สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การศึกษาไทยใช้งบสูง แต่ประสิทธิภาพ/คุณภาพต่ำ

การศึกษาไทยใช้งบสูง แต่ประสิทธิภาพ/คุณภาพต่ำ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




จากสถิติการศึกษาของประเทศไทยรวบรวมโดยสำนักงานเลขาธิการการศึกษา (สกศ.) (www.onec.go.th) จำนวนนักเรียนนักศึกษาทั้งในภาครัฐและเอกชน
ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ยอดรวมแต่ละปีอยู่ในราว 15 ล้านคน โดยไม่ได้เพิ่ม (ปี 2553 อยู่ในสถาบันศึกษาเอกชน 18.3%) เป็นสัดส่วนค่อนข้างต่ำ แต่งบประมาณการศึกษาภาครัฐนั้นเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก จาก 2.9 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2549 เป็น 4.2 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2554 (คิดเป็น 24% ของงบทั้งประเทศหรือ 4.1% ของ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ประชากรวัยเรียน มีโอกาสได้เรียนเป็นสัดส่วนสูงขึ้นเล็กน้อยในรอบ 5 ปี ยกเว้นเด็กวัย 2-3 ปี ที่ไม่ได้เข้าเรียนชั้นก่อนประถมวัย และเด็กที่ออกกลางคันหลังจากจบชั้นประถมแล้ว ที่ยังคงได้เรียนเป็นสัดส่วนต่ำ เมื่อเทียบกับประชากรวัยเดียวกันทั้งประเทศ
 

ไทยใช้งบเพื่อการศึกษาสูง แต่ประชากรได้รับการศึกษาเฉลี่ยต่ำกว่าหลายประเทศ ปัญหาสำคัญคือเรื่องนักเรียนออกกลางคัน เรียนไม่จบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) และ ม.6 ตามนโยบายเรียนฟรี 12 ปี ยังมีสูง เนื่องจากคนไทยยังมีปัญหาความยากจน และปัญหาสภาพแวดล้อมทั้งครอบครัว โรงเรียน และสังคมมาก นักเรียนที่เข้าเรียนชั้น ป.1 ในปีการศึกษา 2542 พอเรียนถึงชั้น ม.3 ออกกลางคันไป 20% เรียนถึง ม.6/ปวช.3 ออกกลางคันไป 43% หรือเกือบครึ่งหนึ่ง คิดเป็นจำนวนคนราว 4 แสนกว่าคน นี่คิดเฉพาะนักเรียนรุ่นเดียว ถ้าคิดสะสมทุกปีประชากรไทยหลายล้านคนยังคงไม่ได้รับการศึกษา 9-12 ปี เหมือนในประเทศอื่นๆ
 

แรงงานไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป กว่าครึ่งหนึ่ง (ราว 20 ล้านคนจากแรงงาน 38 ล้านคน) ยังคงได้รับการศึกษาแต่ประถมและต่ำกว่า ทั้งๆ ที่เรามีโรงเรียนมัธยมมากพอ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ การสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือนพฤศจิกายน 2553 www.nso.go.th) ที่เป็นสถิติที่ต่ำกว่าหลายประเทศ
 

นักเรียนที่ผ่านไปเรียนมัธยมได้ มุ่งสายสามัญมากกว่าสายอาชีวะ คนจบมัธยมปลายมุ่งสู่มหาวิทยาลัยสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและวิชาชีพ สายอาชีวะมีครูอาจารย์ (ที่มีคุณวุฒิ) เป็นสัดส่วนค่อนข้างต่ำ การจัดการและงบประมาณไม่ดีนัก ส่งผลต่อคุณภาพและทำให้คนไม่นิยมเรียนอาชีวะ ส่วนอุดมศึกษาขยายตัวมากและงบประมาณภาครัฐก็เพิ่มมาก ส่วนใหญ่คือสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ที่ไม่ค่อยมีคุณภาพนัก คนที่ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่มีงบรัฐอุดหนุนมากคือ คนชั้นกลางส่วนน้อยที่เอาชนะการแข่งขันแบบแพ้คัดออกได้
 

งบประมาณอุดมศึกษาเฉพาะภาครัฐเพิ่มจาก 40,131 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2548 เป็น 71,806 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2554 ในแง่จำนวนนักศึกษาอุดมศึกษาทั้งหมด (ทั้งภาครัฐและเอกชน) อยู่ในราว 2.3-2.4 ล้านคน ไม่ได้เพิ่มขึ้นในรอบ 5 ปี เนื่องจากประชากรวัยมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย แต่สัดส่วนคนได้เรียนอุดมศึกษาต่อประชากรวัยเดียวกันสูงขึ้นเล็กน้อย ในช่วงปี 2549-2553 นักศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรีเพิ่มขึ้นจาก 2 แสนคน เป็น 2.6 แสนคน ปีการศึกษา 2553 มีนักศึกษาปริญญาโทอยู่ถึง 2 แสนคน ปริญญาเอก 2 หมื่นคน แต่เติบโตทางปริมาณมากกว่าคุณภาพ
 

