไม่เห็นด้วย มีแต่คนที่อยู่ฝ่ายคุณทักษิณ (ชินวัตร) เห็นด้วย อย่างนี้จะเรียกว่า ปรองดองได้อย่างไร ต่อให้เรื่องเหล่านี้อาจจะเป็นหนทางหรือเป็นคำตอบจริงๆ หรือไม่ก็ตาม แต่การปรองดองต้องเป็นวิธีที่ทำให้เกิดการยอมรับกันให้ได้จึงจะเกิดการ ปรองดองขึ้น

-แสดงว่า จุดอ่อนข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า อาจจะเป็นการเสนอให้ยกเลิกคดีคตส.และคดีที่เกี่ยวเนื่องมาเป็นข้อเสนอ

ผมว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะเสนอ ควรเสนอแค่วิธีการให้ได้มาซึ่งคำตอบ พอบอกคำตอบปุ๊บ คนที่ไม่เห็นด้วยจึงไม่ยอม

-ควรเสนอเฉพาะการเปิดเวทีคุยกัน ไม่ควรเสนอเรื่องอื่น

เรื่องนี้เป็นวิธีการ สถาบันพระปกเกล้าก็มี แต่ดันเอาคำตอบมาด้วย พอกรรมาธิการปรองดองเลือกคำตอบที่สถาบันปกเกล้าเสนอมาจะไปว่า กรรมาธิการก็ลำบาก เพราะเขาเลือกตามที่เสนอเข้ามา ถ้าเรื่องนี้จะทำให้เกิดความแตกแยกก็ไม่ควรเสนอตั้งแต่ต้น

-ในงานวิจัยก็มีหลายทางเลือก เช่น การใช้กระบวนทางกฎหมายเพื่อให้เกิดการปรองดองด้วยการออกพระราชบัญญัติ

ก็นั่นไงที่ทำเป็นการสนใจคำตอบมากกว่ากระบวนการ ซึ่งทำให้เรากำลังจะทะเลาะกันมากขึ้น ผมว่า ก่อนที่จะเกิดเรื่องนี้สังคมไทยก็มีความอดทนกันมากขึ้น ต้องเข้าใจความหมายก่อนว่า เราไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน การปรองดอง คือ เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ท่ามกลางความขัดแย้งและความแตกต่าง ระบอบประชาธิปไตยต้องยอมรับความแตกต่าง ไม่ใช่เปลี่ยนอีกคนให้คิดเหมือนเรา การจะเปลี่ยนคนเลือกพรรคเพื่อไทยให้มาเลือกพรรคประชาธิปัตย์ หรือการเปลี่ยนคนเลือกพรรคประชาธิปัตย์มาเลือกเพื่อไทยมันทำไม่ได้ แต่คนที่เลือกทั้งสองพรรคต้องเคารพซึ่งกันและกัน นี่คือ ความปรองดอง คือ แตกต่างแต่อยู่ร่วมกันได้

ผมคิดว่า ถ้าไม่มีการเสนอแนวคิดเรื่องปรองดอง เราไม่ทะเลาะกันรอบใหม่และถ้าไม่มีการเสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่เราก็มีความ อดทนกันมากขึ้นแล้ว เพราะวิธีการจะปรองดองเมื่อเสนอมาแล้วอีกฝ่ายไม่เอาด้วยนี่แหละทำให้เกิดการ เถียงกัน

ตอนนี้ผมเห็นว่า มี 3 เรื่องที่จะนำไปสู่ความไม่ปรองดอง คือ 1.การออกพรบ.ปรองดองที่จะมีเนื้อหานิรโทษกรรม เพราะฝ่ายไม่เห็นด้วยก็จะไม่ยอม 2.การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะการใช้เสียงข้างมากอย่างเดียวโดยไม่รับฟังเสียงข้างน้อยก็จะทำให้เกิด ปัญหาขึ้น ถ้าใช้อย่างนั้นก็จะเป็นระบอบพวกมากลากไป สุดท้ายจะเป็นเผด็จการเสียงข้างมาก เพราะเสียงข้างมากอย่างเดียวไม่ได้แก้ความขัดแย้ง

