สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แกะรอยกฎหมายนิรโทษกรรมในไทย-ตัวอย่างต่างประเทศ

แกะรอยกฎหมายนิรโทษกรรมในไทย-ตัวอย่างต่างประเทศ

วันพฤหัสบดีที่ 07 มิถุนายน 2012 เวลา 18:33 น. เขียนโดย isranews


หมายเหตุ - เป็นบทความเรื่อง กฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรม ของนายสุกิจ สัมฤทธิ์ผ่อง นักกฎหมายกฤษฎีกาชํานาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่มา:เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา)

โดยที่เป็นการสมควรศึกษากฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรม เพื่อประโยชน์ในการศึกษาโครงสร้างทางกฎหมาย ตลอดจนการกําหนดหรือวางแบบร่างกฎหมาย ซึ่งบทความนี้ประกอบด้วย หัวข้อดังนี้ 

๑. ความหมายของคําว่า “นิรโทษกรรม” 

๒. วัตถุประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรม 

๓. ขอบเขตของกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรม 

๔. เงื่อนไขและวิธีการตรากฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรม 

๕. ผลทางกฎหมายของการนิรโทษกรรม 

๖. ความแตกต่างระหว่างนิรโทษกรรม การล้างมลทิน และการอภัยโทษ 

๗. สรุปสาระของกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมฉบับต่างๆ 

๘. แบบและโครงสร้างทางกฎหมายสําหรับกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมในอนาคต  

๙. ข้อเสนอแนะ 

๑. ความหมายของคําว่า “นิรโทษกรรม” 

ในสังคมหรือรัฐที่มีประมุขของรัฐเป็นรัฎฐาธิปัตย์ การที่ประมุขของรัฐได้ให้ “ความกรุณา” (Clemency) แก่ผู้กระทําความผิดเป็นเรื่องที่มีมาแต่โบราณ และปรากฏในระบบกฎหมายของรัฐต่างๆ 

ความกรุณาที่ว่านี้มีความหมายอย่างกว้าง โดยประกอบด้วย การอภัยโทษ (Pardon or Forgive) การนิรโทษกรรม (Amnesty) และการล้างมลทิน (Rehabilitation)  ตลอดจนมาตรการอื่น เช่น การพักการลงโทษ การลดวันต้องโทษ

สําหรับการอภัยโทษ การนิรโทษกรรม และการล้างมลทินนั้นเป็นรูปธรรมของการให้ความกรุณาที่มีความสําคัญและมี วิวัฒนาการ จากนิติประเพณีมาสู่ความเป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย 

กล่าวเฉพาะการนิรโทษกรรม มีความหมายว่า การลืมหรือยกโทษในความผิด ของบุคคลที่ได้กระทําไปแล้ว ด้วยอํานาจของฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารเป็นผู้ตรากฎหมาย เพื่อยกเว้นความผิดหรือโทษ ไม่ว่าจะเป็นโทษทางอาญา ทางแพ่ง และทางวินัย ซึ่งอาจรวมถึงโทษ ทางปกครองด้วย ในเหตุการณ์ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง

หากมองในแง่ภาษา นิรโทษกรรมประกอบด้วยคําย่อย ๓ คํา คือ นิร-โทษ-กรรม โดยคําว่า “นิร” หมายความว่า ไม่มี (ว. คําประกอบหน้าคําอื่น แปลว่า ไม่,ไม่มี,ออก)

คําว่า “กรรม” หมายถึง การกระทํา (กรรม ๑,  กรรม- ๑ น. (๑) การ,  การกระทํา,  การงาน,  กิจ,  เช่น พลีกรรม  [กํา,  กํามะ-] ต่างกรรมต่างวาระ,  เป็นการดีก็ได้ ชั่วก็ได้ เช่น กุศลกรรม อกุศลกรรม.(๒) การกระทําที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน หรือซึ่งจะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคต เช่น บัดนี้กรรมตามทันแล้ว ระวังกรรมจะตามทันนะ. (๓) บาป,  เคราะห์,  เช่น คนมีกรรม กรรมของฉันแท้ ๆ. (๔) ความตาย ในคําว่าถึงแก่กรรม.) 

ดังนั้น นิรโทษกรรม จึงหมายถึง การไม่มีการกระทําอันนํามาซึ่งโทษ 

๒. วัตถุประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรม 

โดยทั่วไปกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมมักมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง (Political purpose)  คือ เพื่อให้เกิดความสงบสุขขึ้นในสังคมภายหลังการปฏิวัติ การรัฐประหาร หรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 

นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงอื่นอีก เช่น ใช้เป็นข้อกําหนดในสัญญาสันติภาพหรือยุติความขัดแย้งระหว่างประเทศ ใช้เป็นมาตรการลดจํานวนผู้ต้องขังในเรือนจํา

สําหรับประเทศไทย กฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมที่ประกาศใช้แล้ว ๒๑ ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อรองรับการปฏิวัติ การรัฐประหาร หรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยหาก การปฏิวัติหรือการรัฐประหารนั้นกระทําสําเร็จ 

กฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมที่ประกาศใช้มักอ้างว่าเป็นไปเนื่องจากผู้ก่อ การได้กระทําการนั้นด้วยความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง มิได้แสวงหาประโยชน์ส่วนตัว

ส่วนกรณีที่จะประกาศนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหารที่ กระทําการไม่สําเร็จ ก็มักอ้างเหตุว่าเพื่อความสามัคคีของคนในชาติและเป็นการให้โอกาสแก่บุคคลผู้ กระทําความผิดทําประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อไป

๓. ขอบเขตของกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรม 

หากพิจารณาในภาพกว้าง จะพบว่าโดยหลักทั่วไปทั้งระบบกฎหมายของต่างประเทศ และระบบกฎหมายของไทย กฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมจะมีขอบเขตในภาพกว้างที่เหมือนกัน กล่าวคือ มุ่งเน้นการลืมการกระทําทางการเมืองเป็นสําคัญ โดยหากการกระทําทางการเมืองนั้นมีผลเป็นการกระทําความผิดที่มีโทษทางอาญา ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดเกี่ยวกับการกบฏหรือการจลาจล 

หากพิจารณาในภาพที่เล็กลงไปจะพบว่า ขอบเขตของกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมจะอยู่ที่การทําให้ลืมเฉพาะความผิดทาง อาญาอันเกี่ยวข้องกับการกระทําทางการเมือง เว้นแต่กฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมบางฉบับที่อาจมีความประสงค์จะนิรโทษกรรม ความผิดทางแพ่ง  ทางปกครอง หรือทางวินัยด้วย 

ในประเด็นนี้ ผู้เขียนเห็นว่า กฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมของไทยที่ประกาศใช้แล้ว ๒๑ ฉบับ ส่วนใหญ่มีขอบเขตอยู่ที่การทําให้ลืมเฉพาะความผิดทางอาญาอันเกี่ยวข้องกับ การกระทําทางการเมือง มีบางฉบับที่บัญญัตินิรโทษกรรมทางแพ่งด้วย

๔. เงื่อนไขและวิธีการตรากฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรม

โดยหลักทั่วไป กฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมเป็นกฎหมายที่ใช้กับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง โดยเฉพาะซึ่งจะมีการนิรโทษกรรมด้วยการออกเป็นกฎหมายเป็นครั้งคราว มิได้มีลักษณะเป็นบทบัญญัติที่ใช้กับทุกสถานการณ์หรือตลอดเวลา จึงไม่อาจคาดหมายได้ว่าเหตุการณ์ใดผู้กระทําความผิดจะได้รับการนิรโทษกรรม  ประกอบกับสาระหรือขอบเขตของกฎหมายนิรโทษกรรมแต่ละฉบับมีความแตกต่างกัน กรณีจึงมีข้อสรุปว่าการกระทําใดๆ จะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่จะต้องพิจารณาจากบทบัญญัติในกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ละฉบับ

อย่างไรก็ดี จุดร่วมที่มีความเหมือนกันของกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรม คือ เรื่องเงื่อนไขที่จะนําไปสู่การนิรโทษกรรม  ซึ่งประกอบด้วย (๑) เวลาที่กระทําความผิด (๒) ตัวผู้กระทําความผิด และ (๓) ลักษณะความผิด  

โดยรายละเอียดของเงื่อนไขแต่ละข้อ จะแตกต่างกันไปตามความประสงค์ของกฎหมายแต่ละฉบับ 

    ๔.๑ เวลาที่กระทําความผิด เนื่องจากกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นกฎหมาย ที่ประกาศใช้เฉพาะครั้งคราว เงื่อนไขว่าด้วยเวลากระทําความผิดจึงเป็นเรื่องสําคัญ ซึ่งโดยหลักการแล้วการนิรโทษกรรมจะใช้กับการกระทําความผิดที่ผ่านมาแล้วหรือ อีกนัยหนึ่ง ต้องเป็นการนิรโทษกรรมความผิดที่เกิดขึ้นแล้วก่อนวันประกาศใช้กฎหมายนิรโทษ กรรม 

    สําหรับกฎหมายของไทย กฎหมายอาจระบุวันที่จะนิรโทษกรรมไว้อย่างชัดแจ้งหรืออาจกําหนดให้การกระทํา ก่อนใช้กฎหมายเป็นการกระทําที่ได้รับนิรโทษกรรมก็ได้ 

    ๔.๒ ตัวผู้กระทําความผิด กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นกฎหมายที่มีผลเป็นการทั่วไปโดยพิจารณาจากสภาพความผิด มิได้พิจารณาตัวผู้กระทําความผิดเป็นการเฉพาะราย หากบุคคลใดกระทําความผิดตามที่กฎหมายกําหนดไว้ บุคคลนั้นก็จะได้รับนิรโทษกรรม 

    ในกรณีที่การกระทําปฏิวัติหรือรัฐประหารสําเร็จ จะมีการนิรโทษกรรมให้แก่หัวหน้าผู้ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหารซึ่งอาจใช้อํา นาจออกประกาศหรือคําสั่งที่ฝ่าฝืนกฎหมายด้วย และบางครั้งได้ขยายผลไปถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายหรือผู้ซึ่งได้รับคําสั่งจาก ผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย 

    นอกจากการนิรโทษกรรมแก่บุคคลเป็นการทั่วไปแล้ว อาจมีการนิรโทษกรรมโดยเฉพาะเจาะจงแก่บุคคลบางหมู่เหล่า และบางครั้งอาจระบุชื่อผู้ที่จะได้รับนิรโทษกรรมไว้ในกฎหมาย ทั้งนี้ เงื่อนไขเกี่ยวกับตัวผู้กระทําความผิดย่อมรวมถึงการที่กฎหมายกําหนดให้ผู้ กระทําความผิดกระทําการบางประการก่อนด้วย 

    ๔.๓ ลักษณะความผิดลักษณะความผิดที่จะนิรโทษกรรมขึ้นกับความประสงค์ ในกฎหมายแต่ละฉบับ ความผิดอย่างเดียวกันหากกระทําการในช่วงเวลาต่างกันและรัฐบาลต่างกันอาจได้ รับหรือไม่ได้รับนิรโทษกรรมก็ได้ 

    ในประเทศไทยความผิดที่ได้รับนิรโทษกรรมส่วนใหญ่คือความผิดฐานเป็นกบฏ ปัญหาคือความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับกบฏ เช่น ลักอาวุธยุทธภัณฑ์ ปล้นทรัพย์ วางเพลิง ทําลายสถานที่ราชการ จะได้รับนิรโทษกรรมหรือไม่ ซึ่งปัญหาเหล่านี้คงต้องพิจารณาจาก มูลจูงใจว่าผู้กระทําได้กระทําความผิดเกี่ยวเนื่องนี้ได้โดยมีมูลจูงใจเพื่อ เป็นกบฏหรือไม่ หากใช่ก็จะได้รับนิรโทษกรรม แต่การพิจารณาเช่นนี้ทําให้ขอบเขตของกฎหมายไม่ชัดเจนเพราะยากที่จะพิสูจน์ เจตนาของผู้กระทํา ดังนั้น เพื่อจํากัดความผิดที่จะนิรโทษกรรมอาจใช้วิธีระบุฐานความผิดที่ต้องการ นิรโทษกรรมไว้ให้ชัดเจน 

๕. ผลทางกฎหมายของการนิรโทษกรรม

การนิรโทษกรรมมีผลทางกฎหมาย ๓ ประการ ดังนี้ 

    ๕.๑ ผลต่อการกระทําความผิดอาญา 

    บางฝ่ายมีความเห็นว่า กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นการยกเว้นความผิดหรือลบล้างความผิด 

    บางฝ่ายเห็นว่านิรโทษกรรมมีผลเป็นการลบล้างองค์ประกอบทางกฎหมายของความผิดซึ่งทําให้การกระทํานั้นไม่เป็นความผิดทางอาญา 

    และบางฝ่ายเห็นว่า การนิรโทษกรรมควรพิจารณาที่ผลที่เกิดขึ้นคือการไม่ดําเนินคดีแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรม 

    ตามมาตรา ๓๙ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นหลักมากกว่าที่จะพิจารณาถึงถ้อยคําว่าเป็นการยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษ 

    นอกจากนี้ การพิจารณาว่ากฎหมายใดเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมหรือไม่ ไม่ควรจํากัดว่า “กฎหมายนั้นต้องย้อนหลังไปลบล้างการกระทําความผิด หากเพียงยกเว้นโทษแล้วไม่ใช่กฎหมายนิรโทษกรรม” ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายนิรโทษกรรมนั้นความผิดและโทษไม่จําเป็นต้องแยกกันอย่างเด็ด ขาด เพราะผลของการยกเว้นความผิดหรือโทษ เป็นอย่างเดียวกัน คือ ผู้กระทําความผิดไม่ต้องถูกดําเนินคดีหรือไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย แต่เพื่อประโยชน์ในการศึกษา ได้แยกผลทางกฎหมายของกฎหมายนิรโทษกรรมออกเป็น ๒ กรณี คือ 

