สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน : สถานะของไทย

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน : สถานะของไทย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สืบเนื่องมาจากมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่ได้เล็งเห็นถึงความร้ายแรงของปัญหาและการคุกคาม อันเกิดจากการคอร์รัปชันต่อความมั่นคงปลอดภัย
ของสังคม กัดกร่อนสถาบันและคุณค่าของประชาธิปไตย คุณค่าทางศีลธรรมและความยุติธรรม และเป็นอันตรายต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและหลักนิติธรรม จึงได้มีมติจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อการพิจารณากำหนดเครื่องมือทางกฎหมายระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านคอร์รัปชัน จนในที่สุดที่ประชุมระหว่างประเทศได้ตกลงร่วมมือ  จัดทำเป็นอนุสัญญาขึ้น ซึ่งที่ประชุมสมัชชาใหญ่ได้มีมติให้การรับรองแล้วคืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน ค.ศ. 2003 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2548 โดย มี หลักการที่ สำคัญ คือกำหนดให้การคอร์รัปชันเป็นการกระทำผิดทางอาญา และกำหนดให้มีความร่วมมือระหว่างประเทศในการติดตามทรัพย์สินกลับคืน  อนุสัญญานี้มี 8 หมวด 71 มาตรา สรุปที่สำคัญ ดังนี้
 

หมวดที่หนึ่ง บทบัญญัติทั่วไป บทบัญญัติที่สำคัญคือ บทบัญญัติที่แสดงถึงจุดประสงค์ของอนุสัญญานี้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1 คือ
 

(1) เพื่อส่งเสริมและเสริมสร้างมาตรการในการป้องกันและต่อสู้กับการคอร์รัปชันให้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
 

(2) เพื่อส่งเสริม อำนวยความสะดวกและสนับสนุน ความร่วมมือระหว่างประเทศ และการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค ในการป้องกันและต่อสู้กับคอร์รัปชัน รวมทั้งการติดตามทรัพย์สินกลับคืน
 

(3) เพื่อส่งเสริม ความซื่อสัตย์ ภาระหน้าที่รับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ และการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสมของการปฏิบัติราชการหรือรัฐกิจ และทรัพย์สินสาธารณะ
 

หมวดที่สอง มาตรการป้องกัน บทบัญญัติที่สำคัญคือ มาตรา 5 เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและข้อปฏิบัติในการป้องกันและต่อต้านคอร์รัปชัน มาตรา 6 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้มีหน่วยงานในการป้องกันและต่อต้านคอร์รัปชัน มาตรา 8 เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับข้อปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มาตรา 9 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการเงินของกิจการสาธารณะ มาตรา 12 เป็นบทบัญญัติส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน โดยส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีระบบบัญชีและระบบการตรวจสอบที่มีมาตรฐาน ทั้งนี้อาจกำหนดโทษทางแพ่งหรือทางอาญาสำหรับผู้ฝ่าฝืนก็ได้ มาตรา 14  มาตรการในการป้องกันการฟอกเงิน
 

หมวดที่สาม การกำหนดให้เป็นความผิดทางอาญาและการบังคับใช้กฎหมาย  ในหมวดนี้เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศ บัญญัติในกฎหมายหรือมาตรการอื่นให้การกระทำต่างๆ ดังที่บัญญัติในมาตราที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นความผิดทางอาญา  ถ้าเป็นการกระทำโดยเจตนา ที่สำคัญ คือ มาตรา 15  การติดสินบนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มาตรา 16  การติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ มาตรา 17 การยักยอกหรือการฉ้อฉลทรัพย์สินโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ    มาตรา 19  การปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มาตรา 20 การร่ำรวยผิดปกติของ เจ้าหน้าที่ของรัฐ มาตรา 21 การติดสินบนในภาคเอกชน มาตรา 22 การยักยอกทรัพย์สินในภาคเอกชน มาตรา 23 การฟอกทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด เช่นการเปลี่ยนแปลงยักย้ายทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดเพื่อช่วยปกปิดการกระทำความผิด หรือซ่อนเร้นปกปิดหรือทำให้หลงผิดถึง สภาพอันแท้จริง ที่มา ที่ตั้งหรือที่เก็บทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด     มาตรา 26 ความรับผิดของนิติบุคคล  ให้กำหนดให้นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามอนุสัญญานี้ต้องรับผิดด้วย ทั้งทางอาญา หรือทางแพ่ง หรือทางปกครอง
 