เราเห็นตัวอย่างการใช้เสียงข้างมากอย่างเดียวในอเมริกามาแล้วในสมัยที่ อับบราฮัม ลินคอล์น ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีที่เขาไม่ได้เสียงทางฝ่ายใต้เลย มีแต่รัฐทางฝ่ายเหนือ แต่ทางฝ่ายเหนือรัฐมีประชากรมากกว่าจึงชนะการเลือกตั้ง สาเหตุที่รัฐฝ่ายใต้ไม่เลือกลินคอล์น เพราะไม่ต้องการเลิกทาส รัฐฝ่ายใต้จึงไม่เลือกลินคอล์น พอลินคอล์นชนะเลือกตั้งก็ผลักดันนโยบายเลิกทาสทำให้รัฐฝ่ายใต้ไม่พอใจและขอ แยกประเทศจนเกิดสงครามกลางเมืองและมีการรบกันอยู่ 5 ปี ตายไป 6 แสน 5 หมื่นคน สุดท้ายก็กลับมารวมชาติกันใหม่ได้

“อย่าคิดว่า มีเสียงข้างมากอย่างเดียวแล้วจะดี ถ้าเสียงข้างมากอย่างเดียวแล้วบังคับให้เสียงข้างน้อยยอมรับ ถ้าเรื่องมันขัดแย้งกันมาก เขาจะไม่ยอมรับแล้วจะทำให้เกิดความขัดแย้งกว่าเดิม รัฐธรรมนูญอย่าใช้เสียงข้างมากอย่างเดียว เพราะเราจะได้รัฐธรรมนูญที่เสียงข้างน้อยก็ไม่รับ ประชาธิปัตย์ก็ไม่รับ ฝ่ายต่อต้านก็ไม่รับ สุดท้ายก็จะยุติปัญหาไม่ได้และอาจจะกลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 กลับข้างเท่านั้น ความขัดแย้งก็ไม่จบ ก็จะกลายเป็นกติกาของผู้ชนะข้างเดียว

ส่วนเรื่องที่ 3 คือ การที่คุณทักษิณจะกลับเมืองไทย เรื่องนี้จะเกี่ยวพันกับข้อที่หนึ่ง ผมหมายถึงว่า ถ้าไม่มีสามเรื่องนี้ เราจะไม่ฆ่ากันรอบใหม่ เราอาจจะขัดแย้งกันอยู่ แต่จะไม่ฆ่ากัน ถ้าจะปรองดองกันต้องไม่ขัดแย้งกันหนักกว่าเดิม

-กำลังบอกว่า อย่าเพิ่งปรองดอง ต้องถอยหลังกลับไปก่อนที่สถาบันพระปกเกล้าจะเสนองานวิจัยหรือเปล่า

ผมไม่บอกว่า อย่าให้มีการปรองดอง แต่กำลังบอกว่า ต้องสร้างกระบวนการให้ความแตกต่างสามารถอยู่กับความขัดแย้งได้ ความปรองดองไม่ใช่การเจ๊ากันหมด ไม่ใช่ข้างหนึ่งชนะเพราะมีเสียงมากกว่า อย่างนี้ก็ไม่ใช่ หรือความปรองดองไม่ใช่ว่า เสียงข้างน้อยไม่ฟังเสียงข้างมากเลย อย่างนี้ก็ไปไม่ได้ แต่ความปรองดอง คือ ความขัดแย้งสามารถอยู่ด้วยกันอย่างแตกต่างได้ ถามว่า ตอนนี้เรามีไหม ผมเห็นว่าเรามีมากกว่าเดิม เรามีความอดทนมากขึ้น เราสามารถคุยเรื่องการเมืองบนโต๊ะกินข้าวได้ หรือมีความอดทนกับคนที่ใส่เสื้อต่างสีกันมากขึ้นกว่า 5 ปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งสามเรื่องนี้ผมเห็นว่า จะนำมาสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ แต่ทั้งสามเรื่องนี้รัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะเป็นกติกาสูงสุดที่ต้องสร้างให้อยู่ร่วมกันให้ได้เหมือนกติกาการแข่ง ขันกีฬาที่ผู้แข่งขันทั้งสองยอมรับกติกา แต่ตอนนี้รัฐธรรมนูญเป็นกติกาของคนข้างเดียว คนเสื้อแดงที่เป็น 42 เปอร์เซ็นต์ก็เป็นเสียงที่ไม่รับรัฐธรรมนูญปี 50 เปรียบเหมือนนักบอลที่จะมาแข่งไม่ยอมรับกติกาจึงแข่งบอลกันไม่ได้ ประชาธิปไตยเราก็ตีบตัน ดังนั้นการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการยอมรับจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และมันต้องเป็นครั้งสุดท้ายของประเทศไทยเสียที การร่างใหม่ก็มีเหตุผล แต่การร่างใหม่ที่ใช้เสียงข้างมากอย่างเดียวก็จะทำให้รัฐธรรมนูญกลับมาเป็น แบบเดิมเพียงแต่กลับข้าง

