สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ได้เวลา ขันนอต'รีดผลงาน ข้าราชการ

จาก โพสต์ทูเดย์

ปรากฏการณ์ที่มีผู้สนใจแห่สมัครเข้าสอบ ก.พ. ภาค ก. ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.)

กว่า 8 แสนคนในปีนี้ แม้จะไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเทียบกับการสอบภาคก. ปีที่ผ่านๆ มา

แต่เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ได้ดีว่าอาชีพ“รับราชการ” เป็นอาชีพที่อยู่ในความสนใจของคนวัยทำงาน

ข้อมูลจาก นนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการ ก.พ. ที่ระบุว่า ผู้สมัครสอบ ก.พ.ภาค ก. เป็นนักศึกษาจบใหม่สูงถึง 2 แสนคน

แน่นอนว่าอาชีพรับราชการเป็นอาชีพที่มั่นคงและมีสวัสดิการดี แต่มีเงินเดือนน้อย

แต่พลันที่รัฐบาลเพื่อไทยมีนโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน และนำร่องให้มีการปรับเพิ่มค่าตอบแทนให้ข้าราชการปริญญาตรีแรกบรรจุได้เงิน เดือนบวกค่าครองชีพชั่วคราวเป็นไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ก่อนการปรับฐานเงินเดือนปริญญาตรีให้เป็น 1.5 หมื่นบาท ในปี 2557

นั่นเท่ากับเป็นแรงจูงใจให้อาชีพรับราชการทวีความน่าสนใจมากขึ้น

เพราะเมื่อเทียบกับเงินเดือนภาคเอกชนแล้ว ต้องยอมรับว่าวันนี้ภาคเอกชนยังไม่สามารถปรับตัวรับกับเงินเดือนพนักงานที่ จบการศึกษาปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาทได้ โดยเฉพาะตำแหน่งงานที่ไม่ใช่ตำแหน่ง “เฉพาะด้าน” และต้องการที่ทักษะสูง

ย้อนหลังกลับไปในห้วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเกือบทุกยุคมีนโยบายปรับเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีกว่า 2 ล้านคน อย่างน้อย 5 ครั้ง

ตั้งแต่ปี 2547-2555 ครั้งแรกปี 2546 ปรับฐานเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ 3% ต่อมาปี 2548 ปรับเพิ่มเงินเดือนทั้งระบบ 5% ปี 2551 ปรับเงินเดือนทั้งระบบ 4% ปี 2554 ปรับเงินเดือน 5%

ล่าสุดมีการเพิ่มเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบเป็น 1.5 หมื่นบาทในปี 2555-2557 หรือเพิ่มขึ้นจากอัตราเดิม 40-50%

ทั้งนี้ การขึ้นค่าตอบแทนข้าราชการทุกครั้งสิ่งที่ถูกหยิบยกเป็นเหตุผลเสมอ คือ อัตราเงินเดือนข้าราชการต่ำกว่าเอกชนมาก ทำให้เกิดภาวะ “สมองไหล” ทั้งต้องการให้ข้าราชการมีรายได้เพียงพอกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทุกปีตามอัตราเงินเฟ้อที่ก้าวกระโดด เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่อย่างมี “ศักดิ์ศรี”

ขณะที่การยกเลิกระบบ “ซี” และแบ่งข้าราชการเป็น 4 ประเภท คือ ทั่วไป วิชาการ อำนวยการ และบริหาร และทุกแท่งมี “ขั้นวิ่ง-เงินเดือนไม่ตัน” เหมือนระบบซี เช่น ประเภทวิชาการมีขั้นวิ่งตั้งแต่ปฏิบัติการไปจนสุดที่ระดับทรงคุณวุฒิ เงินเดือนสุดท้ายจะสูงถึงหลัก 34 หมื่นบาทต่อเดือน

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามจาก กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปรย “โปรเจกต์ใหม่” เพื่อดูแลสวัสดิการข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ทั้งระบบ

โดยเฉพาะการทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับสมาชิกเกี่ยวกับผลตอบแทน 10% ต่อไป