    ๕.๑.๑ กรณีที่เป็นกฎหมายยกเว้นความผิด 

    สําหรับประเทศไทยกฎหมาย นิรโทษกรรมที่ประกาศใช้บังคับจัดได้ว่าเป็นกฎหมายยกเว้นความผิดทั้งสิ้น เนื่องจากมีผลให้การกระทําความผิดที่เกิดขึ้นถูกลบล้างไปเสมือนว่าไม่เคยมี การกระทําความผิดนั้นเลย สังเกตได้จากกฎหมายมักใช้คําว่า “ห้ามมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมาย” หรือ “ให้เป็นอันพ้นจากความผิดนั้นๆ ทั้งสิ้น” และที่ใช้กันมากสุดคือคําว่า “ให้ผู้กระทําพ้นจากความผิดและความรับผิด” 

    ๕.๑.๒ กรณีที่เป็นกฎหมายยกเว้นโทษ

    เป็นกรณีที่กฎหมายมิได้บัญญัติ ว่าความผิดที่ได้กระทําถูกลบล้างหรือไม่ เพียงแต่บัญญัติยกเว้นโทษสําหรับการกระทํานั้น กฎหมาย มักใช้คําว่า “ถ้ายังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลก็ดี หรืออยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลก็ดี ให้ระงับคดีและไม่เอาโทษต่อไป หรือถ้าได้รับโทษอยู่แล้วในวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ก็ให้ยกโทษที่ยังมิได้รับนั้นเสีย”  

เป็นที่น่าสังเกตว่า กฎหมายยกเว้นโทษนั้นมักกําหนดเงื่อนไขให้บุคคลที่จะได้รับนิรโทษกรรมดําเนินการบางอย่าง 

    ดังนั้น จึงมีผลเฉพาะบุคคลที่ได้กระทําการตามเงื่อนไขเท่านั้น ไม่มีผลถึงบุคคล ที่เกี่ยวข้องกับความผิดด้วย เช่น ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน 

    ๕.๒ ผลต่อกระบวนพิจารณาคดีอาญา  

    ๕.๒.๑ สําหรับกฎหมายของประเทศไทย ผลของกฎหมายนิรโทษกรรม จะเป็นไปดังนี้ หากผู้ได้รับนิรโทษกรรมยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ก็ต้องระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้ว พนักงานอัยการต้องถอนฟ้อง  หรือหากจําเลยร้องขอหรือศาลเห็นเองศาลก็พิพากษายกฟ้องหรือสั่งจําหน่ายคดี ได้ 

    กฎหมาย นิรโทษกรรมบางฉบับจะบัญญัติขั้นตอนการดําเนินการกับผู้กระทําความผิดไว้ ชัดเจน เช่น พระราชบัญญัติยกโทษให้ผู้ขาดหนีราชการ กําหนดว่า ถ้าผู้กระทําความผิดยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล หรือ อยู่ระหว่างพิจารณาของศาล ให้ระงับคดีและไม่เอาโทษต่อไป ถ้าได้รับโทษอยู่ก็ให้ยกโทษที่ยังไม่ได้รับนั้นเสีย 

    ในกรณีที่กฎหมายมิได้บัญญัติขั้นตอนดําเนินการไว้ ก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการ

กระทําความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ขณะกระทําความผิด จึงต้องบังคับตามมาตรา ๓  แห่งประมวลกฎหมายอาญา คือ ใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่ผู้กระทําความผิด 

    อนึ่ง กฎหมายนิรโทษกรรมไม่ว่าจะเป็นกรณียกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษ ล้วนมีผลเป็นเงื่อนไขระงับคดีตามมาตรา ๓๙  แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั้งสิ้น (เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการและเมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ)

    ๕.๒.๒ ผลต่อคําพิพากษาและการลงโทษ

    ในสหรัฐอเมริกา การอภัยโทษ และการนิรโทษกรรมมีผลเป็นอย่างเดียวกัน กล่าวคือ เป็นการปลดเปลื้องบุคคลให้พ้นจากผลทางกฎหมายของการกระทําความผิดนั้น กฎหมายถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์เสมือนมิได้กระทําความผิดเลย 

    อย่างไรก็ดี แนวความคิดนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะการอภัยโทษเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นในตัวว่ามีการกระทําความผิด คําพิพากษาของศาลจึงปฏิเสธแนวคิดที่ว่าผู้ได้รับอภัยโทษเป็นผู้บริสุทธิ์และ เห็นว่าการอภัยโทษมีผลนับแต่เวลาที่ได้รับอภัยโทษเป็นต้นไป ไม่มีผลย้อนหลังไปลบล้างการกระทําความผิด 

    ส่วนประเทศฝรั่งเศส กฎหมายนิรโทษกรรมมีผลลบล้างคําพิพากษาและระงับการดําเนินการบังคับโทษตามคํา พิพากษานั้นซึ่งรวมถึงโทษประธานและโทษอุปกรณ์ 

    สําหรับประเทศไทย การนิรโทษกรรมมีผลให้ผู้กระทําไม่ต้องรับโทษสําหรับความผิดนั้น หากนิรโทษกรรมหลังจากมีคําพิพากษาแล้ว และผู้นั้นกําลังรับโทษอยู่ การลงโทษต้องสิ้นสุดลง ซึ่งตามหลักการทั่วไปจะถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้อง คําพิพากษาว่าได้กระทําความผิด ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดยังไม่พ้นโทษซึ่งศาลต้องออกหมายปล่อย โดยศาลเห็นเองว่าผู้นั้นได้รับนิรโทษกรรมหรือเมื่อจําเลยร้องขอ 

    ทั้งนี้ ศาลที่มีอํานาจพิจารณาเรื่องนี้คือศาลที่คดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณา ถ้าคดีถึงที่สุดแล้วก็คือศาลชั้นต้นที่พิจารณาพิพากษาคดีนั้น 

    เมื่อบุคคลใดได้รับนิรโทษกรรมแล้วต่อมาได้กระทําความผิดขึ้นอีก ศาลจะเพิ่มโทษเพราะเหตุกระทําผิดซ้ำไม่ได้ หรือจะอ้างเหตุไม่รอการกําหนดโทษหรือไม่รอการลงโทษโดยถือว่าเคยต้องโทษมา ก่อนไม่ได้ 

นอกจากนี้ ผู้ได้รับนิรโทษกรรมไม่ถือว่ามีประวัติในการกระทําผิด ในสารระบบของกองทะเบียนประวัติอาชญากร สํานักงานตํารวจแห่งชาติ 

