สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เวิลด์แบงก์เตือนไทยรับมือศก.โลกป่วน!

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เวิลด์แบงก์ส่งสัญญาณเตือนไทยเตรียมพร้อมรับมือเศรษฐกิจโลกป่วน! แนะรัฐบาลเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน-ลดโครงการประชานิยม
ธนาคารโลก (เวิล์ดแบงก์) ได้ออกรายงานติดตามภาวะเศรษฐกิจไทย ฉบับที่ 1 ปี 2555 โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ดังนั้นรัฐบาลต้องมีนโยบายเตรียมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและลดนโยบายประชานิยม ดังนี้ คือ

ในปี 2554  เศรษฐกิจไทยที่แท้จริงขยายตัว 0.1% ท่ามกลางปัจจัยลบหลายประการ คือ สึนามิในประเทศญี่ปุ่น อุทกภัยน้ำท่วมภายในประเทศ และวิกฤติหนี้ในยุโรป

จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลง โดยเหตุการณ์สึนามิ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ลดลง 6.7% จากนั้น น้ำท่วมในเดือนต.ค. 2554 ดัชนีลดลง 30.1% ในเดือนพ.ย. 2554 ลดลงมากที่สุด 47.2% และในเดือนธ.ค. 2554 ลดลง 25.8%

ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่แท้จริงในปี 2554 ลดลง 0.1%  จากเหตุการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อจีดีพีในไตรมาสที่ 4 ให้หดตัวลง โดยเฉพาะผ่านการส่งออกที่ลดลง ส่งผลให้จีดีพี ลดลง 3.7%

ผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วมต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2554 มีความเสียหายและสูญเสียมากกว่า 1.4 ล้านล้านบาท โดยแยกเป็นความสูญเสีย 630,354 ล้านบาท และค่าเสียโอกาส 795,191 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นความเสียหายในภาครัฐ 141,477 ล้านบาท และเอกชน 1,284,066 ล้านบาท

ในปี 2555 คาดว่าอัตราการขยายตัวของจีดีพีที่แท้จริงคาดว่าจะขยายตัวที่ 4.5% โดยมีปัจจัย ดังนี้ คือ

- การส่งออกคาดว่าจะชะลอตัวลงจากความต้องการในตลาดยุโรปที่ลดลง

- การก่อสร้างฟื้นฟูหลังน้ำท่วม กับการลงทุนภาครัฐจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2555 แต่การนำเข้าก็จะสูงไปด้วย

- การลงทุนภาครัฐจะเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในประเทศ และช่วยสร้างบรรยากาศการลงทุน

- ประเทศไทยต้องเตรียมตัวรองรับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก

ปัจจัยหนุน-เสี่ยงปี 2555

ปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ มีทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน คือ

- สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา

- ระดับราคาสินค้าในตลาดโลกต่ำลง

- แผนรายจ่ายภาครัฐในการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม และนโยบายสนับสนุนรายได้ให้ประชาชน จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชน

- การลดอัตราภาษีนิติบุคคล

- ภาคการเงินที่เข้มแข็ง และทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง

ปัจจัยเสี่ยงหลายด้านที่ต้องติดตามในปีนี้ คือ

- วิกฤติเศรษฐกิจในยูโรโซน ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก โดยคาดว่าในปีนี้ เศรษฐกิจในยูโรโซน จะลดลง 0.3% ในขณะที่การส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรปในไตรมาสแรก ปี 2555 ลดลง 16.3% และส่งออกรวมลดลง 3.9% โดยคาดว่ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าได้รับผลกระทบมากที่สุดถึงช่วงครึ่งปีหลัง

ส่วนผลกระทบทางอ้อม การส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าแลอิเล็กทรอนิกส์ของจีน ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น 1%

- นิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด

- เงินเฟ้อยังคงระดับใกล้เคียงกับปี 2554 ประมาณ 3.5% จากราคาพลังงานที่สูงขึ้น นโยบายภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนรายได้และการบริโภคของประชาชน และความจำเป็นในการก่อสร้างเพื่อการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม

- การเบิกจ่ายในโครงการของรัฐในเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่ล่าช้า ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน

ฟื้นฟูเศรษฐกิจและรับมือความไม่แน่นอน

สิ่งที่ประเทศไทยต้องดำเนินการเพื่อรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และฟื้นฟูประเทศจากภาวะน้ำท่วม

1. เตรียมช่องว่างทางการคลังให้เพียงพอในกรณีเกิดการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก รัฐบาลจะต้องมีการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

2. เร่งการมีส่วนร่วมในการค้า การลงทุนในภูมิภาค เช่น การรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนปี 2558 หรือ กับจีนและอินเดีย

3. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าโลกที่มีการแข่งขันเข้มข้นขึ้น

สิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการมีดังนี้ คือ

เพิ่มการลงทุนภาครัฐในการบริหารจัดการในเรื่องน้ำท่วมและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งการลงทุนภาครัฐลดลงอย่างต่อเนื่อง 2540 จากระดับ 12% ของจีดีพี เหลือระดับ 4% ของจีดีพีในปี 2554

ทั้งนี้ รายจ่ายการลงทุนต่องบประมาณของรัฐบาลไทย ต่ำกว่าเป้าหมายที่ระดับ 25% โดยในปี 2554 อยู่ที่ 20% แบ่งเป็นงบประมาณ 17% และงบจากแผนไทยเข้มแข็ง 3% และในปี 2555 เป็นงบประมาณ 18% และงบไทยเข้มแข็ง 2%

ทบทวนนโยบายของภาครัฐที่มีต้นทุนที่สูงแต่ช่วยเพิ่มผลิตภาพของเศรษฐกิจไม่มากนัก เนื่องจากนโยบายประชานิยม 9 นโยบาย คิดเป็นรายจ่ายประมาณ 3% ของจีดีพี และคาดว่ารายได้รัฐสูญเสียไป 1.5% ของจีดีพีในปี 2555

ประเทศไทยต้องมีช่องว่างทางการคลังให้เพียงพอเพื่อการลงทุนและเป็นตัวรองรับในกรณีเกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจากการประมาณการ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2555 จะอยู่ที่ระดับ 48.7% เพิ่มเป็น 50.7% ในปี 2556

ทั้งนี้คาดว่าในปี 2559 สัดส่วนหนี้สาธารณะจะเพิ่มเป็น 53.9%

สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นเป็นภาระต่องบประมาณในการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย โดยในปี 2553 ภาระหนี้ต่องบประมาณคิดเป็น 9.3% ลดลงสู่ระดับ 7.4% ในปี 2556 จากนั้นจะทรงตัวในระดับ 11.6% ตั้งแต่ปี 2557-2559

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

- เพิ่มการลงทุนภาครัฐในการบริหารจัดการในเรื่องน้ำท่วมและโครงสร้างพื้นฐานและบริการอื่นๆ

- เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

- เตรียมช่องว่างทางการคลังที่เพียงพอ ในกรณีเกิดการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เวิลด์แบงก์เตือนไทย รับมือศก.โลกป่วน!

view