กิตติรัตน์ ย้ำว่า รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลข้าราชการทุกคน เพราะข้าราชการที่ไม่โกงเป็นผู้มีรายได้น้อยทุกคน และข้าราชการกลุ่มนี้มีจำนวนมหาศาล เพราะมือยาวไม่ถึง ไม่มีสิทธิให้คุณให้โทษใคร การดูแลข้าราชการเป็นเรื่องสมควรทำ

เมื่อบวกปัจจัยค่าตอบแทน ความมั่นคงและสวัสดิการต่างๆ อาชีพการรับราชการจึงเป็นอาชีพ “ดาวเด่น” ไม่น้อยในยุควิกฤตเศรษฐกิจโลกเกิดถี่ขึ้นๆ ในขณะที่ความเสี่ยงของการถูก “เลิกจ้าง” แขวนไว้กับอนาคตเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน

อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่มีการปรับฐานเงินเดือนให้ข้าราชการ ข้อเสนอแนะที่พ่วงท้ายการปรับเงินเดือนข้าราชการทุกครั้ง คือ การเพิ่มประสิทธิภาพข้าราชการให้เป็น “คนดี-คนเก่ง”

และตลอดหลายปีที่ผ่านมามีความพยายามจากสำนักงาน ก.พ. ในการเพิ่ม “สมรรถนะ” อย่างข้าราชการสม่ำเสมอ นอกเหนือจากการอบรมของส่วนราชการนั้นๆ เช่น โครงการข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง “HiPPS” โดยคัดเลือกข้าราชการระดับ “ครีม” ในแต่ละหน่วยงานมา “เทรนนิง” ก่อนก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น

หรือความพยายามของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. ที่ฟูมฟักข้าราชการนักบริหารการเปลี่ยนแปลง ที่เรียกขานกันครานั้นว่า “ข้าราชการพันธุ์ใหม่” โดยคัดเลือกกลุ่ม “หัวกะทิ” จากคนนอกระบบราชการภายใต้โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ หรือ นปร. เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบราชการ ส่วนแรงจูงใจที่ข้าราชการกลุ่มนี้จะได้รับคือการเลื่อนขั้นในระบบ “ฟาสต์แทร็ก” และมีข้าราชการในโครงการนี้มีทั้งสิ้น 3 รุ่นกว่า 160 คน

แต่สุดท้ายข้าราชการกลุ่มเล็กๆ ไม่อาจต้านทานระบบราชการที่ใหญ่โต-เทอะทะได้

เพราะแทบไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม แต่นั่นอาจต้องใช้เวลากันบ้าง เนื่องจากการปรับวัฒนธรรมการทำงานของระบบราชการที่ฝังรากมาเป็น 100 ปี ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน

ขณะที่ยุคที่รัฐบาลไทยรักไทยมีอำนาจ “เหนือ” ระบบราชการหลังชนะการเลือกตั้งอย่างท้วมท้น

รัฐบาลสั่งใช้มาตรการ “ไม้แข็ง” หัวหน้าส่วนราชการและข้าราชการต้องทำงานรับใช้ประชาชน และสนองนโยบายที่พรรคหาเสียงไว้ หาก “ทำไม่ได้ทำไม่เป็นผลงานไม่เข้าตา” เสี่ยงถูกสั่งย้ายหรือ “เด้ง” จากตำแหน่งเป็นไปได้สูง

ทว่าการขับเคลื่อนระบบราชการที่ใช้ “พระเดช” อย่างแข็งขันครานั้น กลับไม่สร้างความ “ยั่งยืน” ในระบบจัดการภาครัฐ เพราะการเมืองไม่เข้มแข็ง

สังเกตได้จากหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2549ปัจจุบัน

การขับเคลื่อนระบบราชการอยู่ในอาการ “น็อตหลวม” การเมืองที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำให้ข้าราชการต้องเลือกข้าง หรือไม่ก็เลือก “ปิดปาก” ให้สนิท “ก้มหน้าก้มตา” ทำตามที่รัฐบาลสั่งภายใต้นโยบายประชานิยมที่หาเสียงไว้

