สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เป้าหมายประเทศไทย : ศูนย์กลาง AEC

เป้าหมายประเทศไทย : ศูนย์กลาง AEC

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กำลังจะถือกำเนิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า (2015) ซึ่งจะเป็นการรวมตลาดและฐานการผลิตเป็นหนึ่งเดียว
ของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจและพัฒนาความสามารถทางการแข่งขัน ให้อาเซียนกลายเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของโลก
 

ตลอดเวลา 51 ปีในการก่อตั้งอาเซียน แม้จะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมืองมามากเพียงใด ประเทศไทยยังคงมีขนาดของเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นของอาเซียน ซึ่งเป็นรองเพียงอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ไทย ยังคงมีข้อได้เปรียบที่สำคัญ คือ เป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของภูมิภาคอีกด้วย
 

หลายเดือนที่ผ่านมา ธุรกิจขนาดยักษ์ จากเกือบทุกวงการของประเทศ ต้องมีแผน AEC ในการแถลงการณ์กลยุทธ์และวิสัยทัศน์ขององค์กร ซึ่งมีทั้งข้อเด่นและข้อด้อยที่แตกต่างกัน ตามประเภทของธุรกิจ และพันธกรณีต่างๆ ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ บางกลุ่มธุรกิจของประเทศ มีความแข็งแกร่ง และสามารถตักตวงประโยชน์จากการรวมตลาดและฐานการผลิตของ AEC และตั้งตัวเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์ ในเวทีต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ธุรกิจ Social Media ของไทย เกือบจะไม่มีบทบาทเลย เมื่อวิเคราะห์การเข้าสู่ AEC ของไทย
 

Social Media เป็นธุรกิจไร้พรมแดน สามารถให้บริการข้ามประเทศได้ ผ่านการเชื่อมต่อของอินเทอร์เน็ต โดยมิต้องลงทุนในประเทศ ตั้งสำนักงาน จ้างบุคลากร หรือกระทั่งส่งสินค้าผ่านศุลกากร มาตรการมาตรฐาน ที่ใช้ปกป้องอุตสาหกรรมทารก (Infant Industry) ที่ยังขาด Economy of Scale ในการแข่งขันกับประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงมิสามารถใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจ Social Media ของไทยได้ เว้นแต่เวียดนาม ไม่มีประเทศใดในอาเซียน ที่มีธุรกิจ Social Media เป็นของตัวเอง และมีระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ที่สามารถพัฒนาไปเป็น Silicon Valley ได้
 

ความสำเร็จของเวียดนาม อาจเกิดขึ้นได้เฉพาะในประเทศคอมมิวนิสต์ เพราะเป็นการแซงชั่น (Sanction) Social Media จากต่างประเทศ เพื่อเหตุผลทางการเมืองทางปกครอง แต่ผลพลอยได้คือการพัฒนาอุตสาหกรรม Social Media ของเวียดนาม ดังเช่น Zing Me ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า Facebook และยังมีระบบนิเวศน์ เช่น Zing Farm ซึ่งเป็น Social Game ในรูปแบบที่คล้าย Farmville ประเทศจีน ยังเป็นอีกตัวอย่างที่คล้ายเวียดนาม เมื่อมีการ Sanction Social Media จากต่างประเทศ ด้วยเหตุผลที่คล้ายกัน อุตสาหกรรม Social Media ของจีนจึงสามารถพัฒนาได้ และเป็นแหล่งลงทุนที่ยิ่งใหญ่ สำหรับอุตสาหกรรม Social Media ของโลก
 

อย่างไรก็ดี กฎหมาย มิใช่เป็นเพียง Trade Barrier เดียว ที่ได้ผล สำหรับอุตสาหกรรม Social Media เนื่องจาก Social Media เป็นการเชื่อมต่อของสังคม การเข้าถึงภาษาและวัฒนธรรมของผู้ใช้งานยังเป็นเรื่องสำคัญ และนี่คือ สาเหตุที่ประเทศประชาธิปไตยเช่น ญี่ปุ่น และเกาหลี ต่างมี Social Media ของตัวเองที่ยังคงมีความแข็งแกร่ง และสามารถต่อสู้กับ Social Media จากต่างประเทศได้
 

AEC เป็นการร่วมกลุ่มของประเทศที่มีความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม ทั้งนี้ มาเลย์ เป็นภาษาที่มีการใช้งานสูงสุด มีผู้ใช้ 180 ล้านคน โดยมี อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน และสิงคโปร์ ซึ่งเคยถูกผลักดันให้เป็นภาษาหลักของ AEC อีกด้วย นอกจากนี้ กลุ่มประเทศดังกล่าว ยังมีศาสนาและวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกัน ภาษาไทย มีผู้ใช้งานเพียง 60 ล้านคน จึงยากที่จะเป็นศูนย์กลางทางภาษาและวัฒนธรรม อย่างไรก็ดี แม้มีการกำหนดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักของ AEC ก็ยังคงมีประเทศที่เชี่ยวชาญกว่า เช่น สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์
 

อีกเพียง 3 ปี AEC จะถือกำเนิดขึ้น ซึ่งเป็นการรวมตลาดและฐานการผลิต ธุรกิจจากเกือบทุกวงการ ได้เปิดเผยกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ ที่เกี่ยวข้องกับ AEC แต่อุตสาหกรรม Social Media ของไทย กลับมิได้มีบทบาท ซึ่งอาจเป็นเพราะ Social Media เป็นธุรกิจไร้พรมแดน ที่ไม่สามารถปกป้องอุตสาหกรรมท้องถิ่น ด้วยมาตรการมาตรฐาน แต่ถึงกระนั้น ควรเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ที่จะช่วยกันคิดช่วยกันทำให้ ประเทศไทย ในฐานะผู้ก่อตั้งอาเซียน เมื่อ 51 ปีก่อน สามารถเป็นศูนย์กลาง AEC โดยร่วมพัฒนาข้อเด่นและข้อด้อยของแต่ละธุรกิจของไทย


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เป้าหมายประเทศไทย ศูนย์กลาง AEC

view