    ๕.๒.๓ ผลต่อวิธีการเพื่อความปลอดภัย 

    ในฝรั่งเศสการนิรโทษกรรมไม่มีผล ลบล้างวิธีการเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากมองว่าวิธีการเพื่อความปลอดภัยเป็นมาตรการป้องกันความผิดในอนาคต ไม่ใช่ทดแทนความผิดที่ผ่านมาแล้ว 

    สําหรับประเทศไทยยังไม่มีตัวอย่างหรือความเห็นหรือคําพิพากษาว่าการนิรโทษกรรมมีผลต่อวิธีการเพื่อความปลอดภัยหรือไม่อย่างไร 

    ๕.๓ ผลในประการอื่น 

    การนิรโทษกรรมมีพื้นฐานทางความคิดอยู่ที่ต้องการให้มหาชนลืมการกระทําผิด ที่มีการนิรโทษกรรม จึงได้กําหนดให้ผลของการกระทําความผิดทางอาญาหมดสิ้นไป แต่ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นมูลเหตุของการกระทําความผิดมิได้ถูกลบล้างไปด้วย ซึ่งอาจมีผลต่อความรับผิดทางแพ่ง ความรับผิดทางวินัย และสิทธิหรือประโยชน์อื่นหรือไม่ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 

    ๕.๓.๑ ผลต่อความรับผิดทางแพ่ง 

    ในประเทศสหรัฐอเมริกา การอภัยโทษ  (และการนิรโทษกรรม) ไม่มีผลเป็นการปลดเปลื้องความรับผิดทางแพ่งต่อบุคคลที่สาม เช่นเดียวกับประเทศฝรั่งเศสที่ตามหลักทั่วไปการนิรโทษกรรมจะไม่ปลดเปลื้อง ความรับผิดทางแพ่งต่อบุคคลที่สาม 

    สําหรับประเทศไทย เนื่องจากขอบเขตของกฎหมายนิรโทษกรรมแต่ละฉบับมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ บางกรณียกเว้นเฉพาะความรับผิดทางอาญา บางกรณียกเว้นทั้งความรับผิดทางอาญา และความรับผิดทางแพ่ง ทําให้ในกรณีหลังนี้ผู้ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทํานั้นไม่มี สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้กระทําการได้ ด้วยเหตุนี้ ผลต่อความรับผิดทางแพ่งจึงต้องพิจารณา 

    จากบทบัญญัติในกฎหมายนิรโทษกรรมแต่ละฉบับเป็นรายกรณี 

    อย่างไรก็ดี ในระยะหลังกฎหมาย นิรโทษกรรมของไทยได้รับแนวคิดมาจากกฎหมายของฝรั่งเศส กล่าวคือ การนิรโทษกรรมจะไม่ลบล้างสิทธิของบุคคลที่สามในการเรียกร้องค่าเสียหายอัน เกิดจากการกระทํความผิดที่เป็นเหตุให้ต้อง นิรโทษกรรม 

    ๕.๓.๒ ผลต่อความรับผิดทางวินัย 

    จากหลักการที่ว่าการนิรโทษกรรมไม่ลบล้างข้อเท็จจริงของการกระทํานั้น ประกอบกับความผิดอาญากับความผิดทางวินัยเป็นคนละกรณีกัน และแยกออกจากกันได้ ดังนั้น แม้จะได้รับนิรโทษกรรมทางอาญาแล้วแต่ยังอาจถูกดําเนินการทางวินัยต่อไปได้ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๗) ให้ความเห็นสนับสนุนไว้ สรุปได้ว่า  กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นข้อยกเว้นของกฎหมายต้องตีความโดยเคร่งครัด ถ้าพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมมิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้รวมถึงการกระทํา ความผิดทางวินัยด้วย พระราชบัญญัติดังกล่าวจะลบล้างเฉพาะความผิดทางอาญาเท่านั้น (เรื่องเสร็จที่ ๓๑๕/๒๕๒๔) 

    ๕.๓.๓ ผลต่อสิทธิและประโยชน์อื่น 

    ในประเทศไทยผลของกฎหมายนิรโทษกรรมต่อสิทธิและประโยชน์อื่นมีความคล้ายคลึง กับกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศฝรั่งเศส คือ ในกรณีที่ผู้ได้รับการนิรโทษกรรมได้รับการลงโทษไปบ้างแล้ว ผู้นั้นไม่อาจขอให้ทดแทนความเสียหายแก่ตนได้ โดยหลักการนี้บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าการนิรโทษกรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิ แก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ

    อย่างไรก็ตาม บุคคลนั้นย่อมได้สิทธิที่สูญเสียไปเพราะผลของคําพิพากษากลับคืนมา เช่น สิทธิในการกลับเข้ารับราชการใหม่ สิทธิในการสมัครเข้ารับราชการ สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้ง 

    สําหรับเรื่องเบี้ยหวัด บําเหน็จ บํานาญ ยศ บรรดาศักดิ์ หรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น เคยมีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการ ร่างกฎหมาย กองที่ ๓) สรุปว่า กฎหมายนิรโทษกรรมมีผลแต่เพียงให้ผู้กระทําความผิดพ้นจากความผิดหาได้ให้ สิทธิอย่างอื่นไม่ จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จะได้รับบําเหน็จบํานาญ 

    ส่วนเรื่องยศ บรรดาศักดิ์ หรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นเรื่องแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ไม่ใช่เรื่องที่ จะใช้สิทธิเรียกร้องได้ จึงสรุปได้ว่า กฎหมายนิรโทษกรรมไม่มีผลทําให้ผู้ได้รับนิรโทษกรรมได้รับยศ บรรดาศักดิ์ หรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์คืน และไม่ก่อให้เกิดสิทธิได้รับเบี้ยหวัด บําเหน็จ บํานาญ 

๖. ความแตกต่างระหว่างการนิรโทษกรรม การล้างมลทิน และการอภัยโทษ

แม้ว่าการนิรโทษกรรม การล้างมลทิน และการอภัยโทษจะมีความเหมือนกันในแง่ที่ว่าต่างก็เป็นวิธีการให้ความกรุณา แก่ผู้กระทําความผิดอันเป็นอํานาจทางสังคมประการหนึ่งซึ่งมีมาแต่โบราณ แต่ ทั้งสามกรณีก็มีความแตกต่างกันดังต่อไปนี้ 

    ๖.๑ อํานาจในการนิรโทษกรรมและการล้างมลทินเป็นอํานาจของฝ่ายนิติบัญญัติ   ส่วนอํานาจในการพระราชทานอภัยโทษเป็นอํานาจของฝ่ายบริหารโดยพระมหากษัตริย์ ในฐานะประมุขของรัฐเป็นผู้ใช้อํานาจพระราชทานอภัยโทษ 