งบประมาณอุดมศึกษา (71,806 ล้านบาท) ของภาครัฐ ใช้เป็นงบรายจ่ายหมวดเงินเดือนค่าจ้างค่อนข้างต่ำ คือเพียงราว 25% ของงบทั้งหมด แต่ใช้ในหมวดค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น เงินอุดหนุน ค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ ค่าครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ค่าสาธารณูปโภค ฯลฯ มาก น่าจะมีการวิจัยเรื่องประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ เพราะเรื่องการศึกษานั้น หัวใจน่าจะอยู่ที่การพัฒนาครูอาจารย์  เงินเดือนครูอาจารย์ในประเทศอื่น ๆ รวมทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย สูงกว่าไทยมาก เรื่องนี้มีผลต่อการหาคนเก่งๆ มาเป็นอาจารย์ได้ยาก หรือทำให้อาจารย์ไปใช้เวลาหารายได้พิเศษ เช่นเปิดหลักสูตรโครงการพิเศษกันมาก สอนต่อสัปดาห์มาก จนไม่อาจสอนและวัดผลนักศึกษาได้อย่างมีคุณภาพเท่าที่ควร
 

เทียบกับการใช้งบประมาณการศึกษาขั้นก่อนประถมถึงมัธยม หมวดเงินเดือนครูอาจารย์ของการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ที่ 58.20% ของงบทั้งหมด แต่แม้กระนั้นเงินเดือนครูขั้นต้นของไทยยังต่ำกว่าหลายประเทศ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ครูประถม มัธยมของไทย มีคุณภาพปานกลางจนถึงต่ำ (อุดมศึกษาก็พอๆ กัน) และการจัดการศึกษาไทยมีผลสัมฤทธิ์ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
 

สถิติอื่นๆ คือ มีครูอาจารย์ทั้งประเทศ 758,749 คน ส่วนใหญ่ราว 4 แสนคน วุฒิปริญญาตรี วุฒิปริญญาโทมี 1.1 แสนคน  วุฒิปริญญาเอก 23,580 คน ที่แปลกมากคือสถิติบอกว่ามีครูอาจารย์ที่ไม่ระบุวุฒิถึง 1.95 แสนคน (25%) ไม่เข้าใจว่าทำไมการเก็บสถิติบ้านเราถึงได้คลุมเครือขนาดนี้
 

คนสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีในปี 2553 มีราว 3 แสนคน (สถาบันจำกัดรับ 2 แสนคน สถาบันไม่จำกัด 1 แสนคน) ปริญญาโท 6.3 หมื่นคน ส่วนใหญ่ราว 4.7 หมื่นคนจบจากสถาบันไม่จำกัดรับ ซึ่งสถิติเล่มนี้ระบุว่าหมายถึงทั้ง ม.รามคำแหง, ม.สุโขทัย และ ม.ราชภัฏและ ม.ราชมงคลฯ หลักสูตรพิเศษ คนจบปริญญาโทชักเฟ้อ และประเทศไทยไม่ได้เป็นสังคมแห่งการวิจัยเรียนรู้เพิ่มขึ้นมากนัก
 

สถิติเชิงปริมาณอาจไม่สะท้อนคุณภาพ ยกตัวอย่างคนไทยการอ่านหนังสือน้อยกว่าคนหลายประเทศ หนังสือดีๆ ส่วนใหญ่พิมพ์ออกมาขายได้แค่ 1-2 พันเล่ม ทั้งๆ ที่ปัจจุบันนี้ไทยมีแรงงานที่จบอุดมศึกษาราว 6.5 ล้านคน (จากแรงงาน 38 ล้านคน) คนที่กำลังเรียนอุดมศึกษาอยู่มีอีก 2.4 ล้านคน แรงงานจบมัธยมปลายมี 5.2 ล้านคน คนที่เรียนมัธยมปลายมี 2.0 ล้านคน ในประเทศอื่นรวมทั้งยุโรป คนจบมัธยมปลายเขาอ่านหนังสือและศึกษาต่อด้วยตัวเองได้ดี โดยไม่ต้องเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเสมอไป แต่คนไทยที่จบมัธยมปลายจนถึงปริญญาตรีที่มีอยู่ราว 14 ล้านคนไม่ค่อยอ่านหนังสือกัน นี่คือปัญหาใหญ่ที่สถิติเชิงปริมาณยังไม่ได้สะท้อน
 

ถ้าดูสถิติอื่นๆ ประกอบผลการสอบเอเน็ต โอเน็ต ชั้นประถมปลาย มัธยมปลายของไทย ย้อนหลัง 5 ปี ผลสัมฤทธิ์การศึกษาของนักเรียนเฉลี่ยทั้งประเทศค่อนข้างต่ำมาก และต่ำลงกว่าเมื่อปีก่อนๆ ผลการทดสอบระหว่างประเทศนักเรียนอายุ 15 ปี ที่จบหรือใกล้จบการศึกษาภาคบังคับ ที่เรียกว่า PISA จัดโดยกลุ่มประเทศพัฒนา OECD ในวิชาเรื่องการอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ (สอบเป็นภาษาแม่ของนักเรียนแต่ประเทศ) นักเรียนไทยได้คะแนนเฉลี่ยลำดับต่ำกว่าหลายประเทศ รวมทั้งเพื่อนบ้านเอเชีย และต่ำกว่าการทดสอบ PISA ครั้งก่อนๆ ของไทยเองในรอบทศวรรษที่ผ่านมาด้วย


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การศึกษาไทย ใช้งบสูง ประสิทธิภาพ คุณภาพต่ำ

view