สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จำนำข้าว หมื่นห้า ได้เวลา เผาจริง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...จตุพล สันตะกิจ

ยังไม่ทันจะข้ามปี โครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่ราคาสูงลิ่วตันละ 1.5 หมื่นบาทของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็เริ่มปรากฏสัญญาณที่บ่งบอกถึงความล้มเหลวของโครงการแล้ว

เมื่อ ลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประเมินว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 จะมีผลขาดทุนประมาณ 1.7-2.04 หมื่นล้านบาท

ลักษณ์ประเมินจากราคาข้าวเปลือกในโครงการรับจำนำมาลบกับราคาข้าวเปลือกใน ตลาดที่มีราคาต่างกัน 2,500-3,000 บาทต่อตัน จากข้าวเปลือกในโครงการที่รับจำนำ 6.79 ล้านตัน

ทว่าการประเมินจาก “เจ้าหน้าที่เงินกู้” รายใหญ่ของรัฐบาล ไม่ใช่ตัวเลขผลขาดทุนสุดท้ายในโครงการ

เนื่องจากยังไม่ได้คำนวณผลขาดทุนจากการระบายข้าวเปลือกล็อตนี้ ที่แปรสภาพเป็นข้าวสารประมาณ 3.8 ล้านตัน และมีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะระบายข้าวสารในราคาที่ต่ำกว่าตลาด

แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่ผู้กำหนดนโยบายและการปฏิบัติกลับไม่มองว่าเป็นความล้มเหลว

“การขายข้าวต่ำกว่าราคาจำนำ ผมไม่เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่...ที่เราเลือกวิธีนี้ เพราะทำให้ราคาปลายทางสูงขึ้น และตอนนี้ราคาปลายทางก็สูงขึ้นแล้ว ถ้าจะขายขาดทุนบ้าง ก็ไม่มาก” กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ระบุ

นั่นหมายความว่า หากมีการระบายข้าวสารในมือรัฐบาล “ต่ำ” กว่าราคาตลาดอีก ผลการขาดทุนของโครงการนี้น่าจะโชว์ตัวเลขที่ไม่น่าดูนัก

เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายอื่น เช่น ค่าสีแปรสภาพข้าว ค่าปรับปรุงข้าวและค่าเช่าโกดังเก็บข้าว โดยเฉพาะหากรัฐบาลกอดข้าวในสต๊อกไว้นานๆ ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงข้าวและเช่าโกดังจะเพิ่มเป็นทวี

นอกจากนี้ สิ่งที่จะตามมา คือ การเสื่อมคุณภาพข้าว ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่นักการเมืองที่กุมสต๊อกข้าวใช้ “อ้าง” เมื่อต้องการระบายข้าวต่ำกว่าราคาตลาด

“วันนี้อนุกรรมการระบายข้าวฯ ยังไม่มีการระบายข้าวสารออกมาแม้แต่เม็ดเดียว” ลักษณ์ให้ข้อมูลที่สะท้อนปริมาณสต๊อกข้าวในมือของรัฐบาล

จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าเงินที่ใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ของปีนี้สูงกว่า 1.16 แสนล้านบาท เมื่อสรุปตัวเลขสุดท้ายรัฐบาลจะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท และไม่นับรวมดอกเบี้ย

ท่ามกลางหายนะน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 ยังถือเป็นโชคดีของไทยอยู่บ้าง ตรงที่ข้าวเปลือกเข้าโครงการจำนำไม่ถึง 7 ล้านตัน จากเป้าหมาย 25 ล้านตัน

ลองคิดดูว่า หากข้าวทั้ง 25 ล้านตัน เข้าโครงการ “ทุกเม็ด” ผลขาดทุนน่าจะแตะเกือบ “แสนล้านบาท”

ล่าสุด มีข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2555 ทยอยเข้าโครงการต่อเนื่อง โดยมีการใช้เงินกู้ของ ธ.ก.ส.ไปแล้ว 5.1 หมื่นล้านบาท สำหรับข้าวเปลือก 3 ล้านตัน และคาดว่าผลผลิตทั้งฤดูกาลจะอยู่ที่ 6-7 ล้านตัน ที่รอรับรู้ผลขาดทุนในอนาคตอันใกล้

หลากปัญหาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลต้อง “ทบทวน” โครงการรับจำนำข้าวเปลือกกันยกใหญ่ หากเดินหน้าโครงการนี้ต่อ

ขณะที่การรับจำนำข้าวที่รัฐบาล “ยืดอก” ยอมรับผลการขาดทุนโครงการจำนำข้าว แต่ทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะขายข้าวเปลือกในราคาที่สูงขึ้นและมีกำลังซื้อสูงขึ้น แต่ในข้อเท็จจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น