    ๖.๒ การนิรโทษกรรมกระทําได้ทั้งก่อนและหลังมีคําพิพากษา การอภัยโทษกระทําได้เฉพาะกรณีมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้กระทําความ ผิด ส่วนการล้างมลทินผู้กระทําความผิดต้องได้รับโทษและพ้นโทษไปแล้ว 

    ๖.๓ การนิรโทษกรรมมีผลเป็นการลืมการกระทําความผิดโดยอาจยกเว้นความผิดหรือยกเว้น โทษให้แก่ผู้กระทํา  การอภัยโทษเป็นการยกโทษตามคําพิพากษาให้โดยไม่ต้องรับโทษเลยหรือลดโทษและ รับโทษเพียงบางส่วน ส่วนการล้างมลทินผู้กระทําต้องเคยได้รับตามคําพิพากษามาแล้ว 

    ๖.๔ ผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมกฎหมายถือว่าผู้นั้นไม่เคยกระทําความผิดหรือไม่เคย ต้องคําพิพากษาว่าได้กระทําความผิดเช่นนั้นมาก่อน แต่ผู้ได้รับอภัยโทษกฎหมายยังถือว่าเป็นผู้กระทําความผิดและต้องคําพิพากษา ให้ลงโทษ  ส่วนผู้ได้รับการล้างมลทินจะถือว่าผู้นั้นไม่เคยถูกพิพากษาลงโทษในความผิด นั้นมาก่อน 

ด้วยเหตุนี้ ในกรณีกระทําความผิดซ้ำอีก ศาลไม่อาจเพิ่มโทษแก่ผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมหรือได้รับการล้างมลทินได้ และศาลยังอาจอ้างเป็นเหตุเพื่อรอการลงอาญาได้ 

    ๖.๕ การนิรโทษกรรมและการล้างมลทินทําให้ได้สิทธิที่ต้องสูญเสียไปเพราะผลของคํา พิพากษาลงโทษกลับคืนมา แต่การอภัยโทษยังถือว่ามีความผิดตามคําพิพากษา หากคําพิพากษาให้ตัดสิทธิบางอย่าง การอภัยโทษจะไม่ทําให้ผู้กระทําความผิดได้รับสิทธินั้นกลับคืนมา  

๗. สรุปสาระของกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมฉบับต่างๆ 

    ๗.๑ พระราชกําหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕ 

           นิรโทษกรรมให้แก่การกระทําทั้งหลายของบุคคลในคณะราษฎร์ในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน (มาตรา 3)

    ๗.๒ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๔๗๖ 

           นิรโทษกรรมให้แก่การกระทําทั้งหลายของคณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๓) 

    ๗.๓ พระราชกําหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทําความผิดฐานกบฏและจลาจล พุทธศักราช ๒๔๘๘  

           นิรโทษกรรมให้แก่การกระทําความผิดฐานกบฏและจลาจลก่อนวันใช้พระราชกําหนดนี้ ซึ่งต้องพิจารณาพิพากษาโดยศาลพิเศษ (มาตรา ๓) (หรือเรียกว่าการนิรโทษกรรมแก่ กบฏวรเดช) 

    ๗.๔ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทําการต่อต้านการดําเนินการสงครามของญี่ปุ่นพุทธศักราช ๒๔๘๙  

           นิรโทษกรรมให้แก่การกระทําอันเป็นการต่อต้านการดําเนินการสงครามของญี่ปุ่น หรือการดําเนินงานเพื่อการนั้น ทั้งนี้ ได้กําหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งทําหน้าที่พิจารณาและออกหนังสือรับรองการ เป็นผู้ได้รับนิรโทษกรรม (มาตรา ๓ และมาตรา ๗) 

    ๗.๕ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทําการรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ 

           นิรโทษกรรมให้แก่การกระทําของบุคคลใดๆ ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้  เนื่องในการทํารัฐประหารเพื่อเลิกใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙  และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๔๙๐ ตลอดจนบรรดาประกาศและคําสั่งใดๆ ที่ได้ออกสืบเนื่องในการรัฐประหาร (มาตรา ๓) 

    ๗.๖ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้นํารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ กลับมาใช้ พ.ศ. ๒๔๙๔ 

           นิรโทษกรรมให้แก่การกระทําของบุคคลใดๆ ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้  เนื่องในการกระทําเพื่อเลิกใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช  ๒๔๙๒  และนําเอารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ กลับมาใช้ ตลอดจนบรรดาประกาศและคําสั่งใดๆ ที่ได้ออกสืบเนื่องในการเปลี่ยนแปลงนี้ (มาตรา ๓) 

๗.๗ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๔๙๙ และพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๒ 

           นิรโทษกรรมให้แก่การกระทําของบุคคลใดๆ ก่อนวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ ในฐานความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญาฐานกบฏภายในราชอาณาจักร ฐานกบฏภายนอกราชอาณาจักร ฐานก่อการจลาจล หรือตามกฎหมายอื่นทํานองเดียวกัน ซึ่งต้องได้ตัวมาดําเนินคดี ก่อนวันดังกล่าวด้วย ตลอดจนการกระทําใดๆ อันเป็นการป้องกันระงับหรือปราบปรามการกบฏ การก่อการจลาจล หรือการกระทําความผิดอื่นทํานองเดียวกัน หรือการพยายาม หรือการตระเตรียมกระทําการดังกล่าว 

          ทั้งนี้ การกระทําใดจะถือว่าเป็นการกระทําความผิดทํานองเดียวกับกบฏให้เป็นไปตามคํา วินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นอกจากนั้น ได้กําหนดให้มีคณะกรรมการ ทําหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งได้รับนิรโทษกรรม และกําหนดให้มีการร้องขอคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์  ยศ หรือบรรดาศักดิ์ ตลอดจนเบี้ยหวัด บําเหน็จหรือบํานาญด้วย (มาตรา ๓ มาตรา ๔ มาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐) 

   ๗.๘ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทําการยึดอํานาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ พ.ศ. ๒๕๐๐  

           นิรโทษกรรมให้แก่การกระทําของบุคคลใดๆ ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้  ไม่ว่าในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทําความผิดหรือผู้ถูกใช้ เนื่องในการยึดอํานาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ และในกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกันไม่ว่ากระทําก่อนหรือหลังวันดังกล่าว ตลอดจนบรรดาประกาศและคําสั่งใดๆ ที่ได้ออกเกี่ยวเนื่องกับการกระทําดังกล่าว (มาตรา ๓) 

   ๗.๙ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทําการปฏิวัติเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ พ.ศ. ๒๕๐๒ 

           นิรโทษกรรมให้แก่การกระทําของบุคคลใดๆ ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้  เนื่องในการปฏิวัติเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ และในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกัน ตลอดจนการกระทําของหัวหน้าคณะปฏิวัติหรือผู้ได้รับมอบหมาย ไม่ว่าจะกระทําในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทําความผิดหรือผู้ถูกใช้ ไม่ว่ากระทําในวันที่นั้นหรือก่อนหรือหลังวันดังกล่าว ตลอดจนบรรดาประกาศและคําสั่งใดๆ ที่ได้ออกเกี่ยวเนื่องกับการกระทําดังกล่าว (มาตรา ๓) 

