สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โหมงบปี 56 ถมประชานิยม-พยุงเศรษฐกิจ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...จตุพล สันตะกิจ

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วเมื่อวันวาน และเตรียมเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวาระแรก วันที่ 21-23 พ.ค.นี้

เป็นคำถามว่าการจัดสรรงบประมาณปี 2556 จะตอบโจทย์ประเทศไทยหรือไม่

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกปั่นป่วน เศรษฐกิจทั่วทั้งยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอยจากวิกฤตหนี้สาธารณะ สหภาพยุโรป หรืออียู กำลังเผชิญบททดสอบและ “ทางแยก” ครั้งสำคัญ

เศรษฐกิจสหรัฐแม้มีสัญญาณดีขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจนว่า สหรัฐจะกลับมาเป็นหัวรถจักรเศรษฐกิจโลกเต็มตัว

ในทางกลับกัน เศรษฐกิจเอเชียที่เป็น “ความหวัง” ของเศรษฐกิจโลก ก็อยู่ในภาวะเติบโตชะลอตัว เพราะการชะลอตัวของส่งออก แม้มีการคาดการณ์ว่าการส่งออกของเอเชียจะฟื้นตัวก่อนสิ้นสุดไตรมาส 2 แต่ก็มีความไม่แน่นอน

“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปยังมีความไม่แน่นอนสูง” รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 2 พ.ค. 2555 ระบุ

 

แต่กระนั้น ถือว่าโชคดีที่เศรษฐกิจไทยปี 2555 ก็มีแนวโน้มขยายตัวได้ระดับสูง 6-7%

ปัจจัยขับดันเศรษฐกิจมาจากการเร่งฟื้นฟูโรงงานและเครื่องจักรที่เสียหาย จากน้ำท่วม การใช้งบปี 2555 ฟื้นฟูน้ำท่วม 1.2 แสนล้านบาท การใช้เงินทั้งในและนอกงบประมาณกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่ฐานการขยายตัวเศรษฐกิจปีที่แล้วโตเพียง 0.1%

อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจที่ “ดีดตัว” กลับมาเติบโตในระดับสูง ไม่ใช่ปรากฏการณ์เกินคาดหมาย

ทว่า ปี 2555 ต่อเนื่องปี 2556 เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะราคาพลังงานที่มีความผันผวนสูง ค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้น ความซบเซาของเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อการส่งออกไทย

อีกปัจจัยภายในที่มองข้ามไม่ได้ คือ ปัจจัยการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัย “อ่อนไหว” ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนและการจับจ่ายใช้สอย การบริหารการเมืองให้มี “เสถียรภาพ” มีความสำคัญไม่น้อยกว่าการบริหารเศรษฐกิจ

และที่สำคัญ ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจภายในอยู่ในภาวะ “อ่อนแอ” และมีแรงกดดันจากสารพัดปัจจัย ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจยามนี้ “คักคัก” ล้วนแล้วแต่พึ่งพาการอัดฉีด “งบประชานิยม” ที่เน้นสร้างกำลังซื้อในประเทศ

เช่น โครงการรถคันแรก ที่ถมงบในการคืนภาษี 3 หมื่นล้านบาท โครงการจำนำสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่คาดว่าจะใช้เงินนอกงบประมาณ 2 แสนล้านบาท ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ปรับเงินเดือนข้าราชการปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน พ่วงปรับโครงสร้างเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ

การเร่งรัดการจัดสรรเงินเอสเอ็มแอล 3.5 หมื่นล้านบาท ลงหมู่บ้านภายในเดือน พ.ค.นี้ การเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้านอีก 1 ล้านบาท 8 หมื่นหมู่บ้าน ที่ต้อง “ลงเงิน” ให้ทันก่อนมีการแถลงผลงานรัฐบาลต่อรัฐสภาเดือน ส.ค.นี้

ส่วนหัวใจการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มาจากการลงทุนภาครัฐนั้น ส่วนใหญ่พบว่าเป็นโครงการลงทุนต่อเนื่อง

“ปี 2555-2556 การลงทุนภาครัฐยังคงมีการลงทุนต่อเนื่อง เช่น รถฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง โทรศัพท์ 3จี โรงไฟฟ้า ท่อก๊าซ โดยเฉพาะงบลงทุนรัฐวิสาหกิจปี 2556 ที่อาจจะสูงกว่า 5 แสนล้านบาท และสูงกว่าปีแล้ว 30%” ชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกรรมการ (สศช.) กล่าว

แต่หากจะมองหาโครงการใหม่ๆ แทบจะไม่มีให้เห็น อย่างโครงการลงทุนสร้างอนาคตประเทศ 2.27 ล้านล้านบาท และการลงทุนระบบน้ำ 3 แสนล้านบาท ตอนนี้อยู่ในกระบวนการ “ตั้งไข่” กว่าจะลงมือ “ตอกเสาเข็ม” อาจทอดยาวเป็นปี

หากพิเคราะห์การจัดสรรงบปี 2556 ที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 2555-30 ก.ย. 2556 พบว่ารัฐบาลตั้งเป้าหมายการขยายตัวเศรษฐกิจปี 2556 แบบ “อนุรักษนิยม” ก็ว่าได้

โดยเอกสารสรุปงบประมาณปี 2556 ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2556 จะขยายตัวที่ 4-5% อัตราเงินเฟ้อ 3.8% ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาจากอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนเอกชนที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐและการลงทุนภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจ

นั่นหมายความว่า รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะพยุงเศรษฐกิจให้ “ยืนตัว” อยู่ได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา “ว่างงาน” และภาวะประชาชนมีรายได้ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” โดยหวังว่าในยามที่เศรษฐกิจโลก “พลิกฟื้น” นั่นจึงเป็นโอกาสที่จะได้เห็นตัวเลขเศรษฐกิจไทยพุ่งทะยานอีกครั้ง