ราคาข้าวเปลือกที่ “ชาวนาตัวจริง” นำเข้าโครงการได้เงินไม่เต็ม 1.5 หมื่นบาทต่อตัน เพราะถูกหักค่าความชื้นและไม่รวมกับค่าใช้จ่ายในการขนข้าวเปลือกไปส่งโรงสี ที่ชาวนาต้องจ่ายเองในอัตรา 100-150 บาทต่อตัน

“ราคาข้าวเปลือกที่ชาวนาได้จริงอยู่ที่ 1.1-1.2 หมื่นบาท เพราะข้าวมีความชื้น 2025% แม้ชาวนาจะได้ไม่เต็ม 1.5 หมื่นบาท แต่ก็ยังมีกำไรเหลือ หากไม่ใช่ประเภทที่จ้างเขาทำทุกอย่าง” ประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย ระบุ

ประสิทธิ์ ยังชี้ว่า ขณะนี้มีแนวโน้มราคาปุ๋ยและยาจะแพงขึ้น ส่วนราคาค่าเช่านายังไม่เปลี่ยนแปลง โดยอัตราค่าเช่าอยู่ที่ 800-1,000 บาทต่อรอบการปลูก

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ รัฐบาลบอกว่าโครงการรับจำนำข้าว เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขรายได้ที่แท้จริงของเกษตรกรกลับ “ติดลบ” เมื่อเทียบกับปี 2554 ในขณะที่เกษตรกรกลุ่มหลักของไทย คือ ชาวนา

เพราะจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่า เดือน ม.ค. 2555 รายได้เกษตรกรที่แท้จริงติดลบ 15.8% เดือน ก.พ. ติดลบ 15.3% และเดือน มี.ค. ติดลบ 11.7% ซึ่งเป็นผลจากดัชนีราคาสินค้า 3 เดือนแรกปีนี้ที่ติดลบ 12.2%

อีกทั้งต้องยอมรับว่าราคารับจำนำข้าวเปลือกที่มีราคาสูงกว่าราคาข้าว “เพื่อนบ้าน” เกือบเท่าตัว เป็นแรงจูงใจให้มีการลักลอบนำเข้าข้าวจากชายแดนมาสวมสิทธิในโครงการ ผลประโยชน์จึงตกหล่นอยู่กับโรงสีและพ่อค้า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการรับจำนำข้าวจะนำรูปแบบการขึ้น “ทะเบียนเกษตรกร” ที่ระบุพื้นที่ปลูกข้าวของชาวนาและคาดการณ์ผลผลิตที่ได้มีกี่ตัน แต่ก็มีช่องโหว่ตรงที่ผลผลิตจริงไม่ตรงกับตัวเลขที่แจ้งไว้ และนับว่าเป็นโจทย์ที่ “แก้ยาก” เข้าไปทุกที

แต่พรรคเพื่อไทยมีแนวทางแก้จุดอ่อนตรงนี้ โดยออก “บัตรเครดิตเกษตรกร” ที่มีข้อมูลพื้นที่เพาะปลูก ปริมาณผลผลิต นอกเหนือจากการให้ “วงเงินกู้” ซื้อปัจจัยการผลิตที่สะท้อนว่า เกษตรกรมีการเพาะปลูกจริงหรือไม่ และเท่าไหร่

การ “เตะถ่วง” โครงการบัตรเครดิตชาวนา ที่อย่างน้อยจะสามารถช่วยลดการรั่วไหลโครงการได้บ้าง ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม เท่ากับ “จงใจ” เปิดช่องให้มีการทำมาหากินในโครงการนี้ และไม่ได้ทำตามที่หาเสียงไว้

จึงเกิดคำถามว่า โครงการที่รัฐบาลอาจต้องขาดทุนเป็นแสนล้านบาท เงินตกถือมือชาวนาตัวจริงเท่าไหร่

นอกจากนี้ หากพิเคราะห์ในแง่ตลาดค้าข้าวกันบ้าง จะพบว่าเดือน ม.ค.-เม.ย.ปีนี้ ไทยส่งออกข้าว 2.1 ล้านตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออก 3.82 ล้านตัน หรือลดลง 44.9% เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การส่งออกไทยติดลบ

แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะยืนยันว่าปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ตามเป้า 9.5 ล้านตัน โดยเหตุผลที่ช่วงนี้ไม่เร่งระบายข้าว เพราะรอให้ข้าวจากเวียดนามและอินเดียขายหมดก่อน เพราะไม่อยากร่วมวงแข่งขายข้าว “ตัดราคา”

