สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มหกรรมขึ้นค่าจ้างทั่วเอเชีย นโยบายซื้อใจประชา ไม่แก้ปัญหาเศรษฐกิจ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

นับเป็นข่าวดีรับวันแรงงานสำหรับบรรดาลูกจ้างในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อรัฐบาลในหลายๆ ประเทศตัดสินใจ หรือเตรียมการจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับแรงงานภายในประเทศของตนเอง

เริ่มต้นที่ประเทศไทยกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ตามด้วยมาเลเซียที่นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค เพิ่งจะประกาศเมื่อวันที่ 30 เม.ย. กับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับเหล่าลูกจ้างเอกชนเป็นเดือนละประมาณ 9,000 บาท ในทุกรัฐ ยกเว้นซาบาห์และซาราวักและพื้นที่ชนบทห่างไกลบางแห่งที่ค่าจ้างขั้นต่ำจะ อยู่ที่ราว 8,000 บาทต่อเดือน โดยค่าจ้างใหม่นี้จะเริ่มใช้ในเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้

นอกจากไทยกับมาเลเซียแล้ว เวียดนาม ไต้หวัน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือแม้กระทั่งจีน ต่างก็วางแผนเตรียมการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเอาใจแรงงาน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศกันอย่างถ้วนหน้า

โดยเวียดนามเตรียมขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับลูกจ้างของรัฐภายในเดือน พ.ค.นี้อีกประมาณ 27% หรือประมาณ 50 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (ราว 1,500 บาท) ขณะที่ไต้หวันซึ่งประกาศอนุมัติค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อปีที่แล้วขึ้นอีก 5% อยู่ที่ 644 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (ราว 1.93 หมื่นบาท) และฮ่องกงก็ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นอีกเป็น 3.61 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง (ราว 108.3 บาท)

มองในมุมหนึ่ง การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำน่าจะส่งผลดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของบรรดาลูกจ้างทั้ง หลาย อย่างน้อยก็ในแง่ที่มีเงินเพื่อจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจห้างร้าน เนื่องจากสินค้าที่ผลิตสามารถขายได้ เรียกได้ว่าช่วยให้ตลาดมีแรงขับเคลื่อน มีความคึกคัก ที่จะเอื้อให้เกิดการลงทุน และการเติบโตทางเศรษฐกิจในที่สุด

นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค แห่งมาเลเซียถึงกับกล่าวอย่างมั่นอกมั่นใจว่า การรับประกันค่าจ้างขั้นต่ำนี้จะช่วยให้แรงงานส่วนใหญ่หลุดพ้นจากวงจรความ ยากจน และเป็นการรับรองได้ว่าแรงงานเหล่านี้จะมีรายได้เพียงพอในการยังชีพจุนเจือ ตนเองและครอบครัว โดยไม่วายกำชับเพิ่มเติมว่า การขึ้นค่าจ้างในครั้งนี้ รัฐบาลได้ศึกษาปัจจัยแวดล้อมมาเป็นอย่างดี และไม่มีทางส่งผลกระทบต่อบรรดานายจ้างเจ้าของกิจการแน่นอน

แม้ฟังดูจะเป็นเรื่องดี แต่หากมองอีกด้านหนึ่ง บรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจก็อดที่จะตั้งข้อสังเกตไม่ได้ ว่า การพร้อมใจขึ้นค่าจ้างของบรรดารัฐบาลในแถบเอเชียคราวนี้จะมีประเด็นซ่อนเร้น ใดหรือไม่

คำตอบที่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเห็นตรงกันก็คือ มหกรรมการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำระลอกนี้ของเอเชียเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ของคนกลุ่มหนึ่งในสังคมเท่านั้น

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า หากพิจารณาถึงเงื่อนไขของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลในประเทศเหล่านี้จะ พบว่าทุกประเทศมีเงื่อนไขที่ตรงกันก็คือ เป็นนโยบายที่เอ่ยปากสัญญาไว้ว่าจะลงมือทำหากได้รับเลือกตั้งให้เข้ามาบริ หารประเทศ หรือจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือว่า บรรดานักการเมืองในเอเชียทั้งหลายไม่ได้คิดใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งหรือคำนึง ถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศอย่างจริงจังมากไปกว่าความพยายามในการหา ทางรักษาคะแนนนิยมและอำนาจของตนเอง

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักต่างเห็นตรงกันว่า แม้จะอ้างเหตุผลสวยหรูเพื่อช่วยลดความยากจน ลดช่องว่างรายได้ ยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิต หรือช่วยให้เศรษฐกิจมีการเติบโต มีการลงทุน จากการที่ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น