-แต่ท้ายสุดพรรคเพื่อไทยก็จะใช้เสียงข้างมากเลือก สสร.และร่างรัฐธรรมนูญไปตามที่กำหนดไว้อยู่ดี มีข้อเสนอแนะที่น่าจะรัดกุมกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

พรรคเพื่อไทยต้องตระหนักให้มากว่า การใช้เสียงข้างมากอย่างเดียวแก้ความขัดแย้งไม่ได้ ผมคิดว่าข้อสำคัญ คนที่จะมาเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ต้องห้ามกลับมาดำรงตำแหน่ง ส.ส.หรือ ส.ว.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ทั้งในองค์กรอิสระหรืออะไรก็ตาม 3-5 ปี เพื่อให้ตัดความได้เสียออกจากการร่างรัฐธรรมนูญ มิฉะนั้นเราก็จะได้ ส.ส.ร.ที่เป็นคนที่มีส่วนเกี่ยวโยงกับฝ่ายการเมือง ถ้ามีกติกาอย่างนี้ คนที่จะเข้ามาเป็น ส.ส.ร.ก็จะคิดมากขึ้น ถ้าเขาหวังเล่นการเมืองหลังจากนี้ เขาก็จะไม่มา แปลว่า เราจะได้ ส.ส.ร.ที่ไม่มีส่วนได้เสีย เพราะหลักการร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องไม่มีส่วนได้เสีย

-มีความน่ากังวลอย่างอื่นต่อการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้หรือไม่

ถ้าจะมีการร่างใหม่ก็ขอให้เป็นครั้งสุดท้าย ถ้าทำไม่ได้อย่าร่างเลย แค่แก้ไขเพิ่มเติมปี 2550 ก็พอ ถ้าถามผม ผมคิดว่า การร่างใหม่ก็ดี เพราะปี 2550 มันแก้เรื่องที่มาไม่ได้และมีความหนาเกินไป หนากว่า 44,000 คำ ทำให้ใช้งานยาก ประชาชนไม่เข้าใจกติกา รัฐธรรมนูญในประเทศที่ประสบความสำเร็จในระบอบประชาธิปไตยก็มีความหนาเพียง 1 หมื่นคำเท่านั้น

ถามว่า การเล่นฟุตบอลทำไมกรรมการไม่กล้าตัดสินให้ผิดจากกติกา เพราะคนดูเข้าใจกติกา ถือว่า เกมขึ้นอยู่กับคนดูด้วย ถามว่า ทำไมคนดูถึงเข้าใจกติกา กติกามีน้อยและไม่ซับซ้อน

ระบอบประชาธิปไตยของวิเศษที่สุด คือ ประชาชน เพราะจะคอยตรวจสอบนักการเมือง กติกาหนาเกินไปประชาชนก็ไม่รู้กติกา ถ้าต้องการให้เป็นฉบับสุดท้ายร่างใหม่ก็ดี

-มีข้อเสนอสำหรับการร่างไหมว่า ควรจะร่างไปในทิศทางใดหรือปรับแต่งหมวดไหน

อย่าเพิ่งไปคิดอย่างนั้น ต้องคิดว่า รัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุดให้คนอยู่ร่วมกันให้เป็นการปกครองโดยประชาชน อเมริกาทำไมเขาถึงสามารถเรียนรัฐธรรมนูญได้ตั้งแต่ ป.6 เพราะรัฐธรรมนูญเขามีแค่ 7 พันคำ แต่ของเราคนร่างก็ยังจำไม่ได้ ถ้ามีปัญหาก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ผมสอนหนังสือ 2 เทอม ทั้งวิชากฎหมายมหาชนและวิชารัฐธรรมนูญก็ยังเรียนได้เฉพาะมาตราหลักๆ เพราะมีความหนาเกินไป ดังนั้นต้องตั้งหลักก่อนว่า รัฐธรรมนูญที่ดีต้องเป็นฉบับที่ไม่หนาเกินไป ควรเป็นฉบับสุดท้ายเสียที

-แล้วมีทางออกสำหรับคุณทักษิณหรือไม่

ผมจะพูดความเป็นไปได้ทางกฎหมายมากกว่า แต่นี่ไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูป ในทางกฎหมายสามารถใช้กระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษได้ ซึ่งทำได้เฉพาะคดีที่จบไปแล้วเพียงคดีเดียว คือ คดีที่ดินรัชดาภิเษกเท่านั้น แต่จะไม่คลุมอีก 4 คดีที่ตอนนี้ศาลจำหน่ายคดี เพราะจำเลยอยู่ระหว่างการหลบหนี  การอภัยโทษ หมายถึง การที่ศาลพิพากษาเพราะมีความผิดและลงโทษแล้ว