ขณะที่ปัจจุบันข้าวสาร 5% ของไทยอยู่ที่ 577 เหรียญสหรัฐต่อตัน เวียดนาม 435 เหรียญสหรัฐต่อตัน อินเดีย 450 เหรียญสหรัฐต่อตัน ปากีสถาน 475 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่วนข้าวสารโครงการรับจำนำมีต้นทุน 800 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ทั้งๆ ที่รู้ว่าข้าวเป็นสินค้าที่ผลิตได้ทั้งปี หากน้ำท่าสมบูรณ์ เวียดนามปลูกข้าวได้ทั้งปีเหมือนไทย

ทั้งๆ ที่รู้ว่าปี 2554-2555 อินเดียผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ผลิตข้าวได้ 100 ล้านตัน มีข้าวเหลือในสต๊อกที่พร้อมจะระบาย 34 ล้านตัน และผลผลิตปีนี้มีมากเหลือเฟือที่จะส่งออก

โอกาสที่จะได้เห็นรัฐบาลเก็บข้าวสารในโครงการรับจำนำทั้งนาปีและนาปรังปี 2555 ไม่น้อยกว่า 6 ล้านตัน คงดำเนินต่อไปอย่างน้อยกลางปี 2556

หากระบายข้าวสารกันตอนนี้ รับรองว่ารัฐบาลขาดทุนบักโกรก โดยเฉพาะหากการตัดสินใจนั้นเป็นการตัดสินใจที่จำใจต้องระบายข้าวสารในราคา ต่ำกว่าราคาจำนำ “เสียงก่นด่า” ที่จะไปถึงหูรัฐบาล ย่อมเป็นของที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

กอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า นโยบายจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 1.1 หมื่นบาทต่อตันเท่านั้น เพราะข้าวเปลือกไม่ได้เข้าโครงการ “ทุกเม็ด”

เฉพาะในมือชาวนาอีสานและเหนือ ชาวนากลุ่มนี้ปลูกข้าวไว้กินอย่างมากก็ 4-5 ตัน เมื่อเหลือแล้วจึงขาย บางทีก็ไม่ได้ขาย เพราะติดขัดเรื่องขนส่ง แต่คนที่ได้ประโยชน์เต็มๆ คือ “นักธุรกิจชาวนา” ในภาคกลาง

ส่วนที่รัฐบาลหวังว่าการทุ่มเงินซื้อข้าวเก็บไว้ในสต๊อกของรัฐ สุดท้าย “ผู้ซื้อต่างประเทศ” ต้องมาง้อ “ไทย” ให้ขายข้าว และถึงเวลานั้นไทยจะขายข้าวได้ในราคาสูงๆ ก็ไม่เป็นเช่นนั้น

เพราะตลาดยังเป็นของ “ผู้ซื้อ” ไปอีกนาน

“การรับจำนำไม่ได้ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างที่รัฐบาลหวัง เพราะราคาข้าวเพิ่มขึ้นจากก่อนเริ่มโครงการประมาณ 30 เหรียญสหรัฐต่อตันเท่านั้น วันนี้รัฐบาลกำลังนำงบมา ‘พนัน’ ท่ามกลางความเสี่ยง” กอบสุข ชี้แจง

ไม่เพียงเท่านั้น การกอดสต๊อกข้าวสารในปริมาณที่สูงกว่ายอดส่งออกข้าวของไทยทั้งปี ยังเป็นตัว “ถ่วง” ราคาข้าวโลกไม่ให้สูงขึ้น

ปัจจัยเดียวที่ทำให้ราคาข้าวโลกเพิ่มขึ้น คือ การเกิดภัยพิบัติในประเทศผู้ผลิตข้าวรายอื่นๆ และข้าวหายไปจากตลาด แต่สิ่งที่รัฐบาลทำได้ คือ การเฝ้ารอให้ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นเท่านั้น

หากรัฐบาลเลือกไม่ระบายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีและข้าวเปลือก นาปรังปี 2555 จะมี “ข้าวสาร” อยู่ในสต๊อกของรัฐ 10 ล้านตัน ไม่รวมกับข้าวที่ได้จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ของปี 2555/2556 ที่จะออกมาช่วงปลายปี 2555

คงได้เห็นความหายนะของประเทศครั้งใหญ่ อย่างที่เรียกว่า “เผา(เงิน)จริง” กันเลยเดียว

บังเอิญว่าเงินที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยนำไป “เสี่ยงพนัน” กับตลาดข้าวโลกเกมนี้หลายแสนล้านบาท ที่เท่ากับวงเงินที่ลงทุนระบบน้ำได้ทั้งประเทศ สร้างรางรถไฟได้นับหลายพันกิโลเมตร

เม็ดเงินเหล่านี้ล้วนเป็นเงินจากกระเป๋าคนไทยทั้งชาติ


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จำนำข้าว หมื่นห้า ได้เวลาเผาจริง

view