   ๗.๑๐ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทําการปฏิวัติเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ พ.ศ. ๒๕๑๕ 

            นิรโทษกรรมให้แก่การกระทําของบุคคลใดๆ ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้เนื่องในการปฏิวัติเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ และในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกัน ตลอดจนการกระทําของหัวหน้าคณะปฏิวัติหรือผู้ได้รับมอบหมาย ไม่ว่าจะกระทําในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทําความผิดหรือผู้ถูกใช้ ไม่ว่ากระทําในวันที่นั้นหรือก่อนหรือหลังวันดังกล่าว ตลอดจนบรรดาประกาศและคําสั่งใดๆ ที่ได้ออกเกี่ยวเนื่องกับการกระทําดังกล่าว (มาตรา ๓) 

   ๗.๑๑ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ซึ่งกระทําความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ พ.ศ. ๒๕๑๖ 

            นิรโทษกรรมให้แก่การกระทําของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน  ที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ และได้กระทําในระหว่างวันที่  ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ถึงวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ (มาตรา ๓) 

    ๗.๑๒ พระราชบัญญัติยกเลิกคําสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ ที่ ๓๖/๒๕๑๕ ลงวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๕ พ.ศ. ๒๕๑๗ ยกเลิกคําสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ ที่ ๓๖/๒๕๑๕ ลงวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ที่เป็นการลงโทษนายอุทัย พิมพ์ใจชน นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และนายบุญเกิด หิรัญคํา โดยไม่ชอบ และให้นิรโทษกรรม (ปล่อยตัว) บุคคลทั้งสาม (มาตรา ๓) 

    ๗.๑๓ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทําการยึดอํานาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ พ.ศ. ๒๕๑๙ 

              นิรโทษกรรมให้แก่การกระทําของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทําเนื่องในการ ยึดอํานาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ และการกระทําของบุคคล ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําดังกล่าว และการกระทําทั้งหลายของคณะหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือผู้ได้รับมอบหมายหรือผู้ได้รับคําสั่งจากผู้ได้รับมอบหมาย รวมถึงการลงโทษ และการบริหารราชการอย่างอื่น (มาตรา ๓) 

    ๗.๑๔ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทําการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ ๒๕ และวันที่  ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๐  พ.ศ. ๒๕๒๐ 

             นิรโทษกรรมให้แก่การกระทําอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราช อาณาจักร ซึ่งได้กระทําระหว่างวันที่ ๒๕ และวันที่  ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ และการกระทําความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับหรือเนื่องจากการกระทําอันเป็น ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรในระหว่างวันดังกล่าว โดยไม่รวมถึงความผิดต่อชีวิต และไม่กระทบกับการริบของกลางตามคําสั่งของนายกรัฐมนตรี ที่ ๔/๒๕๒๐ฯ (มาตรา ๓) 

    ๗.๑๕ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทําการยึดอํานาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ พ.ศ. ๒๕๒๐ 

             นิรโทษกรรมให้แก่การกระทําของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทําเนื่องในการ ยึดอํานาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ และการกระทําของบุคคล ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําดังกล่าว และการกระทําทั้งหลายของคณะหรือหัวหน้าคณะปฏิวัติ  หรือผู้ได้รับมอบหมายหรือผู้ได้รับคําสั่งจากผู้ได้รับมอบหมาย รวมถึงการลงโทษและการบริหารราชการอย่างอื่น (มาตรา ๓) 

    ๗.๑๖ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทําความผิดเนื่องในการชุมนุม ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ ๔ ถึงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ พ.ศ. ๒๕๒๑ 

             นิรโทษกรรมให้แก่การกระทําของบุคคลใดๆ ที่เกิดขึ้นในหรือเกี่ยวเนื่องกับ การชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ ๔ ถึงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งได้กระทําระหว่างวันที่ ๔ ถึงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ และให้ปล่อยตัวจําเลยในศาลทหารกรุงเทพในคดีหมายเลขดําที่ ๒๕๓ ก/๒๕๒๐ ตลอดจนจําเลยในศาลอาญา ในคดีหมายเลขดําที่ ๔๔๑๘/๒๕๒๐(มาตรา ๓ และมาตรา ๔) 

    ๗.๑๗ พระราชกําหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอํานาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ ๓๑ มีนาคม ถึงวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔ และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่แก่ผู้ก่อความไม่ สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองระหว่างวันที่ ๓๑ มีนาคม ถึงวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔  

             นิรโทษกรรมให้แก่การกระทําของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทําเนื่องในการ ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอํานาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ ๓๑ มีนาคม ถึงวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔ ไม่ว่าจะได้กระทําในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ หรือผู้ถูกใช้ และผู้ใดจะอ้างพระราชกําหนดนี้เพื่อให้พ้นจากการถูกลงโทษทางวินัยอันเนื่อง จากได้รับนิรโทษกรรมไม่ได้ (มาตรา ๓ และมาตรา ๔) 

    ๗.๑๘ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอํานาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ ๘ และวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๘ พ.ศ. ๒๕๓๑ 

             นิรโทษกรรมให้แก่การกระทําของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทําเนื่องในการก่อความไม่สงบเพื่อยึดอํานาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ ๘ และวันที่ ๙ กันยายน  พ.ศ. ๒๕๒๘ ไม่ว่าจะได้กระทําในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ หรือผู้ถูกใช้ และผู้ใดจะอ้างพระราชบัญญัตินี้เพื่อให้พ้นจากการถูกลงโทษทางวินัยอันเนื่อง จากได้รับนิรโทษกรรมไม่ได้ (มาตรา ๓ และมาตรา ๔) 

    ๗.๑๙ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทําการอันเป็นความผิดต่อ ความมั่นคงของรัฐภายใราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทําอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๕๓๒ 

             นิรโทษกรรมให้แก่การกระทําของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทําก่อนวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๑ ในความผิดดังนี้ (๑) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา (๒) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทําอันเป็นคอมมิวนิสต์  และ (๓)  ความผิดฐานอื่นที่เป็นกรรมเดียวกับความผิดใน (๑)  หรือ (๒) และผู้ใดจะอ้างพระราชบัญญัตินี้เพื่อให้พ้นจากการถูกลงโทษทางวินัยอันเนื่อง จากได้รับนิรโทษกรรมไม่ได้ (มาตรา ๓ และมาตรา ๔) 

    ๗.๒๐ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทําการยึดและควบคุมอํานาจ การปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ พ.ศ. ๒๕๓๔ 