ดังนั้น ภารกิจที่เร่งด่วนของรัฐบาล คือ การลงเงินในโครงการประชานิยมและการอัดฉีดเงินให้ถึง “มือ” ประชาชน และการสนองนโยบายการเมืองที่หาเสียงไว้ให้ “ลุล่วง”

ได้แก่ การจัดสรรงบภายใต้แผนงานยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน 6.81 หมื่นล้านบาท โดยมีเป้าหมายสร้างกำลังซื้อในประเทศ ผ่านนโยบายเพิ่มรายได้แรงงานและผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี พักหนี้ครัวเรือนเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย มาตรการภาษีเพื่อลดต้นทุนการลงทุน และโครงการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุแบบขั้นบันได

แผนส่งเสริมการให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน 8.35 หมื่นล้านบาท เช่น เพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้าน ตั้งกองทุนตั้งตัวได้ และกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี แผนงานสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาเพื่อการศึกษา 8,870 ล้านบาท

แผนงานเสริมสร้างเสถียรภาพสินค้าเกษตร 4.01 หมื่นล้านบาท อาทิ การจัดระบบป้องกันการแสวงหาประโยชน์และดูแลความเสี่ยงของเกษตรกรในโครงการ รับจำนำ ซึ่งยังไม่รวม “เงินกู้” นอกงบประมาณที่ใช้ในการจำนำสินค้าเกษตรอีกหลายแสนล้านบาท

ขณะที่ผลพวงจากนโยบายปรับโครงสร้างเงินเดือนข้าราชการ และการปรับเงินเดือนข้าราชการปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาท เงินเบี้ยหวัดบำนาญ เงินเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการ ที่กันงบไว้ 1.79 แสนล้านบาท ส่งผลให้ภาระภาครัฐในหมวดเงินเดือน ค่าจ้าง และเงินสมบทเพื่อสังคมเพื่อ จาก 6.69 แสนล้านบาท เป็น 7.17 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1%

การจัดสรรงบสวัสดิการสังคมด้านการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลต้องจัดสรรงบ “รักษาฟรี” ไว้สูงถึง 1.96 แสนล้านบาท ไม่นับรวมงบประมาณตามแผนงานพัฒนาด้านสาธารณสุข 1.18 แสนล้านบาท ส่วนแผนงานด้านการศึกษายังคงอยู่ในระดับสูงถึง 3.72 แสนล้านบาท และงบจัดการศึกษาระดับปฐมวัย 8.88 หมื่นล้านบาท

ไม่เพียงเท่านั้น งบปี 2556 รัฐบาลจัดสรรงบเพื่อภารกิจความมั่นคง หรือ “งานกองทัพ” กว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งมองได้ทั้งแง่การสร้าง “เขี้ยวเล็บ” ของประเทศ และแง่ความจำเป็นของการ “ดุลอำนาจ” ในระบบการเมืองไทย

โดยเฉพาะการจัดสรรงบซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ส่งเสริมความร่วมมือทางทหารกับต่างประเทศ และบทบาทการรักษาสันติภาพของโลกในกรอบยูเอ็น 1.77 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 10%

แต่เมื่อมองแผนงานที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ ขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาว พบว่างบวิจัยได้จัดสรรงบเพียง 1.96 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.8% ของงบประมาณเท่านั้น

การยกระดับการแข่งขันของภาคอุตสาห กรรม 6,670 ล้านบาท เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคเกษตร 6.33 หมื่นล้านบาท แผนงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต 420.5 ล้านบาท

งบประมาณลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางบก ทางน้ำ ทางราง และอากาศ อยู่ที่ระดับ 1.08 แสนล้านบาท น้อยกว่า “งบทหาร” กว่า 61%

ขณะที่งบตามแผนงานบริหารจัดการหนี้มีสูงถึง 1.77 แสนล้านบาท ส่วน “งบฉุกเฉิน” ที่เตรียมไว้รับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอยู่ที่วงเงิน 7.67 หมื่นล้านบาท

หากจับคำพูดของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ที่มอบนโยบายการจัดทำงบปี 2556 ปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เธอระบุว่า วิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปอาจส่งผลกระทบต่อไทย การจัดทำงบ ประมาณต้องตอบโจทย์ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก ต้องกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก ลดภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐ สร้างฐานเศรษฐกิจระดับชุมชน และกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี

“การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปีนี้มีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางของประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งประเทศอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่จะเป็นประตูสู่อาเซียน” ยิ่งลักษณ์ กล่าว

ทว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตอกย้ำให้เห็นว่า การจัดสรรงบปี 2556 หวังผลเพียงทำให้เศรษฐกิจให้ขยายตัว “ต่อเนื่อง” ภาพการจัดสรรงบประมาณจะพบความ “ไม่สมดุล” โดยเฉพาะการจัดสรรงบที่มุ่งหวังแต่บริหารเศรษฐกิจเฉพาะหน้าหรือในระยะสั้น มากกว่ามองหาอนาคตของประเทศในระยะยาว

อย่างนี้เรียกว่า “งบพยุงเศรษฐกิจ” ก็ว่าได้

แต่ถ้าหวังทำให้เศรษฐกิจโตแบบ “พุ่งปรี๊ด” ไม่พ้นต้องหาเงินกู้มาเพิ่ม

จากนั้นสรรหานโยบาย “สดใหม่” มาเอาใจประชาชน สิ่งที่ตามมาคือ ประเทศไทยและคนไทยทั้งชาติต้องเป็นหนี้กันหัวโต กว่าจะใช้หนี้หมดคงรอกันชั่วลูกชั่วหลาน


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โหมงบปี 56 ถมประชานิยม พยุงเศรษฐกิจ

view