ในส่วนทีเกี่ยวกับการใช้บังคับกฎหมาย บทบัญญัติที่สำคัญๆ คือ มาตรา 31 การอายัด ยึด หรือริบทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกจะต้องดำเนินการอย่างเต็มที่ภายใต้กรอบกฎหมายของประเทศตนให้สามารถริบทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดตามที่บัญญัติในอนุสัญญานี้หรือทรัพย์สินอื่นที่มีราคาเท่ากับทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด รวมทั้งทรัพย์สิน เครื่องมือ อุปกรณ์อื่นใดที่ใช้หรือจะใช้ในการกระทำความผิดตามอนุสัญญานี้ด้วย การให้ริบทรัพย์ตามมาตรานี้ ให้รวมถึง รายได้ ผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิด หรือทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงหรือแปรสภาพมาจากทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดด้วย
 

มาตรา 32 เป็นบทบัญญัติ ให้มีการคุ้มครองพยาน ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ได้รับความเสียหาย มาตรา 33 ให้มีการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสของการกระทำความผิด
 

หมวดที่สี่ ความร่วมมือระหว่างประเทศ มาตรา 43 เป็นบทบัญญัติ ความร่วมมือระหว่างประเทศ ให้ประเทศสมาชิกให้ความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอื่น ในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดทางอาญา ตามที่เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายของตน เช่นให้ความช่วยเหลือด้านการสอบสวน ในเรื่อง การดำเนินการในทางแพ่งและทางปกครองที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชัน  มาตรา 44 การส่งผู้ร้ายข้ามแดน มาตรา 46 การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเพื่อประโยชน์ร่วมกัน  เช่นการให้ความร่วมมือในเรื่องพยานหลักฐาน การให้ เบาะแสร่องรอยของการกระทำความผิด ทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด มาตรา 48 ความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมาย
 

หมวดที่ห้า การติดตามทรัพย์สินกลับคืน มาตรา 52 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันและการติดตามการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด เช่น การกำหนดมาตรการในการติดตามธุรกรรมทางการเงินที่มีข้อน่าสงสัย ในสถาบันทางการเงิน การให้มีการเปิดเผยหรือยื่นบัญชีทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
 

หมวดที่หก การให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและการแลกเปลี่ยนข้อมูล
 

หมวดที่ เจ็ด กลไกเพื่อให้มีผลบังคับใช้
 

หมวดที่ แปด บทสุดท้าย มาตรา 65 การบังคับใช้อนุสัญญา เป็นบทบัญญัติให้ประเทศสมาชิก ต้องใช้มาตรการที่จำเป็น  รวมทั้งมาตรการทางกฎหมายและทางบริหารที่สอดคล้องกับกฎหมายของตน เพื่อให้การบังคับใช้สนธิสัญญานี้มีผลในทางปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีอยู่ และประเทศสมาชิกอาจกำหนดมาตรการที่เข้มงวดรุนแรงกว่าที่บัญญัติในอนุสัญญาเพื่อป้องกันและต่อสู้กับคอร์รัปชันก็ได้
 

สถานะของประเทศไทย ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญานี้ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546 และได้ให้สัตยาบันอนุสัญญานี้ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 ประเทศไทยจึง ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามอนุสัญญานี้ ตามพันธกรณีที่ได้ลงนามและให้สัตยาบันไว้ หากประเทศไทยมี การออกกฎหมายลบล้างความผิดคอร์รัปชันหรือลบล้างคำพิพากษาที่ตัดสินลงโทษผู้กระทำความผิดคอร์รัปชัน ตามที่บัญญัติในอนุสัญญา จะเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีอยู่ตามอนุสัญญาฉบับนี้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสถานะของประเทศไทยในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันในเวทีสหประชาชาติตามมาแน่นอน


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน สถานะของไทย

view