             นิรโทษกรรมให้แก่การกระทําของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทําเนื่องในการ ยึดและควบคุมอํานาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ และการกระทํา ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําดังกล่าว และการกระทําของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือหัวหน้าคณะฯ หรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือหัวหน้าคณะฯ หรือของผู้ซึ่งได้รับคําสั่งจากผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะรักษาความสงบ เรียบร้อยแห่งชาติหรือหัวหน้าคณะฯ รวมถึงการลงโทษและการบริหารราชการอย่างอื่น (มาตรา ๓) 

    ๗.๒๑ พระราชกําหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทําความผิดเนื่องในการชุมนุม กันระหว่างวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ พ.ศ. ๒๕๓๕ (ต่อมาสภาฯ ไม่อนุมัติพระราชกําหนดนี้)  นิรโทษกรรมให้แก่การกระทําของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทําเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ และได้กระทํา ในระหว่างวันดังกล่าว ไม่ว่าในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ หรือผู้ถูกใช้  

๘. โครงสร้างและแบบกฎหมายสําหรับกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมในอนาคต 

จากการศึกษากฎหมายนิรโทษกรรมของไทยทั้ง ๒๑ ฉบับ จะพบว่ากฎหมายดังกล่าวมีโครงสร้างทางกฎหมาย ดังต่อไปนี้ 

    ๘.๑ ชื่อกฎหมาย โดยจะปรากฏอยู่ในชื่อร่างและร่างมาตรา ๑ อันเป็นแบบของกฎหมายทุกฉบับ เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าตนเองจะถูกบังคับหรือจะถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในเรื่อง เกี่ยวกับอะไร 

    ๘.๒ วันใช้บังคับ โดยจะปรากฏอยู่ในร่างมาตรา ๒ ซึ่งเป็นแบบของกฎหมายทุกฉบับเช่นกัน กฎหมายนิรโทษกรรมของไทยทั้ง ๒๑ ฉบับ ส่วนใหญ่กําหนดให้มีผลใช้บังคับในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็น ต้นไป เนื่องจากลักษณะของกฎหมายเป็นเรื่องการยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษ มิได้กําหนดให้ประชาชนกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นใหม่โดยตรง จึงไม่จําเป็นต้องกําหนดให้มีผลในอนาคต เช่น ๙๐ วัน หรือ ๑๒๐ วัน เพื่อให้มีการเตรียมความพร้อมเสียก่อน 

    ๘.๓ ขอบเขตการนิรโทษกรรม ปรากฏอยู่ในมาตรา ๓ โดยการนิรโทษกรรมที่ผ่านมามักมีบทบัญญัติที่ยาวซึ่งเป็นการอธิบายเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอดีต ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติประสงค์จะให้สังคมลืมการกระทํานั้น กฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมที่ประกาศใช้แล้ว ๒๑ ฉบับ ส่วนใหญ่มีขอบเขตอยู่ที่การทําให้ลืมเฉพาะความผิดทางอาญาอันเกี่ยวข้องกับ การกระทําทางการเมือง 

    มีบางฉบับที่บัญญัตินิรโทษกรรมทางแพ่งด้วย  อนึ่ง ขอบเขตของการนิรโทษกรรมมีความสําคัญเสมือนเป็นหัวใจหลักของการนิรโทษกรรมแต่ ละครั้ง การพิจารณาถึงขอบเขต ซึ่งต้องยึดโยงอยู่กับ “ช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง”  หรือ “ตัวบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดทางอาญาจากเหตุการณ์นั้น”  จึงมีความสําคัญ เนื่องจากการนิรโทษกรรมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ มีความไม่ชัดเจนในเรื่องขอบเขตการนิรโทษกรรม จนมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายและมีการนําประเด็นปัญหา ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย๑๔

    อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องขอบเขตการนิรโทษกรรมนี้นอกจากจะมีนัย ทางนิติศาสตร์แล้ว ยังมีนัยทางรัฐศาสตร์ (การเมืองการปกครอง) อีกด้วย เพราะเป็นเรื่องที่ว่า ฝ่ายการเมืองจะใช้อํานาจออกกฎหมายยกเว้นความผิดหรือโทษทางอาญาซึ่งมีมูลจูง ใจทางการเมืองให้กับผู้กระทําความผิดว่าจะยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษให้แค่ ไหนเพียงใด 

    ผู้เขียนเห็นว่า เพื่อให้บทบัญญัติเรื่องขอบเขตการนิรโทษกรรมมีความชัดเจน และไม่เป็นบทบัญญัติที่ยาวเกินไป ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในอนาคตควรมีนิยามศัพท์ว่าด้วย  “ช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง” หรือ “ตัวบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดทางอาญาจากเหตุการณ์นั้น” เพื่อตีกรอบขอบเขตการนิรโทษกรรม 

     ทั้งนี้ ไม่ว่าการนิรโทษกรรมนั้นจะมีผล เป็นการยกเว้นความผิดหรือโทษทางอาญาโดยเฉพาะ หรือจะรวมถึงการนิรโทษกรรมทางแพ่ง หรือนิรโทษกรรมทางปกครองด้วยก็ตาม  

๘.๔ เงื่อนไขของการนิรโทษกรรม

จากผลการการศึกษาในหัวข้อข้างต้น จะเห็นได้ว่าการนิรโทษกรรมในบางครั้ง ฝ่ายนิติบัญญัติได้กําหนดเงื่อนไขให้ผู้ได้รับนิรโทษกรรมกระทําการ บางประการเสียก่อนจึงจะได้รับการนิรโทษกรรม เช่น การรายงานตัวต่อกองอํานวยการร่วมรักษาความสงบแห่งชาติ (พระราชกําหนดนิรโทษกรรมฯ พ.ศ. ๒๕๒๔) 

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่า หากมีการกําหนดเงื่อนไขที่ยากต่อการปฏิบัติหรือกําหนดเงื่อนไขไว้หลายประการ ก็อาจทําให้การนิรโทษกรรมนั้นไม่บรรลุวัตถุประสงค์และอาจทําให้เกิดความ วุ่นวายในทางการเมืองได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ การจะกําหนดเงื่อนไขประการใดเพื่อให้บุคคลใดปฏิบัติก่อนจึงต้องพิจารณาอย่าง รอบคอบและมีเหตุผล ที่รองรับอย่างชัดเจน 

    ๘.๕ การตรวจสอบผู้จะได้รับนิรโทษกรรม พนักงานเจ้าหน้าที่ และอํานาจหน้าที่ ของพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยที่การนิรโทษกรรมมีลักษณะเป็นการยกเว้นระบบกฎหมาย การตราพระราชบัญญัตินอกจากจะมีความยากในทางกฎหมายและทางการเมืองแล้ว ในทางปฏิบัติย่อมมีความยุ่งยาก เนื่องจากกฎหมายนิรโทษกรรมมักมีบทบัญญัติที่สั้นเพราะปล่อยให้มีการตีความ โดยศาลยุติธรรม รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนิรโทษกรรมนั้นเอง ซึ่งอาจมีปัญหาในการใช้บังคับกฎหมายได้ 

