สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐกิจยูโรยังเผชิญกับความไม่แน่นอนกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

เศรษฐกิจยูโรยังเผชิญกับความไม่แน่นอนกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปยังมีความเปราะบาง และคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะติดลบ
ภาวะเศรษฐกิจโลกปี 2555 นี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง แม้ว่าล่าสุดในเดือนเมษายนนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้มีการปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกสูงขึ้น จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนกันยายนปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 0.2 (จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 3.3 เป็นร้อยละ 3.5) และจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องกลับสู่ระดับร้อยละ 4.0 ได้ในปีหน้า
 

การปรับประมาณการเศรษฐกิจที่ดีขึ้นนี้ เนื่องมาจากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจหลักของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ประกาศออกมาส่วนใหญ่จะดีกว่าคาดการณ์ของตลาด เช่น การผลิต และผลประกอบการ เป็นต้น จึงสร้างความมั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวได้แม้ว่าจะเป็นอย่างอ่อนแอ ปัญหาใหญ่ของสหรัฐอเมริกา คือ อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง และภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซา นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังเผชิญกับปัญหานี้สาธารณะสูง ที่ในปี 2554 ที่ผ่านประเด็นเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการผ่อนปรนออกไป แต่รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศในต้นปีหน้า ก็จะต้องเข้ามาสานต่องานปรับลดหนี้สาธารณะของภาครัฐ
 

ปัญหาใหญ่ที่เป็นห่วงกันมาก ก็คือ เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปยังมีความเปราะบาง และคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะติดลบเล็กน้อย (-0.3%) แม้ว่าในช่วงเวลาต้นปีที่ผ่านมา ได้มีมาตรการทางการเงินแบบพิเศษออกมาช่วยเหลือประเทศและสถาบันการเงินที่มีปัญหา จนทำให้ความเชื่อมั่นของตลาดว่าจะมีเงินเพียงพอรองรับไม่ให้เกิดภาวะล้มละลายของประเทศสมาชิกและสถาบันการเงินขนาดใหญ่ แต่ก็ยังมีโอกาสที่ปัญหาอาจปะทุขึ้นในประเทศต่างๆ เช่น กรณีของอิตาลี และสเปน รวมไปถึงโอกาสการปรับลดลำดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของบางประเทศและสถาบันการเงินได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นก็จะทำให้ความเชื่อมั่นผ่อนลดลงและกลับเข้าสู่โหมดหนีความเสี่ยงที่หนีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงประเภทเทขายหุ้นเกิดขึ้นดังที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา
 

สหภาพยุโรปกำลังเผชิญกับปัญหาท้าทายใหม่ คือ ความเสี่ยงทางด้านการเมืองจากวิกฤติหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นได้กดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ กรีซ ที่มีการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล และล่าสุด คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีของฝรั่งเศส ที่นายฟรองซัว อัลลองด์ จากพรรคสังคมนิยมสามารถพิชิตอดีตประธานาธิบดีซาร์โกซี ลงได้ในการเลือกตั้งวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 51.6 ต่อ 48.4 ของผู้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปีที่พรรคสังคมนิยมได้รับชัยชนะกลับมาบริหารประเทศ
 

การเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลประเทศฝรั่งเศสมีความสำคัญยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหภาพยุโรป ทั้งเพราะฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่สองของสหภาพยุโรป และในระยะเวลาที่ผ่านเป็นพันธมิตรที่ดีของเยอรมนีในการกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของสหภาพยุโรป
 

ว่าที่ประธานาธิบดีใหม่ นายอัลลองด์ ได้แสดงออกอย่างชัดเจนถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหา ที่ประกาศจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในฝรั่งเศสและสหภาพยุโรป เขาประกาศจะใช้นโยบายที่เน้นสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการสร้างงานใหม่ในกลุ่มผู้จบการศึกษาใหม่ การยกเลิกมาตรการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ แต่จะหันมาเพิ่มรายได้ภาครัฐ โดยจัดเก็บภาษีบริษัทขนาดใหญ่ และผู้ที่มีรายได้สูงเกินกว่า 1 ล้านยูโรขึ้นไป
 

นอกจากนี้ จะผลักดันให้มีการแก้ไขสนธิสัญญามาตรการทางการคลังของสหภาพยุโรปที่นายซาร์โกซี และนางแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี เพื่อยุติการบังคับให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกที่ประสบกับวิกฤติการเงินตัดลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งเป็นมาตรการที่สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน และมีการว่างงานจำนวนมาก
 

การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรป สะท้อนถึงความยากลำบากของวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนไม่พอใจต่อรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายการปรับลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐที่ก่อให้เกิดการประท้วงต่อต้านในหลายประเทศ แต่การเปลี่ยนนโยบายแบบกลับขั้วที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะได้รับความนิยมจากประชาชน แต่ต้องทำด้วยความรอบคอบระมัดระวังด้วยเช่นกัน เพราะการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะนั้นต้องการความมุ่งมั่น เพราะหนี้สาธารณะของกลุ่มสหภาพยุโรปอยู่ในระดับสูงที่เป็นอันตรายและไม่ยั่งยืน


แต่การใช้นโยบายการคลังเข้มงวดที่ต้องปรับลดการจ้างงานหรือเงินเดือนของข้าราชการภาครัฐก็เป็นสิ่งที่สร้างความเดือดร้อนแสนสาหัสให้กับประชาชน ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาแล้วในช่วงปี 2540-2541 เป็นสิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคมในการฝ่าฟันความยากลำบากร่วมกัน การเพิกเฉยหรือการละเลยในการแก้ไขปัญหาจะเป็นการซื้อเวลา หรือประวิงปัญหาออกไป เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วหนี้ก็ต้องถูกเรียกคืน ดังนั้น จึงต้องรักษาสมดุลทั้งสองด้านให้ดี


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เศรษฐกิจยูโร ยังเผชิญ ความไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

view