คดีที่ศาลยังไม่พิพากษาถือว่าคุณทักษิณยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จึงมาขอ อภัยโทษไม่ได้ ต้องใช้วิธีการนิรโทษกรรม ซึ่งนิรโทษกรรมแปลว่า “กรรม” อันเป็น “โทษ” ก็ “นริ” เสีย นั่นแปลว่า กรรมที่เป็นโทษก็ยกเลิก เท่ากับไม่ได้ทำ ดังนั้นจึงแก้ได้หมดทุกขั้นตอน เท่ากับไม่ได้ทำ ก็จบเลย มันอยู่ในชั้นไหนก็สามารถนิรโทษกรรมได้หมด นั่นคือ ได้ทุกคดี ที่ทำไปเท่ากับไม่ได้ทำ สิ่งที่คุณทักษิณทำไปเท่ากับไม่เคยเกิดขึ้น ไม่ต้องเถียงว่า ผิดหรือไม่ผิด พอนิรโทษแล้วก็เท่ากับไม่ได้ทำ อันนี้จะคลุมทุกอย่างได้ แต่ใช้เมื่อไหร่ก็ถูกประท้วงเมื่อนั้น

อีกทางหนึ่งสามารถเขียนได้ในรัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาล เช่น คดีที่เกิดขึ้นหลังรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ไม่ให้มีผลทางกฎหมาย เขียนแค่ประโยคเดียวก็มีผลเลย แต่วิธีนี้ก็มีผลเดียวกับพรบ.ปรองดองที่ฝ่ายต่อต้านก็จะไม่รับและจะเกิดความ ขัดแย้งรอบใหม่ แต่วิธีนี้จะช้า เพราะกว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็คงปีหน้า ส่วนพรบ.ปรองดองจะเร็วกว่า

ในมุมคุณทักษิณก็คงจะรู้สึกว่า 19 กันยาฯ 49 ไม่ชอบธรรม ถือเป็นบทเรียนของสังคมไทยว่า รัฐประหารหรือยึดอำนาจต้องหมดไปจากสังคมไทย เพราะตอนนั้นคุณทักษิณอยู่ในช่วงขาลง แต่เกิดการรัฐประหาร คราวนี้จะทำอย่างไร เพราะคุณทักษิณก็บอกว่าไม่ถูกต้อง จะให้ผมกลับมาติดคุกก็คงไม่ได้

“ผมจึงมองว่า หากจะลองให้มีทางพอที่จะเป็นไปได้ เช่น คุณทักษิณกลับมาสู้คดีได้ไหม โดยเรื่องคดีที่จบไปแล้วก็ให้ขอพระราชทานอภัยโทษ ส่วนอีก 4 คดีก็มาสู้คดี ไม่ใช่เลิกหมด แต่ที่ คตส.ทำไว้จะทบทวนใหม่เพื่อให้เกิดการรับได้ ข้อเสนอแบบนี้คนกลางๆ ก็พอรับได้ ผมย้ำอีกครั้งว่า ที่พูดไปนั้นเป็นแค่ตัวอย่างที่ให้สองฝ่ายรับได้ ถ้าเสนอว่า ให้คุณทักษิณมาติดคุกก่อนคุณทักษิณก็ไม่มีทางยอม แต่การที่คุณทักษิณบอกว่า ต้องเลิกทุกคดี ฝ่ายต่อต้านคุณทักษิณก็ไม่มีทางยอม มันมีทางที่พอรับกันได้ไหม แต่ผมว่า เรื่องที่น่าจะดีที่สุด”

ผมเสนอว่า ปีนี้คุณทักษิณอย่าเพิ่งกลับเมืองไทยเลย หมายถึงว่า อย่าเพิ่งเอาเงื่อนไขของตัวเองเข้ามาในจังหวะนี้ รอให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้แล้วค่อยกลับเมืองไทยจะดีกว่า อย่าไปเร่งการปรองดองในแบบใช้เสียงข้างมากปรองดองข้างเดียวเลย มันจะทำให้เกิดความไม่ปรองดองหนักกว่าเดิม


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ร่างรธน.ใหม่ ใช้เสียงข้างมากอย่างเดียว

view