แต่เหตุผลเหล่านี้ก็ดูจะไม่ใช่เหตุผลที่น่าเชื่อถือสักเท่าไรนัก

เนื่องจากรัฐบาลไทยภายใต้การบริหารงานของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศกำลังเดินหน้าขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำโดยไม่หวั่น ต่อเสียงคัดค้านเพราะต้องทำตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน ขณะที่นโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ส่งผลให้นายกรัฐมนตรี หม่าอิงจิว แห่งเกาะไต้หวันคว้าชัยเป็นรัฐบาลสมัยที่สอง ด้านรัฐบาลมาเลเซียก็กำลังเจริญรอยตาม ด้วยการใช้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นผลงานเพื่อเรียกคะแนนนิยมจากประชาชนสำหรับการ เลือกตั้งที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์กันว่าอาจจะมีขึ้นในเร็ววันนี้

ราอูล บาโจเรีย นักเศรษฐศาสตร์จากบาร์เคลย์ แคปปิตอล ก็อดที่จะหวาดวิตกไม่ได้ เนื่องจากแม้จะมีแนวโน้มการคาดการณ์จากหลายสถาบัน เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ออกมายืนยันแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค แต่การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอาจส่งผลให้ประเทศในแถบนี้สูญเสียศักยภาพด้าน การแข่งขันไป

เพราะค่าจ้างแรงงานนับเป็นต้นทุนของธุรกิจตัวหนึ่งเช่นกัน โดยในท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ซบเซา การที่ธุรกิจต้องสูญเสียรายได้เนื่องจากต้องมาแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการ จ่ายค่าจ้างอาจนำไปสู่ทางเลือกปลดภาระด้วยการปลดคนงานออก

เรียกได้ว่าการขึ้นค่าจ้างอาจกลายเป็นดาบสองคมหวนแทงรัฐบาลเอเชีย เนื่องจากเป็นเหตุให้แรงงานหางานทำยากมากขึ้น เพราะบรรดาเจ้าของกิจการ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กไม่คิดที่จะจ้างงานเพิ่ม

ยังไม่นับรวมข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่ว่า ทักษะความสามารถของแรงงานในแถบเอเชียส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้าง ต่ำ จนไม่คุ้มค่ากับค่าจ้างที่ต้องจ่าย และเป็นภาระให้กับนายจ้างที่จะต้องจัดการอบรมให้เป็นแรงงานมีฝีมือเสียก่อน

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงนี้แทบไม่น่าจะมีผลดีต่อปากท้องของประชาชนคน ธรรมดาสักเท่าไรนัก เพราะราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งอาหารหรือน้ำมันต่างปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น อย่างต่อเนื่องแล้วก่อนหน้านี้ และกลายเป็นปัญหาเงินเฟ้อชวนปวดหัวในหลายๆ ประเทศ

พูดอีกแง่หนึ่งก็คือ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนี้มีผลแค่ทำให้คนเลือกที่จะเก็บออมเงินไม่คิดนำมาใช้ จ่าย ซ้ำเติมสภาวะเศรษฐกิจที่ต้องการการกระตุ้นด้วยกำลังซื้อจากผู้บริโภคมากยิ่ง ขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อให้มีรายได้มาใช้จ่ายเลี้ยงชีพมากขึ้นย่อมเป็น สิ่งที่ดีสำหรับชีวิตลูกจ้างแน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ทว่า การขึ้นค่าจ้างก็ไม่ใช่ทางออกสำหรับปัญหาปากท้องเสมอไป เนื่องจากแม้จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น แต่มาตรฐานชีวิตแรงงานในหลายๆ ประเทศทั่วเอเชียก็ยังจัดอยู่ในระดับเลวร้ายอยู่ดี

อัธธร ประธานสมาพันธ์สหภาพประชาธิปไตยของแรงงานสิ่งทอในกัมพูชา (the Coalition of Cambodian Apparel Workers Democratic Union – C.CAWDU) อธิบายว่า สาเหตุก็เพราะแรงงานในแถบเอเชียส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และมักจะโดนเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างอยู่ตลอดเวลา

“ค่าจ้างถูกหรือแพงจึงไม่ใช่ปัจจัยที่น่าวิตกเท่ากับการที่รัฐเดินหน้า ปฏิรูปกฎหมายแรงงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและปกป้องสิทธิ ตลอดจนผลประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงจะได้รับ” ธร กล่าวสรุป

เรียกได้ว่าค่าจ้างมากน้อยไม่ใช่สาระ เท่ากับชีวิตการทำงานในฐานะลูกจ้างที่ได้รับการดูแล มีวันหยุด มีค่ารักษาพยาบาล และมีสวัสดิการที่เหมาะสม

และเป็นทางออกที่นักวิเคราะห์ต่างเห็นตรงกันว่า ดีและเหมาะสมสำหรับทุกฝ่าย

แต่น่าใจหายตรงที่ว่า เมื่อหวนกลับมามองนโยบายแรงงานของบรรดาผู้นำประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม หรือแม้กระทั่งไทย

อนาคตของแรงงานในเอเชียที่จะสามารถลืมตาอ้าปากได้ ก็ยังคงเป็นแค่ความฝันอีกยาวไกล


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มหกรรมขึ้นค่าจ้างทั่วเอเชีย นโยบายซื้อใจประชา ไม่แก้ปัญหาเศรษฐกิจ

view