สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มารยาททางการเมือง

มารยาททางการเมือง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




หน่วยงานที่ทำหน้าที่นำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติจนเกิดรูปเกิดผลเป็นบริการภาครัฐให้แก่ประชาชนในปัจจุบันมีรูปแบบหลากหลายตามวิวัฒนาการ
และการปรับตัวขององค์กรภาครัฐไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปิดรับหลักการบริหารภาครัฐยุคใหม่ตามแนว New public mangement แล้วยิ่งทำให้ประเทศไทยมีการออก พ.ร.บ. องค์กรรองรับการบริหารรูปแบบใหม่ๆ ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบองค์การมหาชน หรือองค์การที่เรียกว่า SDU (Service delivery unit) ซึ่ง ช่วยขยายขีดความสามารถขององค์การสาธารณะไทย ไม่ให้จำกัดอยู่เฉพาะองค์กรในรูปแบบราชการเท่านั้น
 

แต่หากเรามองย้อนกลับไป เราจะเห็นได้ว่า ความคิดของการสร้างองค์กรสาธารณะเพื่อบริการประชาชนแบบที่เป็นอิสระจากรูปแบบการบริหารงานของระบบราชการนั้นมีมานานแล้ว โดยหนึ่งในองค์กรภาครัฐที่ถูกสถาปนาขึ้นมา เพื่อปลดแอกจากระบบที่เชื่องช้าและระเบียบที่ไม่ยืดหยุ่นของราชการ คือ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ อันมีเป้าหมายที่ชัดเจนในฐานะของการเป็นรัฐพาณิชย์ ซึ่งนอกจากจะต้องทำหน้าที่ในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนแล้ว ยังต้องมีภารกิจในการหารายได้เข้าคลัง รวมถึงสร้างงานและสร้างเสถียรภาพทางการเงินให้กับรัฐบาลและประเทศชาติอีกด้วย ทั้งนี้ จากการรายงานของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ระบุว่า รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้เข้าคลังสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 2. บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 4. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และ 5. บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
 

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของรัฐวิสาหกิจนับตั้งแต่การรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ของการเรืองอำนาจของกลุ่มซอยราชครูเป็นต้นมา คือ การใช้องค์กรสาธารณะเหล่านี้เป็นฐานอำนาจให้แก่ข้าราชการและเหล่าอำมาตย์ เสนาบดี ในการแสวงหาผลประโยชน์ ผ่านการเป็นคณะกรรมการและการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ โดยภารกิจนี้แม้จะไม่ได้มีการเขียนหรือบอกกล่าวอย่างเป็นทางการก็ดูเหมือนจะเป็นที่ทราบกันดีของชาวบ้านร้านตลาด ซึ่งกลายเป็นจารีตปกติของการตักตวงผลประโยชน์ผ่านการดำรงตำแหน่งใหญ่โตในองค์การสาธารณะเหล่านั้น
 

แม้ปัจจุบัน รัฐวิสาหกิจหลายแห่งจะแปรรูปให้มีการบริหารจัดการตามหลักการของการบริหารธุรกิจที่คำนึงถึงผลกำไร-ขาดทุน โดยเขยิบให้ภาครัฐทำหน้าที่ในฐานะผู้กำกับดูแลมากกว่าการนำนโยบายไปปฏิบัติเองก็ตาม แต่รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ก็ยังถูกควบคุมโดยกลุ่มข้าราชการพลเรือนและข้าราชการการเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้น หน่วยงานรัฐพาณิชย์เหล่านี้ จึงกลายเป็นเค้กก้อนโตของข้าราชการและนักการเมืองที่จ้องแสวงหาผลประโยชน์จากบริการสาธารณะ กลายเป็นท่อน้ำเลี้ยงในกระบวนการธุรกิจการเมือง รวมถึงกลายเป็นพื้นที่ของการตกรางวัลความดีความชอบในระบบอุปถัมภ์แบบไทยๆ


จากกรณีการปลดกลางอากาศอย่างกะทันหันของ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของความย้อนแย้งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ในการบริหารงานสาธารณะของภาครัฐไทย ซึ่งแม้จะพยายามนำเอาความเป็นมืออาชีพเข้ามาจับกับจารีตการทำงานภายใต้ระบบอุปถัมภ์ โดยใช้การประเมินผลงานตามหลักสากล ด้วยการคำนวณคะแนนและตัวชี้วัดที่ประเมินค่าเป็นตัวเลขได้ก็ตาม แต่ผลของงานในแบบมืออาชีพก็ไม่สามารถทัดทานระบบการบริหารที่เป็นจารีตสืบทอดกันมาอย่างยาวนานของกลุ่มผลประโยชน์เก่าๆ ที่ฝังรากอยู่ในองค์กร
 

ปรากฏการณ์ของการปลดฉุกเฉินหรือการลาออกเองของบรรดาบอร์ดหรือผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ รวมถึงหน่วยงานสาธารณะอื่นๆ เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลด้วยเหตุผลแบบงงๆ ที่เรียกกันว่า “มารยาททางการเมือง” ดูเหมือนจะกลายเป็นจารีตที่ถือปฏิบัติกันมาอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง เพื่อหลีกทางให้กลุ่มอำนาจใหม่ที่สถาปนาตนเองขึ้นมาปกครองบ้านเมืองได้มีโอกาสวางคนของตนในองค์กรสาธารณะนั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงศักยภาพหรือสมรรถนะของคนเหล่านั้น
 

ความฉงนสงสัยจึงเกิดขึ้นกับวิวาทะของ “มารยาทางการเมือง” ที่ตั้งขึ้น เพื่อใช้อ้างในการแทรกแซงการบริหารแบบมืออาชีพตามหลักสากล ว่า ท้ายที่สุดแล้วมันคือ ความไร้มารยาทที่มีต่อเงินภาษีของประชาชนที่ส่วนหนึ่งใช้อุดหนุนรัฐวิสาหกิจหรือกิจการสาธารณะเหล่านั้น ให้สามารถผูกขาด ไม่ล้มละลายไปกับการแข่งขันตามกลไกตลาดที่เชี่ยวกราก นั่นเอง
 

ทั้งนี้ ยิ่งวิเคราะห์ร่วมกับความกักขฬะและความกร่างที่มาจากการเหิมเกริมอำนาจทางการเมือง ทั้งที่เกิดขึ้นจากฝ่ายนิติบัญญัติในสภาและฝ่ายบริหารในขณะที่นี้แล้ว ทำให้เห็นว่าความไร้มารยาทอย่างที่สุดของการเมืองไทยคงเป็นการล้วงลูกและการแทรกแซงที่เข้าไปในทุกภาคส่วนของสังคม โดยคำนึงถึงเฉพาะผลประโยชน์และการสร้างฐานอำนาจให้กับพวกพ้องของตนมากกว่าการทำงานแบบมืออาชีพ ที่ปราศจากการคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ
 

ดังนั้น ความมีมารยาททางการเมืองที่กำลังจะกลายเป็นบรรทัดฐานของการเมืองไทย จึงถือเป็นอีกวิกฤตการณ์หนึ่งที่ไม่เพียงแต่สร้างมาตรฐานที่ไร้มารยาทในการตอบสนองผู้รับบริการสาธารณะเท่านั้น หากแต่ยังเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้งานบริการภาครัฐของไทยเป็นได้เพียงกระพี้ของบริหารงานภาครัฐแบบมืออาชีพ ซึ่งเราคงต้องเรียกมันว่าเป็น New public management แบบไทยๆ


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มารยาททางการเมือง

view