     ผู้เขียนเห็นว่า การตรวจสอบผู้จะได้รับนิรโทษกรรมนั้นมีนัยเป็นวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง อย่างหนึ่ง คือ การพิจารณาว่าบุคคลใดได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ ส่วนเรื่องพนักงานเจ้าหน้าที่และอํานาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น เป็นเรื่องสําคัญเพราะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย และเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยและแนวทางการร่างกฎหมายปัจจุบัน 

     ผู้เขียนจึงเห็นว่า ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมควรกอปรด้วยบทบัญญัติเรื่องการตรวจสอบผู้จะได้รับ นิรโทษกรรม พนักงานเจ้าหน้าที่ และอํานาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย 

    ๘.๖ ผลทางกฎหมาย เนื่องจากในทางทฤษฎีการนิรโทษกรรมอาจมีผลทางกฎหมายแตกต่างกันไปขึ้นกับเจต จํานงของฝ่ายนิติบัญญัติในแต่ละครั้ง ดังนั้น ร่างกฎหมายควรมีบทบัญญัติ ที่ชัดเจนด้วยว่าจะให้ผลทางกฎหมายเป็นอย่างไร กล่าวคือ (๑) นิรโทษกรรมทางอาญาอย่างเดียว หรือ (๒) นิรโทษกรรมทางอาญาและนิรโทษกรรมทางแพ่ง หรือ (๓) นิรโทษกรรมทางอาญา  นิรโทษกรรมทางแพ่ง และนิรโทษกรรมทางปกครอง (วินัย) ดังที่ได้ศึกษามาแล้วข้างต้น 

     เพราะผลทางกฎหมายเป็นสิ่งสําคัญและเป็นเป้าหมายของการตรากฎหมาย และโดยที่การนิรโทษกรรม ทางอาญามีแนวคิดสองแนว แนวแรกถือว่านิรโทษกรรมจะยกเว้นเฉพาะโทษแต่ไม่ยกเว้นความผิด  

    ส่วนแนวที่สอง ถือว่านิรโทษกรรมมีผลเป็นการยกเว้นความผิดซึ่งทําให้ไม่ต้องรับโทษ ผู้เขียนเห็นว่า หากพิจารณาหลักการกําหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา และหลักการดําเนินคดีอาญา ตามประมวกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วจะเห็นได้ว่า เป้าหมายของการดําเนินคดีอาญา กับผู้กระทําความผิดคือ การลงโทษสําหรับความผิดนั้น ส่วนการนิรโทษกรรมเป็นข้อยกเว้น หลักความรับผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา และหลักการดําเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  

     การนิรโทษกรรมทางอาญาจึงควรมีผลทางกฎหมาย เป็น “การยกเว้นความผิด” และการเขียนบทบัญญัติในร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจึงควรใช้คําว่า  “ยกเว้นความผิด”  ส่วนการนิรโทษกรรมทางแพ่งนั้นย่อมมีความหมายแต่เพียงว่า รัฐไม่เรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทําความผิดทางอาญาของบุคคลนั้น  แต่ไม่อาจลบล้างความรับผิดทางแพ่ง ที่พึงมีซึ่งเกิดกับบุคคลที่สามได้ มิฉะนั้น จะเป็นการขัดกับสิทธิของบุคคลเกินควรซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองไว้สําหรับความรับ ผิดทางวินัยนั้นคงเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเจ้าหน้าที่ กล่าวคือ การกระทําความผิดทางอาญานั้นมีมูลทางวินัยหรือทางปกครองด้วย แต่ด้วยนิตินโยบายจึงได้บัญญัติผลทางกฎหมายให้นิรโทษกรรมทางวินัยด้วย 

    อนึ่ง นอกจากผลทางกฎหมายของการนิรโทษกรรมจะเกี่ยวพันกับเรื่อง ทางอาญา ทางแพ่ง และทางวินัยซึ่งเป็นเป้าหมายหลักแล้ว กฎหมายนิรโทษกรรมยังมีผลต่อสิทธิ และประโยชน์อื่นด้วย และกฎหมายนิรโทษกรรมของไทยที่ผ่านมาก็มักมีบทบัญญัติที่ว่าด้วยผล ต่อสิทธิและประโยชน์อื่น โดยมักบัญญัติว่า “การนิรโทษกรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียก ร้องสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ” แต่ในบางเรื่องกฎหมายมิได้บัญญัติไว้โดยชัดเจนแต่อาศัยการตีความว่าเป็น สิทธิของผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องได้หรือไม่ เช่น สิทธิในการกลับ เข้ารับราชการใหม่ สิทธิในการสมัครเข้ารับราชการ สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้ง เบี้ยหวัด บําเหน็จ บํานาญ ยศ บรรดาศักดิ์ หรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์๑๖

    ผู้เขียนเห็นว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า  สิทธิหรือประโยชน์ใดๆ ที่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมไม่อาจเรียกร้องได้นั้นหมายถึงสิทธิหรือประโยชน์ อย่างใด ซึ่งอาจต้องนิยามศัพท์ให้ชัดเจนว่าหมายถึงสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้นั้นสูญ เสียไปเพราะการดําเนินคดีหรือรับโทษทางอาญา ทางแพ่ง หรือทางปกครองก่อนที่จะได้รับนิรโทษกรรม  โดยนิยามศัพท์นี้อาจยกตัวอย่างสําคัญของสิทธิหรือประโยชน์ซึ่งเกิดจากคํา วินิจฉัยขององค์กรที่มีอํานาจวินิจฉัยกฎหมายลงไปด้วย ส่วนบทบัญญัติที่ว่า “การนิรโทษกรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียก ร้องสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ” ก็ยังคงต้องมีไว้เพื่อกําหนดเป็นหลักการปิดปากผู้ได้รับนิรโทษกรรมและต้อง ใช้บังคับควบคู่กันกับนิยามศัพท์ 

๙. ข้อเสนอแนะ 

กฎหมายนิรโทษกรรมมีลักษณะยกเว้นระบบกฎหมาย มีผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม และมีผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง นอกจากนี้ ยังมีที่มาจากหลักการให้อภัย ของผู้ปกครองแผ่นดินซึ่งมีนัยทางศาสนารวมอยู่ด้วย ประกอบกับปัจจุบัน นิติรัฐมีความสําคัญมากขึ้นมีการสร้างระบบควบคุมตรวจสอบการใช้อํานาจรัฐและ ระบบศาลขึ้นใหม่ การเสนอร่างกฎหมาย นิรโทษกรรมย่อมต้องวิเคราะห์ผลดีผลเสียให้มาก เนื้อหาสาระในร่างกฎหมายจึงมีความสําคัญ และเพื่อให้องค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายนี้เข้าใจ ในเนื้อหาสาระที่ถูกต้องและครบถ้วน


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แกะรอย กฎหมายนิรโทษกรรมในไทย ตัวอย่างต่างประเทศ

view