สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในการกำหนดมาตรฐานสิทธิมนุษยชน

บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในการกำหนดมาตรฐานสิทธิมนุษยชน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เมื่อเร็วๆ นี้ ศาลรัฐธรรมนูญ (“ศาลฯ”) ได้มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2555 เกี่ยวกับประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (“รธน.”)
ของบทสันนิษฐานความรับผิดของกรรมการบริษัทและการผลักภาระการพิสูจน์ในคดีอาญาว่าเป็นบทกฎหมายที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ให้สันนิษฐานเบื้องต้นไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) ผู้เขียนเห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทบาทของศาลฯ ในการกำหนดมาตรฐานสิทธิมนุษยชน จึงขอหยิบยกมากล่าวถึงในบทความนี้  
 

ในคดีนี้ ศาลฎีกาได้ส่งคำโต้แย้งของจำเลยในคดีความผิดตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 (“กฎหมายว่าด้วยการขายตรงฯ”) ซึ่งโต้แย้งว่ามาตรา 54  ของกฎหมายดังกล่าวซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้กระทำความผิด…เป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น” ขัดหรือแย้งต่อ รธน. โดยตุลาการศาลฯ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่ามาตรา 54 ดังกล่าวขัดต่อ รธน. จึงเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ โดยได้วินิจฉัยถึงความไม่ชอบด้วย รธน. เนื่องจากขัดกับหลักสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ให้สันนิษฐานเบื้องต้นไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ด้วยเหตุผลดังนี้
 

1) กฎหมายว่าด้วยการขายตรงฯ มาตรา 54 เป็นข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่มีผลเป็นการสันนิษฐานความผิดของจำเลย (Presumption of fault) โดยโจทก์ไม่จำต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำหรือเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่งของจำเลยซึ่งก็คือกรรมการบริษัทก่อน
 

2) เป็นการนำการกระทำความผิดของบุคคลอื่น (นิติบุคคล) มาเป็นเงื่อนไขของการสันนิษฐานให้จำเลยมีความผิดและต้องรับโทษทางอาญา (Strict criminal liability) เว้นแต่ จะพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของนิติบุคคลดังกล่าว (Reverse burden)
 

ในคำวินิจฉัยของศาลฯ ดังกล่าวมีการอ้างถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเพื่อสรุปว่าหลักสันนิษฐานความผิดอาญาของผู้ต้องหาและจำเลยตามที่ศาลฯ ตีความนั้นเป็นหลักนิติธรรมที่ได้รับการยอมรับในอารยประเทศและเป็นเหตุผลประกอบการวินิจฉัยว่ามาตรา 54 ของกฎหมายว่าด้วยการขายตรงฯ นั้นขัดต่อหลักนิติธรรมและ รธน. มาตรา 39 วรรคสอง  ซึ่งจากคำวินิจฉัยของศาลฯ ดังกล่าวมีผลให้กฎหมายหลายๆ ฉบับที่มีบทบัญญัติว่าด้วยข้อสันนิษฐานความรับผิดของกรรมการหรือผู้แทนนิติบุคคลในลักษณะเดียวกันกับมาตรา 54 ของกฎหมายว่าด้วยการขายตรงฯ อาจจะต้องมีการถูกยกเลิกหรือแก้ไขต่อไปในอนาคต ตัวอย่างเช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 (มาตรา 82), พระราชบัญญัติคุ้มครองแบบผังภูมิของวงจรรวม พ.ศ. 2543 (มาตรา 52), พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 (มาตรา 114), พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 (มาตรา 59) และพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจํากัด พ.ศ. 2535 (มาตรา 221) เป็นต้น
 

ในด้านสิทธิมนุษยชน อาจพิจารณาได้ว่าคำวินิจฉัยของศาลฯ ในคดีนี้เป็นตุลาการภิวัฒน์ในการให้ความคุ้มครองแก่สิทธิของปัจเจกชนจากการใช้อำนาจรัฐ แต่หากพิจารณาจากมิติเชิงประสิทธิภาพในการบริหารและบังคับใช้กฎหมายแล้ว คำวินิจฉัยของศาลฯ ในคดีนี้ก็อาจเปลี่ยนแปลงภาระของภาครัฐในส่วนของการดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ
 

ผู้เขียนเห็นว่าเมื่อพิจารณาในเชิงประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย โทษจำคุกแก่กรรมการนิติบุคคลอาจถือได้ว่ายังมีความจำเป็นอยู่ในแง่ของการป้องปรามการกระทำผิดกฎหมาย (Deterrence effect) โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกฎระเบียบทางเศรษฐกิจต่างๆ (Regulatory offense) และการเปลี่ยนแปลงภาระการพิสูจน์และข้อสันนิษฐานความรับผิดนั้นในเชิงประสิทธิภาพยังอาจอธิบายเพิ่มเติมได้ว่าเนื่องจากผู้แทนนิติบุคคลเป็นผู้ที่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลได้อย่างดีที่สุดและสามารถนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานที่ภาครัฐอาจไม่รู้หรือไม่มีอยู่ในความครอบครองเพื่อหักล้างข้อกล่าวหาต่างๆ ได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการให้ภาครัฐเป็นผู้แสวงหาพยานหลักฐานต่างๆ นั้น
 

ในด้านกฎหมายเปรียบเทียบ ผู้เขียนพบว่าประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายๆ ประเทศในยุโรปโดยศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป ก็ยังคงมีการใช้บังคับหลักความรับผิดโดยเคร่งครัดเกี่ยวกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลอยู่และเห็นว่าไม่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด แต่หลักการดังกล่าวก็มิใช่ไม่มีข้อโต้แย้งในทางวิชาการในประเทศเหล่านั้นเสียทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการกำหนดความรับผิดในลักษณะเด็ดขาด (Absolute criminal liability) ยิ่งไปกว่าการเป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่ยังสามารถนำสืบเพื่อต่อสู้คดีได้ ดังตัวอย่างในคดีของประเทศแคนาดาคดีหนึ่ง (Re B.C. Motor Vehicle Act, [1985] 2 S.C.R. 486) ซึ่งศาลฎีกาของแคนาดามีความเห็นว่าการกำหนดโทษจำคุกขั้นต่ำเพียงเหตุเพราะขับขี่รถยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตบนทางด่วนพิเศษนั้นขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
 

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วเบื้องต้นว่าคำวินิจฉัยของศาลฯ ในคดีนี้มีผลต่อกฎหมายหลายๆ ฉบับในส่วนข้อสันนิษฐานความรับผิดของกรรมการหรือผู้แทนนิติบุคคลในคดีอาญาอาจจะต้องถูกยกเลิกหรือแก้ไขต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ตาม หากรัฐยังคงเห็นว่าหลักนิติธรรมตามที่ศาลฯ วางบรรทัดฐานในคดีนี้ไม่สอดคล้องกับหลักการบริหารและบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพของภาครัฐ รัฐก็อาจมีทางออกได้โดยการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของ รธน. เพื่อเป็นกรอบทางกฎหมายในการตีความของศาลฯ ต่อไปในอนาคต
 

ก็ต้องคอยติดตามกันต่อไปว่าภาครัฐจะเห็นด้วยกับการกำหนดมาตรฐานสิทธิมนุษยชนของศาลฯ ในประเด็นนี้หรือไม่ อย่างไรครับ


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ การกำหนด มาตรฐานสิทธิมนุษยชน

view