เช่น โครงการจำนำข้าวทุกเม็ด 1.5 หมื่นบาทต่อตันที่เสี่ยงขาดทุนหนัก คืนภาษีรถคันแรก 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งสร้างรถไฟฟ้าได้ 1 สาย แม้นโยบายเหล่านี้มีเป้าหมายกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ แต่ก็มีความเสี่ยงต่อฐานะประเทศพอดู

ขณะที่การโยกย้ายตำแหน่งน้อยใหญ่อยู่ภายใต้ระบบ “พรรคพวกพวกใครพวกมัน” อย่างโจ่งแจ้ง

ไม่มีใครเถียงว่าสังคมข้าราชการไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ แต่ต่างกันที่ว่า วันนี้ “ระบบคุณธรรม” ที่เคียงคู่กับระบบอุปถัมภ์กลับ“จางหาย” ไปแทบหมดสิ้น คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ยังส่งเสียงแทนข้าราชการที่ถูกปลดหรือถูกย้ายจากตำแหน่งโดยไม่เป็นธรรมไม่ เต็มที่

นั่นหมายถึงหากใคร “วิ่งเก่ง-เงินหนา-คอนเนกชันปึ้ก” รับลูกสนองการเมืองทุกแบบมีโอกาสไต่เต้าเป็นเสนาบดีกระทรวงในเวลาอันรวดเร็วก็มีสูง

อาจเรียกได้ว่าระบบราชการที่ถูกการเมืองครอบงำเกือบ 100% ยามนี้ ทำให้ขวัญกำลังใจของข้าราชการดีและเก่งๆ ตกต่ำอย่างที่สุด ที่อยู่ได้ก็ทนกันไป หากทนอยู่ไม่ไหวก็ต้องลาออกไปทำงานอาชีพอื่น

นนทิกร สะท้อนว่า โครงการเออร์ลีรีไทร์ ภาคสมัครใจตั้งแต่ปี 2552-2555 พบว่ามีข้าราชการเข้าโครงการปีละ 2 หมื่นคน แต่แทนที่คนที่ด้อยประสิทธิภาพจะขอเข้าโครงการ แต่กลายเป็นคนเก่งที่มีความสามารถเข้าโครงการเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นในปีงบประมาณ 2556 สำนักงาน ก.พ.จึงเสนอ ครม.ขอให้ยุติโครงการนี้ชั่วคราวเพื่อประเมินผลกระทบใหม่

อย่างไรก็ดี หากพิเคราะห์ในมิติระบบราชการในการ “สนองตอบ” ต่อความต้องการและการให้บริการประชาชนเจ้าของเงินภาษีในยามนี้

ก็ต้องยอมรับว่าข้าราชการเลือกสนองนโยบายของ “นาย” ที่มีอำนาจให้คุณให้โทษ มากกว่าเสียงร้องทุกข์ของประชาชน

ขณะที่ในมือ “กำ” กฎหมายและระเบียบราชการไว้เหนียวแน่น เพื่อปิดช่องการกระทำที่สุ่มเสี่ยงชักนำให้ตัวเองกระทำผิดกฎหมายและอาจต้อง “ติดคุก” ภายหลัง

จึงไม่แปลกใจว่าการทำงานช่วงหลังของรัฐบาล เช่น การจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วม การลงทุนโครงการน้ำ การทำสัญญาสัมปทานในโครงการต่างๆ และการลงทุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ไปไม่ถึงไหน

นั่นเพราะกลไกข้าราชการทำงานไม่เต็มที่

ยามนี้ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องกลับมาให้ความสนใจในการปฏิรูประบบราชการและการทำงานของข้าราชการอย่างจริงจัง ก็ควรจะจัดเวิร์กช็อป “ขันนอต” การทำงานของข้าราชการให้เข้มข้นขึ้น ตัวชี้วัดประสิทธิภาพการทำงานต้องถูกวัดอย่างสม่ำเสมอและแม่นยำ

ไหนๆ ข้าราชการก็ได้รับผลตอบแทนที่อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีอาชีพที่มั่นคง

ก็ต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ได้เวลาขันนอต รีดผลงาน ข้าราชการ

view